bg-head-3

关于协会

ราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์อันดียิ่งมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย และไม่มีปัญหาทางประวัติศาสตร์ค้างคาต่อกันเลยตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้ ความสัมพันธ์ไทย-จีน มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีจูหรงจี เคยกล่าวว่าความสัมพันธ์ไทย-จีน มีลักษณะพิเศษ 3 ประการคือ มีสายเลือดเดียวกัน, เป็นเพื่อนกัน และเป็นหุ้นส่วนกัน



หลังจากราชอาณาจักรไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2518 แล้ว หลังจากนั้นได้เกิดความไม่สงบขึ้นในภูมิภาคอินโดจีน รวมทั้งความไม่สงบภายในประเทศ ของราชอาณาจักรไทย ณ ห้วงเวลานั้น พันเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน และพันเอก พัฒน์ อัคนิบุตร ได้เป็นคณะเดินทางไปเจรจาความร่วมมือกับ ฯพณฯ เติ้งเสี่ยวผิง ประธานคณะกรรมการการทหารกลาง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ที่กรุงปักกิ่ง เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพในภูมิภาคนี้ นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศและของภูมิภาคนี้ด้วยalt

หลังจากนั้น กองทัพของทั้งสองประเทศก็ได้ร่วมมือกันอย่างสนิทแน่นแฟ้นในการธำรงรักษาและฟื้นฟูสันติภาพขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ และประสพความสำเร็จอย่างงดงาม สันติภาพและความร่วมมือได้ปรากฏขึ้นเป็นที่ประจักษ์ ในช่วงเวลานั้นฝ่ายเสนาธิการของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้แนะนำให้ฝ่ายไทยได้จัดตั้งองค์กรภาคเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นสะพานที่สั้นที่สุดขึ้น เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองกองทัพและสองประเทศ ในขณะนั้นฝ่ายจีนมีสมาคมมิตรภาพระหว่างประเทศ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมี ฯพณฯ ฮวงหัว อดีตหัวหน้าสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ของประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เหมาเจ๋อตง อดีตรองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นนายกสมาคมฯ



จากข้อแนะนำดังกล่าว พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยและคณะนายทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจ จึงได้จัดตั้งสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ขึ้น และต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ก็ได้จดทะเบียนกับทางราชการ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ในรูปแบบของสมาคม มีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก 

หลังจากสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ก่อตั้งขึ้นแล้ว บทบาทในระยะแรกเริ่มยังคงจำกัดวงอยู่ในเรื่องการทหาร ความมั่นคง จนกระทั่งได้เกิดภาวะสันติภาพโดยทั่วไปในภูมิภาคนี้แล้ว จึงได้ขยายบทบาททางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น



ในปี พ.ศ. 2548 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ คนที่ 2 สืบต่อจากพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 พลเอก วิชิต ยาทิพย์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก ก็ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ คนที่ 3 ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 6 สมัย ในรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ก็ได้เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ คนที่ 4 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2556 ดร.โภคิน พลกุล ก็ได้เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ คนที่ 5 ตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ 







บทบาทและผลงานของสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

  1. เป็นสะพานที่สั้นที่สุดในการเชื่อมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ตลอดจนความร่วมมือทางด้านการทหาร ความมั่นคง และการเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพของทั้งสองประเทศ
  2. เป็นองค์กรที่ริเริ่มและผลักดันให้รัฐบาลไทยโดยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ได้ทำความตกลงกับรัฐบาลจีน ซึ่งมี ฯพณฯ ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจูหรงจี และ ฯพณฯ เฉากังฉวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการขอหมีแพนด้า 1 คู่ มาประเทศไทย ซึ่งได้รับการขนานนามในภายหลังว่า ช่วง ช่วง และหลิน ฮุ่ย
  3. ได้ผลักดันให้รัฐบาลไทยทำความตกลงกับรัฐบาลจีนจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้เห็นชอบ โดยฝ่ายไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน และฝ่ายจีนได้จัดตั้งคณะกรรมการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-ไทย มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน
  4. ได้ประสานงานให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดของประเทศไทยกับมณฑลและเมืองของประเทศจีน เช่น จังหวัดภูเก็ตกับเมืองเอียนไถ, จังหวัดสุโขทัยกับมณฑลส่านซี, จังหวัดปราจีนบุรีกับนครฉางชุน เป็นต้น
  5. ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งสถานกงสุลไทยในประเทศจีน รวม 4 แห่ง คือ ที่นครซีอาน นครเฉิงตู เมืองหนานหนิง และมณฑลเซียะเหมิน
  6. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซียะเหมิน มณฑลฮกเกี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน รับทุนการศึกษาแบบให้เปล่า เพื่อให้ข้าราชการทุกส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และองค์กรอิสระ เดินทางไปศึกษาภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลา 1 ปี ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7
  7. ประสานงานให้มีการทำความตกลงร่วมมือกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับตลาดหลักทรัพย์มหานครเซี่ยงไฮ้ เพื่อเป็นต้นแบบความร่วมมือตลาดทุนของประเทศอาเซียนกับจีน
  8. ได้ประสานงานการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน กองทัพปลดแอกประชาชนจีน และภาคเอกชนจีน ในกรณีประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554
  9. ได้ประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทย-จีน ให้เกิดความเข้าใจและแก้ไขปัญหาร่วมกัน กรณีเรือจีนถูกปล้นในแม่น้ำโขง และลูกเรือจีนถูกสังหารโหด 13 คน และเกิดความเข้าใจผิดที่รุนแรงในหมู่ประชาชน โดย 

          9.1 เสนอให้ตั้งกองกำลังลาดตระเวนแม่น้ำโขงร่วม 4 ชาติ ได้แก่ ไทย-ลาว-พม่า-จีน และได้มีการปฏิบัติตามข้อเสนอนี้

          9.2 รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่การกระทำของทหารไทย แต่เป็นการกระทำของ "มือที่สาม" ต่อมาทางการลาวจับตัวผู้กระทำผิดได้.

 

สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน มีสำนักงานตั้งอยู่ที่

เลขที่ 178 อาคารธรรมนิติ ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น20) ถ.ประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

โทรศัพท์ (02) 5855884 

โทรสาร (02) 5859204 

www.thaizhong.org 

E-mail : 该 Email 地址已受到反垃圾邮件插件保护。要显示它需要在浏览器中启用 JavaScript。