bg-head-3

新闻

ฟอร์ดลุยจริงตลาดรถไฟฟ้าจีน ผนึกเจ้าถิ่นสร้างแบรนด์ใหม่

ฟอร์ดจับมืออันฮุย โซเทีย ผู้นำการผลิตรถไฟฟ้าของจีน ตั้งบริษัทร่วมทุน 50-50 ผุดแบรนด์รถไฟฟ้าใหม่ชิงส่วนแบ่งตลาดรถ NEV แดนมังกร

 

สำหรับบริษัทรถต่างชาติ การคิดอ่านเข้าไปผลิตรถในจีนนั้น เงื่อนไขสำคัญจำเป็นประการแรกคือ การหาหุ้นส่วนท้องถิ่น และสำหรับฟอร์ด มอเตอร์ คงไม่มีบริษัทไหนเหมาะสมสำหรับแผนการผลิตรถไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ใหม่ถอดด้ามมากไปกว่าอันฮุย โซเทีย ออโตโมบิลอีกแล้ว

       

       การตัดสินใจนี้ทำให้ฟอร์ดเป็นบริษัทรถระดับโลกแห่งแรกที่ร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นที่เชี่ยวชาญการผลิตรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ และคาดว่าจะกระตุ้นให้ผู้เล่นระดับโลกแห่งอื่นๆ เลิกรีรอและลงลุยตลาดจีนเต็มตัว

       

       ต้นสัปดาห์นี้ ฟอร์ดลงนามบันทึกความเข้าใจกับโซเทีย ออโต้ เพื่อสร้างแบรนด์รถไฟฟ้าใหม่ภายใต้โครงการร่วมทุนที่ทั้งคู่จะถือหุ้น 50-50 เท่ากัน โดยไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดทางการเงิน แต่บอกเพียงว่า จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ ปริมาณการผลิตในภายหลัง เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตกลงขั้นสุดท้าย และหลังจากนั้นคงต้องรอการอนุมัติจากทางการต่อไป

       

       ปัญหามลพิษระดับอันตรายในเมืองใหญ่ของจีน เร่งรัดให้ทางการปักกิ่งผลักดันรถปลั๊ก-อินสุดแรงเกิด โดยมีการทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนงานวิจัย มาตรการอุดหนุน และดึงดูดบริษัทรถหน้าใหม่มากมายเปิดตัวโปรเจ็กต์รถเพื่อสิ่งแวดล้อม

       

       จีนคาดหวังว่า ภายในปี 2025 รถไฟฟ้าและรถปลั๊ก-อิน ไฮบริดจะมียอดขายอย่างน้อย 1 ใน 5 ของยอดขายรถทั้งหมด

       

       จากข้อมูลของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ปัจจุบันจีนมียอดขายรถไฟฟ้า 40% ของยอดขายรถไฟฟ้าทั่วโลก เฉพาะปีที่ผ่านมา มียอดขายรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบและรถไฮบริดเพิ่มขึ้นถึง 50% จากปี 2015 เป็น 336,000 คัน เทียบกับยอดขายในอเมริกาที่มีเพียง 159,620 คัน

       

       เทสลา, เดมเลอร์ และเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) คือส่วนหนึ่งของค่ายยานยนต์ที่ประกาศแผนผลิตรถไฟฟ้าในจีนไปแล้ว

 

       

       สำหรับฟอร์ดนั้นมองว่า จีนเป็นตลาดยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ที่โตเร็วที่สุดในโลก โดยคาดว่า จะมียอดขายถึงปีละ 6 ล้านคันในปี 2025 ซึ่ง 4 ล้านคันในจำนวนนี้จะเป็นรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

       

       ปีเตอร์ ฟลีต ประธานฟอร์ด เอเชีย-แปซิฟิก บอกว่า ศักยภาพในการเปิดตัวรถไฟฟ้าแบรนด์ใหม่ในตลาดรถใหญ่ที่สุดถือเป็นขั้นตอนที่น่าตื่นเต้นสำหรับฟอร์ด บริษัทยังเชื่อว่า รถไฟฟ้าจะเป็นส่วนสำคัญสำหรับอนาคตในจีน นอกจากนี้ฟอร์ดยังต้องการเป็นผู้นำในการเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตลาดแห่งนี้

       

       โครงการร่วมทุนกับโซเทียตอกย้ำความมุ่งมั่นในตลาดรถไฟฟ้าจีนของฟอร์ด ปัจจุบันฟอร์ดมีโรงงานผลิตอยู่แล้ว 2 แห่งจากการร่วมทุนกับฉงชิ่ง ฉางอัน ออโตโมบิล และเจียงหลิง มอเตอร์ คอร์เปอเรชัน ภายใต้เป้าหมายในการทำให้ 70% ของรถที่ผลิตในจีนทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้าเต็มระบบภายในปี 2025 แม้ในขณะที่เปิดเผยแผนการดังกล่าว ฟอร์ดสำทับว่า จะบุกตลาดจีนอย่างระมัดระวังเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสนใจของผู้บริโภคและนโยบายของภาครัฐก็ตาม

       โครงการร่วมทุนเหล่านี้ยังช่วยลดภาระภาษีให้ฟอร์ด เนื่องจากจีนตั้งภาษีนำเข้ารถยนต์สูงถึง 25%

       

       ทั้งนี้ โซเทียที่ไม่ได้ผลิตรถที่ใช้แก๊สหรือน้ำมันดีเซลเลย และฟอร์ดยกย่องว่า เป็นผู้นำในตลาดรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบขนาดเล็กนั้น ทำยอดขายไปแล้วกว่า 16,000 คันตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฏาคม หรือเพิ่มขึ้นถึง 56% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

       

       โซเทีย ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญการผลิตรถไฟฟ้าและมีสำนักงานใหญ่ในมณฑลเจ้อเจียง ยังผลิตรถเอสยูวีและรถขนส่งสินค้า และเมื่อวันจันทร์ (21) เพิ่งรายงานว่า มีกำไรรอบครึ่งปีเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า

       

       จิน เจ้อหย่ง ประธานกรรมการโซเทีย กล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับฟอร์ดว่า ข้อตกลงนี้เป็นโอกาสที่น่าตื่นเต้นในการนำจุดแข็งของทั้งคู่มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

       

       บิลล์ รัสโซ กรรมการผู้จัดการเกาเฟิ่ง แอดไวเซอรี คอมปานี บอกว่า ฟอร์ดเป็นบริษัทรถระดับโลกแห่งแรกที่ร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นที่ผลิตรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ และความเคลื่อนไหวนี้จะกระตุ้นให้ผู้เล่นระดับโลกแห่งอื่นๆ เลิกรีรอและลงเล่นในตลาดจีนเต็มตัว

       

       อย่างไรก็ตาม ฟอร์ดไม่ใช่ค่ายรถอินเตอร์แห่งเดียวที่พยายามผลักดันยอดขายในดินแดนหลังม่านไม้ไผ่

       

       ต้นเดือนสิงหาคม จีเอ็มเริ่มวางจำหน่าย “เป่าจุน” รถไฟฟ้ารุ่นเล็กในราคาราว 5,300 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการร่วมทุนกับเอสเอไอซี และวู่หลิง มอเตอร์

       

       นอกจากนั้นเมื่อเดือนมิถุนายน โฟล์คสวาเกนบรรลุขั้นตอนสุดท้ายสำหรับโครงการร่วมทุนผลิตรถไฟฟ้ากับอันฮุย เจียงหวย ออโตโมบิล (เจเอซี มอเตอร์)

       

       ก่อนหน้านี้ไม่นาน วอลโว่ คาร์ประกาศแผนผลิตรถไฟฟ้าในจีนเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป

       

       สำหรับแบรนด์รถไฟฟ้าใหม่ของฟอร์ดและโซเทียนั้น มีแนวโน้มสูงมากว่า จะใช้ชื่อแบรนด์ท้องถิ่น โดยอาจมีชื่อฟอร์ดรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาที่โฟล์คสวาเกนเพิ่งเจอมา

       

       หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ของอังกฤษฉบับวันที่ 20 สิงหาคมรายงานว่า คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติของจีนปฏิเสธคำร้องของโครงการร่วมทุนผลิตรถไฟฟ้าของโฟล์คสวาเกนกับเจเอซีที่ต้องการใช้ชื่อแบรนด์ “เซียต” ซึ่งเป็นชื่อบริษัทในเครือในสเปนของโฟล์คสวาเกน

       

       แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกว่า การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนแรกในการบังคับให้ค่ายรถต่างชาติใช้ชื่อแบรนด์ท้องถิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้แบรนด์ต่างชาติครอบงำตลาดรถไฟฟ้าจีน

       

       นอกจากการบุกตลาดรถไฟฟ้าจีนแล้ว ฟอร์ดยังกำลังเร่งรัดพัฒนาในภาค NEV ขณะที่รถไฟฟ้าถูกมองว่า จะยึดครองถนนในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ หลังจากอังกฤษและฝรั่งเศสออกมาประกาศแผนยุติการขายรถเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินตั้งแต่ปี 2040 และอีกหลายประเทศแสดงเจตจำนงปกป้องโลกในลักษณะเดียวกัน โดยฟอร์ดตั้งงบสำหรับการแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาด NEV ทั่วโลกไว้ทั้งสิ้น 4,500 ล้านดอลลาร์

ที่มา เอ็มจีอาร์ออนไลน์