จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๘ มิ.ย.๖๔ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ในการประชุมทางไกลระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (“一带一路”) เมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย.๖๔ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นายหวัง อี้ กล่าวว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ในปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) และด้วยความพยายามร่วมกันของทุกฝ่าย ทำให้ข้อริเริ่มที่สำคัญนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพลังที่แข็งแกร่งและมีความก้าวหน้าในเชิงบวกมาเป็นเวลา ๘ ปีแล้ว โดยนำมาซึ่งโอกาสและประโยชน์อันยิ่งใหญ่ จนถึงปัจจุบันมี ๑๔๐ ประเทศหุ้นส่วนได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือเกี่ยวกับ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับจีน รวมทั้งยอดการค้าจากความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ระหว่างจีนกับประเทศหุ้นส่วนมีมูลค่ากว่า ๙.๒ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยอดการลงทุนโดยตรงจากธุรกิจจีนในประเทศรายทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มีมูลค่ากว่า ๑๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จึงกลายเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดและกว้างขวางที่สุดของโลกในปัจจุบัน
๒. นายหวัง อี้ เน้นย้ำว่า การยืนหยัดในผลประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win ของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและเป็นประโยชน์ต่อโลก จากการส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงการพัฒนา และการแบ่งปันเพื่อเชื่อมโยงความฝันของจีนกับความฝันของประเทศอื่นๆ ในโลกผ่านการสื่อสารนโยบาย การเชื่อมต่อสิ่งอำนวยความสะดวก การค้าที่ไม่มีอุปสรรค การเชื่อมต่อทางการเงิน และการเชื่อมต่อระหว่างบุคคล โดยเฉพาะในปีนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี โดยจีนกำลังจะสร้างสังคมที่มั่งคั่งอย่างรอบด้าน และใช้ประโยชน์จากแรงผลักดันในการเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ในการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่างรอบด้าน โดยจีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่มีคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง และสร้างพันธมิตรด้านสุขภาพที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมทั้งความร่วมมือด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความร่วมมือที่เปิดกว้างและครอบคลุม ดังนั้น ฝ่ายจีนจึงมีข้อเสนอแนะ ๔ ประการ ได้แก่
๒.๑ ประการแรก ต้องเดินหน้ากระชับความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวัคซีน
๒.๒ ประการที่สอง ต้องเดินหน้าเสริมสร้างความร่วมมือในการเชื่อมต่อโครงข่าย เชื่อมโยงทุกฝ่ายกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และร่วมมือกันในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ทางเดินทางเศรษฐกิจ และเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า เร่งสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัลและสร้างรูปแบบใหม่ของการเชื่อมต่อโครงข่ายอัจฉริยะในอนาคต
๒.๓ ประการที่สาม ต้องส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาสีเขียวต่อไป โดยจีนยินดีที่จะกระชับความร่วมมือกับทุกฝ่ายในด้านโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว พลังงานสีเขียว และการเงินสีเขียว รวมทั้งสร้างโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยมาตรฐานสูงและคุณภาพสูง
๒.๔ ประการที่สี่ ต้องส่งเสริมการค้าเสรีระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป ส่งเสริมการมีผลบังคับใช้ของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก่อนกำหนด โดยเร่งกระบวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค รวมทั้งร่วมกันรักษาความเปิดกว้าง ความมั่นคง และเสถียรภาพของโลก ตลอดจนห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน
บทสรุป
จีนได้แสดงท่าทีที่มุ่งมั่นต่อการทำงานร่วมกันกับประเทศในเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการพัฒนา “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในการต่อต้านการแพร่ระบาดของโรค เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล