ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า จีนกำลังเผชิญภาวะไร้ประสิทธิภาพในการประสานงานและการวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงระบบที่ไม่เหมาะสม พร้อมกับแนะนำให้จีนจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเสถียรภาพด้านการเงินซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน รวมทั้งเพิ่มจำนวนบุคลากรในการกำกับดูแลภาคธนาคาร
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของไอเอ็มเอฟสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่มีต่อระบบการเงินของจีน หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟ ออกรายงานประเมินเสถียรภาพด้านการเงินของจีน โดยระบุว่า สินเชื่อที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของจีน ประกอบกับผลิตภัณฑ์การเงินที่มีความซับซ้อน และการที่รัฐบาลไม่ได้ให้การรับประกันอย่างชัดเจนนั้น ได้ส่งผลให้เสถียรภาพทางการเงินของจีนตกอยู่ในความเสี่ยง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับปรุงการกำกับดูแลความเสี่ยงในเชิงระบบ ไอเอ็มเอฟ แนะนำให้จีนยกระดับการประสานงานกันในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายออกกฎระเบียบ และจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูง เพื่อติดตามความเสี่ยงในเชิงระบบต่อไป นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรับประกันที่ผิดกฎหมาย ไอเอ็มเอฟยังแนะนำให้จีนเพิ่มข้อกำหนดในสำรองเงินทุนและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าธนาคารเหล่านั้นได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของบาเซลแล้วก็ตาม
ไอเอ็มเอฟ เริ่มทำการประเมินภาคการเงินของ 29 ประเทศที่ภาคการเงินมีความสำคัญในเชิงระบบตั้งแต่ปี 2542 โดยไอเอ็มเอฟ เริ่มประเมินภาคการเงินของจีนครั้งแรกในปี 2554 ส่วนรายงานการประเมินภาคการเงินของจีนซึ่งมีกาเผยแพร่เมื่อวานนี้ นับเป็นครั้งที่สองสำหรับจีน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไล์