bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๑๒ ธ.ค.๖๑ : ความเคลื่อนไหวของจีนที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

ความเคลื่อนไหวของจีนที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G กับปัญหาและอุปสรรค ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๘ ธ.ค.๖๑ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (Ministry of Industry and Information Technology) ได้ออกใบอนุญาตสัญญาณโทรศัพท์ 5G ให้ผู้ประกอบการเครือข่ายสัญญาณยักษ์ใหญ่ ๓ ราย ได้แก่ บริษัทไชน่า เทเลคอม (China Telecom) และบริษัทไชน่ายูนิคอม (China Unicom) โดยได้รับการจัดสรรคลื่นสัญญาณ 3.5GHz ในขณะที่บริษัทไชน่าโมบาย (China Mobile) ได้รับคลื่นสัญญาณ 2.6GHz และ 4.8GHz ทั้งนี้ มีการระบุว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่บริษัททั้ง ๓ ดังกล่าว ซึ่งเป็นวิสาหกิจของรัฐ ได้เป็นไปอย่างเป็นธรรม

๒. การขยับตัวของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน ในการออกใบอนุญาตดังกล่าวในครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นก่อนกำหนดที่เคยประกาศว่า รัฐบาลจีนจะออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศจีนก้าวสู่ผู้นำมาตรฐาน 5G อันเป็นการปูทางสู่การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เชิงพาณิชย์ให้เกิดขึ้นได้จริง ตามที่จีนวางแผนที่จะใช้งานในเชิงพาณิชย์โดยเร็วที่สุด กล่าวคือ
        ๒.๑ เมื่อปีที่แล้ว บริษัทเครือข่ายมือถือจีนยักษ์ใหญ่สามราย ได้แก่ บริษัทไชน่าโมบาย บริษัทไชน่ายูนิคอม และ บริษัทไชน่าเทเลคอม ได้เปิดแผนนำร่องทดสอบเครือข่าย 5G ในหลายเมืองของจีน เช่น กรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้ มหานครฉงชิ่ง นครกว่างโจว นครหนานจิง เมืองซูโจว และ เมืองหนิงโป โดยการสร้างสถานีฐาน 5G และพัฒนาระบบรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเอง (Autonomous Driving) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และ บ้านอัจฉริยะผ่านเครือข่าย 5G
        ๒.๒ ทางด้านผู้ประกอบด้านโทรศัพท์มือถือจีนอย่าง “หัวเว่ย” ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก ก็ประกาศเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยได้ประกาศแผนการลงทุน ๕ พันล้านหยวน (๗๘๖ ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อพัฒนา 5G ในปีนี้ นอกจากนั้นยังจะมีการผลิตชิพคอมพิวเตอร์ 5G เครื่องแรกและโทรศัพท์มือถือรุ่น 5G ของบริษัท ในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒)

๓. ปัญหาและอุปสรรคต่อการเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G เนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๐ ธ.ค.๖๑ มีรายงานว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศไม่รับ Huawei และ ZTE ในการวางเครือข่าย 5G ด้วยคำนึงเรื่องความปลอดภัย ซึ่งการตัดสินใจของญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่ยอมให้ Huawei เข้าไปมีส่วนร่วมในแผนโครงสร้างพื้นฐาน 5G อันเกิดจากสาเหตุที่สำคัญคือ
        ๓.๑ เมื่อปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) ซึ่งบริษัท Huawei และ บริษัทโทรคมนาคมจีน ZTE ถูกสอบสวนโดยรัฐสภาสหรัฐฯ ที่เห็นว่าอุปกรณ์ของบริษัทดังกล่าว อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และได้รายงานสรุปว่า หัวเว่ยไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการสืบสวน และไม่เต็มใจที่จะอธิบายความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในขณะที่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า มีพฤติการณ์อันไม่สอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐฯ
        ๓.๒ การค้นพบกรณีปัญหาดังกล่าว ได้กลายเป็นที่มาซึ่งนำให้สหรัฐฯ ได้เข้าสู่การเคลื่อนไหวที่เรียกว่า Five Eyes ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศสหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ของ Huawei

บทสรุป

แม้ว่าเทคโนโลยี 5G จะเป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดสำหรับเครือข่ายไร้สายเคลื่อนที่ ซึ่งบรรดาบริษัทโทรคมนาคมคาดการณ์ว่า 5G จะเริ่มดำเนินการในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยจะนำความเร็วทางอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น สามารถรองรับยุคสมัย “the Internet of things” นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G จะทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่การใช้พลังงานแบตเตอรี่ลดลง แต่หลังจากที่หน่วยงานของญี่ปุ่นได้ทดลองแกะชิ้นส่วนมือถือของ Huawei ออกมา และพบว่ามีชิ้นส่วนต้องสงสัยอยู่ในฮาร์ดแวร์มือถือ ในขณะที่มีข่าวลือว่ามีการแอบสอดไส้ชิปลับที่ใช้ดักข้อมูลบนเซิฟเวอร์ของ Amazon และ Apple จึงทำให้กลายเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ จนนำไปสู่การแบน Huawei และ ZTE ในที่สุด

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://venturebeat.com/2018/12/10/japan-bans-huawei-and-zte-5g-networking-hardware-will-canada-be-next/

https://mgronline.com/china/detail/9610000122150 

https://mgronline.com/china/detail/9610000122760 

https://www.whatphone.net/news/japan-zte-huawei-banned/

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/japan-to-ban-govt-use-of-huawei-zte-telecoms-products-say-reports