bg-head-3

ข่าวสาร

อาเซียน : ประชาคมเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงทุนจากภายนอก

 

แม้กลุ่มอาเซียนจะได้ประกาศว่าจะยังเดินหน้าบูรณาการเศรษฐกิจเข้าหากันเพื่อสร้างประชาคมที่แข็งแกร่งให้เป็นผลสำเร็จ แต่นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ และรัฐมนตรีของอาเซียนเองเห็นว่าอาเซียนยังเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่พึ่งพิงทุนจากภายนอกเพื่อการผลิตที่มุ่งส่งออก ขณะที่การค้าระหว่างสมาชิกด้วยกันยังไม่มากเท่าที่ควร

นายคาลอส โดมิงเกส ที่ 3 (Carlos Dominguez III) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีคลังในฐานะที่ฟิลิปปินส์เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ก็พูดถึงการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียนเพื่อไปสู่ความเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม (Single market and production base) เท่านั้น และมองว่าสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากการลงทุนจากภายนอกอย่างมหาศาล

ชาติอาเซียนเดินหน้าสร้างประชาคม ขณะอียูโยกเยกหลังเบร็กซิท

อาเซียน : ประชาคมสังคมวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ

ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงและ Consensus-X

อาเซียนประกาศเข้าสู่ความเป็นประชาคมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง-ความมั่นคงและสังคม-วัฒนธรรมมาตั้งแต่สิ้นปี 2015 อีกทั้งได้จัดทำแผนการ 10 ปีหลังการเป็นประชาคมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อทำให้ 10 ประเทศในภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผสานกันอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น

ในบรรดา 3 เสาหลักของอาเซียนนั้นบูรณาการทางด้านเศรษฐกิจจัดได้ว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าอย่างอื่น เพราะแผนการต่าง ๆ เช่นการเปิดเสรีทางการค้าในสินค้าและบริการสามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่อีก 2 เสาหลัก โดยเฉพาะทางด้านสังคม-วัฒนธรรมนั้นแทบจะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลยในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา

"การสร้างเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอย่างที่เราวาดหวังเอาไว้นั้น นับเป็นความทะเยอทะยานอย่างแท้จริง แต่มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปราศจากการลงทุนที่มากมายมหาศาล อาเซียนมีแรงผลักดันและโอกาสมากมาย แต่นักลงทุนเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความสำเร็จได้" รัฐมนตรีคลังฟิลิปปินส์ โดมิงเกส กล่าวในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนที่เมืองเซบู

เมื่อตอนเริ่มต้นเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนเมื่อสิ้นปี 2015 นั้น อาเซียนรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งสิ้น 1.21 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่เม็ดเงินส่วนใหญ่ไปที่อินโดนีเซีย รองลงมาคือเวียดนาม

ในด้านการค้านั้นกลุ่มอาเซียนมีมูลค่าการค้าทั้งหมด 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 เพิ่มขึ้นมา 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2007

 

กลุ่มอาเซียนโฆษณาความได้เปรียบทางเศรษฐกิจของตัวเองดังปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการอาเซียนว่า มีเศรษฐกิจรวมกันทั้งหมดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกและเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย มีประชากรรวมกัน 629 ล้านคนจัดว่ามากเป็นอันดับสามของโลกมีมากกว่าสหภาพยุโรปถึงกว่า 100 ล้านคน แม้ว่าไทยและสิงคโปร์จะเข้าสู่สังคมชราภาพแต่ประชากรมากกว่าครึ่งของอาเซียนทั้งหมดมีอายุ 30 ปี เกือบครึ่งคือราว 47.7 % อาศัยอยู่ในเขตเมือง แปลว่าพวกเขามีศักยภาพทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะคนในเมืองบริโภคมากกว่าคนในชนบท

 

นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์อื่นๆ และแม้แต่รัฐมนตรีของอาเซียนมีความเห็นค่อนข้างตรงกันว่า อาเซียนพึ่งพิงเศรษฐกิจภายนอกกลุ่มค่อนข้างมาก ในตอนเริ่มเข้าสู่ความเป็นประชาคมในปี 2015 นั้นสำนักเลขาธิการอาเซียนรายงานว่า อาเซียนมีการค้าขายภายในกลุ่มเพียง 24 % ของการค้าทั้งหมดและลงทุนระหว่างกันเพียง 18% ของทั้งหมด

ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้งหมดมีบุคลิกทางเศรษฐกิจคล้าย ๆ กันคือต้อนรับการลงทุนเมื่อมุ่งผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ ตลาดสำคัญของประเทศสมาชิกเป็นตลาดเดียวกันคือ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ในขณะที่นักลงทุนหลักก็มาจาก ยุโรป ญี่ปุ่นสหรัฐ และ จีน เหมือน ๆ กัน มีเพียง 3-4 ประเทศใน 10 ประเทศสมาชิกที่มีศักยภาพในการลงทุนต่างประเทศ นอกนั้นล้วนมุ่งต้อนการรับการลงทุนเป็นส่วนใหญ่

การค้าและการลงทุนภายในกลุ่มเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการบูรณาการทางเศรษฐกิจ กลุ่มประเทศที่มีการบูรณาการเศรษฐกิจระดับเข้มข้นอย่างสหภาพยุโรปนั้น การค้าระหว่างกันภายในกลุ่มจะมากกว่า 60 % ของการค้าทั้งหมด จากรายงานของ Eurostat พบว่า ในบรรดาสมาชิกสหภาพยุโรป 28 ชาติ มีเพียงสหราชอาณาจักรและมอลตาเท่านั้นที่ค้าขายกับประเทศนอกกลุ่มมากกว่าภายในกลุ่ม นี่อาจจะเป็นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้สหราชอาณาจักรคิดแยกตัวจากยุโรปก็เป็นได้

ผศ.ดร.มรกต ไมยเออร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิชาการสถาบันภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การบูรณาการนั้นจะมีขั้นตอนของมันจากตัวอย่างของสหภาพยุโรปเห็นได้ชัดว่าผลของการบูรณาการจากด้านเศรษฐกิจนำไปสู่ภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย

 

"แต่กระบวนการนี้ไม่ได้เกิดอย่างอัตโนมัติหากแต่เกิดจากการที่การทำงานบูรณาการทางเศรษฐกิจที่เป็นขั้นตอนที่ไปแตะกับภาคส่วนอื่น ๆ และต้องสร้างความเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นๆ ที่ทำให้ต้องมีการวางแผนนโยบายในภาคส่วนอื่นๆควบคู่ไปกับภาคเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมแบบที่เรียกว่าเป็นนโยบายที่สอดคล้องกัน (cohesion policy) โดยภาคเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมจะเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน" ผศ.มรกต ผู้ซึ่งศึกษาสหภาพยุโรปอยู่ด้วย กล่าว

 

 

ที่มา : BBC