ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 3/2555 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ได้มีการรายงานว่ารัฐบาลเมืองชิงเต่าสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงมติมอบเกียรติยศให้แก่พินิจ จารุสมบัติ เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ คนที่ 25
กรรมการในคณะกรรมการบริหารด้านวัฒนธรรม ได้รายงานว่ารัฐบาลเมืองชิงเต่า ได้ลงมติมอบเกียรติยศขั้นสูงแก่นายพินิจ จารุสมบัติ นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ให้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ คนที่ 25 นับแต่มีการก่อตั้งเมืองชิงเต่า และนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ของเมืองชิงเต่า
รายงานระบุว่า นายพินิจ จารุสมบัติ นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ได้สร้างคุณูประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่างเมืองชิงเต่ากับประเทศไทย ดังเช่น การช่วยประสานงานให้มีการทำความตกลงบ้านพี่เมืองน้องระหว่างเมืองพัทยากับเมืองชิงเต่า การช่วยประสานงานให้เกิดเครือข่ายการค้ายางระหว่างเมืองชิงเต่ากับผู้ส่งออกยางของประเทศไทย ซึ่งเป็นการหนุนช่วยรัฐบาลไทยในกิจการค้าระหว่างประเทศครั้งสำคัญ ได้ช่วยเหลือประสานงานให้รัฐวิสาหกิจเบียร์ชิงเต่าของเมืองชิงเต่ามาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทย และสนับสนุนให้เมืองพัทยาเข้าร่วมในกิจกรรมพืชสวนโลกของเมืองชิงเต่าครั้งหน้า และกำลังผลักดันยุทธศาสตร์ ป.ปลา ในการเปิดสถานกงสุลไทยในเมืองชิงเต่า รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างเมืองชิงเต่ากับเมืองพัทยาอีกด้วย
ในจำนวนสถานกงสุลไทย 7 แห่งในประเทศจีนปัจจุบันนั้น เป็นผลจากการผลักดันของสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ถึง 4 แห่ง ในช่วงสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย คือ สถานกงสุลไทยในนครซีอาน นครเฉิงตู ที่เมืองหนานหนิง และเซียะเหมิน ทำให้การจัดวางสถานกงสุลไทยทั้งหมดก่อรูปเป็นตัว บ.ใบไม้ โดยมีสถานทูตไทยในปักกิ่งเป็นศูนย์กลาง ยังคงขาดอยู่เฉพาะภาคอีสานของจีนซึ่งมีประชากรกว่า 200 ล้านคน ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถอำนวยความสะดวกในการให้บริการวีซ่าและอื่น ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ และถ้าเมื่อใดได้มีสถานกงสุลไทยเกิดขึ้นในภาคอีสานของจีนแล้วจะมีบทบาทผลักดันให้เกิดเส้นทางบินตรงระหว่างไทยกับเมืองนั้น ๆ อีกด้วย
ในเรื่องยุทธศาสตร์ ป.ปลา นั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่มีการเห็นชอบร่วมกันในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเห็นชอบและสนับสนุน โดยให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ดำเนินการ โดยนายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินงานในกระทรวงการต่างประเทศ และยุทธศาสตร์ ป.ปลา นี้จะรองรับกับยุทธศาสตร์สองระเบียงของจีนในการเปิดสัมพันธ์กับอาเซียนด้วย การจัดวางสถานกงสุลไทยตามยุทธศาสตร์ ป.ปลา จะทำให้การบริการออกวีซ่าแก่ประชาชนจีนและการอำนวยประโยชน์อื่น ๆ ครอบคลุมประชากรถึง 800 ล้านคนของประเทศจีน จึงมีผลต่อการส่งเสริมสนับสนุนความสัมพันธ์ไทย-จีน ทุกด้านอย่างยิ่ง
ในการประชุมคณะกรรมการเมื่อวานนี้ นายพินิจ ได้เน้นย้ำถึงการผลักดันการจัดตั้งสถานกงสุลไทยในภาคอีสานของจีนอย่างเต็มที่ โดยมอบหมายให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อุปนายก และพลเอก อุทัย ชินวัตร อุปนายก ร่วมกันประสานงานอย่างใกล้ชิด และมอบหมายให้นายบัณฑิต ศิริตันหยง อุปนายก ประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งนายบัณฑิตได้รายงานต่อที่ประชุมว่ากระทรวงการต่างประเทศได้เห็นด้วยในหลักการที่จะสนับสนุนเรื่องนี้แล้ว.