bg-head-3

ประวัติส่วนตัว

ตอนที่ ๔ ปัญหาสำคัญอยู่ที่สันทัดในการศึกษา

 

ตอนที่ ๔

ปัญหาสำคัญอยู่ที่สันทัดในการศึกษา

 

          ทำไมจึงต้องจัดตั้งกองทัพแดง?  เพราะว่าจะใช้กองทัพนี้ไปเอาชนะข้าศึก.  ทำไมจึงต้องศึกษากฎแห่งสงคราม?  เพราะว่าจะใช้กฎเหล่านี้ในสงคราม. 

          การศึกษาไม่ใช่ของง่าย การนำไปใช้ยิ่งไม่ใช่ของง่าย. แม้ว่าคนจำนวนมากจะบรรยายวิชาความรู้เรื่องสงครามในห้องบรรยายหรือในตำราได้อย่างเป็นระเบียบน่าฟังก็ตาม แต่เมื่อไปรบเข้าจริง ๆ บ้างก็รบชนะ บ้างก็รบแพ้.  

          ประวัติการสงครามและชีวิตในสงครามของเราเองได้พิสูจน์ให้เห็นข้อนี้แล้วทั้งสิ้น.  

          ถ้าเช่นนั้น ปมเงื่อนอยู่ที่ไหนเล่า?  

          เราไม่อาจที่จะเรียกร้องให้มีนายพลผู้ชนะศึกตลอดกาลในทางเป็นจริง ตั้งแต่โบราณกาลเป็นต้นมา นายพลอย่างนี้มีน้อยเต็มที.  เราเรียกร้องให้มีนายพลผู้กล้าหาญและชาญฉลาดที่รบชนะโดยทั่วไปในกระบวนการสงคราม ซึ่งก็คือ นายพลผู้เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและความอาจหาญ.  จะให้บรรลุข้อที่ว่า เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและความอาจหาญนั้น มีวิธีการอย่างหนึ่งต้องศึกษา เวลาศึกษาต้องใช้วิธีการนี้ เวลานำไปใช้ก็ต้องใช้วิธีการนี้. 

          วิธีการอะไร? วิธีการนั้นก็คือ รู้สภาพในด้านต่าง ๆ ทั้งของฝ่ายข้าศึกและของฝ่ายเราอย่างถ่องแท้  หากฎแห่งการปฏิบัติการของทั้งสองฝ่าย  และนำกฎเหล่านี้ไปใช้ในการปฏิบัติการของตน. 

          ในหนังสือข้อบังคับการทหารที่ประเทศจำนวนมากได้ประกาศใช้นั้น ล้วนแต่ได้ชี้แนะถึงความจำเป็นในการ “ใช้หลักการอย่างพลิกแพลงตามสภาพการณ์” และก็ได้ชี้แนะถึงมาตรการอันพึงใช้ในเวลารบแพ้ไว้ด้วย.  ข้อแรกก็เพื่อมิให้ผู้บังคับบัญชาทำความผิดพลาดอย่างอัตวิสัยโดยเหตุที่นำหลักการไปใช้อย่างตายตัว; ข้อหลังก็เพื่อบอกให้ผู้บังคับบัญชารู้ว่าควรจะจัดการอย่างไรเมื่อเขาทำความผิดพลาดอย่างอัตวิสัยหรือเมื่อสภาพการณ์ทางภววิสัยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปโดยมิได้คาดคิดและไม่อาจต้านทานได้.  

          เหตุใดจึงเกิดการกระทำผิดในทางอัตวิสัย?  เพราะว่าการจัดวางกำลังและการบัญชาการในสงครามหรือการรบไม่เหมาะกับสภาพในเวลานั้น ๆ และสถานที่นั้น ๆ การชี้นำทางอัตวิสัยกับสภาพที่เป็นจริงทางภววิสัยไม่สอดคล้องกันหรือไม่ตรงกัน, หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มิได้แก้ความขัดแย้งระหว่างอัตวิสัยกับภววิสัยให้ตกไป.  ไม่ว่าจะทำการงานสิ่งใด คนเราย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงสภาพเช่นนี้ได้ ต่างกันแต่เพียงว่า บางคนทำได้ค่อนข้างดีและบางคนทำได้ไม่ค่อยดีนักเท่านั้นเอง.  ในเรื่องการงาน  เราเรียกร้องให้ทำดีสักหน่อย  ในเรื่องการทหาร เราก็เรียกร้องให้รบชนะมากครั้งสักหน่อย กล่าวในด้านกลับก็คือ, เรียกร้องให้รบแพ้น้อยครั้งสักหน่อย.  ปมเงื่อนในที่นี้ก็อยู่ที่ทำให้อัตวิสัยกับภววิสัยสอดคล้องต้องกันเป็นอย่างดีนั่นเอง. 

          ขอยกตัวอย่างทางยุทธวิธีมากล่าว.  ถ้าเลือกจุดโจมตีที่ปีกใดปีกหนึ่งของที่มั่นข้าศึก และที่นั่นก็เป็นส่วนอ่อนของข้าศึกพอดี การจู่โจมก็จึงได้รับผลสำเร็จ นี่เรียกว่าอัตวิสัยกับภววิสัยสอดคล้องกัน กล่าวคือ การสอดแนม การวินิจฉัย และการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา กับสภาพความเป็นจริงของข้าศึกและการจัดวางกำลังของข้าศึกนั้นสอดคล้องกัน.  ถ้าเลือกจุดโจมตีไว้ที่อีกปีกหนึ่ง  หรือที่ตรงกลาง  และผลก็ไปโดยเอาส่วนแข็งของข้าศึกเข้าพอดี ตีเข้าไปไม่ได้ เช่นนี้ก็เรียกว่าไม่สอดคล้องกัน.  ถ้าโอกาสในการโจมตีเลือกได้เหมาะสม การใช้หน่วยกำลังสำรองไม่ช้าและก็ไม่เร็วเกินไป ตลอดจนมาตรการและการปฏิบัติการต่าง ๆ ในการรบก็ล้วนแต่เป็นผลดีแก่เราและไม่เป็นผลดีแก่ข้าศึก เช่นนี้แล้ว ก็นับได้ว่าการบัญชาการทางอัตวิสัยสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางภววิสัย ในการรบทั้งกระบวนโดยทุกประการ.  เรื่องที่ว่าสอดคล้องโดยทุกประการนั้น มีอยู่น้อยครั้งเหลือเกินในสงครามหรือการรบ, ทั้งนี้ก็เพราะว่า คู่สงครามหรือคู่รบต่างเป็นกลุ่มคนมีชีวิตที่ติดอาวุธ  และต่างก็ยังปกปิดความลับซึ่งกันและกันอยู่ ข้อนี้ย่อมแตกต่างกับการจัดการกับสิ่งไม่มีชีวิตหรือกับเรื่องประจำวันอย่างมากทีเดียว.  แต่ว่าขอให้ทำได้ถึงขั้นที่การบัญชาการสอดคล้องกับสภาพการณ์โดยส่วนใหญ่ กล่าวคือ ให้ส่วนที่มีความหมายชี้ขาดสอดคล้องกับสภาพการณ์เท่านั้น ก็จะเป็นพื้นฐานแห่งชัยชนะ. 

          การจัดวางกำลังอันถูกต้องของผู้บังคับบัญชามาจากการตัดสินใจอันถูกต้อง การตัดสินใจอันถูกต้องมาจากการวินิจฉัยอันถูกต้อง การวินิจฉัยอันถูกต้องมาจากการสอดแนมที่รอบคอบและจำเป็น และการใคร่ครวญโดยผูกเชื่อมข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาจากการสอดแนมนั้นให้ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน.  ผู้บังคับบัญชาใช้วิธีการสอดแนมทุกอย่างที่เป็นไปได้และจำเป็น และใคร่ครวญข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพการณ์ฝ่ายข้าศึกที่สอดแนมมาได้ โดยทิ้งกากเอาแก่น ทิ้งปลอมเอาแท้ จากนี่สู่นั่น จากนอกสู่ใน แล้วนำเอาสภาพการณ์ฝ่ายตนบวกเข้าไปด้วย ค้นคว้าการเปรียบเทียบระหว่างสองฝ่ายและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จากนั้นจึงประกอบเป็นการวินิจฉัย ทำการตัดสินใจและกำหนดแผนการขึ้น นี่คือกระบวนการแห่งการรับรู้สภาพการณ์ทั้งกระบวนของนักการทหารก่อนที่จะกำหนดแผนการยุทธศาสตร์  แผนการยุทธ์หรือแผนการรบแต่ละครั้งลงไป.  พวกนักการทหารที่เลินเล่อแทนที่จะทำเช่นนี้  กลับวางแผนการทหารไว้บนพื้นฐานแห่งความปรารถนาของตนแต่ถ่ายเดียว, แผนการชนิดนี้เป็นแผนการที่เพ้อฝันและไม่สอดคล้องกันความเป็นจริง.  การที่นักการทหารที่มุทะลุและอาศัยแต่ความกระตือรือร้นไม่พ้นที่จะถูกข้าศึกหลอกลวง  ถูกสภาพการณ์ที่ผิวเผินหรือด้านเดียวของข้าศึกหลอกล่อ  ถูกข้อเสนอที่ไม่รับผิดชอบและขาดความเข้าใจอันถ่องแท้ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนยุยง และดังนั้นจึงไม่พ้นที่จะหัวชนกำแพงนั้น ก็เพราะว่าพวกเขาไม่รู้หรือไม่ยอมรับรู้ว่าแผนการทหารใด ๆ ก็ควรจะสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการสอดแนมที่จำเป็นและการใคร่ครวญสภาพการณ์ของฝ่ายข้าศึกกับฝ่ายเราและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของมันอย่างรอบคอบ.  

          กระบวนแห่งการรับรู้สภาพการณ์ ไม่เพียงแต่มีอยู่ก่อนหน้าที่จะวางแผนการทหารเท่านั้น หากยังมีอยู่ภายหลังที่ได้วางแผนแล้วด้วย.  ในขณะที่ปฏิบัติตามแผนการใดแผนการหนึ่งนั้น นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติไปจนถึงสถานการณ์การรบสิ้นสุดลง ก็เป็นกระบวนการแห่งการรับรู้สภาพการณ์อีกกระบวนการหนึ่ง คือกระบวนการแห่งการปฏิบัติ.  ในตอนนี้ จำเป็นต้องสำรวจเสียใหม่ว่า สิ่งต่าง ๆ ในกระบวนการแรกนั้นสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงหรือไม่.  ถ้าแผนการไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือไม่สอดคล้องบางส่วนแล้ว ก็ต้องอาศัยความรับรู้ใหม่มาประกอบขึ้นเป็นการวินิจฉัยใหม่ ทำการตัดสินใจใหม่ เปลี่ยนแปลงแผนการที่กำหนดไว้แล้วให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ใหม่.  การเปลี่ยนแปลงบางส่วนนั้นมีอยู่ในการปฏิบัติการรบแทบทุกครั้ง และการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้นก็มีอยู่เป็นครั้งคราวเช่นกัน.  พวกมุทะลุไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เอาแต่ทำไปอย่างหลับหูหลับตาถ่ายเดียว,  ผลที่สุดก็ต้องหัวชนกำแพงอีกจนได้.  

          ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ หมายถึงการปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์อันหนึ่ง หรือการปฏิบัติการทางการยุทธ์และการรบอันหนึ่ง.  ทหารที่มีความจัดเจนมาก ถ้าเป็นผู้ที่น้อมใจศึกษา ได้คุ้นกับนิสัยของกองทหารฝ่ายตน (ผู้บังคับบัญชา พลรบ อาวุธ การบำรุงเลี้ยง ฯลฯ และองค์รวมของสิ่งเหล่านี้) ทั้งได้คุ้นกับนิสัยของกองทหารฝ่ายข้าศึก (ในทำนองเดียวกัน คือผู้บังคับบัญชา, พลรบ อาวุธ การบำรุงเลี้ยง ฯลฯ และองค์รวมของสิ่งเหล่านี้), และก็ได้คุ้นกับเงื่อนไขอื่น ๆ ทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับสงคราม, เช่น การเมือง เศรษฐกิจ ภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศเป็นต้น เมื่อไปชี้นำสงครามหรือการทำการรบ ก็อยู่ข้างจะมีความมั่นใจ, อยู่ข้างจะรบชนะได้.  ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากการได้รับรู้สภาพการณ์ทั้งของฝ่ายข้าศึกและของฝ่ายตนในระยะเวลาอันยาวนาน ได้ค้นพบกฎการปฏิบัติการและได้แก้ความขัดแย้งระหว่างอัตวิสัยกับภววิสัยตกไป.  กระบวนการแห่งการรับรู้นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีความจัดเจนในระยะเวลาอันยาวนานเช่นนี้แล้ว ก็ยากที่จะเข้าใจและยึดกุมกฎแห่งสงครามทั้งกระบวนไว้ได้.  ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่มีความสามารถจริงนั้น มิใช่ว่าพวกที่เพิ่งจับงานใหม่ ๆ หรือพวกที่สันทัดแต่การคุยเรื่องการรบบนกระดาษจะเป็นได้ จะต้องศึกษาจากสงครามจึงจะเป็นได้.      

          กฎแห่งการทหารหรือทฤษฎีการทหารทั้งปวงที่มีลักษณะหลักการนั้น ล้วนแต่เป็นข้อสรุปที่เกี่ยวกับความจัดเจนจากสงครามในอดีตซึ่งคนสมัยก่อนหรือคนสมัยนี้ได้ทำไว้ทั้งสิ้น.   บทเรียนที่แลกมาด้วยเลือดซึ่งสงครามในอดีตได้ทิ้งไว้ให้เราเหล่านี้ ควรจะศึกษาอย่างเน้นหนัก.  นี่เป็นเรื่องหนึ่ง.  แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือตรวจสอบข้อสรุปเหล่านี้จากความจัดเจนของตน รับเอาบรรดาสิ่งที่ใช้ได้ไว้ ปฏิเสธบรรดาสิ่งที่ใช้ไม่ได้เสีย และเพิ่มเติมสิ่งที่ตนมีอยู่โดยเฉพาะเข้าไป.  เรื่องหลังนี้มีความสำคัญยิ่งยวด ถ้าไม่ทำเช่นนี้ เราก็จะไม่สามารถชี้นำสงครามได้.  

          การอ่านหนังสือเป็นการศึกษา การนำไปใช้ก็เป็นการศึกษา, ทั้งเป็นการศึกษาที่สำคัญยิ่งกว่าด้วย.  ศึกษาสงครามจากสงคราม—นี่เป็นวิธีการหลักของเรา.  คนที่ไม่มีโอกาสเขาโรงเรียนก็ศึกษาสงครามได้เหมือนกัน คือศึกษาจากการทำสงคราม.  สงครามปฏิวัติเป็นเรื่องของมวลชน จึงมักจะไม่ใช่ศึกษาให้เป็นเสียก่อนแล้วค่อยทำ หากทำแล้วค่อยศึกษา การทำก็คือการศึกษา. จากความเป็น “ชาวบ้าน” มาสู่ความเป็นทหารมีช่วงระยะอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่ใช่กำแพงยักษ์เมืองจีน หากเป็นช่วงระยะที่ทำให้หมดสิ้นไปโดยเร็วได้ การทำการปฏิวัติ การทำสงครามก็คือวิธีการทำให้ช่วงระยะนี้หมดสิ้นไป.  ที่ว่าการศึกษาและการนำไปใช้ไม่ใช่ของง่ายนั้น หมายถึงว่า การศึกษาให้ถึงที่สุดและนำไปใช้อย่างช่ำชองนั้นไม่ใช่ของง่าย.  ที่ว่าชาวบ้านสามารถกลายเป็นทหารได้โดยเร็วนั้น หมายถึงว่าบันไดขั้นต้นนี้ไต่ขึ้นได้ไม่ยาก.  เมื่อรวมสองประการดังกล่าวเข้าด้วยกัน เราก็อาจจะยกคำโบราณของจีนคำหนึ่งมาอ้างได้ดังนี้ “เรื่องยากเย็นในโลกหามีไม่ ขอแต่ให้เป็นคนตั้งใจจริง”.  ในเมื่อการไต่บันไดขั้นต้นไม่ยากแล้ว การเรียนให้แตกฉานก็ย่อมจะทำได้ ขอแต่ให้ตั้งใจจริง ขอแต่ให้สันทัดในการศึกษาเท่านั้น. 

          กฎแห่งการทหารก็เช่นเดียวกับกฎของสิ่งอื่น ๆ คือเป็นการสะท้อนความเป็นจริง ทางภววิสัยเข้ามาในสมองของเรา, นอกจากสมองของเราแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งในความเป็นจริงทางภววิสัยทั้งสิ้น.  ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของการศึกษาและการรับรู้จึงรวมทั้งด้านข้าศึกและด้านเรา ทั้งสองด้านนี้ควรถือเป็นเป้าของการค้นคว้าทั้งสิ้น มีแต่สมอง (ความคิด) ของเราเท่านั้นที่เป็นตัวกระทำของการค้นคว้า.  มีคนชนิดหนึ่ง รู้แต่เราไม่รู้เขา และก็มีคนอีกชนิดหนึ่ง รู้แต่เขาไม่รู้เรา คนเหล่านี้ล้วนแต่ไม่สามารถจะแก้ปัญหาการศึกษาและการใช้กฎแห่งสงครามให้ตกไปได้.  คำว่า “รู้เขารู้เรา ร้อยศึกบ่พ่าย” ในตำราพิชัยสงครามของซุนหวูจื่อ นักวิชาการทหารผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณของจีนคำนี้ กินความถึงขั้นการศึกษาและขั้นการนำไปใช้ทั้งสองขั้น กินความทั้งการรับรู้กฎแห่งการคลี่คลายขยายตัวของความเป็นจริงทางภววิสัย  และการกำหนดการกระทำของตนเพื่อเอาชนะข้าศึกเฉพาะหน้าตามกฎเหล่านี้; พวกเราอย่าได้ดูเบาคำพูดนี้. 

          สงครามเป็นรูปแบบสูงสุดของการต่อสู้ซึ่งกันและกันระหว่างชนชาติ ระหว่างประเทศ ระหว่างชนชั้น และระหว่างกลุ่มการเมือง; กฎหมายทั้งมวลที่เกี่ยวกับสงครามล้วนแต่ถูกนำไปใช้เพื่อช่วงชิงชัยชนะของฝ่ายตนโดยชนชาติ ประเทศ ชนชั้นและกลุ่มการเมืองที่ดำเนินสงครามอยู่ทั้งนั้น.  ความแพ้ชนะในสงคราม ที่สำคัญนั้นกำหนดโดยเงื่อนไขทางการทหาร ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางธรรมชาติของคู่สงคราม นี่ไม่เป็นปัญหา.  แต่ว่าไม่เพียงแต่เท่านี้ มันยังกำหนดโดยความสามารถในการชี้นำทางอัตวิสัยของคู่สงครามด้วย.  นักการทหารไม่อาจมุ่งหวังเอาชนะในสงครามเกินจากขอบเขตที่เงื่อนไขทางวัตถุอำนวยให้ได้ แต่นักการทหารสามารถและต้องพยายามเอาชนะในสงครามให้ได้ภายในขอบเขตที่เงื่อนไขทางวัตถุอำนวยให้.  เวทีแห่งการเคลื่อนไหวของนักการทหารนั้นสร้างอยู่บนเงื่อนไขทางวัตถุภววิสัย แต่ว่าโดยเวทีนี้ นักการทหารสามารถกำกับการแสดงละครที่มีชีวิตชีวาและฮึกห้าวเหิมหาญมากมายหลายเรื่องได้. ด้วยเหตุนี้ บนพื้นฐานทางวัตถุทางภววิสัยที่มีอยู่แล้ว อันได้แก่เงื่อนไขทางการทหาร การเมือง, เศรษฐกิจและธรรมชาติ ผู้ชี้นำในกองทัพแดงของเรา จึงต้องแสดงอานุภาพของเรา นำทหารทั้งกองทัพไปโค่นเหล่าศัตรูของประชาชาติและศัตรูของชนชั้น เปลี่ยนแปลงโลกที่ไม่ดีนี้เสีย. ในที่นี้ก็ต้องใช้และจำเป็นต้องใช้ความสามารถในการชี้นำทางอัตวิสัยของเรา.  เราจะยอมให้ผู้บังคับบัญชากองทัพแดงคนใดก็ตามกลายเป็นคนมุทะลุที่บุกตะบันไม่ดูตาม้าตาเรือไม่ได้; เราจะต้องส่งเสริมให้ผู้บังคับบัญชาของกองทัพแดงทุกคนกลายเป็นวีรชนผู้กล้าหาญและชาญฉลาด.  ซึ่งไม่เพียงแต่มีจิตใจกล้าที่จะพิชิตทุกสิ่งทุกอย่างเท่านั้น หากยังมีความสามารถที่จะควบคุมการแปรเปลี่ยนและการคลี่คลายขยายตัวของสงครามทั้งกระบวนได้อีกด้วย.  ในการแหวกว่ายอยู่กลางมหาสมุทรแห่งสงคราม ผู้บังคับบัญชาต้องทรงตัวมิให้จมน้ำ ซ้ำยังต้องพาตัวว่ายไปให้ถึงฝั่งโน้นอย่างแน่วแน่และอย่างมีจังหวะ.  กฎการชี้นำสงคราม ก็คือศิลปะการว่ายน้ำแห่งสงครามนั่นเอง. 

          ที่กล่าวมาในข้างต้นคือวิธีการของเรา.