ส่งผลให้นายสี จิ้นผิง กลายเป็นผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลสูงสุดของยุคนี้
นโยบายเศรษฐกิจของ นายสี จิ้นผิง จะเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาอุปทานส่วนเกิน และจัดการกับรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยจีนวางแผนจะจัดตั้งกองทุนพิเศษมูลค่าราว 15.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เร่งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจครั้งที่ 3 ภายในครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2018 โดยมีรัฐวิสาหกิจ 31 แห่งอยู่ในโครงการ
ขณะเดียวกัน จีนให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ภายใต้แผน “Made in China 2025” เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต แทนอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็กและซีเมนต์ โดยมีอุตสาหกรรมสินค้าเทคโนโลยีแห่งอนาคต อย่างรถยนต์ไฟฟ้าเป็นพระเอก และบริษัท FinTech ของจีนเช่น Alibaba และ Tencent เป็นต้น
นอกจากนี้ นายสี จิ้นผิงได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ การพัฒนาชนบทเป็นครั้งแรก โดยมุ่งกระจายความเจริญอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของคนชนบท ให้มีความทันสมัย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น เตรียมปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อสร้างแรงงานที่มีความรู้ระดับอุดมศึกษามากขึ้น ปรับปรุงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานเพิ่ม เตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุอย่างเข้มแข็ง
ในขณะที่นโยบายต่างประเทศ ก็เดินหน้าเปิดเสรีการค้าและการลงทุนอย่างเต็มกำลัง โดยมีโครงการ Belt and Road Initiatives (BRI) หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ เป็นเครื่องยนต์หลักในการสนับสนุนการขยายอิทธิพลในเวทีโลก โดยจีนเป็นผู้ลงทุนหลักพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อ 3 ทวีป 65 ประเทศ ทั้งทางบกและทางน้ำ และสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดเส้นทางสายไหมยุคใหม่ สนับสนุนการค้าและการลงทุนในอนาคต
เตรียมปรับแก้กฎหมายส่งเสริมการค้าและการลงทุนเสรี ให้สิทธิแก่นักลงทุนชาวจีนและชาวต่างชาติอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนให้เอกชนลงทุนภายนอกประเทศมากขึ้น รัฐบาลยังได้ยกเลิกกฎระเบียบบางอย่างเพื่อลดอุปสรรคสำหรับบริษัทที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น ยกเลิกการขออนุญาตสำหรับบริษัทที่จะนำเงินมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปลงทุน เป็นต้น
ภาคการเงินของจีนเริ่มเปิดเสรีมากขึ้นเรื่อย ๆ ธนาคารแห่งชาติจีนประสบความสำเร็จในการสนับสนุนการใช้เงินหยวนในประเทศต่าง ๆ ในตลาดโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา International Monetary Fund (IMF) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้รับรองเงินหยวนจีนเข้าเป็นหนึ่งในตะกร้าสกุลเงินหลักของโลก และคาดว่าค่าเงินหยวนจะยืดหยุ่นตามกลไกตลาดมากขึ้นด้วย
อีกหนึ่งโครงการสำคัญคือ Stock Connect และ Bond Connect ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนชาวต่างชาติมีส่วนร่วมในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรหยวนผ่านตลาดฮ่องกง ซึ่งจะส่งผลให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในการระดมทุนสำหรับโครงการ BRI ในอนาคตคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะมีโอกาสลงทุนในตลาดการเงินของจีนเพิ่มขึ้น ด้วยโครงการอื่น ๆ ที่จะต่อยอดจาก Stock Connect และ Bond Connect ต่อไป
ในภาพรวมนั้น ทิศทางเศรษฐกิจจีนในอนาคตจะเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ แทนที่การขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้าจะเริ่มชะลอตัวลงบ้าง แต่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวมากขึ้น
แต่เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจากภาคเอกชนของจีนจะยังคงไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากการเชื่อมต่อเส้นทางสายไหมยุคใหม่และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ บนเส้นทาง จะกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนจำนวนมาก คาดว่าจะมีเงินลงทุนราว 4.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน ที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคนี้
สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ยังคงต้องเฝ้าติดตามการลงทุนโดยตรงจากจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้หลังจากนี้ ทั้งการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ BRI และโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่น ๆ ของจีน เนื่องจากจะกระทบต่ออุปสงค์ความต้องการใช้และราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกต่อไปอีกทอดหนึ่งได้ เพราะจีนเป็นผู้บริโภคและผู้นำเข้ารายใหญ่ในสินค้าหลายหมวด ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ปูน ทองแดง อะลูมิเนียม เป็นต้น รวมถึงความคืบหน้าของการพัฒนาชนบทและภูมิภาคฝั่งตะวันตกของจีน ที่จะส่งผลให้ประชาชนคนชั้นกลางเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทั้งต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปจีน
สุดท้ายนี้ เศรษฐกิจจีนที่เติบโตต่อเนื่อง จะเป็นแรงส่งที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านต่าง ๆ ของภูมิภาค เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์
โดยในเดือนกันยายน 2017 ที่ผ่านมา ไทยได้ลงนามความร่วมมือกับจีนในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 มูลค่า 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเชื่อมต่อภายใต้โครงการ BRI รัฐบาลไทยเองมีความพยายามต่อเนื่องที่จะดึงดูดการลงทุนจากจีนเข้ามาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต เนื่องจากแผน Made in China 2025 และ Thailand 4.0 มีความใกล้เคียงกัน
หากไทยสามารถรับการถ่ายทอดความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมจากจีน ผ่านการร่วมลงทุน อนาคตของอุตสาหกรรมยุคใหม่จะเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น และหากจีนสามารถผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเหนียวแน่นกับนานาประเทศภายใต้ BRI ได้สำเร็จ อิทธิพลของจีนในเวทีโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศทรงอิทธิพลในเวทีโลกภายในปี 2050 ได้อย่างแน่นอน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์