bg-head-3

新闻

เปิดดัชนี “นวัตกรรมโลก” “จีน-อินเดีย” ฉายแสงดาวดวงใหม่

โลกปัจจุบันถือว่าเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีเป็นใหญ่ “นวัตกรรม” กลายเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของประเทศ ความพร้อมทางเทคโนโลยีไม่เพียงแต่จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของคนในประเทศ ยังแผ่อานิสงส์ไปสู่การหาผลประโยชน์จากประเทศอื่นด้วย

 

เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม รายงานผลสำรวจเกี่ยวกับประเทศที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในโลก ประจำปี 2017 ของสหประชาชาติ (UN) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์แนล, INSEAD และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) พิจารณาจากปัจจัยเรื่องของเงินทุนและงานวิจัย, โครงสร้างพื้นฐาน, สภาพแวดล้อมทางการเมือง, ความซับซ้อนทางธุรกิจ, ระบบการศึกษา และผลงานทางเทคโนโลยี จาก 128 ประเทศทั่วโลก

 

 

ผลศึกษาปีนี้ “สวิตเซอร์แลนด์” ครองอันดับ 1 ของประเทศที่มีนวัตกรรมสูงที่สุดในโลกเป็นปีที่ 7 ติดต่อนับตั้งแต่ปี 2011 จากการส่งเสริมนวัตกรรมและตลาดแรงงาน ขณะที่สถาบันรัฐได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพและโปร่งใส นอกจากนี้สวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำระดับโลก อาทิ เนสท์เล่ และโนวาทิส

 

ขณะที่จำนวนการจด “สิทธิบัตร” ก็เป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ความสำเร็จ ปัจจุบันการจดสิทธิบัตรทั่วโลกมีราว 2.8 ล้านใบทุกปี แม้ว่าเกินครึ่งมาจากสหรัฐ โดยสวิตเซอร์แลนด์ มีการจดสิทธิบัตรประมาณ 44,000 ใบ ซึ่งในแง่จำนวนสิทธิบัตรอยู่อันดับ 8-9 ของโลก แต่เมื่อเทียบจำนวนประชากรถือว่าเป็นอันดับ 1

 

รัฐบาลให้ความสำคัญกับ “ระบบการศึกษา” เป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้บริษัทเอกชนก็เห็นความสำคัญของการศึกษา โดยงบประมาณการทำวิจัยและการพัฒนา (R&D) เกินกว่า 60% มาจากการลงขันของภาคเอกชน

 

ขณะที่อันดับ 2 “สวีเดน” ที่ยังรั้งตำแหน่งเดิมจากปีก่อน โดดเด่นการเป็นมหาวิทยาลัยด้านนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับและมีผู้สำเร็จการศึกษาติด Top 3 ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจชั้นนำสัญชาติสวีเดน อาทิ Bluetooth, Skype และ Spotify เป็นต้น

 

ส่วนอันดับ 3 ของปีนี้ ยกให้เป็น “เนเธอร์แลนด์” จากปีที่ผ่านมาอยู่อันดับ 9 โดย UN ยกให้เป็นประเทศผู้นำด้านการสำรวจและวิจัยด้านธุรกิจ มีสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ใหม่เกือบทุกปี โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมและไม้ดอกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนวัตกรรมที่มุ่งเน้นด้านการส่งออกที่ประสบความสำเร็จของโลก

 

อันดับ 4 ยังคงเป็น “สหรัฐอเมริกา” ตำแหน่งเดิมของปี 2016 อย่างไรก็ตาม UN ยกให้เป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องการเป็นผู้นำตลาดโลกในการคิดค้นนวัตกรรมของโลก โดยรัฐบาลได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมในหลายโครงการ เช่น การพัฒนาการควบคุมการจราจรทางอากาศ เป็นต้น

 

ส่วนอันดับ 5 ได้แก่ “สหราชอาณาจักร” โดยจัดให้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โครงการรถไฟครอสส์เรล” เป็นการก่อสร้างทางรถไฟและรถไฟใต้ดิน ที่เชื่อมผ่านใจกลางกรุงลอนดอนจากสนามบินฮีโทรว์ ทำให้การคมนาคมสะดวกมากขึ้น โดยกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2018

 

อย่างไรก็ตาม ไฮไลต์ของผลการสำรวจครั้งล่าสุดนานาประเทศจับตาไปที่ “ตลาดเกิดใหม่” ที่กำลังไต่ระดับขึ้นเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ “จีน” ที่ปีนี้ขึ้นมาอยู่อันดับ 22 จากอันดับ 25 ถือว่าเป็นการพัฒนาที่ก้าวไกลกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ

 

โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณการทำ R&D วิทยาศาสตร์เป็น 2-3 เท่าตัว จากช่วงแรกที่เน้นการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศจีนได้อัพเกรดตัวเองจากประเทศเกษตรกรรม มาเป็น “โรงงานโลก” อย่างเต็มตัว ขณะที่ยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” ที่รัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาสินค้าจีนให้เปี่ยมไปด้วยคุณภาพและนวัตกรรมรวมถึง “อินเดีย” ก็ขยับขึ้นมา 6 อันดับมาอยู่อันดับ 60 จากนโยบายมุ่งเรียนรู้

 

ด้านนวัตกรรมอย่างจริงจัง แม้ไม่มีการเผยถึงงบประมาณการ R&D แต่นักวิเคราะห์คาดว่าพี่ใหญ่ในเอเชียใต้แห่งนี้ กำลังผลักดันให้ประเทศอยู่ในจุด “สปอตไลต์” ของคลังนวัตกรรมโลกในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ 3 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ UN ระบุให้เป็นประเทศที่มีความเคลื่อนไหวด้านนวัตกรรมมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไต่ขึ้น6 อันดับ มาอยู่อันดับ 35 คูเวต ขยับขึ้น 11 อันดับ สู่อันดับ 56 และเวียดนาม ที่ขยับขึ้นมา 12 อันดับ จากอันดับ 59 เป็นอันดับ 47 ปีนี้ ขณะที่ “ประเทศไทย” ขยับขึ้นเพียง 1 อันดับ จากอันดับที่ 52 เป็น 51 ในปีนี้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์