bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๑ ม.ค.๖๒ : การที่จีนได้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรมระดับโลก

การที่จีนได้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรมระดับโลก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค.๖๒ ที่ผ่านมา สถาบันวิทยาศาสตร์จีน ได้ประกาศว่า ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) เป็นวาระครบรอบ ๕ ปี ของความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) โดยในเดือน พ.ย.๖๑ สถาบันวิทยาศาสตร์จีนได้จัดตั้งองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศแห่งแรก ซึ่งประกอบด้วยองค์กรด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ของประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” โดยถือเป็นเวทีและกลไกความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายของประเทศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมการติดต่อระหว่างประชาชน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและบุคคลากร ทำให้การจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรมระดับโลกของสถาบันวิทยาศาสตร์จีนมีความคืบหน้าไปอีกระดับ

๒. ดร.จาง เอี้ยผิง รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวที่กรุงปักกิ่งว่า สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนจะร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนานาชาติ ในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และการผลิตผลงานใหม่ในการสร้างระเบียงนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ในพื้นที่ดังกล่าวของประเทศ โดยการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นเนื้อหาสำคัญที่จีนส่งเสริมในการสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และเมื่อเดือน พ.ย.๖๑ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้ก่อตั้งองค์กรวิจัยในฮ่องกง ทั้งนี้ นับตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่มาตุภูมิ เรื่องนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้รับการอนุมัติจากส่วนกลาง ให้องค์กรแผ่นดินใหญ่ตั้งสาขาในฮ่องกง ซึ่งมีความหมายสำคัญเป็นอย่างมาก

๓. ข้อสังเกต ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๘ ธ.ค.๖๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวเน้นว่า นวัตกรรมเป็นหัวใจของการปฏิรูปและการใช้ความคิดอย่างไม่มีสิ้นสุด บนหนทางก้าวไปข้างหน้า จีนต้องยืนหยัดใช้แนวคิดของลัทธิมากซ์ ลัทธิเลนิน แนวคิดเหมา เจ๋อตง ทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิง แนวคิดตัวแทนสามประการ ทฤษฎีพัฒนาตามหลักวิทยาศาสตร์ และแนวคิดสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนในยุคใหม่ เพื่อยืนหยัดการแสดงความคิดโดยอาศัยความเป็นจริงให้หลอมรวมกัน พัฒนาลัทธิมาร์กซ์ในศตวรรษที่ ๒๑ และลัทธิมาร์กซ์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เป็นหน้าที่ของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนทุกคน

บทสรุป

นวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ นวัตกรรมของจีนได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจีนมีความคืบหน้าในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรม ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอื่นๆ ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๗ ธ.ค.๖๑ กลุ่มจิงตง (หรือเว็บไซต์ Jd.com) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์จีนกับรัฐบาลไทยได้ร่วมกันลงนามในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่กรุงเทพฯ โดยมีเนื้อหาที่กลุ่มจิงตงสนับสนุนนโยบาย “ประเทศไทย ๔.๐” โดยจะช่วยการพัฒนานวัตกรรมด้านการพาณิชย์ของไทย เช่น ความร่วมมือในด้านอีคอมเมิร์ซ ด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะ และด้านการฝึกอบรมบุคลากร เป็นต้น

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://english.cas.cn/about_us/introduction/201501/t20150114_135284.shtml 

http://thai.cri.cn/20190119/73928ea5-8889-ec3d-769f-118059a4d617.html 

http://thai.cri.cn/20181218/9ec8fa79-84f1-170c-19c7-4e801ea14fd8.html 

http://thai.cri.cn/20190119/b8f8d6c6-1e56-41e1-98f7-135ebdcced0c.html

http://thai.cri.cn/20181217/3be69850-969a-504e-a150-4245c378f714.html 

http://thai.cri.cn/20181207/82f5a373-1294-24a8-c2d7-84e81140bd7b.html