bg-head-3

新闻

รถไฟจีน-ยุโรปVSจีน-อาเซียน เส้นไหนดีกว่ากัน?

 

ขณะนี้จีนเร่งสร้างและขยายรถไฟขนส่งสินค้าไปทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวันเบลท์วันโรด ฟื้นฟูเส้นทางการค้า ทั้งในยุโรป และการขยายเส้นทางรถไฟที่มีอยู่แล้วในอาเซียน แต่ทั้ง  2 เส้นทางนี้ มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ และเส้นไหนจะได้ผลมากกว่ากัน?

 

แผนการประกาศเตรียมขยายเส้นทางรถไฟส่งสินค้าทั้งไปและกลับจากยุโรปของจีน ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวอย่างมาก โดยจีนประกาศเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟส่งสินค้าที่เดินทางไป-กลับ จากจีนและยุโรป ให้ได้ 5,000 ขบวนภายใน 3 ปี จาก 1,800 ขบวนในปี 2016 จะทำให้จีนเป็นมหาอำนาจทางการค้าของโลก ทั้งการกระจายสินค้าจากพื้นที่ชนบทของจีนให้แก่ตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้ออย่างยุโรป และแผนการนำเข้าสินค้าจากยุโรปเข้ามาในหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกของจีน 

 

แผนการสร้างรถไฟดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวัน เบลท์ วัน โรด(One Belt One Road) ฟื้นฟูเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าเก่าแก่ของจีน ที่แบ่งเป็นเส้นทางบกและทางน้ำ โดยเส้นทางบกจะมีการสร้างรถไฟ เชื่อมจีนผ่านเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ไปถึงยุโรป ส่วนเส้นทางน้ำ จะเชื่อมจีน ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังแอฟริกา นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโครงการอื่นๆ เช่น เชื่อมต่อท่อส่งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ไปจนถึงการเสนอต่อรถไฟสายเดิมของประเทศเพื่อนบ้านมายังจีน

 

รถไฟจีน-ยุโรป

สำหรับเส้นทางรถไฟจากจีน-ยุโรป ขณะนี้ จีนได้เปิดให้บริการส่วนหนึ่ง เช่น เส้นทางจากนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปยังเมืองดุยส์บวร์ก ทางตะวันตกของเยอรมนี ทำให้จีนนำเข้าอะไหล่รถยนต์คุณภาพสูงจากเยอรมนี หรือเส้นทางจากจีนไปรัสเซีย ทำให้จีนนำเข้าไม้จำนวนมากจากรัสเซียและยุโรปตอนเหนือ ขณะเดียวกันก็ส่งสินค้าไปขายในประเทศเหล่านี้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม จีนยังมีอุปสรรคหลายอย่างในการบุกเส้นทางนี้  โดยจีนจะต้องเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่เป็นทางผ่าน ที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศไม่เจริญ ขาดโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาด้านข้อกฎหมายของสหภาพยุโรปในด้านการลงทุนหรือการเงิน นอกจากนี้ ยังมีรถไฟบางสาย ที่ถูกมองว่าเป็นการสร้างเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้นำมาซึ่งประโยชน์ด้านเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

 

รถไฟจีนในอาเซียน

 

แผนวันเบลท์ วันโรดของจีน จะสร้างประโยชน์ให้กับอาเซียนหลายประการ อันดับแรกคือการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมทางน้ำ ที่จะไม่ได้ผ่านไทยโดยตรง แต่จะผ่านเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยจะได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากชัยภูมิที่ดี ที่อยู่ใจกลางอาเซียน หากสามารถวางตัวเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมหรือกระจายสินค้าในภูมิภาคนี้ และผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เช่น นักลงทุนจากฮ่องกง ที่ไทยพยายามดึงให้มาลงทุนในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ซึ่งได้เข้าพบกับรัฐบาลของไทยวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

 

สำหรับโครงการด้านการขยายเส้นทางรถไฟจากเมืองคุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจทางใต้ของจีน ไปยังสิงคโปร์  ขณะนี้จีนเองได้เร่งสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในลาว โดยจะแล่นผ่าน ลาว เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย ไปถึงสิงคโปร์ โดยคาดการณ์ว่าเส้นทางเวียงจันทน์ของลาวและไทย ที่ขณะนี้ยาวเพียง 3 กิโลเมตร จะเสร็จภายในปี 2022 

 

ประโยชน์ที่อาเซียนจะได้รับจากเส้นทางแผนขยายเส้นทางรถไฟของจีนในอาเซียน อย่างแรกคือโครงสร้างพื้นฐาน ที่ขณะนี้หลายรัฐบาลอาเซียนกู้เงินจากจีน เพื่อนำมาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่กำลังขาดแคลนอย่างมาก นอกจากนี้ อาเซียนยังจะได้รับประโยชน์จากความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค(RCEP) ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่ภาคีที่มีอยู่ 6 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือจีน 

 

อย่างไรก็ตาม อาเซียนอาจจะต้องระมัดระวังอิทธิพลของจีน ที่จีนในฐานะเจ้าหนี้รายสำคัญ จะกุมอำนาจหลายอย่าง โดยเฉพาะอำนาจทางเศรษฐกิจ เหมือนที่เกิดขึ้นกับโครงการรถไฟไทย-จีนมาแล้ว ที่จีนเรียกดอกเบี้ยสูง และกำหนดเงื่อนไขหลายอย่างให้จีนได้ประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว

 

แต่ถึงแม้ว่าโครงการทั้งหมดจะสร้างอิทธิพลให้แก่จีนในภูมิภาคได้มาก หากมองในความเป็นจริงโครงการนี้ก็จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่นๆ  ที่มากกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ปัจจุบัน ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมและยังมีความซ้ำซ้อนในหลายมิติ ถึงแม้ว่าความร่วมมือนี้จะโอนเอียงไปทางจีนก็ตาม 

 

 

ที่มา : VOICE TV21