bg-head-3

新闻

ธุรกิจอีเวนท์ลุยอาเซียน-เสริมดิจิทัล

แนวโน้มธุรกิจจัดกิจกรรม (อีเวนท์) เริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ปลายไตรมาสแรก ต่อเนื่องไตรมาส2 ช่วงไฮซีซันสินค้าซัมเมอร์และเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะอีเวนท์ภาคเอกชนกลับมาคึกคัก ขณะที่ภาครัฐเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี

อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด กล่าวว่าช่วงไตรมาส2 มีงานภาคเอกชน ทั้งด้านนิทรรศการและศูนย์การเรียนรู้หลายโปรเจค ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตลาดมีทิศทางเติบโต ล่าสุดผลิตงานสื่อมัลติมิเดียในโครงการ“วัน แบงค็อก”ซึ่งเป็นภาพจำลองโครงการ เพื่อดึงลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในโครงการ

“แนวโน้มอีเวนท์เอกชนช่วงครึ่งปีแรกกลับสู่ภาวะปกติ หลังชะลอตัวไตรมาสสี่ปีก่อน”

ส่วนงานภาครัฐปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกัน เนื่องจากมีหลายโครงการใช้อีเวนท์เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เช่น นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ,การสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ,โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ,การโปรโมทสินค้าโอท็อป ที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลชะลอการใช้อีเวนท์ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้ภาพรวมอีเวนท์ลดลงในช่วงปี 2558-2559 เฉลี่ยมูลค่าอยู่ที่ปีละ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2557 มูลค่าสูงสุดที่ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท

หวังรัฐดันตลาดปีนี้โต20%

แต่ทิศทางการฟื้นตัวปีนี้ เริ่มจากฝั่งเอกชน หากภาครัฐเริ่มใช้อีเวนท์เป็นเครื่องมือสื่อสารและขับเคลื่อนโครงการต่างๆเพิ่มขึ้น เชื่อว่าภาพรวมอีเวนท์จะกลับมาเติบโตราว 20% เทียบปีก่อน หรือมีมูลค่าราว 1.2 หมื่นล้านบาท

อุปถัมป์ กล่าวเพิ่มเติมว่าลักษณะการทำงานของบริษัท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ งานออกแบบและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้, อีเวนท์ และงานออกแบบตกแต่ง ที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าของไร้ท์แมน 80% เป็นภาครัฐ หลังจากร่วมเป็นพันธมิตรกับ“ซีเอ็มโอ”ในปีที่ผ่านมา ได้ขยายงานสู่กลุ่มเอกชนมากขึ้น ปีนี้คาดว่างานภาครัฐและเอกชนจะมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50%

ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 900 ล้านบาท ปีนี้วางเป้าหมายไว้ที่ 1,200 ล้านบาท โดยจะขยายงานด้านคอมเมอร์เชียล อินทีเรีย ในกลุ่มลูกค้าประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ร่วมกับทางซีเอ็มโอมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนการลงทุนด้าน Tourist Attraction อาทิ การสร้างสวนสนุกไดโนเสาร์เคลื่อนที่ ในเมียนมาและประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย

บีอีซี-เทโรโหมคอนเสิร์ต

พงษ์พันธ์ วงศ์หนองเตย ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าแนวโน้มตลาดคอนเสิร์ตและโชว์ปีนี้เริ่มกลับมาคึกคักตั้งแต่ไตรมาสแรกต่อเนื่องไตรมาส2 หลังชะลอตัวช่วงปลายปีก่อน ปีนี้มีแผนนำเข้าคอนเสิร์ตโปรเจคใหญ่ต่อเนื่อง วางเป้าหมายรายได้เติบโต 10% จากปีก่อนที่อยู่ในภาวะทรงตัว

ล่าสุดบีอีซี-เทโรฯได้ร่วมทุน บริษัทโชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด จัดตั้งบริษัท บีอีซี-เทโร โชว์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจศูนย์กลางจัดงานครบวงจรแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ โดย“บีอีซี-เทโร โชว์”จะเข้าบริหารจัดการพื้นที่จัดงานในศูนย์การค้าโชว์ดีซี ทั้งภายในและนอกอาคาร รวมพื้นที่ 40,000 ตร.ม. 9 โซน ทั้งภายนอกอาคารและภายในอาคาร ปัจจุบันพร้อมใช้งาน 8 โซน โดยพื้นที่ “เพอร์ฟอร์แมนซ์ ฮอลล์” ความจุ 1 หมื่นคน กำลังอยู่ระหว่างออกแบบและวางระบบ คาดเปิดให้บริการช่วงต้นปี 2561

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว วางเป้าหมายปีแรกจัดงาน 1,000 งาน หรือเฉลี่ยนเดือนละ 80-90 งาน คาดทำรายได้ 500 ล้านบาท โดยรูปแบบงานมีโชว์บิซี อีเวนท์ งานแสดงสินค้า เปิดตัวสินค้า และคอนเสิร์ต ซึ่งมีพื้นที่รองรับผู้ร่วมงานหลากหลายตั้งแต่หลัก 100 คน ถึงระดับ 1 หมื่นคน

การจัดงานโชว์บิซและคอนเสิร์ตต่างๆ ของ บีอีซี-เทโร หลังจากนี้จะใช้พื้นที่โชว์ดีซี เป็นลำดับแรก โดยเฉพาะคอนเสิร์ตขนาดความจุ 5,000 คน ซึ่งเป็นเซ็กเมนท์ใหม่ที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ในโซนเพอร์ฟอร์แมนซ์ ฮอลล์ขณะที่คอนเสิร์ตใหญ่ระดับ 1 หมื่นคนขึ้นไปจะใช้พื้นที่อิมแพ็ค อารีน่า เช่นเดิม

ที่ผ่านมายังไม่มีพื้นที่แสดงคอนเสิร์ตระดับ 5,000 คนที่เหมาะสม ดังนั้นความร่วมมือกับโชว์ดีซีครั้งนี้ จะทำให้การจัดคอนเสิร์ตทั้งไทยและต่างประเทศของบริษัทในปี 2561 เพิ่มขึ้น“เท่าตัว”จากเดิมอยู่ที่ปีละ 30 งาน

จุดเปลี่ยนเสริมดิจิทัล

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปีนี้จะเห็นการปรับตัวของธุรกิจอีเวนท์ด้วยการผสานใช้สื่อดิจิทัลเข้ามาสร้างสรรค์งานมากขึ้นเช่นเดียวกับการปรับตัวของหลายธุรกิจ  อีเวนท์ต้องปรับตัวสู่“ดิจิทัล อีเวนท์” โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่และสื่อสารเช่นกัน 

 รูปแบบการจัดงานอีเวนท์ในยุคนี้ นักการตลาดและแบรนด์ ต้องการเห็นงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ผสานสื่อดิจิทัล  โดยอีเวนท์ต้องเป็น“คอนเทนท์”ที่น่าสนใจเพื่อใช้เป็น“เครื่องมือการตลาด" สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภคและสร้างกระแสบอกต่อเรื่องราวของแบรนด์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ดังนั้นมองว่าอีเวนท์ขนาดใหญ่จะลดลงเหลือเพียงรูปแบบงานเฟสติวัลประจำปี เช่น สงกรานต์ ส่วน “อีเวนท์ มาร์เก็ตติ้ง”จะมีขนาดเล็กลง  มุ่งผสานงานครีเอทีฟและสื่อดิจิทัล สร้างความน่านสนใจให้ผู้บริโภคและสร้างความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ 

แนวทางการขยายธุรกิจอีเวนท์ของอินเด็กซ์ฯ จะมุ่งสร้างอีเวนท์ประจำปี(ถาวร) เพื่อสร้างการรับรู้ต่อเนื่องในกลุ่มผู้บริโภคและทำงานร่วมกับสปอนเซอร์ พร้อมทั้งเน้นขยายธุรกิจในตลาดใหม่กลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ ซีแอลเอ็มวี ที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง

 

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ