ตอนที่ ๓
การถอยทางยุทธศาสตร์
การถอยทางยุทธศาสตร์เป็นจังหวะก้าวทางยุทธศาสตร์ที่มีแผนการจังหวะหนึ่งซึ่งกองทหารที่มีกำลังด้อยกว่าใช้เพื่อรักษากำลังทหารของตนและรอคอยโอกาสทำลายข้าศึก เพราะคำนึงถึงข้อที่ว่าตนไม่สามารถจะตีการรุกของข้าศึกให้แตกไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อเผชิญกับการรุกของกองทหารที่มีกำลังเหนือกว่า. แต่พวกลัทธิเสี่ยงภัยทางการทหารกลับคัดค้านจังหวะก้าวชนิดนี้อย่างเด็ดเดี่ยว ความคิดเห็นของพวกเขาคือสิ่งที่เรียกว่า “ตั้งรับข้าศึกที่นอกประตูเมือง”.
ใครบ้างไม่รู้ว่า เวลาที่นักมวยสองคนสู้กัน นักมวยที่ฉลาดมักจะหย่อนมือให้ก่อน แต่คนโง่กลับทำท่าฮึกเหิม ปล่อยฝีมือเท่าที่มีอยู่ออกมาเสียหมดตั้งแต่เริ่มแรก ผลสุดท้ายมักกลับถูกผู้หย่อนมือให้ชกคว่ำไป.
ครูหุงในเรื่อง “สุยหู่จ้วน” จะต่อยหลินชุงที่บ้านไฉจิ้น ร้องตะโกนว่า “มา” “มา” “มา” ติดๆกันหลายคำ ผลสุดท้ายหลินชุงผู้หย่อนมือให้มองจุดอ่อนของครูหุงออก เตะทีเดียวครูหุงก็คว่ำไป.๒๑
ในสมัยชุนชิว แคว้นหลู่กับแคว้นฉี๒๒ ทำศึกกัน ทีแรกหลู่จวงกุง เจ้าผู้ครองแคว้นหลู่จะออกรบโดยไม่รอให้กองทัพแคว้นฉีอ่อนเปลี้ยเพลียแรง แต่แล้วถูกเฉากุ้ยยับยั้งไว้ และใช้เข็มมุ่งที่ว่า “ข้าศึกเพลียเราตี” ก็ได้รบชนะกองทัพแคว้นฉี. เรื่องนี้ได้สร้างตัวอย่างการรบอันเลื่องลือที่กองทหารอ่อนรบชนะกองทหารแข็งขึ้นในประวัติการสงครามของจีน. โปรดดูคำบรรยายของจ่อชิวหมิง๒๓ นักประวัติศาสตร์ดังนี้:
วสันตฤดู ทัพฉีตีเรา. พญาจะรบ. เฉากุ้ยขอเฝ้า. คนถิ่นเดียวกันว่า “พวกขุนนางกินเนื้อจัดแจงเรื่องนี้ จักเกี่ยวด้วยดังฤา?” กุ้ยว่า “พวกกินเนื้อโง่ บ่อาจคิดการไกลได้.” จึ่งเข้าเฝ้า. ถาม “รบอาศัยใดฤา?” พญาว่า “เสื้อผ้าอาหารที่ยังชีพ ไป่กล้ารวบรา ต้องเอาแจกคน.” ตอบว่า “การบุญเล็กน้อยบ่ทั่วถึง ราษฎร์ไป่ตามรา.” พญาว่า “บัตรพลีคือสัตว์ หยกแลแพรพรรณ ไป่กล้าลวงรา, ต้องให้สัตย์ซื่อ.” ตอบว่า “ความสัตย์ซื่อเล็กน้อยบ่ได้ความเชื่อถือ เทพยดาไป่ให้พรรา.” พญาว่า “คดีน้อยใหญ่ทั้งปวง แม้บ่อาจสอบความเองทุกราย ต้องให้ได้หลักฐาน.” ตอบว่า “ทำการเพื่อราษฎร์แล้วรา. จึ่งทำศึกได้. หากรบขอตาม.” พญาให้ขึ้นรถไปด้วย. รบที่ฉางส้อ. พญาจะรัวกลอง. กุ้ยว่า “อย่าเพ่อ.” ชาวฉีรัวกลองสามครั้ง. กุ้ยว่า “ได้แล้ว”. ผลทัพฉีพ่าย. พญาจะไล่, กุ้ยว่า “อย่าเพ่อ” ลงดูรอยรถข้าศึก ขึ้นบนคันท้าวแขน รถมอง ว่า “ได้แล้ว”. ก็ไล่ทัพฉีไป. ชนะแล้ว พญาถามเหตุ. ตอบว่า “อันการสงครามนั้นอาศัยความอาจหาญ. รัวกลองครั้งแรกยังให้ขวัญสู้ ครั้งสองขวัญเสื่อม, ครั้งสามขวัญสิ้น. เขาสิ้นเราสูง ดั่งนั้นจึ่งชนะ. อันแคว้นใหญ่ย่อมยากหยั่งรา กลัวเกลือกซุ่มตีแล. ข้าพเจ้าเห็นรอยรถข้าศึกสับสน มองเห็นธงของเขาตกห้อย ดั่งนั้นจึ่งไล่ข้าศึกไป.”
สภาพการณ์ในเวลานั้นก็คือ แคว้นที่อ่อนแอต่อต้านแคว้นที่เข้มแข็ง. ในท้องเรื่่องนี้ได้ชี้ให้เห็นการตระเตรียมทางการเมืองเมื่อก่อนรบ—ให้ได้รับความไว้วางใจจากราษฎร ได้บรรยายถึงที่มั่นที่เป็นผลดีแก่การเปลี่ยนไปสู่การรุกโต้ตอบ—ฉางส้อ ได้บรรยายถึงโอกาสที่เป็นผลดีแก่การเริ่มรุกโต้ตอบ—เวลาที่เขาสิ้นเราสูง ได้บรรยายถึงโอกาสที่เริ่มตามตี—เวลาที่รอยรถสับสนและธงตกห้อยลง. แม้ว่าจะเป็นการยุทธ์ที่ไม่ใหญ่โตก็ตาม แต่ก็ได้อธิบายให้เห็นหลักการของการรับทางยุทธศาสตร์พร้อมกันไปด้วย. ในประวัติการสงครามของจีน, ตัวอย่างจริงของการได้ชัยชนะเพราะสอดคล้องกับหลักการนี้มีมากมาย. การยุทธ์ใหญ่ๆอันเลื่องลือ เช่น การยุทธ์ที่เฉิงเการะหว่างแคว้นฉู่กับแคว้นฮั่น๒๔ การยุทธ์ที่คุนหยางระหว่างแคว้นซินกับแคว้นฮั่น๒๕ การยุทธ์ที่กวานตู้ระหว่างอ้วนเสี้ยวกับโจโฉ๒๖ การยุทธ์ที่ฉื้อปี้ระหว่างแคว้นหวูกับแคว้นเว่ย๒๗ การยุทธ์ที่หยีหลิงระหว่างแคว้นหวูกับแคว้นสู่๒๘ การยุทธ์ที่เฝยสุ่ยระหว่างแคว้นฉินกับแคว้นจิ้น๒๙ เป็นต้น ในการยุทธ์เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นว่าสองฝ่ายแข็งอ่อนต่างกัน ฝ่ายอ่อนยอมให้ก้าวหนึ่งก่อน แล้วรบชนะโดยเป็นฝ่ายลงมือทีหลัง.
สงครามของเราเริ่มตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี ๑๙๒๗ เวลานั้นเราไม่มีความจัดเจนเลย. การลุกขึ้นสู้ที่หนานชาง๓๐ และการลุกขึ้นสู้ที่กวางเจา๓๑ พ่ายแพ้ไปแล้ว ในการลุกขึ้นสู้หน้าเก็บเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วง กองทัพแดงในเขตแดนต่อแดนหูหนาน-หูเป่ย-กังไสก็รบแพ้ไปหลายครั้ง และเคลื่่อนย้ายไปยังเขตเขาจิ่งกังซานในเขตแดนต่อแดนหูหนาน-กังไส. ในเดือนเมษายนปีต่อมา กองทหารที่ัรักษาไว้ได้ภายหลังที่การลุกขึ้นสู้ที่หนานชางพ่ายแพ้ไปแล้ว ก็ได้เคลื่อนย้ายไปยังเขาจิ่งกังซานโดยผ่านภาคใต้หูหนานด้วย. แต่เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี ๑๙๒๘, หลักการพื้นฐานของสงครามจรยุทธ์ที่มีลักษณะเรียบๆซึ่งสอดคล้องกับสภาพการณ์ในเวลานั้น ก็ได้เกิดมีขึ้นแล้ว นั่นก็คือสูตร ๑๖ คำที่ว่า “ข้าศึกรุกเราถอย ข้าศึกพักเรากวน ข้าศึกเพลียเราตี ข้าศึกถอยเราไล่”. หลักการการทหารที่เป็นสูตร ๑๖ คำนี้, ศูนย์กลางก่อนแนวทางที่หลี่ลี่ซานนั้นได้รับรองแล้ว. ต่อมาหลักปฏิบัติการรบของเราได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง. เมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ที่ฐานที่มั่นกังไส เข็มมุ่งที่ว่า “ล่อข้าศึกให้ถลำลึกเข้ามา” ก็ได้เสนอออกมา และทั้งนำไปใช้เป็นผลสำเร็จด้วย. ครั้นรบชนะ “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ ของข้าศึกแล้ว หลักการปฏิบัติการรบทั้งชุดของกองทัพแดงก็ได้ก่อรูปขึ้น. เวลานั้นเป็นขั้นพัฒนาขั้นใหม่ของหลักการการทหาร เนื้อหาอุดมสมบูรณ์ขึ้นมากมาย รูปแบบก็มีการเปลี่ยนแปลงมาก ที่สำคัญคือได้ล้ำหน้าลักษณะเรียบๆในอดีตไป แต่หลักการที่เป็นพื้นฐานก็ยังคงเป็นสูตร ๑๖ คำนั้น. สูตร ๑๖ คำได้คลุมถึงหลักการพื้นฐานในการต้าน “การล้อมปราบ” คลุมถึงขั้นการรับทางยุทธศาสตร์และขั้นการรุกทางยุทธศาสตร์ และในเวลารับก็ยังคลุมถึงการถอยทางยุทธศาสตร์และขั้นการรุกโต้ตอบทางยุทธศาสตร์ด้วย. สิ่งที่มีในเวลาต่อมาเป็นแต่เพียงการพัฒนาของมันเท่านั้นเอง.
แต่ว่าเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคา ปี ๑๙๓๒ หลังจากมติของพรรคเรื่อง “การช่วงชิงชัยชนะในมณฑลหนึ่งหรือหลายมณฑลก่อนภายหลังที่ ‘การล้อมปราบ’ ครั้งที่ ๓ ได้ถูกบดขยี้ไปแล้ว” ซึ่งมีความผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ในทางหลักการนั้นได้ประกาศออกไปแล้ว พวกลัทธิฉวยโอกาสเอียง “ซ้าย” ก็มุ่งสู้กับหลักการที่ถูกต้อง ในที่สุดก็ยกเลิกหลักการที่ถูกต้องทั้งชุดไป และได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “หลักการใหม่” หรือ “หลักการแบบแผน” ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักการนี้ัทั้งชุดขึ้นอีกชุดหนึ่ง. แต่นั้นมาของเดิมก็เรียกว่าเป็นแบบแผนอีกไม่ได้ หากเป็น “ลัทธิจรยุทธ์” ที่ควรปฏิเสธ. บรรยากาศคัดค้าน “ลัทธิจรยุทธ์” ได้ครอบงำอยู่ ๓ ปีเต็ม ๆ. ขั้นแรกของมันเป็นลัทธิเสี่ยงภัยทางการทหาร, ขั้นที่ ๒ เปลี่ยนเป็นอนุรักษ์นิยมทางการทหาร และในที่สุด ขั้นที่ ๓ ก็กลายเป็นลัทธิวิ่งหนี. จนกระทั่งศูนย์กลางของพรรคเปิดการประชุมขยายวงของกรมการเมืองขึ้นที่จุนยี่มณฑลกุยจิ๋วเมื่ิอเดือนมกราคม ปี ๑๙๓ จึงได้ประกาศความล้มละลายของแนวทางที่ผิดพลาดนี้ และรับรองความถูกต้องของแนวทางในอดีตอีก. กว่าจะได้สิ่งนี้มานั้นต้องเสียค่าทดแทนไปมากมายอะไรเช่นนี้!
บรรดาสหายที่ั้คัดค้าน “ลัทธิจรยุทธ์” อย่างแข็งขันนั้นได้กล่าวว่า การล่อข้าศึกให้ถลำลึกเข้ามานั้นไม่ถูก เพราะทิ้งพื้นที่ไปมากมาย. แต่ก่อนแม้จะเคยรบชนะ แต่เดี๋ยวนี้ต่างกับแต่ก่อนแล้วมิใช่หรือ? ยิ่งกว่านั้น การไม่ทิ้งพื้นที่แล้วสามารถรบชนะข้าศึกด้วยจะมิยิ่งดีกว่าหรือ? ไปรบชนะข้าศึกในเขตข้าศึกหรือที่ชายแดนระหว่างเขตเรากับเขตข้าศึกจะมิยิ่งดีกว่าหรือ? สิ่งที่แล้วมาไม่มีลักษณะเป็นแบบแผนใด ๆ เป็นเพียงวิธีการที่กองจรยุทธ์ใช้เท่านั้น. เวลานี้รัฐของเราได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว กองทัพแดงของเราได้แปรเป็นแบบประจำการแล้ว. การรบระหว่างเรากับเจียงไคเช็คนั้น เป็นการรบระหว่างรัฐต่อรัฐ เป็นการรบระหว่างกองทัพใหญ่ต่อกองทัพใหญ่. ประวัติศาสตร์ไม่ควรซ้ำรอย สิ่งที่เป็น “ลัทธิจรยุทธ์” นั้นควรจะทิ้งไปให้หมดแล้ว. หลักการใหม่เป็น “ลัทธิมาร์กซโดยสมบูรณ์” สิ่งที่แล้วมานั้นเป็นสิ่งที่กองจรยุทธ์สร้างขึ้นตามเขา และตามเขานั้นหามีลัทธิมาร์กซไม่. หลักการใหม่ตรงกันข้ามกับของเก่าดังนี้: “เอาหนึ่งสู้สิบ เอาสิบสู้ร้อย ห้าวหาญเด็ดเดี่ยว ไล่ตะลุยเมื่อมีชัย” “ออกตีตลอดแนว” “เข้ายึดเมืองศูนย์กลาง” “ชกคนด้วยหมัดสองข้าง”. เมื่อข้าศึกเข้าตี วิธีการรับมือก็คือ “ตั้งรับข้าศึกที่นอกประตูเมือง” “ลงมือก่อน” “อย่าให้อ่างโถโอชามถูกทุบแตก” “อย่าให้เสียพื้นที่แม้แต่กระเบียดเดียว” “แยกทหารออกเป็น ๖ สาย”; เป็น “การรบแตกหักระหว่างวิถีทางปฏิวัติกับวิถีทางเมืองขึ้น”; เป็นการจู่โจมในระยะและเวลาอันสั้น เป็นการรบป้อมค่าย เป็นการรบพร่ากำลัง เป็น “การรบยืดเยื้อ”; เป็นลัทธิเขตหลังใหญ่ เป็นการบัญชาการที่รวมศูนย์อย่างสัมบูรณ์; ในที่สุดก็เป็นการย้ายบ้านอย่างขนานใหญ่. ยิ่งกว่านั้น ถ้าใครไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ก็จะถูกลงโทษ ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกลัทธิฉวยโอกาส เหล่านี้เป็นต้น.
ไม่ต้องสงสัยเลย ทฤษฎีและการปฏิบัติทั้งหมดนี้ผิดทั้งสิ้น. นี่เป็นลัทธิอัตวิสัย. นี่เป็นการแสดงออกของความคลั่งปฏิวัติและโรคใจร้อนในการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนน้อยเมื่อสภาพแวดล้อมราบรื่น; เมื่อสภาพแวดล้อมลำบากลง ก็จะกลายเป็นลัทธิสู้ตาย อนุรักษ์นิยมและลัทธิวิ่งหนีเป็นลำดับตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพการณ์. นี่เป็นทฤษฎีและการปฏิบัติของพวกมุทะลุและพวกไม่มีความรู้ เป็นสิ่งที่ไม่มีกลิ่นไอลัทธิมาร์กซแม้แต่นิดเดียว และเป็นสิ่งที่คัดค้านลัทธิมาร์กซ.
ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการถอยทางยุทธศาสตร์ซึ่งทางกังไสเรียกว่า “ล่อข้าศึกให้ถลำลึกเข้ามา” ทางเสฉวนเรียกว่า “หดที่มั่น”. นักทฤษฎีและนักปฏิบัติทางการทหารในอดีตก็ไม่มีผู้ใดที่ยอมรับว่า นี่เป็นเข็มมุ่งซึ่งกองทัพที่อ่อนจะต้องใช้ในขั้นเริ่มต้นของสงครามเมื่อทำการรบกับกองทัพที่แข็ง. นักการทหารต่างประเทศก็เคยกล่าวไว้ดังนี้ว่า “การรบด้วยวิธีรับทางยุทธศาตร์นั้น โดยทั่วไปมักจะเลี่ยงการรบแตกหักที่เสียเปรียบก่อน จนเมื่ออยู่ในสภาพที่ได้เปรียบแล้ว จึงเริ่มแสวงการรบแตกหัก.” นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิง เราไม่ได้เพิ่มเติมอะไรในข้อนี้เลย.
จุดมุ่งหมายในการถอยทางยุทธศาสตร์ ก็เพื่อรักษากำลังการทหารและเตรียมรุกโต้ตอบ. การที่การถอยเป็นสิ่งจำเป็นนั้น ก็เพราะว่าเมื่อเผชิญกับการรุกของข้าศึกที่เข้มแข็ง หากไม่ถอยสักก้าวหนึ่ง ก็จะเป็นภัยต่อการรักษากำลังการทหาร. การถอยนี้ที่แล้วมากลับมีคนจำนวนมากคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยว, โดยเห็นว่าเป็น “แนวทางตั้งรับล้วน ๆ ซึ่งเป็นลัทธิฉวยโอกาส”. ประวัติศาสตร์ของเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การคัดค้านนี้ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง.
การเตรียมรุกโต้ตอบนั้น จะต้องเลือกและสร้างเงื่อนไขบางประการที่เป็นผลดีแก่เราและไม่เป็นผลดีแก่ข้าศึก ทำให้การเปรียบเทียบทางกำลังระหว่างข้าศึกกับเราเกิดการเปลี่ยนแปลง, แล้วจึงจะเข้าสู่ขั้นการรุกโต้ตอบ.
กล่าวตามสภาพการณ์ที่แล้วมาของเรา โดยทั่วไปในขั้นการถอยจะต้องได้เงื่อนไขอย่างน้อย ๒ ข้อขึ้นไปในหลายข้อดังต่อไปนี้ จึงจะนับว่าเป็นผลดีแก่เราและไม่เป็นผลดีแก่ข้าศึก, และจึงจะทำให้ตนเปลี่ยนไปสู่การรุกโต้ตอบได้. เงื่อนไขเหล่านี้ คือ:
(๑) ประชาชนที่สนับสนุนช่วยเหลือกองทัพแดงอย่างแข็งขัน ;
(๒) ที่มั่นที่เป็นผลดีแก่การรบ ;
(๓) การรวมศูนย์ทั้งหมดของกำลังหลักแห่งกองทัพแดง ;
(๔) ค้นพบส่วนอ่อนของข้าศึก ;
(๕) ทำให้ข้าศึกอ่อนเพลียและเสียขวัญ ;
(๖) ทำให้ข้าศึกเกิดความผิดพลาด.
เงื่อนไขด้านประชาชนนี้เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับกองทัพแดง. นั่นก็คือ เงื่อนไขด้านฐานที่มั่น. ยิ่งกว่านั้น, เนื่องจากมีเงื่อนไขนี้ เงื่อนไขข้อ ๔ ข้อ ๕ และข้อ ๖ ก็สร้างขึ้นหรือค้นพบได้ง่าย. ฉะนั้น เมื่อข้าศึกเข้าตีกองทัพแดงอย่างขนานใหญ่ กองทัพแดงจึงมักจะถอยจากเขตขาวมายังฐานที่มั่น, เพราะว่าประชาชนในฐานที่มั่นสนับสนุนช่วยเหลือกองทัพแดงต่อต้านกองทัพขาวอย่างแข็งขันที่สุด. เขตชายฐานที่มั่นกับเขตใจกลางฐานที่มั่นก็แตกต่างกัน; ในเรื่องการปิดข่าว การสอดแนม การลำเลียง การเข้าร่วมการรบ ฯลฯ ประชาชนในเขตใจกลางฐานที่มั่นทำได้ดีกว่าประชาชนในเขตชายฐานที่มั่น. ฉะนั้น เมื่อครั้งต่อต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ ที่กังไสที่แล้วมา “ปลายทางของการถอย” จึงเลือกไว้ที่เขตซึ่งเงื่อนไขด้านประชาชนดีที่สุดหรือค่อนข้างดีทั้งสิ้น. ลักษณะพิเศษของฐานที่มั่นข้อนี้ทำให้การรบของกองทัพแดงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเมื่อเทียบกับการรบทั่ว ๆ ไป, และก็เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ข้าศึกจำต้องใช้ลัทธิป้อมค่ายในเวลาต่อมา.
กองทหารที่ถอยสามารถจะเลือกที่มั่นที่ได้เปรียบตามที่ตนปรารถนา ทำให้กองทหารที่รุกเข้ามาจำต้องรบไปตามความมุ่งหมายของเรา นี่เป็นเงื่อนไขดีเลิศประการหนึ่งในการรบที่แนวด้านใน. กองทหารที่อ่อนต้องการจะรบชนะกองทหารที่แข็ง, ก็จำเป็นต้องเลือกหาเงื่อนไขด้านที่มั่น. แต่มีเพียงเงื่อนไขข้อนี้ยังไม่พอ ยังต้องมีเงื่อนไขอื่น ๆ มาประสานอีก. ก่อนอื่นคือเงื่อนไขด้านประชาชน. ถัดมายังต้องมีข้าศึกที่ตีง่าย เช่น ข้าศึกอ่อนเพลียแล้ว หรือเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว หรือข้าศึกสายที่รุดหน้ามานั้นอยู่ข้างจะขาดสมรรถภาพสู้รบ. เมื่อเงื่อนไขเหล่านี้ไม่เพียบพร้อม แม้จะมีที่มั่นที่ดีเลิศ ก็ได้แต่ไม่ไปนำพามัน ถอยต่อไป เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ตนปรารถนา. ในเขตขาวมิใช่ว่าจะไม่มีที่มั่นที่ดีเลิศเสียเลย หากแต่ว่าไม่มีเงื่อนไขที่ดีเลิศด้านประชาชน. ถ้าเงื่อนไขอื่น ๆ ก็ยังมิได้สร้างขึ้นหรือยังมิได้ค้นพบ กองทัพแดงก็จำต้องถอยไปสู่ฐานที่มั่น. ความแตกต่างระหว่างเขตชายฐานที่มั่นกับเขตใจกลางฐานที่มั่นนั้นโดยทั่วไปก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน.
นอกจากหน่วยทหารท้องถิ่นและกำลังตรึงแล้ว กำลังจู่โจมทั้งปวงให้ถือการรวมศูนย์ทั้งหมดเป็นหลักการ. ในขณะที่เราเข้าตีข้าศึกที่ใช้การรับทางยุทธศาสตร์นั้น กองทัพแดงมักจะกระจายกำลังออกไป. เมื่อใดข้าศึกเข้าตีเราอย่างขนานใหญ่, กองทัพแดงก็ดำเนินสิ่งที่เรียกว่า “ถอยไปสู่ใจกลาง”. ปลายทางของการถอยมักจะเลือกไว้ที่ตอนกลางของฐานที่มั่น; แต่บางครั้งก็ที่ตอนหน้า บางครั้งก็ที่ตอนท้าย สุดแต่สภาพการณ์, การถอยไปสู่ใจกลางชนิดนี้ สามารถทำให้กำลังหลักแห่งกองทัพแดงรวมศูนย์ได้ทั้งหมด.
เงื่อนไขที่จำเป็นอีกประการหนึ่งในการที่กองทหารที่อ่อนจะรบกับกองทหารที่แข็งก็คือเลือกตีส่วนอ่อน. แต่ในขณะที่ข้าศึกเริ่มรุก เรามักจะไม่รู้ว่าทหารข้าศึกหน่วยต่าง ๆ ที่แยกกันเคลื่อนเข้ามานั้น หน่วยไหนแข็งที่สุด หน่วยไหนแข็งรองลงมา หน่วยไหนอ่อนที่สุด หน่วยไหนอ่อนรองลงมา จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการของการสอดแนมกระบวนหนึ่ง. กว่าจะบรรลุจุดมุ่งหมายนี้ได้มักจะต้องกินเวลานาน. การที่การถอยทางยุทธศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นนั้น นี่ก็เป็นเหตุผลข้อหนึ่ง.
ถ้าข้าศึกที่รุกเข้ามานั้นเหนือกว่ากองทัพของเรามากมายทั้งในด้านปริมาณและความเข้มแข็ง และเราต้องการให้การเปรียบเทียบทางความแข็งอ่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง ก็มีแต่รอจนกว่าข้าศึกจะถลำลึกเข้ามาในฐานที่มั่น และได้ลิ้มรสความขมขื่นอย่างเต็มที่จากฐานที่มั่น เหมือนอย่างที่เสนาธิการกองพลน้อยกองหนึ่งของเจียงไคเช็คได้กล่าวไว้เมื่อครั้ง “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ ว่า “คนอ้วนถูลู่ถูกังไปจนผอม คนผอมถูลู่ถูกังไปจนตาย” หรือเหมือนอย่างที่เฉินหมิงซู ผู้บัญชาการใหญ่ของกองทัพ “ล้อมปราบ” สายตะวันตกได้กล่าวไว้ว่า “กองทัพชาติมืดมนทุกแห่ง กองทัพแดงแจ้งชัดทุกด้าน” จึงจะบรรลุจุดมุ่งหมายได้. ในเวลาเช่นนี้ แม้กองทัพข้าศึกจะเข้มแข็ง, แต่ก็ถูกบั่นทอนลงไปมากมายแล้ว; ทหารอ่อนเพลีย ขวัญเสื่อมทรุด จุดอ่อนมากมายก็เผยออกมาหมด. แม้กองทัพแดงจะอ่อน แต่ได้สะสมกำลังบำรุงขวัญ รอรับข้าศึกที่กะปลกกะเปลี้่ยด้วยความกระปรี้กระเปร่า. ในเวลาเช่นนี้ การเปรียบเทียบทางกำลังของสองฝ่ายก็มักจะบรรลุความสมดุลในระดับใดระดับหนึ่งได้ หรือความเหนือกว่าอย่างสัมบูรณ์ของกองทัพข้าศึกเปลี่ยนไปเป็นความเหนือกว่าอย่างสัมพัทธ์ ความด้อยกว่าอย่างสัมบูรณ์ของกองทัพฝ่ายเราเปลี่ยนไปเป็นความด้อยกว่าอย่างสัมพัทธ์ หรือถึงกับเกิดมีเรื่องชนิดที่กองทัพข้าศึกด้อยกว่ากองทัพฝ่ายเราและกองทัพฝ่ายเรากลับเหนือกว่ากองทัพข้าศึก. เมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ ที่กังไส, กองทัพแดงได้ทำการถอยอย่างสุดเหวี่ยง (กองทัพแดงไปรวมศูนย์กันอยู่ที่ตอนท้ายของฐานที่มั่น) แต่ถ้าไม่ทำเช่นนี้ ก็ไม่สามารถจะรบชนะข้าศึกได้ เพราะว่าเวลานั้นกองทัพ “ล้อมปราบ” มีกำลังเหนือกว่ากองทัพแดง ๑๐ เท่าขึ้นไป. คำของซุนจื่อที่ว่า “หลบข้าศึกที่ฮึกเหิม ตีข้าศึกที่ขวัญเสื่อมและอิดโรย” นั้น, ก็หมายถึงการทำให้ข้าศึกอ่อนเพลียเสียขวัญ เพื่อตัดทอนความเหนือกว่าของมันเสียนั่นเอง.
ความต้องการประการสุดท้ายในการถอยนั้นก็คือ ก่อให้เกิดและค้นพบความผิดพลาดของข้าศึก. ต้องรู้ไว้ว่า ผู้บังคับบัญชาของกองทัพข้าศึกที่ปรีชาสามารถคนใดก็ตาม จะไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นบ้างในระยะเวลาอันยาวนานพอดูนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ความเป็นไปได้ที่เราจะฉวยเอาช่องโหว่ของข้าศึกมาใช้ให้เป็นประโยชน์จึงมีอยู่เสมอ. ข้าศึกทำผิดพลาดได้ เช่นเดียวกับที่บางครั้งเราเองก็ผิดพลาดไป และบางครั้งก็เปิดช่องโหว่ให้ข้าศึกฉวยเอาไปใช้เป็นประโยชน์ฉะนั้น. ยิ่งกว่านี้ เรายังสามารถทำให้กองทัพข้าศึกเกิดความผิดพลาดขึ้นด้วยน้ำมือของเราเองได้ด้วย เช่น ประเภทที่ซุนจื่อเรียกว่า “แสดงร่องรอย” (แสดงร่องรอยทางตะวันออก แต่เข้าตีทางตะวันตก คือสิ่งที่เรียกว่า ทำทีจะบุกทางตะวันออก, แต่แล้วเข้าตีทางตะวันตก). เมื่อจะทำเช่นนี้ ปลายทางของการถอยก็จะจำกัดอยู่ในเขตใดเขตหนึ่งไม่ได้. บางครั้งถอยไปถึงเขตนั้น ๆ แล้ว ยังไม่มีช่องโหว่ที่จะฉวยเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ ก็จำต้องถอยต่อไปอีกหลาย ๆ ก้าว รอจนกว่าข้าศึกจะเปิด “ช่องโหว่” ให้.
เงื่อนไขที่เป็นผลดีซึ่งการถอยต้องการนั้น โดยทั่วไปก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น. แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า จะต้องรอให้เงื่อนไขเหล่านี้เพียบพร้อมทุกประการเสียก่อนจึงจะก่อการรุกโต้ตอบได้. จะให้เพียบพร้อมด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ในเวลาเดียวกันนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ และก็ไม่จำเป็นด้วย. แต่การช่วงชิงเงื่อนไขที่จำเป็นบางประการโดยอาศัยสถานการณ์เฉพาะหน้าของข้าศึกนั้น ก็เป็นสิ่งที่กองทัพที่อ่อนซึ่งทำการรบที่แนวด้านในกับข้าศึกที่แข็งนั้นควรจะสนใจ. ความเห็นที่ค้านในข้อนี้นั้นไม่ถูกต้อง.
การที่จะกำหนดว่าปลายทางของการถอยควรอยู่ที่ไหนนั้น, จะต้องถือเอาสถานการณ์ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้น. เมื่อมองจากสถานการณ์เฉพาะส่วนแล้วเป็นผลดีแก่การที่เราจะเปลี่ยนไปสู่การรุกโต้ตอบ แต่ถ้ามิใช่เป็นผลดีแก่เราในแง่สถานการณ์ส่วนทั้งหมดด้วยแล้ว การอาศัยข้อนี้ไปกำหนดปลายทางของการถอยก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง. เพราะว่าการเริ่มรุกโต้ตอบนั้นจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง และการรุกโต้ตอบของเราก็มักจะเริ่มต้นจากเฉพาะส่วนเสมอ. บางครั้งปลายทางของการถอยควรจะเลือกเอาตอนหน้าของฐานที่มั่น ดังเช่นเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๔ ที่กังไส การต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ ที่ส่านซี-กานซู่. บางครั้งจะต้องอยู่ที่ตอนกลางของฐานที่มั่น ดังเช่นเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ที่กังไส. บางครั้งกลับอยู่ที่ตอนท้ายของฐานที่มั่น ดังเช่นเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ ที่กังไส. เหล่านี้ล้วนแต่กำหนดขึ้นโดยการประสานสถานการณ์เฉพาะส่วนเข้ากับสถานการณ์ส่วนทั้งหมด. การต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ที่กังไส กองทัพของเราไม่เอาการถอยเลย มูลเหตุอยู่ที่ไม่สนใจทั้งสถานการณ์เฉพาะส่วนและสถานการณ์ส่วนทั้งหมด ซึ่งเป็นการกระทำที่มุทะลุบ้าบิ่นแท้ ๆ. สถานการณ์นั้นก่อขึ้นโดยเงื่อนไข; ในการสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์ส่วนทั้งหมดนั้น ควรจะวินิจฉัยตามเงื่อนไขที่ฝ่ายข้าศึกกับฝ่ายเรามีอยู่ในเวลานั้น ซึ่งเห็นได้จากสถานการณ์เฉพาะส่วนและส่วนทั้งหมดว่า เป็นผลดีแก่การเริ่มรุกโต้ตอบของเราในขอบเขตที่แน่นอนหนึ่งหรือหาไม่.
ปลายทางของการถอยนั้น ในฐานที่มั่นโดยทั่วไปอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิด คือ ตอนหน้า ตอนกลาง ตอนท้าย. แต่ทั้งนี้เป็นการปฏิเสธการปฏิบัติการรบในเขตขาวเลยหรือไม่? ไม่ใช่. ที่เราปฏิเสธการปฏิบัติการรบในเขตขาวนั้น ก็เพียงแต่หมายถึงการรับมือกับ “การล้อมปราบ” ขนาดใหญ่ของกองทัพข้าศึกเท่านั้น. เมื่อความแข็งอ่อนระหว่างข้าศึกกับเราเหลื่อมล้ำกันมาก ภายใต้หลักการที่ให้รักษากำลังทหารและรอคอยโอกาสทำลายข้าศึก เราจึงถือความคิดเห็นให้ถอยไปยังฐานที่มั่น ถือความคิดเห็นให้ล่อข้าศึกให้ถลำลึกเข้ามา เพราะมีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้น จึงจะสามารถสร้างหรือค้นพบเงื่อนไขที่เป็นผลดีแก่การรุกโต้ตอบได้. ถ้าสภาพการณ์ไม่ร้ายแรงถึงเพียงนี้, หรือความร้ายแรงของสภาพการณ์ทำให้กองทัพแดงไม่มีทางจะเริ่มรุกโต้ตอบได้จริง ๆ แม้กระทั่งในฐานที่มั่น หรือไม่เป็นผลดีในการรุกโต้ตอบ จำเป็นต้องถอยอีกเพื่อให้สถานการณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ควรจะยอมรับการเลือกปลายทางของการถอยไว้ในเขตขาว อย่างน้อยก็ควรจะยอมรับในทางทฤษฎี แม้ว่าแต่ก่อนนี้เราจะมีความจัดเจนชนิดนี้น้อยมากก็ตาม.
ปลายทางของการถอยในเขตขาว โดยทั่วไปก็แบ่งได้เป็น ๓ ชนิดเช่นเดียวกัน คือ ๑. ด้านหน้าฐานที่มั่น ๒. ด้านข้างฐานที่มั่น ๓. ด้านหลังฐานที่มั่น. ปลายทางชนิดที่ ๑ ดังเช่นเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ที่กังไส ถ้ากองทัพแดงไม่มีความไม่เป็นเอกภาพภายในและการแตกแยกในองค์การพรรคท้องถิ่น คือแนวทางหลี่ลี่ซานและกลุ่ม เอ. บี.๓๒ อันเป็นปัญหายุ่งยาก ๒ ประการอยู่แล้ว ก็จะคาดคิดได้ถึงการรวมศูนย์กำลังทหารไว้ที่ระหว่าง ๓ จุด คือ จี๋อาน หนานเฟิง และจางซู่ แล้วก่อการรุกโต้ตอบ. เพราะว่ากำลังทหารของข้าศึกที่ยกคืบหน้ามาจากบริเวณระหว่างแม่น้ำก้านเจียงกับแม่น้ำฝูสุ่ยในเวลานั้น เมื่อเทียบกับกองทัพแดงแล้วก็เหนือกว่าไม่มากนัก (๑ แสนต่อ ๔ หมื่น). แม้ว่าเงื่อนไขด้านประชาชนจะสู้ฐานที่มั่นไม่ได้ แต่เงื่อนไขด้านที่มั่นนั้นมีอยู่ ทั้งยังสามารถฉวยโอกาสที่้ข้าศึกแยกกันยกคืบหน้ามาเป็นสาย ๆ นั้นทำลายมันเสียทีละสาย ๆ ได้ด้วย. ปลายทางชนิดที่ ๒ ดังเช่นเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ ที่กังไส ถ้าหากขนาดการรุกของข้าศึกในเวลานั้นมิได้ใหญ่โตถึงเพียงนั้น และมีข้าศึกสายหนึ่งยกคืบหน้ามาจากเจึ้ยนหนิง หลีชวน ไท่หนิงที่เขตชายแดนฮกเกี้ยน-กังไส ทั้งกำลังสายนี้ก็เหมาะแก่การโจมตีของเราด้วยแล้ว ก็ย่อมจะคาดคิดได้เช่นกันว่า กองทัพแดงจะไปรวมศูนย์อยู่ที่เขตขาวในภาคตะวันตกฮกเกี้ยน ทำลายข้าศึกสายนี้ไปก่อน ไม่ต้องยกทัพอ้อมอีกพันลี้ผ่านลุ่ยจินไปยังซิงกว๋อ. ปลายทางชนิดที่ ๓ ดังเช่นเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ ที่กังไสดังกล่าวข้างต้นเหมือนกัน ถ้ากำลังหลักของข้าศึกมิใช่บ่ายหน้าไปทางตะวันตก หากบ่ายหน้าไปทางใต้ เราก็อาจจะถูกบีบให้ถอยไปยังเขตฮุ่ยชาง สินวู อันหย่วน (ซึ่งเป็นเขตขาว) ล่อข้าศึกให้ยกลงไปทางใต้ให้ไกลยิ่งขึ้น แล้วกองทัพแดงก็จะตีจากใต้ขึ้นเหนือเข้าไปในฐานที่มั่น เวลานั้นกองทัพข้าศึกในด้านเหนือของฐานที่มั่นก็คงจะมีอยู่ไม่มากนัก. แต่คำอธิบายข้างต้นนี้ล้วนแต่สมมติขึ้นทั้งสิ้น ไม่มีความจัดเจน ถือเป็นเรื่องพิเศษได้ จะถือเป็นหลักการทั่วไปไม่ได้. สำหรับเราแล้ว เมื่อข้าศึกดำเนิน “การล้อมปราบ” อย่างขนาดใหญ่, หลักการทั่วไปก็คือ ล่อข้าศึกให้ถลำลึกเข้ามา ถอยไปทำการรบในฐานที่มั่น เพราะนี่เป็นวิธีการที่มั่นใจได้ที่สุดในอันที่เราจะทำลายการรุกของข้าศึก.
บรรดาผู้ที่ถือความคิดเห็นให้ “ตั้งรับข้าศึกที่นอกประตูเมือง” นั้น คัดค้านการถอยทางยุทธศาสตร์ เหตุผลมีว่า การถอยทำให้เสียพื้นที่ เป็นภัยต่อประชาชน (อย่างที่ว่า “ทำให้อ่างโถโอชามถูกทุบแตก”) และก็เกิดผลสะเทือนที่ไม่ดีต่อภายนอก. ในการต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ก็ว่า เราถอยก้าวหนึ่ง ป้อมค่ายของข้าศึกก็จะขยับเข้ามาก้าวหนึ่ง ฐานที่มั่นก็จะหดเล็กลงทุกวันและไม่มีทางที่จะกู้คืนมาได้. ถ้าหากว่าแต่ก่อนนี้การล่อข้าศึกให้ถลำลึกเข้ามานั้นมีประโยชน์แล้ว, ใน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ที่ใช้ลัทธิป้อมค่ายก็จะไม่มีประโยชน์อะไร. การรับมือกับ “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ จะใช้ได้ก็แต่วิธีการที่แยกกำลังทหารเข้าต่อต้านและจู่โจมในระยะและเวลาอันสั้นเท่านั้น.
การตอบความเห็นเหล่านี้เป็นของง่าย ประวัติศาสตร์ของเราก็ได้ตอบไปแล้ว. เกี่ยวกับปัญหาการเสียพื้นที่นั้น มักจะมีสภาพดังนี้เสมอ คือ มีแต่การเสียเท่านั้นที่จะทำให้ไม่เสียได้ นี่คือหลักการที่ว่า “อยากจะเอาก็ต้องให้ก่อน”. ถ้าสิ่งที่เราเสียไปนั้นเป็นพื้นที่ แต่สิ่งที่ได้มานั้นเป็นการรบชนะข้าศึก ผนวกด้วยการกู้พื้นที่คืน ซ้ำผนวกด้วยการขยายพื้นที่ให้กว้างออกไปอีก นั่นก็เป็นการค้าที่มีกำไร. การซื้อขายในตลาด ถ้าผู้ซื้อไม่เสียเงินก็จะไม่ได้ของ; ถ้าผู้ขายไม่เสียของก็จะไม่ได้เงินเช่นกัน. ความสูญเสียที่การเคลื่อนไหวปฏิวัติก่อให้เกิดขึ้นนั้นคือการทำลาย แต่สิ่งที่่การเคลื่อนไหวปฏิวัติได้มานั้นคือการสร้างสรรค์ที่ก้าวหน้า. การนอนและการพักผ่อนทำให้เสียเวลาไป, แต่ก็ได้มาซึ่งกำลังวังชาที่จะทำงานในวันรุ่งขึ้น. ถ้ามีคนโง่คนไหนไม่รู้เหตุผลนี้ ไม่ยอมนอน วันรุ่งขึ้นเขาก็จะละเหี่ย นี่เป็นการค้าที่ขาดทุน. การที่เราขาดทุนเมื่อครั้ง “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ของข้าศึกนั้น ก็เพราะข้อนี้นั่นเอง. ไม่ยอมเสียพื้นที่ส่วนหนึ่ง ในที่สุดก็ต้องเสียพื้นที่ไปทั้งหมด. การดื้อรบของอบิสซีเนียก็ได้รับผลที่เสียทั้งประเทศเช่นกัน แม้ว่ามูลเหตุที่อบิสซีเนียพ่ายแพ้จะมิเพียงอยู่ที่ข้อนี้ข้อเดียวเท่านั้นก็ตาม.
ปัญหาการเป็นภัยต่อประชาชนก็มีเหตุผลอย่างเดียวกัน. ถ้าไม่ให้อ่างโถโอชามในบ้านของประชาชนส่วนหนึ่งถูกทุบแตกไปบ้างในชั่วขณะหนึ่ง ก็จะทำให้อ่างโถโอชามของประชาชนทั้งมวลถูกทุบแตกไปเป็นเวลายาวนาน. ถ้าหวาดกลัวผลสะเทือนที่ไม่ดีทางการเมืองชั่วขณะหนึ่ง ก็จะต้องชดเชยด้วยผลสะเทือนที่ไม่ดีเป็นเวลายาวนาน. ภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ถ้าชาวบอลเชวิครัสเซียปฏิเสธการทำสัญญาสันติภาพกับเยอรมันตามความเห็นของ “พวกลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย” แล้ว โซเวียตที่เกิดใหม่ก็มีอันตรายที่จะสิ้นชีวิตแต่ยังเยาว์.๓๓
ความเห็นเอียง “ซ้าย” ที่ดูคล้ายปฏิวัติชนิดนี้ มาจากโรคใจร้อนทางการปฏิวัติของปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อย และขณะเดียวกันก็มาจากความเป็นอนุรักษ์เฉพาะส่วนของชาวนาซึ่งเป็นผู้ผลิตขนาดเล็กด้วย. การมองปัญหาของพวกเขาเพียงแต่เริ่มต้นจากเฉพาะส่วนส่วนหนึ่งเท่านั้น หามีความสามารถที่จะมองส่วนทั้งหมดให้ตลอดไม่ พวกเขาไม่ยอมประสานผลประโยชน์ในวันนี้เข้ากับผลประโยชน์ในวันพรุ่งนี้ ไม่ยอมประสานผลประโยชน์เฉพาะส่วนเข้ากับผลประโยชน์ส่วนทั้งหมด, ยึดสิ่งที่เป็นเฉพาะส่วนส่วนหนึ่งและที่เป็นไปชั่วขณะหนึ่งไว้แน่นจนตายก็ไม่ยอมปล่อย. ถูกละ สิ่งที่เป็นเฉพาะส่วนส่วนหนึ่งและสิ่งที่เป็นไปชั่วขณะหนึ่งทั้งปวงซึ่งเมื่อมองจากสภาพรูปธรรมในขณะนั้นเป็นผลประโยชน์ต่อส่วนทั้งหมดในขณะนั้นและต่อตลอดทั้งระยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ีที่มีความหมายชี้ขาดนั้น ควรจะยึดไว้ให้มั่น มิฉะนั้นเราก็จะกลายเป็นพวกยถากรรมนิยมหรือพวกลัทธิปล่อยไปตามเรื่อง. ที่การถอยต้องมีปลายทางก็ด้วยเหตุผลอันนี้นี่เอง. แต่ทั้งนี้จะอาศัยสายตาอันสั้นของผู้ผลิตขนาดเล็กไม่ได้เป็นอันขาด. สิ่งที่เราควรจะศึกษานั้น คือความเฉลียวฉลาดของชาวบอลเชวิค. สายตาของเราไม่พอ ควรจะอาศัยกล้องส่องทางไกลและกล้องจุลทรรศน์มาช่วย. วิธีการของลัทธิมาร์กซนั้นก็คือกล่องส่องทางไกลและกล้องจุลทรรศน์ในทางการเมืองและในทางการทหารนั่นเอง.
แน่ละ การถอยทางยุทธศาสตร์ย่อมจะมีความยากลำบากอยู่. การเลือกโอกาสเริ่มต้นการถอย การเลือกปลายทางของการถอย การพูดจูงใจผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในทางการเมือง ล้วนแต่เป็นปัญหายากลำบาก ล้วนแต่จะต้องแก้ให้ตกทั้งสิ้น.
ปัญหาโอกาสที่จะเริ่มต้นการถอยนั้นเป็นปัญหาที่มีความหมายสำคัญ. การถอยของเราเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ที่กังไส ถ้าไม่อยู่ในโอกาสอย่างนั้นพอดี กล่าวคือ, ถ้าช้าไปกว่านั้น อย่างน้อยที่สุดระดับชัยชนะของเราก็จะต้องได้รับความกระทบกระเทือน. ถอยเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป, แน่ละ ย่อมจะเกิดความเสียหายทั้งสิ้น. แต่กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ความเสียหายที่เกิดจากการถอยช้าเกินไปมีมากกว่าที่ถอยเร็วเกินไป. การถอยให้ทันท่วงทีจะทำให้ตนตั้งอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายกระทำโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะส่งผลสะเทือนอย่างยิ่งยวดต่อการปรับปรุงขบวนทัพ แล้วเปลี่ยนไปสู่การรุกโต้ตอบชนิดที่รอรับข้าศึกที่กะปลกกะเปลี้ยด้วยความกระปรี้กระเปร่าภายหลังที่ไปถึงปลายทางของการถอยแล้ว. ในการยุทธ์ที่บดขยี้ “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๔ ของข้าศึกที่กังไสนั้น เรารับมือกับข้าศึกอย่างเยือกเย็นไม่รีบร้อนทุกครั้ง. เฉพาะการยุทธ์ครั้งที่ ๓ เท่านั้น เนื่องจากคาดคิดไม่ถึงว่าหลังจากที่ข้าศึกได้ประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการยุทธ์ครั้งที่ ๒ ถึงเพียงนั้นแล้ว การรุกครั้งใหม่จะมาถึงรวดเร็วอย่างนั้น (เรายุติการรบต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๑๙๓๑ เจียงไคเช็คก็เริ่ม “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ ของมันเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม) กองทัพแดงเดินทางอ้อมไปชุมพลอย่างฉุกละหุก จึงอ่อนเพลียเต็มที่. จะเลือกโอกาสเช่นนี้อย่างไร ก็มีแต่อาศัยการรวบรวมข้อมูลอันจำเป็นและวินิจฉัยจากแนวโน้มทั่วไปของฝ่ายข้าศึกกับฝ่ายเรา ซึ่งเป็นวิธีการอย่างเดียวกันกับที่้ใช้ในการเลือกโอกาสเริ่มต้นขั้นตระเตรียมดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น.
สำหรับการถอยทางยุทธศาสตร์นั้น ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนยังไม่มีความจัดเจน ในขณะที่เกียรติอิทธิพลของฝ่ายนำทางการทหารยังไม่ได้บรรลุถึงขั้นที่จะเอาอำนาจชี้ขาดในการถอยทางยุทธศาสตร์ไปรวมศูนย์ไว้ในมือคนจำนวนน้อยที่สุดหรือกระทั่งในมือคนคนเดียวและเป็นที่เชื่อถือของผู้ปฏิบัติงานด้วยแล้ว ปัญหาการพูดจูงใจผู้ปฏิบัติงานและประชาชนก็เป็นปัญหาที่ยากลำบากอย่างยิ่งปัญหาหนึ่ง. เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานไม่มีความจัดเจน ไม่เชื่อการถอยทางยุทธศาสตร์, ฉะนั้น ในระยะเริ่มแรกของการต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๔ และในตลอดระยะการต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ จึงได้ประสบความยากลำบากอย่างมากมายในปัญหานี้. เมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ เนื่องจากผลสะเทือนของแนวทางที่หลี่ลี่ซาน ความเห็นของปฏิบัติงานก่อนหน้าที่จะได้รับการจูงใจให้เห็นจริง จึงมิใช่จะให้ถอย หากจะให้รุก. เมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๔ เนื่องจากผลสะเทือนของลัทธิเสี่ยงภัยทางการทหาร ความเห็นของผู้ปฏิบัติงานจึงคัดค้านการตระเตรียม. เมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ความเห็นของผู้ปฏิบัติงานเมื่อเริ่มแรกยืนกรานในทรรศนะลัทธิเสี่ยงภัยทางการทหาร คัดค้านการล่อข้าศึกให้ถลำลึกเข้ามา ต่อมาได้กลายเป็นอนุรักษ์นิยมทางการทหาร. แนวทางจางกว๋อเถาไม่เชื่อว่าในเขตชาวธิเบตและชาวหุย๓๔นั้นไม่อาจสร้างฐานที่มั่นของเราขึ้นได้ จนกระทั่งหัวชนกำแพงเข้าแล้วถึงได้เชื่อ นี่ก็เป็นตัวอย่างจริง. ความจัดเจนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ความล้มเหลวเป็นแม่แห่งความสำเร็จจริง ๆ. แต่การน้อมใจรับความจัดเจนของผู้อื่นก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน ถ้าอะไร ๆ ก็จะรอความจัดเจนของตนเอง หาไม่แล้วก็จะดึงดันในความเห็นของตน ปฏิเสธไม่ยอมรับความจัดเจนของผู้อื่น เช่นนี้แล้วก็จะเป็น “ลัทธิความจัดเจนคับแคบ” อย่างเต็มที่. สงครามของเราเสียหายเพราะเรื่องนี้หาน้อยไม่.
การที่ประชาชนไม่เชื่อในความจำเป็นของการถอยทางยุทธศาสตร์เพราะขาดความจัดเจนนั้น ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่เกินกว่าเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ที่กังไส. เวลานั้นองค์การจัดตั้งของพรรคท้องถิ่นและมวลประชาชนในอำเภอจี๋อาน ซิงกว๋อและหยุ่งเฟิง ไม่มีเลยที่ไม่คัดค้านการถอยของกองทัพแดง. แต่หลังจากที่มีความจัดเจนครั้งนี้แล้ว ในการต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งต่อ ๆ มา ก็ไม่มีปัญหานี้อีกเลย. ทุกคนเชื่อว่า ความเสียหายของฐานที่มั่นและความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเรื่องชั่วคราว ทุกคนล้วนแต่มีความมั่นใจว่า กองทัพแดงสามารถจะทำลาย “การล้อมปราบ” ได้. แต่ว่าการเชื่อหรือไม่เชื่อของผู้ปฏิบัติงาน ด้วยเหตุนี้ ภาระหน้าที่ที่สำคัญเป็นเอกและที่เป็นอันดับแรกคือการพูดจูงใจผู้ปฏิบัติงาน.
บทบาททั้งหมดของการถอยทางยุทธศาสตร์อยู่ที่การเปลี่ยนไปสู่การรุกโต้ตอบ การถอยทางยุทธศาสตร์เป็นเพียงขั้นแรกของการรับทางยุทธศาสตร์เท่านั้น. ปมเงื่อนชี้ขาดของยุทธศาสตร์ทั้งกระบวนอยู่ที่ว่า จะสามารถเอาชนะในขั้นการรุกโต้ตอบซึ่งติดตามมาได้หรือไม่.