bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๙ พ.ย.๖๑ : การพบปะพูดคุยระหว่างนายหาน เจิ้ง และรองนายกรัฐมนตรีของจีน กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

การพบปะพูดคุยระหว่างนายหาน เจิ้ง กรรมการประจำคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรองนายกรัฐมนตรีของจีน กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อวันที่ ๖ พ.ย.๖๑ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายหาน เจิ้ง กล่าวว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวคำปราศรัยในพิธีเปิดงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติของจีน (CIIE) ครั้งแรกว่า จีนส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจโลกโดยเน้นนวัตกรรม เปิดสู่ภายนอก นอกจากนี้ยังได้ประกาศมาตรการใหม่ของจีนในการปฏิรูปและขยายการเปิดประเทศสู่ภายนอก ดังนั้น นายหาน เจิ้ง จึงหวังว่า จีนและไทยจะร่วมกันเร่งขยายความร่วมมือ เร่งดำเนินการสร้างโครงการสำคัญของ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) รวมทั้งขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า และความร่วมมือจีน-อาเซียน เพื่อส่งเสริมให้สองฝ่ายประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นในด้านต่าง ๆ โดยจีนยินดีที่จะร่วมมือกับไทยในการคุ้มครองกลไกการค้าพหุภาคี เพื่อให้เศรษฐกิจโลกพัฒนาไปในทิศทางที่เปิดเผย ครอบคลุม และเอื้อประโยชน์แก่กัน

๒. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีต่อการที่จีนประสบความสำเร็จในการจัดงาน CIIE ครั้งแรก และยินดีที่จะขยายความร่วมมือกับจีนในโครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" และส่งเสริมการค้าเสรี ตลอดจนยินดีที่จะจีนมีส่วนร่วมในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย

๓. ข้อสังเกต
        ๓.๑ เมื่อเดือน ก.ย.๖๐ จีนกับไทยได้ลงนามเอกสารความร่วมมือหลายฉบับ อาทิ โครงการปฏิบัติการร่วมกันและความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ การสร้างสรรค์ของ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI และโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ปัจจุบัน จีนและไทยสามารถที่จะหารือปัญหาที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่าง BRI กับแผนการพัฒนาของไทย ภายใต้กรอบกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง นอกจากนี้ การเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีนกับไทย และโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่นๆ จะผลักดันความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตระหว่างจีนกับไทย และเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค
        ๓.๒ การที่รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายสำคัญด้านอุตสาหกรรมการผลิต ๑๐ รายการ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ปิโตรเคมี เคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจดิจิตอล การแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร สิ่งทอและเสื้อผ้า เป็นต้น อันจะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ซึ่งเป้าหมายด้านอุตสาหกรรมของไทยเหล่านี้ ก็สอดคล้องกับแผนการกระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตระหว่างประเทศของจีน

บทสรุป

ขีดความสามารถของจีนในด้านนวัตกรรม จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและมีส่วนช่วยประเทศไทยยกระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมการผลิตให้สูงขึ้น ภายใต้กรอบกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI ของจีน รวมทั้งการเชื่อมโยงกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย นอกจากนี้ จีนและไทยยังคงสามารถดำเนินการประสานงาน เพื่อนำเอาอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความเหนือกว่าของตนไปตั้งในประเทศที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งต่อไป

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2018-11/07/c_137589203_2.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/11/07/64s273586.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/01/08/232s262736.htm

https://www.tnamcot.com/view/5be19c38e3f8e4ab596750c4