bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ก.ย.๖๑ : แนวโน้มของจำนวนบริษัท AI ของจีนที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มของจำนวนบริษัท AI ของจีนที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจุบันมีจำนวนมากเป็นอันดับที่สองในตลาดโลก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ลิ่ว โตว หัวหน้าสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งปรศจีน กล่าวในงานประชุม World Artificial Intelligence 2018 ที่จัดขึ้นในมหานครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า จำนวนของบริษัท AI ของจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันมีมากเป็นอันดับที่สองในตลาดโลก ทั้งนี้ พบว่ามีการยื่นขอรับสิทธิบัตรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) เนื่องจากอุตสาหกรรมและการลงทุนในตลาดมีการใช้งานมากขึ้น และมีขนาดของอุตสาหกรรม AI โดยเฉพาะในด้านเสียงและวิดีโอ

๒. ตามรายงานจากสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน ที่มหาวิทยาลัยชิงหัว ระบุว่า ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีบริษัท AI จำนวนประมาณ ๑,๐๑๑ แห่ง คิดเป็น ๒๐.๕๓% ของจำนวนบริษัท AI ทั้งหมดในโลก โดยเป็นรองจากสหรัฐฯ ซึ่งมีบริษัท AI จำนวน ๒,๐๒๘ แห่ง ตามด้วย สหราชอาณาจักร แคนาดาและอินเดีย ทั้งนี้ บริษัท AI ในประเทศจีนกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งในกรุงปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, กว่างตง (กวางตุ้ง), เจ้อเจียงและมณฑลเจียงซู โดยในกรุงปักกิ่ง มีบริษัท AI จำนวน ๓๙๕ ราย ทำให้กรุงปักกิ่งติดอันดับการเป็นเมืองที่มีบริษัท AI มากที่สุดในโลก ขณะที่ มหานครเซี่ยงไฮ้, เซินเจิ้นและหางโจว เป็น ๓ เมืองของจีน ที่ติดอันดับอยู่ใน ๒๐ เมืองในโลกที่มีบริษัท AI มากที่สุดเช่นกัน

๓. ข้อสังเกต หลี่ เฉียง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า มหานครเซี่ยงไฮ้กำลังพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ โดยมีการให้คำมั่นที่จะจัดการกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI รวมทั้งการวิจัยเกี่ยวกับข้อบังคับของท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านจริยธรรม, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการปรับปรุงมาตรฐานทางเทคนิคอื่นๆ กล่าวคือ
        ๓.๑ การมุ่งเน้นไปที่การวิจัยขั้นพื้นฐาน ให้เป็นเขตนำร่องเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์สมอง และด้านทั่วไป ในขณะที่เร่งพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีหลัก ๆ เช่น เซนเซอร์ตรวจจับอัจฉริยะ ฯลฯ
        ๓.๒ สนับสนุนให้เพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในเมือง ด้วยระบบห้องปฏิบัติการวิจัยด้าน AI และมีการคัดเลือกกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษด้าน AI ในสาขาต่าง ๆ เช่น แผงวงจรรวม, การประมวลผลภาพ เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจทัศนียภาพ หรือแยกแยะวัตถุต่างๆ ได้ หรือ Computer Vision และวิศวกรรมชีวสมอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่มีผลต่อการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในมหานครเซี่ยงไฮ้ และพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี
        ๓.๓ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับคนที่มีพรสวรรค์ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ AI ชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งสำนักงานในมหานครเซี่ยงไฮ้ ในขณะมีการดึงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ทั้งจากอาลีบาบากรุ๊ปฯ และเทนเซนต์ เข้ามาทำธุรกิจที่มุ่งเน้น AI

บทสรุป

ปัจจุบันของจำนวนบริษัท AI ของจีน มีจำนวนมากเป็นอันดับที่สองในตลาดโลก และมีแนวโน้มว่าจะยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลจีนได้ประกาศแผนการเป็นศูนย์กลางด้าน AI ของโลกภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) เพื่อตอบรับแนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ต้องการเห็นจีนเป็นมหาอำนาจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในขณะที่มหานครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท AI ชั้นนำหลายแห่ง รวมทั้งมีข้อได้เปรียบจากการพัฒนา AI ที่เป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมสมาร์ทชิพ ซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ พร้อม ๆ กับการดึงดูดผู้มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการที่รัฐบาลท้องถิ่นของมหานครเซี่ยงไฮ้ประกาศแผนการ ๒๑ ข้อ ที่จะนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีในประเทศจีน เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าที่จะมีขนาดอุตสาหกรรมมูลค่า ๒๐.๕ พันล้านดอลลาร์ภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) จึงทำให้มหานครเซี่ยงไฮ้มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลาง AI แห่งชาติ แม้ว่ากรุงปักกิ่งจะยังคงติดอันดับการเป็นเมืองที่มีบริษัท AI มากที่สุดในโลกอยู่ก็ตาม

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.mckinsey.com/featured-insights/china/artificial-intelligence-implications-for-china

https://mgronline.com/china/detail/9610000093769

https://mgronline.com/china/detail/9610000093497 

https://www.youtube.com/watch?v=Lh71jmOQO3A 

https://ahead.asia/2018/07/04/ai-new-china-national-strategy/ 

http://dv.co.th/blog-th/the-rise-ai-china/ 

https://www.blognone.com/node/97335

https://www.technologyreview.com/s/612141/chinas-leaders-are-calling-for-international-collaboration-on-ai/