รัฐทุ่ม 2.2 ล้านล้าน ผลักดัน “ 3 ระบบรางครบวงจร”

เปิดอภิมหาโครงการพัฒนาระบบรางครบวงจรของกระทรวงคมนาคม ด้วยงบประมาณ 2.2 ล้านล้าน ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี โดยมีเป้าหมายว่าการพัฒนาระบบรางทั้ง 3 แบบ คือ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อเส้นทางระบบรางในเมืองหลวงเป็นวงกลม แบบเดียวกับเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่สำคัญจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอาเซียนเข้าหากัน สร้างอำนาจต่อรองทางการค้าและการลงทุน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

“นายพิชิต อัคราทิตย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาการคมนาคมระบบรางซึ่งถือเป็น “บิ๊กโปรเจกต์” ที่กระทรวงคมนาคมในยุครัฐบาล คสช.เร่งผลักดันอย่างสุดกำลัง ว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะพัฒนาการเดินทางระบบรางของประเทศไทยแบบครบวงจร ด้วยงบประมาณ 2.2 ล้านล้าน ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี โดยมีการก่อสร้างและพัฒนาเส้นทางระบบรางทั้ง 3 รูปแบบไปพร้อมกัน ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน, โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้า

ลงมือสร้าง ‘รถไฟไทย-จีน’ กันยานี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน นั้นมีความคืบหน้าไปมาก โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะแรก(กรุงเทพฯ-โคราช) ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท จากนี้จะมีการตกลงกันในรายละเอียดของสัญญาจำนวน 2 ฉบับ คือสัญญาก่อสร้างและโยธา และสัญญาที่เกี่ยวกับการออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างและการวางระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ และมั่นใจว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.2560 นี้

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 (โคราช-หนองคาย) ระยะทาง 350 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 271,000 ล้านบาทนั้น หลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 เดินหน้าไปสักระยะ ก็สามารถเริ่มเดินหน้าโครงการระยะที่ 2 ได้ทันที

นอกจากเรื่องการดำเนินการก่อสร้างแล้วสิ่งหนึ่งที่ต้องเดินหน้าควบคู่กันไปก็คือการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทาง ทั้งในส่วนของตัวสถานีและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสร้างรายได้และสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ที่ทางรถไฟแล่นผ่าน โดยแต่ละสถานีก็จะมีการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาธุรกิจตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และหากในอนาคตเมืองพัฒนามากขึ้นก็อาจจะมีศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย

การเชื่อมโยงภูมิภาคผ่านยุทธศาสตร์ “หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) อันว่าด้วยการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและโครงสร้างสาธารณูปโภคในเส้นทางที่วางไว้

เตรียมพัฒนาที่ดิน สร้างรายได้เข้ารัฐ

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการบริหารการพัฒนาพื้นที่นั้น ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูก ภายใต้ชื่อ “บริษัทรถไฟบริหารสินทรัพย์” เพื่อทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินของการรถไฟซึ่งมีอยู่กว่า 40,000 ไร่ โดยเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้เดินรถโดยตรง (ตัวสถานีและพื้นที่รอบ ๆ ทางรถไฟ) ในการบริหารจัดการบริษัทจะมีรูปแบบเหมือนเอกชน และอาจมีเอกชนเข้ามาร่วมบริหารด้วย ซึ่งจะทำให้มีความคล่องตัวสูง

แน่นอนการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่มากขึ้น เพราะนอกจากรายได้จากค่าโดยสารแล้วการรถไฟจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้เช่าพื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจการค้า ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-โคราช) ซึ่งมี6 สถานีนั้นมีการประเมินว่าจะมีการลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่อยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้ผลตอบแทนของโครงการ ระยะแรก อยู่ที่ประมาณ 2.56% ของมูลค่าการลงทุน/ปี ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่ถ้ามองในแง่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประชาชนจะได้รับ จะทำให้ผลตอบแทนของโครงการอยู่ที่ 11.56% ของมูลค่าโครงการ/ปี

 

ภาพ: รอยเตอร์

อย่างไรก็ดี “บริษัทรถไฟบริหารสินทรัพย์” มีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้เท่ากับอัตราตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5-6% ขณะที่การบริหารพื้นที่ของการรถไฟฯ ปัจจุบันได้ผลตอบแทนไม่ถึง 1%

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน นอกจากจะเชื่อมประเทศไทยกับจีนตอนใต้เข้าด้วยกัน โดยรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ของไทย เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟความเร็วสูงของลาว ที่วิ่งจากชายแดนไทยไปเวียงจันทน์ และไปบรรจบกับทางรถไฟความเร็วสูงของจีนที่เมืองคุนหมิง แล้วโครงการนี้ยังทำให้อาเซียนทั้งภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ เชื่อมโยงเป็นภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจต่อรองทางการค้าและการลงทุนของไทยและอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์วันเบลท์วันโรดของจีน ซึ่งเชื่อมต่อไปถึงยุโรป จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถเชื่อมต่อเส้นทางการเดินทางในระบบรางกับสหภาพยุโรปได้ด้วย

ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

เร่งพัฒนาทางคู่ 8 เส้นทาง

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่นั้นรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการ ทั้งหมด 8 เส้นทาง ประกอบด้วย

  • สีแดง : เส้นทางรถไฟทางคู่ใหม่ 6 เส้น (เดิมเป็นทางเดี่ยว อนุมัติให้สร้างเพิ่มอีกรางเป็นทางคู่) ประกอบด้วย
  1. จิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท
  2. นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,038 ล้านบาท
  3. ประจวบฯ-ชุมพร ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 17,293 ล้านบาท
  4. มาบกะเบา-โคราช ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,842 ล้านบาท
  5. ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท และ
  6. หัวหิน-ประจวบฯ ระยะทาง 90 กิโลเมตร วงเงิน 9,437 ล้านบาท โดยจะเป็นระบบ Meter Gauge รางกว้าง 1 เมตร รองรับความเร็วประมาณ 90 กม./ชม. จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563

 

  • สีน้ำเงิน : เส้นทางรถไฟทางคู่ใหม่ 2 เส้น ได้แก่
  1. หนองคาย-โคราช-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท และ
  2. เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท โดยเป็นระบบ Standard Gauge รางกว้าง 1.435 เมตร รองรับความเร็วประมาณ 160-250 กม./ชม. รถไฟที่จะนำมาใช้งานมีความเร็วประมาณ 160 กม./ชม.ในขั้นแรก ซึ่งต่อไปสามารถเปลี่ยนรถไฟเป็นความเร็วสูงได้ (บางเส้นทางเดิมเป็นทางเดี่ยว บางเส้นทางเป็นทางใหม่ โดยอนุมัติให้สร้างทางคู่ใหม่เพิ่ม) จะแล้วเสร็จในปี 2564

ในการพัฒนารถไฟเป็นระบบทางคู่นั้นจะช่วยให้การเดินทางโดยรถไฟมีความสะดวกรวดเร็วและตรงเวลายิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาสับเปลี่ยนรางในช่วงที่รถไฟสวนกัน และเมื่อผนวกกับเส้นทางสีดำ ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟเดิมของไทย มีทั้งระบบทางเดี่ยว ทางคู่ และทางสาม และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (โคราช-หนองคาย) จะทำให้การเดินทางระบบรางของไทยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค นับเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของไทยอย่างเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง

รถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมวงกลมรอบกรุงเทพฯ

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าใน กทม. และปริมณฑล ก็เป็นภารกิจหนึ่งที่กระทรวงคมนาคมเร่งขับเคลื่อนเช่นกัน โดยจะเน้นไปที่ “โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” หรือ MRT (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ซึ่งจะเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นวงกลม ซึ่งการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นวงกลมรอบเมืองนี้ถือเป็นหลักในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากการเชื่อมโยงการเดินทางระบบรางเป็นวงกลมจะช่วยให้การเดินทางในเขตเศรษฐกิจสะดวกคล่องตัว และนับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเส้นทางนี้จะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2564

ทั้งนี้ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เปิดให้บริการแล้วได้แก่ เส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 18 สถานี เริ่มต้นจากบริเวณหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนพระรามที่ 4 ผ่านสามย่าน สวนลุมพินี จนกระทั่งตัดกับถนนรัชดาภิเษก เลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือตามแนวถนนรัชดาภิเษก ผ่านหน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แยกอโศก แยกพระรามที่ 9 แยกห้วยขวาง แยกรัชดา-ลาดพร้าว เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลาดพร้าว จนถึงปากทางห้าแยกลาดพร้าว เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าสวนจตุจักร ตรงไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ เป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด 18 สถานี ระยะห่างระหว่างสถานีโดยเฉลี่ย 1 กม.

จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ทั้งนี้ในจุดที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะมีการขุดเจาะอุโมงค์เพื่อลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 200 เมตร เพื่อเชื่อมระหว่างฝั่งกรุงเทพมหานครและธนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นการขุดเจาะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกของประเทศไทย

นอกจากนั้นกำลังดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ

โดยส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค มีระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 4 สถานี คือ สถานีวัดมังกรกมลาวาส สถานีวังบูรพา สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระบางแค ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 7 สถานี คือ สถานีท่าพระ บางไผ่ บางหว้า เพชรเกษม 48 ภาษีเจริญ บางแค และสถานีหลักสอง

ส่วนช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด มี 8 สถานี คือ สถานีบางโพ บางอ้อ บางพลัด สิรินธร บางยี่ขัน บางขุนนนท์ แยกไฟฉาย และสถานีจรัญสนิทวงศ์ เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ผ่านแยกเตาปูนซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ณ จุดดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ในจุดที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะมีการขุดเจาะอุโมงค์เพื่อลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 200 เมตร เพื่อเชื่อมระหว่างฝั่งกรุงเทพมหานครและธนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นการขุดเจาะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกของประเทศไทย

รถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับทั้งหมดมีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน

ทั้งนี้ นอกจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ดังกล่าวแล้ว ยังมีรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทางที่จะเชื่อมโยงการเดินทางในเขตกรุงเทพฯและชานเมืองเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าบีทีเอส (รถไฟลอยฟ้า) เส้นทางหมอชิต-สำโรง ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางบางหว้า-สนามกีฬาแห่งชาติ ช่วยให้การเดินไปทำงานของมนุษย์เงินเดือนและการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ของคนกรุงเทพฯ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (รถไฟลอยฟ้า) เส้นทางพญาไท-สุวรรณภูมิ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังสนามบิน, รถไฟฟ้าสายสีม่วง (รถไฟลอยฟ้า MRT) เส้นทางบางใหญ่-เตาปูน ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว, รถไฟชานเมืองสายสีแดง เส้นทางตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต

ปัจจุบันช่วงตลิ่งชันบางซื่อก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เปิดให้บริการ และกำลังดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งมีแผนที่จะแล้วเสร็จในปี 2563 และรถไฟฟ้าอีกหลายสายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเชื่อมโยงการเดินทางระบบรางในพื้นที่กรุงเทพฯและชานเมืองเข้าด้วยกัน อันเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในพื้นที่ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

กล่าวได้ว่าการพัฒนาการเดินทางระบบรางแบบครบวงจรของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้นับเป็นการพลิกโฉมระบบรางของไทยเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติอย่างแท้จริง

ที่มา https://goo.gl/YKivfv

FaLang translation system by Faboba