bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๑๐ เม.ย.๖๑ : กรณีที่รัฐบาลจีนทุ่มเทให้การสนับสนุนเทคโนโลยี AI

รัฐบาลจีนทุ่มเทให้การสนับสนุนเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ผนึกรวมกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียบแบบพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดเอง) ที่จะช่วยยกระดับอัตราการผลิตในอุตสาหกรรมและก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI เชิงพาณิชย์รูปแบบใหม่ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นับตั้งแต่ปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) ถึงปัจจุบันจีนมีบริษัทด้านเทคโนโลยี AI รวม ๑,๓๕๔ ราย โดยในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า ๖.๒๒ หมื่นล้านหยวน สูงขึ้นกว่าร้อยเท่าเมื่อเทียบกับปี ๒๐๑๒ ที่มีการลงทุนเพียง ๖๐๐ ล้านหยวน ซึ่งจากข้อมูลจำนวนกิจการและบุคลากรที่มีความสามารถจีน รวมกับการสนับสนุนและผลักดันของรัฐบาลจีน คาดว่าจะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI

๒. นายซือ เสี่ยว (Si Xiao/司晓) ผู้อำนวยการสถาบัน Tencent Research กล่าวว่า ปีที่แล้วถือเป็นจุดเริ่มต้นเทคโนโลยี AI ของจีน มีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในทุกสาขาอาชีพ (เรียกว่า AI plus) โดยเฉพาะสาขาที่มีพื้นฐานข้อมูลค่อนข้างดี เช่น การเงินการรักษาความปลอดภัย การแพทย์และการรักษาพยาบาลและกำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของการพัฒนา “เมืองที่มีความปลอดภัย” และ “การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ” ส่วนเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาในระดับที่ค่อนข้างสุกงอมก็เริ่มนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายแล้ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้าถึงกลุ่มคนหมู่มากโดยตรง อาทิ การชำระเงินด้วยระบบสแกนใบหน้า ระบบแปลภาษา ร้านค้าไร้พนักงานและอุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน ซึ่งนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้แทบทั้งสิ้น ทำให้เทคโนโลยี AI พัฒนาจากแนวคิดสู่ความเป็นจริง

๓. ปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี AI ของจีนประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย
            ๓.๑ ด้านการลงทุน มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ ๔๙,๒๙๘ ล้านหยวน โดยนักลงทุนจีนเน้นด้านการประยุกต์ใช้ และมีการลงทุนใน ๓ อันดับแรก ได้แก่ คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการดึงสารสนเทศจากรูปภาพหรือวีดิทัศน์) ในสัดส่วน ๒๓% การประมวลผลภาษาโดยธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) ในสัดส่วน ๑๙% และการขับขี่อัตโนมัติ ในสัดส่วน ๑๘%
            ๓.๒ ด้านการวิจัย จากการประเมินปริมาณวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ พบว่า การวิจัยด้านเทคโนโลยี AI ของจีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ประกอบกับแผนการพัฒนเทคโนโลยี AI ของรัฐบาลจีนในการดึงดูดให้นักวิจัยชาวจีนในต่างประเทศกลับสู่ดินแดนมาตุภูมิ รวมถึงนักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลกที่หลั่งไหลเข้ามาในจีนเพิ่มมากขึ้น
            ๓.๓ ใช้จุดแข็งในด้านข้อมูล (Data) อินเทอร์เน็ต และ Internet of Things (IoT) ของจีนที่มีผู้ใข้งานอินเทอร์เน็ต (Netizen) อยู่ราว ๗๗๒ ล้านคน ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ประกอบกับการสนับสนุของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยี AI ในจีนพัฒนาและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ
                    ๓.๓.๑ ในเดือน พ.ค.๕๙ รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการเทคโนโลยี AI ‘Internet plus’ ระยะ ๓ ปี” ที่มุ่งสนับสนุนโครงการหลักในด้านต่างๆ อาทิ บ้านอัจฉริยะ ยานยนต์อัจฉริยะ และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ รวมทั้งการสร้างหลักประกันด้านเงินทุนระเบียบมาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญาและการอบรมบุคลากร
                    ๓.๓.๒ ในเดือน ก.ค.๖๐ ได้ประกาศ “แผนการพัฒนาเทคโนโลยี AI รุ่นใหม่” โดยจัดให้เทคโนโลยี AI เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติมีการกำหนดเป้าหมายว่า ในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ภาพรวมทั้งในด้านทฤษฎี เทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ของจีน จะอยู่ในระดับมาตรฐานชั้นนำของโลก และก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยี AI ที่สำคัญของโลก รวมทั้งยังระบุถึงมาตรการในการสร้างหลักประกันให้กับเทคโนโลยี AI ไว้ด้วย เช่น ตัวบทกฎหมายและหลักจริยธรรมมาตรฐานทางเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา การควบคุมตรวจสอบความปลอดภัย และระบบวัดประเมินผลการอบรมบุคลากรและหน่วยงานควบคุมดูแล เป็นต้น

๔. สำหรับความเคลื่อนไหวของไทย ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเมื่อวันที่ ๕ เม.ย.๖๑ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วท. ได้หารือแนวทางความร่วมมือสนับสนุนและส่งเสริมเยาวชนระดับอาชีวศึกษากับพระพรหมมังคลาจารย์ หรือ “เจ้าคุณธงชัย” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ในฐานะประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ใน ๓ ประเด็น ได้แก่
             ๔.๑ การพัฒนาเด็กอาชีวะเข้าสู่ตลาดแรงงานในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะสร้างฝีมือแรงงานใน ๗ สาขา ที่ไทยยังขาดแคลน คือ

             (๑) ระบบขนส่งทางราง

             (๒) ช่างอากาศยาน 

             (๓) แมคคาโทรนิกส์ หรือเครื่องกลอิเล็กทรอนิกส์

             (๔) หุ่นยนต์อุตสาหกรรม 

             (๕) เทคนิคพลังงาน

             (๖) นวัตกรรมการท่องเที่ยว 

             (๗) โลจิสติกส์

             ๔.๒ วท.จะร่วมมือกับสถาบันขงจื่อฯ ใช้วิทยาศาสตร์สร้างคน เพื่อตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ โดยนำเด็กอาชีวะ มาเรียนรู้เชื่อมโยงกับการศึกษาระบบสเต็ม ที่ประกอบด้วย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี เพื่อให้เด็กอาชีวะมีศักยภาพมากขึ้น
             ๔.๓ วท.จะร่วมกับสถาบันขงจื่อฯ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายคณิต แสงสุพรรณ เป็นเลขาธิการ สร้างอะคาเดมีอาชีวะ เพื่อนำเด็กอาชีวะเข้าไปฝึกวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับ EEC โดยตรง

บทสรุป

หัวใจของความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยี AI คือ การพัฒนาคนที่มีขีดความสามารถรองรับ ดังนั้น การที่ วท. และสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล มุ่งส่งเสริมและพัฒนาคนที่จะเป็นกำลังสำคัญในแรงงานอาชีวะเพื่อตอบโจทย์ EEC เช่น บริษัทจากประเทศจีน ที่มาลงทุนใน EEC ต้องการจะผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรม จำนวน ๖,๐๐๐ ตัว ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม เป็นต้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยเรียนรู้และร่วมมือกับประเทศจีน โดยเฉพาะการพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถในด้านนี้

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=671&ID=18356

https://www.thairath.co.th/content/1249152