bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ต.ค.๖๑ : ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทย-จีน

ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ต่อความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำลุ่มแม่น้ำล้านช้าง (Lanchang Jiang) หรือ แม่น้ำโขง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๑ ต.ค.๖๑ ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ นายหลี่ว์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมลงนามข้อตกลงโครงการความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำของมูลนิธิเฉพาะกิจความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติของไทย และเจ้าหน้าที่การทูตจากพม่า ลาว และเวียดนามเข้าร่วมพิธีลงนาม
        ๑.๑ นายหลี่ว์ เจี้ยน ได้กล่าวปราศรัยว่า ระหว่างจัดการประชุมผู้นำประเทศความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ครั้งที่ ๒ เมื่อเดือน ม.ค.๖๑ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้มีข้อเสนอให้ดำเนินความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำอย่างลึกซึ้ง และเสริมสร้างการพัฒนาโครงการก่อสร้างด้านชลประทาน ซึ่งได้รับการตอบรับจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม จนถึงปัจจุบัน จีนนำเสนอข้อมูลด้านอุทกวิทยาในแม่น้ำล้างช้างช่วงฤดูฝนแก่ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนามอย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๖ ปี โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่จีนสร้างบนแม่น้ำล้านช้าง ได้แสดงบทบาทอย่างเด่นชัดในการ "เก็บกักน้ำในฤดูฝนและปล่อยน้ำในฤดูแล้ง" และรักษาเสถียรภาพทางอุทกวิทยาของแม่น้ำโขง ภายใต้สถานการณ์ที่ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีสภาพอากาศรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
        ๑.๒ นายวิจารย์ สิมาฉายา ได้กล่าวว่า ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนในการสร้างประชาคมประเทศลุ่มแม่น้ำล้างช้าง-แม่น้ำโขง ที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อมุ่งสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ไทยยังจะเข้าร่วมโครงการความร่วมมือที่เกี่ยวข้องในกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงอย่างแข็งขัน เพื่อร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก และร่วมกันสร้างสรรค์ครอบครัวใหญ่ของประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

๒. ข้อสังเกต
        ๒.๑ ในช่วงเวลา ๒ ปีเศษ นับตั้งแต่กลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ถูกสร้างขึ้นเป็นต้นมา จากการประชุมผู้นำกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขงครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๓ มี.ค.๕๙ โดยจัดขึ้นที่เมืองซานย่ามณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ของจีน ทำให้ความปรารถนาร่วมกันที่จะกระชับความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแน่น้ำล้านช้าง–แม่น้ำโขงกลายเป็นจริงขึ้น และเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนด้วย อันได้นำมาซึ่งผลประโยชน์ให้กับประเทศตามรายทางรวมถึงประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสใหม่ให้กับการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุคใหม่อีกด้วย
        ๒.๒ ย้อนไปเมื่อเดือน พ.ย.๕๗ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑๗ และกล่าวว่า การสนับสนุนข้อริเริ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงที่เสนอโดยรัฐบาลไทย จนเป็นที่มาของการสร้างกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และข้อเสนอนี้ก็ได้รับการตอบรับสนับสนุนจากประเทศทั้งหลายในอนุภูมิภาคนี้ และได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ต่อการผลักดันให้โครงการสร้างสรรค์ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน เชื่อมต่อกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยโดยเฉพาะแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และไทยแลนด์ ๔.๐

บทสรุป

กลไกตามกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ได้นำมาซึ่งผลประโยชน์ให้กับประเทศตามรายทางรวมถึงประเทศไทย รวมทั้งส่งผลในเชิงบวกต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ทั้งนี้ เนื่องจากจีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีกับไทย โดยที่วัฒนธรรมและขนบประเพณีของทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ มีการคาดหวังว่า กลไกความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนจะผลักดันการเชื่อมต่อทางนโยบายระหว่างสองประเทศ ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัย และการบริหารทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเอื้ออำนวยเป็นผลประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งสองประเทศ

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.tnews.co.th/contents/480746 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/12/62s272254.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/06/28/123s268485.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/01/08/232s262736.htm

http://www.spiegel.de/international/world/operation-mekong-china-tightens-grip-on-southeast-asia-a-1232484.html