bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๑๑ ธ.ค.๖๑ : เป้าหมายของจีนที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศของโลก

เป้าหมายของจีนที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศของโลก ภายในปี ๒๐๔๕ (พ.ศ.๒๕๘๓) และความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีอวกาศกับอาเซียนรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๘ ธ.ค.๖๑ เวลา ๐๒.๒๓ น. ตามเวลาของจีน (เร็วกว่าประเทศไทย ๑ ชั่วโมง) ศูนย์ปล่อยจรวจส่งดาวเทียมซีชังในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ของจีน ได้ปล่อยจรวดขนส่ง “ฉางเจิง – ๓” ที่มีการบรรทุกยานสำรวจดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ – ๔” ด้วยความสำเร็จ ถือเป็นการเริ่มต้นปฏิบัติการณ์สำรวจดวงจันทร์รอบใหม่

๒. ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีน
        ๒.๑ จีนเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้ส่งดาวเทียมควอนตัม (Quantum) ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อทดลองการสร้างเครือข่ายการสื่อสารเชิงควอนตัม ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายการสื่อสารที่รวดเร็วมากกว่าความเร็วเสียง และมีความปลอดภัยสูงสุดจากการโจรกรรมข้อมูลจากบรรดาแฮกเกอร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลในการรับส่งข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น การรับส่งข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานรัฐบาล ทหาร และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน จีนส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรมากกว่า ๒๐๐ ดวง ทั้งดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมบอกพิกัด ดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล และดาวเทียมวิทยาศาสตร์อวกาศ
        ๒.๒ สำหรับประเภทของเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีน ประกอบด้วย
                ๒.๒.๑ จรวดสำหรับการส่งยานและดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ (Space Rocket) จีนได้ผลิตจรวดสำหรับส่งยานและดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ที่มีชื่อเฉพาะว่า ฉางเจิง (Change Zheng —长征) หรือ Long March โดยปัจจุบันมีการพัฒนาไปถึงฉางเจิง-๗ ซึ่งเป็นจรวดขนส่งขนาดกลาง ที่เป็นตัวหลักด้านการขนส่ง ทางอวกาศของจีน และจีนเป็นประเทศที่ ๓ ที่มีจรวดขนส่งที่มีเทคโนโลยีระดับสูงสุดยอด ต่อจากสหรัฐฯ และรัสเซีย
                ๒.๒.๒ ดาวเทียมสื่อสาร (Telecommunication Satellite)
                ๒.๒.๓ ดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation Satellite) เพื่อการสำรวจทรัพยากรโลก
                ๒.๒.๔ ดาวเทียมระบบนำร่อง (Global Navigation System Satellite-GNSS) จะแตกต่างจากดาวเทียมอื่นๆ คือจะ ทำงานในลักษณะของหมู่ดาวเทียม (Constellation) เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายกำหนดพิกัด ภูมิศาสตร์ระหว่างกัน โดยจีนได้พัฒนาดาวเทียมประเภทนี้ในชื่อว่า เป๋ยโต่ว (Bei Dou-北斗) ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ว่าในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ระบบเป๋ยโต่วจะก้าวสู่ระดับโลกด้วยกลุ่มดาวเทียมนำร่องทั้งหมด ๓๗ ดวง ซึ่งเป็นหมู่ดาวเทียม GNSS ที่มีโครงข่ายจำนวนดาวเทียมนำร่องสูงที่สุดในโลก
                ๒.๒.๕ เทคโนโลยีอวกาศอื่นๆ เช่น สถานีอวกาศเทียนกง-๑ (Tian Gong I) ที่ได้หมดอายุตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกไปแล้ว เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีนที่ใช้เป็นสถานที่ทดสอบพัฒนาขีดความสามารถการเชื่อมต่อและการเทียบท่าซึ่งจำเป็นสำหรับการสนับสนุนศูนย์อวกาศที่ใหญ่ขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ๙๒๑-๒ ที่มีเป้าหมายที่จะส่งสถานีอวกาศมีคนอยู่อาศัยขนาดเต็มกึ่งถาวรขึ้นสู่วงโคจรภายใน ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) เป็นต้น

๓. ในงาน China-ASEAN “Belt and Road” Space Information Corridor Cooperation Development Forum ที่จัดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย.๖๑ ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ถือเป็นเวทีสำคัญที่จีนกับอาเซียนจะได้ร่วมพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งนี้ องค์กรอวกาศแห่งชาติจีน หรือ China National Space Administration (CNSA) กำลังเร่งผลักดันการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มสาธารณะเพื่อการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมและการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม รวมทั้งเร่งพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในการใช้ประโยชน์จากอวกาศอย่างสันติ และสร้างด้านภูมิสารสนเทศให้กับอาเซียน สำหรับประเทศไทย สถาบัน Aerospace Information Research Institute แห่งสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (中国科学院空天信息研究院) ได้เริ่มดำเนินงานวิจัยด้านเทคโนโลยี GPS ที่มีความแม่นยำสูงในสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการรับข้อมูลแบบ Real-time และยกมาตรฐานการบริหารจัดการด้านการคมนาคมอัจฉริยะในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ จีนได้ร่วมกับไทยในการจัดตั้งสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียมเป่ยโต้ว โดยไทยเป็นประเทศรายแรกที่ลงนามข้อตกลงการติดตั้งระบบดาวเทียมบอกพิกัดเป่ยโต้วของจีนมาตั้งแต่เมื่อปลายเดือน ต.ค.๕๖ และการจัดตั้ง “เมืองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดาวเทียมเป่ยโต้วจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Beidou Science and Technology City/中国-东盟北斗科技城) ในประเทศไทย

บทสรุป

การกระชับความร่วมมือกับจีนในด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะด้านภูมิสารสนเทศจะช่วยสนับสนุนต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และการที่ประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก หรือ สกพอ. นำคณะนักลงทุนจากจีน เยี่ยมชมอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ ส.ค.๖๑ เพื่อสร้างโอกาสและการลงทุนทางธุรกิจร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่ EEC โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอวกาศยาน รวมถึงธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในซูเปอร์คัสเตอร์ และ ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือที่เรียกว่า New Engine of Growth ของประเทศ

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.space.com/42676-china-moon-far-side-chang-e-4-mission-pictures.html

http://thai.cri.cn/20181208/7cbfd5c0-cfa7-6b5d-4a2b-8453471ed2e6.html 

http://ost.thaiembdc.org/th1/2018/05/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3/ 

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china-economic-business/result.php?SECTION_ID=670&ID=18885 

https://www.prachachat.net/local-economy/news-210008 

https://www.ndtv.com/world-news/chang-e-4-long-march-3b-china-launches-rover-to-make-first-landing-on-far-side-of-the-moon-1959514