bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันพุธที่ ๒๐ มิ.ย.๖๑ : จีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือจีน-เอเชียใต้ (China-South Asia Cooperation Forum) ครั้งแรก โดยควบกับงาน China Kunming Import & Export Fair 2018

จีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือจีน-เอเชียใต้ (China-South Asia Cooperation Forum) ครั้งแรก โดยควบกับงาน China Kunming Import & Export Fair 2018 ที่จัดขึ้น ณ นครคุณหมิง ในระหว่างวันที่ ๑๔ - ๒๐ มิ.ย.๖๑ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายหลี่ จี๋หมิง ผู้อำนวยการ Foreign Affairs Office of Yunnan Provincial People's Government เปิดเผยว่า การจัดประชุมร่วมระหว่างจีนกับเอเชียใต้ครั้งแรก (China-South Asia Cooperation Forum) เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดงานแสดงสินค้านำเข้า-ส่งออกจีน-เอเชียใต้ (China Kunming Import & Export Fair) ซึ่งมี ๘๐ กว่าประเทศเข้าร่วม รวมถึงประเทศไทย โดยมีการแสดงสินค้ามากกว่า ๑๔๗ บริษัทที่มาออกร้าน ซึ่งในงานแสดงสินค้าดังกล่าวยังไม่เคยมีเวทีที่จะหารือนโยบายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนต่างๆ มาก่อน

๒. ในที่ประชุมฯ มีข้อสรุปร่วมกัน ที่จะให้จัดประชุมทุกๆ ปีที่ นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ของจีน และให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการเอเชียใต้ อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้ข้อสรุปความร่วมมือกันในหลายด้าน โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงด้านคมนาคม ตามโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road : OBOR หรือ Belt and Road Initiative :BRI) ในประเทศที่ค้าขาย เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ในการสนับสนุนการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว โดยความเชื่อมโยงดังกล่าวตามแผนเดิมกำหนดให้นครคุนหมิงเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยง ลาว ไทย มาเลเชียและสิงคโปร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงภาคการเงิน ธุรกิจ ทั้งภาพรวมของประเทศและภาคท้องถิ่น มีการแลกเปลี่ยนทุก ๆ ด้านระหว่างประชาชนในท้องถิ่นความทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้บังเกิดผลขึ้นจริง

๓. ข้อสังเกต
        ๓.๑ การจัดเวทีประชุมหารือระหว่างจีน-เอเชียใต้ดังกล่าว เป็นความร่วมมือที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ โดยจีนเน้นว่าไม่ได้ต้องการที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศ รวมทั้งไม่ได้ต้องการเป็นผู้นำในประเทศแถบเอเชียใต้ ในขณะที่อินเดียก็ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือตามโครงการ OBOR หรือ BRI ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการหารือกันอย่างใกล้ชิด และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระดับผู้นำจากการที่นายกรัฐมนตรีอินเดียได้มาเยือนจีนถึง ๒ ครั้ง
        ๓.๒ รัฐบาลจีนมุ่งหวังให้เวทีการประชุมหารือจีน-เอเชียใต้ เป็นจุดเชื่อมโยงต่อความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Region) ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า มีพี่ใหญ่อย่างอินเดียคอยดูแล ปกป้องคุ้มครอง โดยเฉพาะในคาบมหาสมุทรอินเดีย จึงทำให้จีนต้องการจะดึงอินเดียเข้ามามีส่วนร่วมกับแผนงานโครงการดังกล่าว เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ และผนวกรวมนโยบาย Act East ของอินเดีย ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ เพิ่มความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในพื้นที่เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดรับเข้ากับยุทธศาสตร์ OBOR หรือ BRI ของจีนด้วย
        ๓.๓ การประชุมความร่วมมือจีน-เอเชียใต้ครั้งนี้ จีนได้เชิญประเทศเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เนื่องจากเมียนมาเป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์สำคัญกับเอเชียใต้ และมีภูมิประเทศติดกับทั้งจีนและอินเดีย ดังนั้น จึงต้องมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดภายใต้โครงการ OBOR หรือ BRI

บทสรุป

ในการประชุมระหว่างจีน-เอเชียใต้ครั้งนี้ มีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการเอเชียใต้อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงคมนาคมตามโครงการ OBOR หรือ BRI รวมทั้งย้ำเจตนาเชื่อมความสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้า ถึงแม้จีนจะย้ำว่าไม่มีเจตนาเจ้าแทรกแซงหรือเป็นผู้นำประเทศต่างในเอเชียใต้ ในขณะที่ยุทธศาสตร์ OBOR หรือ BRI ของจีน ยังคงทำให้อินเดียมีความหวาดระแวงต่ออิทธิพลของจีนที่แผ่ขยายเข้าสู่บังกลาเทศและศรีลังกา ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางทะเลของอินเดีย ที่มีการแสวงหาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกัน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างเนปาลที่กำลังได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากจีนมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของความร่วมมือทางเศรษฐกิจย่อมนำมาซึ่งการขยายความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและการทหารระหว่างประเทศ อันจะกระทบต่อบทบาทของอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้โดยรวม จึงทำให้อินเดียหวาดระแวงว่า จีนกำลังถือไพ่ใบสุดท้ายที่ต้องการหงายขึ้นเพื่อบอกให้อินเดียรู้ว่า รัฐบาลจีนจะขยายเกมและอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างเต็มตัว ในขณะที่อินเดียกำลังหารือร่วมกับญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ในกรอบความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก เพื่อดุลและคานต่อการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน ดังนั้น จึงน่าติดตามความเคลื่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดบทบาทและท่าทีของไทยซึ่งจะทำหน้าที่เป็นประธานของอาเซียนในปีหน้า

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.merattejarat.com/en/upcomingevents/348-kunming-fair-2018

https://mgronline.com/china/detail/9610000060593

https://www.the101.world/one-belt-one-road/

https://thaipublica.org/2017/05/pridi48/

http://en.xfafinance.com/html/Economies/Regional/2018/361196.shtml

https://www.cfr.org/expert-brief/us-indo-pacific-strategy-needs-more-indian-ocean