bg-head-3

ตอนที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนสมัยโบราณ

ประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในสมัยโบราณว่าสยาม และประเทศจีน เป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาช้านาน ชาวไทยและชาวจีนได้ไปมาหาสู่และติดต่อสัมพันธ์กันทั้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองมาตั้งแต่โบราณ แม้ว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าและมีพลเมืองมากกว่าประเทศไทยก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองส่วนมากจะมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อ กันฉันท์ญาติมิตร ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ ประเทศไทยกับประเทศจีนได้มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด บางขณะอาจไปมาหาสู่กันบ่อยครั้ง ในบางคราวอาจห่างเหินไปบ้าง อันเนื่องมาจากปัญหาภายในของแต่ละประเทศและสถานการณ์ระหว่างประเทศ

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงยึด อำนาจแผ่นดินใหญ่จีน และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ โดยสถาปนาประเทศเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ไทยมิได้รับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั้งวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 เมื่อ ฯพณฯ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง และลงนามในแถลงการณ์ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับโจรเอินไหล นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทวีความใกล้ชิดยิ่ง ขึ้น โดยมีการเดินทางไปมาหาสู่กันทั้งในระดับประชาชนทั่วไปและระดับผู้นำของทั้ง สองประเทศ อีกทั้งความสัมพันธ์ก็ขยายครอบคลุมไปทุก ๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
ในการศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชน จีน ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา และแนวโน้มในอนาคต จำเป็นต้องเข้าใจความเป็นมาหรือประวัติภูมิหลังของความสัมพันธ์ไทยและจีนใน อดีตด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนในอดีตก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการ ทูตอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2518 นั้น ได้พัฒนาเป็น 3 ระยะดังนี้ คือ
1.  ความสัมพันธ์ในสมัยโบราณ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนราชวงศ์ต่างๆ กับไทย ตั้งแต่สมัยที่อาณาจักรโบราณตั้งเมืองหลวงอยู่ที่สุโขทัยใน พ.ศ. 1825 ต่อมาย้ายเมืองหลวงมาที่อยุธยา ธนบุรี และกรุงเทพฯ จนถึง พ.ศ. 2396 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชวงศ์จักรีที่กรุงเทพฯ
2.  ความสัมพันธ์สมัยใหม่ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยที่เผชิญกับจักรวรรดินิยมตะวันตกระหว่าง พ.ศ. 2400 – 2488 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

3. ความสัมพันธ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2489 จนถึง พ.ศ. 2517 ก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2518
 
1.ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนสมัยโบราณ : การทูตบรรณาการ

ประเทศไทยและจีน แม้ว่าจะอยู่ไม่ไกลกัน แต่การติดต่อถึงการทางบกในสมัยโบราณค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเส้นทางและภูมิประเทศค่อนข้างทุรกันดาร ดังนั้น การติดต่อระหว่างประเทศทั้งสองจึงมักใช้ทางทะเล ซึ่งนำไปสู่ “การค้าสำเภา” (Junk Trade) ระหว่างกัน เดิมจีนมีศูนย์กลางอำนาจที่ลุ่มแม่น้ำฮวงโฮ จีนสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (พ.ศ. 337 – 568) ได้ส่งทูตมาติดต่อกับชุมชนโบราณหลายชุมชนในเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่กลอง และเจ้าพระยา เช่น ตว้อหลอพอตี้ (ทวาราวดี) หลอหู (อาจหมายถึงละโว้หรืออู่ทอง) เสียน (อาจหมายถึงสุพรรณภูมิหรือสุโขทัย) การติดต่อระหว่างไทยกับจีนในสมัยโบราณนั้นมีมานานแล้ว แต่เท่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์สมัยโบราณอย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้นในสมัยสุโขทัยของไทย ซึ่งเป็นสมัยเดียวกันกับที่ราชวงศ์หยวนของเผ่ามองโกลในจีน การติดต่อระหว่างจีนกับไทยได้มีขึ้นโดยทางฝ่ายจีนเป็นผู้ริเริ่มก่อน พงศาวดารจีนราชวงศ์หยวนได้บันทึกไว้ว่า ประมาณปี พ.ศ. 1825 จักรพรรดิกุบไลข่านแห่งราชวงศ์หยวนได้ส่งทูตเข้ามาติดต่อกับอาณาจักร “เสียน” ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

“ปีที่ 19 ในรัชกาลจื้อหยวน เดือนหก วันจีไฮ่ มีรับสั่งให้เหอจื่อจื้อซึ่งเป็นนายพล เป็นทูตไปยังประเทศสยาม (เสียน)” แต่ปรากฏว่าคณะทูตของจีนชุดนี้มาไม่ถึงสุโขทัย เพราะถูกพวกจามแห่งอาณาจักรจามปาจับตัวในระหว่างเดินทางและประหารชีวิตหมด”

ต่อมา พ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัยได้ส่งคณะทูตไปยังจีนครั้งแรก ใน พ.ศ. 1835 ดร. สืบแสง พรหมบุญ นักประวัติศาสตร์ ได้สันนิษฐานว่า การส่งทูตไปยังจีนครั้งนั้นมีเป้าหมายทางการเมือง เป็นการดำเนินวิเทโศบายทางการทูตของอาณาจักรสุโขทัยเพื่อป้องกันมิให้ จักรพรรดิกุบไลข่านสนับสนุนอาณาจักรสุพรรณภูมิ ทั้งนี้เพราะอาณาจักรสุพรรณภูมิได้เคยส่งเครื่องบรรณการไปยังจีน ใน พ.ศ. 1834 เพื่อขอความสนับสนุนทางการเมือง

เอกสารทางฝ่ายจีนได้ระบุว่า อาณาจักรสุโขทัยได้ส่งคณะทูตพร้อมด้วยของพื้นเมืองถวายเป็นกำนัลแก่ จักรพรรดิราชวงศ์หยวนในจีน รวม 14 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 1835 จนถึง พ.ศ. 1865 ส่วนจีนสมัยราชวงศ์หยวนได้ส่งทูตมายังสุโขทัย 4 ครั้ง แต่มาถึงสุโขทัยเพียง 3 ครั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะแผ่อำนาจของจักรพรรดิกุบไลข่านและให้สุโขทัยอ่อนน้อม การส่งทูตติดต่อระหว่างจีนกับไทยในสมัยสุโขทัยนี้ได้ส่งผลให้การค้าระหว่าง อาณาจักรทั้งสองขยายตัว อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดความรู้ของจีนมายังไทย โดยช่างจีนได้เข้ามาทำเครื่องปั้นดินเผาจนเป็นที่รู้จักกันในนาม “เครื่องสังคโลก” ต่อมาเครื่องสังคโลกได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย

ต่อมาสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง อยุธยาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ภายใต้การนำของราชวงศ์อู่ทองของสุพรรณภูมิเข้มแข็ง ขึ้น และขึ้นมาเป็นใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนในแผ่นดินจีน ชาวจีนได้โค่นล้มราชวงศ์หยวนของเผ่ามองโกลและสถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้น พงศาวดารของจีนเรียกไทยว่า “เสียนหลอหู” และต่อมาย่อเป็น “เสียนโล้” ชื่อนี้ปรากฏในพงศาวดารราชวงศ์หมิงเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 1913 ว่า

“ปีที่ 3 ในรัชกาลหงหวู่ เดือนที่ 8 มีรับสั่งให้ลู่จงจุ้นกับพวกอัญเชิญพระบรมราชโองการ (ประกาศการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิ) ไปยังประเทศสยาม” (เสียนโล้)

พระบรมราชาธิราชที่ 1 กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ได้โปรดให้ส่งของพื้นเมืองพร้อมทั้งเชิญพระราชสาส์นไปถวายจักรพรรดิจีน ซึ่งพงศาวดารราชวงศ์หมิง เล่มที่ 374 ได้บันทึกไว้ว่า

“ปีที่ 4 ในรัชกาลหงหวู่ เดือน 9 ซันเลียเจาพีเอี๋ย (สมเด็จเจ้าพระยา คงหมายถึงพระบรมราชาธิราชที่ 1) กษัตริย์ของประเทศสยามอัญเชิญพระราชสาส์น พร้อมด้วยลู่จงจุ้นและพวกมาถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งประกอบด้วย ช้างบ้าน 6 เชือก เต่าหกขา และของพื้นเมืองอื่นๆ (จักรพรรดิ) ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประทานแพรกิมและแพรดอกขาวอย่างดีแก่กษัตริย์ (สยาม)”

หลังจากรัชกาลพระบรมราชธิราชที่ 1 แล้ว กรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีเพื่อค้าขายกับจีนประมาณ 130 ครั้ง ในระยะเวลาเกือบ 400 ปี ระหว่าง พ.ศ. 1914 ถึง พ.ศ. 2309 ส่วนจีนในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ได้ส่งทูตมายังกรุงศรีอยุธยาประมาณ 17 ครั้งด้วยกัน ในสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิหย่งเล่อได้ส่งกองเรือนำโดยนายพลเรือเจิ้งเหอ (นามเดิมหม่าซานเปา หรือที่คนไทยเรียก ซำเปากง) นักเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ของจีน ให้เดินทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแวะที่กรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 1951 สัมพันธภาพระหว่างจีนกับไทยในสมัยอยุธยานี้ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น มีชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากขึ้น และรับราชการอยู่กับฝ่ายไทย ยิ่งไปกว่านั้น การค้าสำเภาระหว่างไทยกับจีนในสมัยอยุธยานี้ได้ทำให้กรุงศรีอยุธยามั่งคั่ง และกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าระหว่างประเทศทางตะวันตกคือยุโรป กับประเทศทางตะวันออกคือจีนอีกด้วย

เมื่ออยุธยาล่มสลายด้วยกำลังทหารของพม่าใน พ.ศ. 2310 ผู้นำไทยย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี และต่อมาที่กรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประเทศไทยและประเทศจีนก็ยังคงมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน ไทยยังคงส่งทูตเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่จักรพรรดิ จีนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขอความสะดวกในการค้าสำเภา ในสมัยธนบุรีและตลอด 4 รัชกาลแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยได้ส่งทูตไปจีนรวม 56 ครั้ง จนถึง พ.ศ. 2396 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 รัชกาลแรก ไทยส่งคณะทูตไปจีนแทบทุกปี การติดต่อระหว่างประเทศไทยกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าสำเภา ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างมาก ผลกำไรจากการค้าสำเภากับจีน ทำให้ไทยมีเงินทุนเพียงพอในการสร้างบ้านเมืองเพื่อทำสงครามต่อต้านการรุกราน ของพม่าและเพื่อการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนในสมัยโบราณนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นความสัมพันธ์ใน “ระบบบรรณาการ” (Tribute) หรือเจิงกุง (ไทยมักอ่านว่าจิ้มก้อง) อันเป็นประเพณีสัมพันธไมตรีของจีนกับประเทศอื่นๆ ในสมัยโบราณ ทั้งนี้เพราะจีนมีความเชื่อมานานตามอิทธิพลทางความคิดของลัทธิขงจื้อที่ว่า จีนเป็นอาณาจักรกลาง (จงกั๊ว หรือ Middle Kingdom) เป็นศูนย์กลางของอำนาจและอารยธรรมโลก เนื่องจากมีความเจริญมาช้านาน ดังนั้น จีนจึงมักมองดินแดนอื่นที่อยู่โดยรอบว่าด้อยกว่า และจะต้องยอมรับสวามิภักดิ์กับจีน โดยการส่งเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิจีนตามกำหนด ส่วนจีนซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าและเจริญกว่า จะให้ความช่วยเหลือคุ้มครองประเทศเล็กๆ เหล่านี้ อีกทั้งยังให้ผลประโยชน์อื่นๆ ทั้งทางการเมืองโดยยอมรับฐานะกษัตริย์ และทางเศรษฐกิจโดยอนุญาตให้ค้าขายได้อย่างเสรี

อย่างไรก็ดี ผู้นำของไทยมิได้ยอมรับตามคตินิยมของจีน ไทยมิได้หวาดกลัวว่าจีนจะคุกกคาม เนื่องจากจีนอยู่ห่างไกล และไม่เคยคุกคามความมั่นคงของไทยเลย ไทยส่งคณะทูตพร้อมด้วยพระราชสาส์นและของกำนัลหรือเครื่องบรรณาการ ก็เพื่อความสะดวกในการค้าขาย พระราชสาส์นของกษัตริย์ก็เป็นการแสดงสันถวไมตรี มิได้แสดงว่าอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น ส่วนเครื่องบรรณาการที่ส่งไปด้วย ก็เพื่อแสดงไมตรีจิต และเพื่อเป็นไปตามความต้องการของจีนตามประเพณีจีน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน ในสมัยโบราณนี้ว่า

“เหตุที่เมืองไทยจะเป็นไมตรีกับกรุงจีนนั้น เกิดแต่ด้วยเรื่องไปมาค้าขายถึงกันทางทะเล เมืองไทยมีสินค้าหลายอย่าง ซึ่งเป็นของต้องการในเมืองจีนแต่โบราณมาเหมือนกับทุกวันนี้ และเมืองจีนก็มีสินค้าหลายอย่างที่ไทยต้องการเหมือนกัน การไปมาค้าขายกับเมืองจีน ไทยได้ผลประโยชน์มาก แต่ประเพณีจีนในครั้งนั้น ถ้าเมืองต่างประเทศไปค้าขายต้องมีเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน จึงจะปล่อยให้ค้าขายได้โดยสะดวก เพราะเหตุนี้จึงมีประเพณีที่ถวายบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงจีน ไม่แต่ประเทศไทยเรา ถึงประเทศอื่นก็อย่างเดียวกัน ความจริงบุคคลต่างชาติกัน จะมีชาติใดที่รักชอบกันยืดยาวมายิ่งกว่าไทยกับจีนนี้ไม่เห็นมี ด้วยไม่เคยเป็นศัตรูกัน เคยแต่ไปมาค้าขายแลกผลประโยชน์ต่อกันมาได้หลายร้อยปี ความรู้สึกทั้งสองปกติจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาแต่โบราณจนตราบเท่าทุก วันนี้...”

ดร. สืบแสง พรหมบุญ นักประวัติศาสตร์ไทยที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและ จีนในสมัยโบราณ ได้กล่าวสรุปว่า แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองจะมีลักษณะคล้ายระบบบรรณาการก็ตาม แต่ “สัมพันธภาพนั้นเป็นเพียงในนามมากกว่า...จุดมุ่งหมายที่สำคัญของคณะทูตไทย นั้นดูจะเป็นด้านเศรษฐกิจ และบรรดาของกำนัลที่มอบให้จีนนั้น ก็ถือว่ามิได้มีความหมายอื่นใดมากไปกว่าของกำนัลตามมารยาท... ความจริงคณะทูตไทย นับจากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา เปรียบเหมือนขบวนเรือบรรทุกสินค้าจากไทยไปจีน และบรรทุกสินค้าจากจีนกลับมาไทยมากกว่า”

ต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนใน “ระบบบรรณาการเพื่อการค้า” นี้ได้ลดความสำคัญและประโยชน์ลง ในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไทยได้ทำการค้ากับตะวันตกมากขึ้นหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษ พ.ศ. 2398 ในขณะที่ผลกำไรจากการค้าสำเภาจีนได้ลดลงตามลำดับ ทั้งนี้เพราะความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง เนื่องจากจักรพรรดิ์ราชวงศ์ชิงในระยะหลังอ่อนแอ อีกทั้งเผชิญกับปัญหาการต่อต้านจากภายในและการท้าทายคุกคามจากภายนอก ไทยได้ส่งคณะทูตไปจีนเป็นครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2396 และหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยุติการส่งคณะทูตและ การค้าบรรณาการกับจีน เพราะพระองศ์ท่านไม่ประสงค์จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประเทศที่ติดต่อ กับไทย อีกทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยได้รับไม่คุ้มกับการลงทุนเนื่องจากความไม่ ปลอดภัยในการเดินทาง อาจกล่าวได้ว่า พ.ศ. 2396 เป็นปีสุดท้ายของการส่งบรรณาการเพื่อการค้า นับเป็นการสิ้นสุดความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนในสมัยโบราณภายใต้ระบบ บรรณาการเพื่อการค้า