ตอนที่ ๓
ปัญหายุทธศาสตร์คือสิ่งที่ค้นคว้า
กฎแห่งส่วนทั้งหมดของสงคราม
เมื่อมีสงคราม ก็ย่อมมีส่วนทั้งหมดของสงคราม. โลกอาจเป็นส่วนทั้งหมดอันหนึ่งของสงครามได้ ประเทศหนึ่งอาจเป็นส่วนทั้งหมดของสงครามได้ เขตจรยุทธ์ที่เป็นอิสระเขตหนึ่ง ด้านปฏิบัติการรบที่ใหญ่และเป็นอิสระด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นส่วนทั้งหมดอันหนึ่งของสงครามได้. สิ่งใดที่มีลักษณะที่ต้องคำนึงถึงด้านต่าง ๆ และขั้นต่าง ๆ ล้วนเป็นส่วนทั้งหมดของสงครามทั้งนั้น.
การค้นคว้ากฎการชี้นำสงครามที่มีลักษณะส่วนทั้งหมดนั้น, เป็นภาระหน้าที่ของวิชายุทธศาสตร์. การค้นคว้ากฎการชี้นำสงครามที่มีลักษณะเฉพาะส่วนนั้น เป็นภาระหน้าที่ของวิชาการยุทธ์และวิชายุทธวิธี.
เหตุใดการเรียกร้องให้ผู้บัญชาการทางการยุทธ์และผู้บัญชาการทางยุทธวิธีไปเข้าใจกฎทางยุทธศาสตร์ในบางระดับจึงกลายเป็นความจำเป็นเล่า? เพราะว่าเมื่อเข้าใจสิ่งที่มีลักษณะเป็นส่วนทั้งหมดแล้ว ก็ยิ่งจะสามารถใช้สิ่งที่มีลักษณะเฉพาะส่วนได้ เพราะสิ่งที่มีลักษณะเฉพาะส่วนนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่มีลักษณะเป็นส่วนทั้งหมด. ความเห็นที่ว่าชัยชนะทางยุทธศาสตร์ชี้ขาดโดยชัยชนะทางยุทธวิธีนั้นเป็นความเห็นที่ผิด, เพราะว่าความเห็นชนิดนี้มิได้มองเห็นว่า ปัญหาที่สำคัญเป็นเอกและที่เป็นอันดับแรกของความแพ้ชนะในสงครามนั้น คือการคำนึงถึงส่วนทั้งหมดและขั้นต่าง ๆ ได้ดีหรือไม่. ถ้าการคำนึงถึงส่วนทั้งหมดและขั้นต่างๆ มีข้อบกพร่องหรือความผิดพลาดที่สำคัญแล้ว สงครามนั้นก็จะต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน. คำว่า “พลาดตาเดียว แพ้ทั้งกระดาน” นั้น หมายถึงตาที่มีลักษณะส่วนทั้งหมด นัยหนึ่ง ตาที่มีความหมายชี้ขาดส่วนทั้งหมด มิใช่ตาที่มีลักษณะเฉพาะส่วน นัยหนึ่ง ตาที่มิได้มีความหมายชี้ขาดต่อส่วนทั้งหมด. การเล่นหมากรุกเป็นฉันใด, สงครามก็เป็นฉันนั้น.
แต่ว่าสิ่งที่มีลักษณะส่วนทั้งหมดไม่สามารถเป็นอิสระโดยแยกออกจากเฉพาะส่วนได้ ส่วนทั้งหมดประกอบขึ้นจากเฉพาะส่วนของมันทั้งหมด. บางครั้ง เฉพาะส่วนบางส่วนถูกทำลายหรือพ่ายแพ้ไป แต่ส่วนทั้งหมดอาจไม่ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนักก็ได้ ทั้งนี้เพราะว่าเฉพาะส่วนเหล่านี้มิใช่สิ่งที่มีความหมายชี้ขาดต่อส่วนทั้งหมด. ในระหว่างสงคราม ความพ่ายแพ้หรือความไม่สำเร็จบางอย่างในทางยุทธวิธีหรือในทางการยุทธ์ มักจะไม่ถึงกับนำไปสู่การทรุดลงของส่วนทั้งหมดของสงคราม ทั้งนี้เพราะว่าความพ่ายแพ้เหล่านี้มิใช่เป็นสิ่งที่มีความหมายชี้ขาด. แต่ถ้าการยุทธ์จำนวนมากซึ่งประกอบขึ้นเป็นส่วนทั้งหมดของสงครามได้พ่ายแพ้ไป หรือการยุทธ์ครั้งสองครั้งที่มีความหมายชี้ขาดได้พ่ายแพ้ไป ส่วนทั้งหมดก็จะผันแปรไปทันที. การยุทธ์จำนวนมากและการยุทธ์ครั้งสองครั้งที่กล่าวถึงในที่นี้ ก็เป็นสิ่งที่ชี้ขาดทั้งสิ้น. ในประวัติการสงคราม มีตัวอย่างที่รบชนะเรื่อยมาแล้วรบแพ้เข้าครั้งเดียวก็ทำให้ผลสำเร็จทั้งหลายสูญสิ้นไป และก็มีตัวอย่างที่รบแพ้หลายครั้งแล้วรบชนะเข้าครั้งเดียวก็เปิดสถานการณ์ใหม่ขึ้น. “รบชนะเรื่อยมา” และ “รบแพ้หลายครั้ง” ที่กล่าวถึงในที่นี้ ล้วนแต่มีลักษณะเฉพาะส่วน เป็นสิ่งที่มิได้มีบทบาทชี้ขาดส่วนทั้งหมด. ส่วน “รบแพ้ครั้งเดียว” และ “รบชนะครั้งเดียว” ที่กล่าวถึงในที่นี้, ล้วนเป็นสิ่งที่ชี้ขาดทั้งสิ้น. ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของการคำนึงถึงส่วนทั้งหมด. สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่บัญชาการส่วนทั้งหมดนั้นก็คือ เพ่งความสนใจของตนไปที่การคำนึงถึงส่วนทั้งหมดของสงคราม ซึ่งที่สำคัญก็คือ, คำนึงถึงปัญหาการจัดหน่วยทหารและกระบวนกองกำลัง คำนึงถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการยุทธ์หนึ่งกับอีกการยุทธ์หนึ่ง, คำนึงถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างขั้นปฏิบัติการรบแต่ละขั้น, และคำนึงถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวทั้งหมดของฝ่ายเรากับการเคลื่อนไหวทั้งหมดของฝ่ายข้าศึก โดยอาศัยสภาพการณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ต้องลงแรงอย่างมากที่สุด ถ้าละทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปยุ่งอยู่กับปัญหาบางอย่างที่สำคัญรองลงมาแล้ว ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหายได้.
เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนทั้งหมดกับเฉพาะส่วนแล้ว ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์กับการยุทธ์เป็นเช่นนี้เท่านั้น แม้ความสัมพันธ์ระหว่างการยุทธ์กับยุทธวิธีก็เป็นเช่นนี้. ความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติการของกองพลกับการปฏิบัติการของกรมและกองพัน และความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติการของกองร้อยกับการปฏิบัติการของหมวดและหมู่นั่นแหละ คือตัวอย่างที่เป็นจริง. ผู้บังคับบัญชาชั้นใดก็ตาม ต่างก็ควรวางจุดหนักความสนใจของตนไว้ในปัญหาหรือการปฏิบัติการที่มีความสำคัญที่สุดและที่มีความหมายชี้ขาดที่สุดต่อส่วนทั้งหมดที่ตนบัญชาการอยู่ ไม่ควรวางไว้ในปัญหาหรือการปฏิบัติการอื่น ๆ.
ที่กล่าวว่าสำคัญและที่กล่าวว่ามีความหมายชี้ขาดนั้น จะกำหนดเอาตามสภาพการณ์ทั่ว ๆ ไปหรือที่เป็นนามธรรมไม่ได้, จะต้องกำหนดเอาตามสภาพการณ์ที่เป็นรูปธรรม. การเลือกทิศทางจู่โจมและจุดจู่โจมในเวลาปฏิบัติการรบ ต้องกำหนดตามสภาพข้าศึก สภาพภูมิประเทศและสภาพกำลังทหารของตนในเวลานั้น. ในท้องที่ที่การบำรุงเลี้ยงบริบูรณ์ ต้องระวังอย่าให้ทหารกินอิ่มเกินไป ในท้องที่ที่การบำรุงเลี้ยงไม่พอ กลับจะต้องระวังอย่าให้ทหารหิว. ในบริเวณเขตขาว ข่าวรั่วไหลเพียงข่าวเดียวก็อาจทำให้การรบหลังจากนั้นพ่ายแพ้ได้; แต่ในบริเวณเขตแดง ปัญหาเรื่องข่าวรั่วไหลมักจะมิใช่ปัญหาที่สำคัญที่สุด. ในการยุทธ์บางครั้ง ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงมีความจำเป็นจะต้องเข้าร่วมด้วยตนเอง ครั้งอื่น ๆ กลับไม่มีความจำเป็นเช่นนี้. สำหรับโรงเรียนการทหารแห่งหนึ่ง ๆ ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ การเลือกผู้บังคับการโรงเรียนและครู และการกำหนดเข็มมุ่งการศึกษา. สำหรับการประชุมมวลชนครั้งหนึ่ง ๆ ที่สำคัญนั้นควรสนใจระดมมวลชนมาร่วมประชุมและเสนอคำขวัญที่เหมาะสมขึ้น. ดังนี้เป็นต้น. สรุปแล้ว มีหลักการอยู่ข้อหนึ่ง คือต้องสนใจในข้อต่อที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนทั้งหมด.
การศึกษากฎการชี้นำส่วนทั้งหมดของสงครามนั้น จะต้องตั้งใจไปคิดสักหน่อยจึงจะได้. เพราะว่าสิ่งที่มีลักษณะส่วนทั้งหมดนี้มองไม่เห็นด้วยตา มีแต่ใช้หัวคิดไปคิด ๆ ดูจึงจะเข้าใจได้ ถ้าไม่ใช่หัวคิดก็ไม่อาจจะเข้าใจได้. แต่ว่าส่วนทั้งหมดนั้นประกอบขึ้นจากเฉพาะส่วน ผู้ที่มีความจัดเจนเฉพาะส่วน ผู้ที่มีความจัดเจนในทางการยุทธ์และในทางยุทธวิธี ถ้ายอมที่จะใช้หัวคิดด้วยความตั้งใจ ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งในขั้นสูงกว่าได้. ปัญหายุทธศาสตร์ อาทิ การคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้าศึกกับเรา การคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการยุทธ์แต่ละครั้งหรือระหว่างขั้นปฏิบัติการรบแต่ละขั้น การคำนึงถึงส่วนบางส่วน (อันมีความหมายชี้ขาด) ที่เกี่ยวกับส่วนทั้งหมด การคำนึงถึงลักษณะพิเศษของสภาพการณ์ทั้งหมด การคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขตหน้ากับเขตหลัง การคำนึงถึงความแตกต่างและความเกี่ยวเนื่องของปัญหาต่าง ๆ เช่นปัญหาระหว่างการสิ้นเปลืองกำลังกับการซ่อมกำลัง ระหว่างการปฏิบัติการรบกับการพัก ระหว่างการรวมศูนย์กับการกระจาย, ระหว่างการเข้าโจมตีกับการตั้งรับ ระหว่างการยกคืบหน้ากับการถอย ระหว่างการกำบังกับการเผยตัว ระหว่างด้านเข้าตีหลักกับด้านเข้าตีช่วย ระหว่างด้านจู่โจมกับด้านตรึงกำลัง ระหว่างการรวมศูนย์บัญชาการกับการแยกกันบัญชาการ ระหว่างสงครามยืดเยื้อกับการรบแตกหักรวดเร็ว ระหว่างการรบประจำที่กับการรบเคลื่อนที่ ระหว่างกองทัพฝ่ายตนกับกองทัพฝ่ายมิตร ระหว่างเหล่าทหารนี้กับเหล่าทหารนั้น ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง ระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับพลทหาร ระหว่างทหารเก่ากับทหารใหม่ ระหว่างผู้ปฏิบัติงานชั้นสูงกับผู้ปฏิบัติงานชั้นล่าง ระหว่างผู้ปฏิบัติงานเก่ากับผู้ปฏิบัติงานใหม่, ระหว่างเขตแดงกับเขตขาว ระหว่างเขตเก่ากับเขตใหม่ ระหว่างเขตใจกลางกับเขตชายฐานที่มั่น ระหว่างหน้าอากาศร้อนกับหน้าอากาศหนาว ระหว่างการรบชนะกับการรบแพ้ ระหว่างกระบวนกองกำลังขนาดใหญ่กับกระบวนกองกำลังขนาดเล็ก, ระหว่างกองทัพประจำการกับกองจรยุทธ์ ระหว่างการทำลายข้าศึกกับการช่วงชิงมวลชน ระหว่างการขยายกองทัพแดงกับการเสริมความมั่นคงแก่กองทัพแดง ระหว่างงานการทหารกับงานการเมือง ระหว่างภาระหน้าที่ในอดีตกับภาระหน้าที่ในปัจจุบัน ระหว่างภาระหน้าที่ในปัจจุบันกับภาระหน้าที่ในอนาคต, ระหว่างภาระหน้าที่ในสภาพการณ์เช่นนั้นกับภาระหน้าที่ในสภาพการณ์เช่นนี้ ระหว่างแนวรบคงที่กับแนวรบไม่คงที่, ระหว่างสงครามภายในประเทศกับสงครามประชาชาติ ระหว่างขั้นประวัติศาสตร์ขั้นนี้กับขั้นประวัติศาสตร์ขั้นนั้น ฯลฯ, เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาทั้งสิ้น แต่ถ้าใช้หัวคิดด้วยความตั้งใจ ก็จะเข้าใจได้ จับให้มั่นได้และเชี่ยวชาญได้ทั้งนั้น. กล่าวอีกนัยหนึ่ง สามารถที่จะนำปัญหาสำคัญทั้งปวงของสงครามหรือการรบไปแก้โดยยกขึ้นสู่ลักษณะหลักการที่ค่อนข้างสูง. การบรรลุจุดมุ่งหมายนี้นี่แหละคือภาระหน้าที่ในการค้นคว้าปัญหายุทธศาสตร์.