bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ธ.ค.๖๑ : ความเคลื่อนไหวกรณีที่คณะทูตจีนประจำอาเซียนจัดงานฉลองปีใหม่

ความเคลื่อนไหวกรณีที่คณะทูตจีนประจำอาเซียนจัดงานฉลองปีใหม่ เนื่องในโอกาสที่ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบ ๑๕ ปีของการสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จีน – อาเซียน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๓ ธ.ค.๖๑ คณะทูตจีนประจำอาเซียนได้จัดงานฉลองปีใหม่ เพื่อขอบคุณการสนับสนุนจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน คณะทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ ประจำอาเซียน และกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย โดย ดร.เอเคพี มอคตัน รองเลขาธิการอาเซียน และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน พร้อมด้วยผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องกว่า ๑๐๐ คน เข้าร่วมงานฯ ซึ่ง นางเจี่ยง ฉิน อุปทูตจีนประจำอาเซียนได้กล่าวบรรยายนโยบายการต่างประเทศจีน รวมทั้งแนวนโยบายการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศรอบข้าง และผลสำเร็จในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปีแห่งการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน ตลอดจนความคืบหน้าในโอกาสครบรอบ ๑๕ ปีแห่งการสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จีน – อาเซียน

๒. กิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนที่สำคัญในรอบเดือน ธ.ค. ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ได้แก่
        ๒.๑ เมื่อวันที่ ๑๒ ธ.ค.๖๑ การประชุมกรอบการพัฒนาและความร่วมมือด้านอุดมศึกษาเอกชนระหว่างจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นที่เมืองซานย่าของจีน โดยมีผู้แทนมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจากจีน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กว่า ๘๐ คน เข้าร่วมงาน พร้อมทั้งร่วมพิธีก่อตั้งพันธมิตรมหาวิทยาลัยเอกชนจีน-อาเซียน และพิธีลงนามปฏิญญาว่าด้วยมหาวิทยาลัยเอกชนจีน และปฏิญญาว่าด้วยมหาวิทยาลัยเอกชนจีน-อาเซียน
        ๒.๒ เมื่อวันที่ ๑๐ ธ.ค.๖๑ ที่กรุงปักกิ่ง มีการจัดงานฉลอง ๗ ปีการจัดตั้งศูนย์จีน – อาเซียน โดยมี นายหวู เจียงฮ่าว อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา บรูไนประจำประเทศจีน และเจ้าหน้าที่ทางการทูตจีนของประเทศอาเซียนอื่นๆ ตลอดจนบุคคลในแวดวงต่างๆ ได้เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ ศูนย์จีน – อาเซียน ได้จัดตั้งขึ้นบนเกาะบาหลีของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๑๑ พ.ย. ปี ๒๐๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๔) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ได้ร่วมกันจัดตั้งโดยรัฐบาลจีนกับรัฐบาลในประเทศสมาชิกอาเซียน มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง โดยศูนย์จีน – อาเซียนทุ่มกำลังส่งเสริมความร่วมมือ ๕ ด้านสำคัญ ได้แก่ การค้า การลงทุน การศึกษา วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

บทสรุป

ความสัมพันธ์ระหว่างจีน – อาเซียน ได้เพิ่มความใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะท่าทีล่าสุดในการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๒๑ เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ย.๖๑ ซึ่งจีนกับอาเซียนมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้บรรลุผลตามแผนการพัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ทั้งนี้ เนื่องจากได้เห็นพ้องร่วมกันว่า ผลการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียน จะสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่แห่งการพัฒนาและจะยังความเจริญรุ่งเรืองให้กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้ในที่สุด

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://thai.cri.cn/20181214/bc558848-438a-f7e7-6ea4-ea2b5f29c486.html 

http://thai.cri.cn/20181128/716b3de2-39cc-6298-8b6a-492835c1c310.html 

http://thai.cri.cn/20181211/3c973e3b-b239-3623-d792-a56582bb6779.html

http://thai.cri.cn/20181128/716b3de2-39cc-6298-8b6a-492835c1c310.html

http://thai.cri.cn/20181214/b3a9b05e-ea0f-6022-b1a4-82afe0f128a5.html