บทที่ ๔
การรุกโต้ตอบทางยุทธศาสตร์
การเอาชนะการรุกของข้าศึกที่เหนือกว่าอย่างสัมบูรณ์นั้น, อาศัยสถานการณ์ที่่สร้างขึ้นในขั้นการถอยทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เป็นผลดีแก่เรา ไม่เป็นผลดีแก่ข้าศึก และซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในขณะที่ข้าศึกเริ่มรุก และสถานการณ์เช่นนี้สร้างขึ้นด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ. ข้อนี้ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น.
แต่การมีเงื่อนไขและสถานการณ์ที่เป็นผลดีแก่เราไม่เป็นผลดีแก่ข้าศึกนั้น ยังมิได้ทำให้ข้าศึกพ่ายแพ้. เงื่อนไขและสถานการณ์เช่นนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะชี้ขาดการแพ้ชนะ แต่ยังมิใช่ความเป็นจริงของการแพ้ชนะ ยังมิได้ทำให้การแพ้ชนะระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่ายปรากฏเป็นจริงขึ้น. การที่จะทำให้การแพ้ชนะนี้ปรากฏเป็นจริงขึ้นนั้น ต้องอาศัยการรบแตกหักระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่าย. มีแต่การรบแตกหักเท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหาใครแพ้ใครชนะในระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่ายให้ตกได้. นี่คือภาระหน้าที่ทั้งหมดในขั้นการรุกโต้ตอบทางยุทธศาสตร์. การรุกโต้ตอบเป็นกระบวนการที่ยาวยืดกระบวนหนึ่ง เป็นขั้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดและคึกคักที่สุดของการรบด้วยวิธีรับ และก็เป็นขั้นสุดท้ายของการรบด้วยวิธีรับด้วย. ที่เรียกว่าการรับอย่างเป็นฝ่ายกระทำนั้น หมายถึงการรุกโต้ตอบทางยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะการรบแตกหักชนิดนี้เป็นสำคัญ.
เงื่อนไขและสถานการณ์ไม่เพียงแต่สร้างขึ้นในขั้นการถอยทางยุทธศาสตร์เท่านั้น หากยังสร้างต่อไปอีกในขั้นการรุกโต้ตอบด้วย. เงื่อนไขและสถานการณ์ในยามนี้มิได้มีรูปแบบอย่างเดียวกันและลักษณะอย่างเดียวกันกับเงื่อนไขและสถานการณ์ในขั้นก่อนเสียทั้งหมด.
สิ่งที่อาจมีรูปแบบอย่างเดียวกันและลักษณะอย่างเดียวกัน เช่น ความอ่อนเพลียยิ่งขึ้นและกำลังพลยิ่งลดลงของกองทัพข้าศึกในยามนี้นั้น เป็นแต่เพียงการต่อเนื่องของความอ่อนเพลียและการลดกำลังพลในขั้นก่อนเท่านั้น.
แต่ก็ย่อมจะมีเงื่อนไขและสถานการณ์ที่ใหม่โดยตลอดปรากฏขึ้นอย่างแน่นอน. เช่น เมื่อกองทัพข้าศึกรบแพ้มาครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งแล้ว เงื่อนไขที่เป็นผลแก่เราไม่เป็นผลดีแก่ข้าศึกในยามนี้ก็ไม่เพียงพอแต่กองทัพข้าศึกอ่อนเพลีย ฯลฯ เท่านั้น หากยังได้เพิ่มเงื่อนไขใหม่ คือกองทัพข้าศึกรบแพ้นี้เข้าไปอีกด้วย. สถานการณ์ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นด้วย. กองทัพข้าศึกโยกย้ายกันชุลมุน ทำผิดๆพลาดๆ, ความเหนือกว่าและด้อยกว่าของกองทัพทั้งสองฝ่ายก็จึงไม่เหมือนกับเมื่อก่อน.
ถ้าฝ่ายที่รบแพ้มาครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งนั้น ไม่ใช่กองทัพข้าศึก หากเป็นกองทัพฝ่ายเรา เช่นนี้แล้ว ความเป็นผลดีหรือไม่ของเงื่อนไขและสถานการณ์ก็จะเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม. กล่าวคือ ความไม่เป็นผลดีของข้าศึกจะลดลง, ความไม่เป็นผลดีของเราก็จะเริ่มเกิดขึ้น กระทั่งขยายกว้างออกไป. นี่ก็เป็นสิ่งใหม่โดยตลอดซึ่งต่างกับเมื่อก่อนอีกเช่นกัน.
จะเป็นฝ่ายไหนพ่ายแพ้ก็ตาม ความพ่ายแพ้นั้นก็ล้วนแต่จะทำให้ฝ่ายแพ้เกิดความพยายามใหม่ขึ้นโดยตรงและรวดเร็ว, นั่นก็คือ ความพยายามที่มุ่งจะกู้สถานการณ์ที่เป็นอันตราย ทำให้ตนหลุดพ้นจากเงื่อนไขและสถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีแก่ตนหากเป็นผลดีแก่ข้าศึกซึ่งปรากฏขึ้นใหม่นี้ และสร้างเงื่อนไขและสถานการณ์ที่เป็นผลดีแก่ตนหากไม่เป็นผลดีแก่ข้าศึกขึ้นใหม่อีกเพื่อบีบฝ่ายตรงกันข้าม.
ความพยายามของฝ่ายชนะตรงกันข้ามกับที่กล่าวมานี้ ฝ่ายนี้พยายามจะขยายชัยชนะของตนออกไป ยังความเสียหายแก่ข้าศึกให้มากยิ่งขึ้น พยายามเพิ่มหรือขยายเงื่อนไขและสถานการณ์ที่เป็นผลดีแก่ตน และพยายามไม่ให้ฝ่ายตรงกันข้ามบรรลุความมุ่งหมายที่จะหลุดพ้นจากความเสียเปรียบและกู้สถานการณ์อันตรายนั้นได้.
ฉะนั้น ไม่ว่าจะกล่าวสำหรับฝ่ายใด การต่อสู้ในขั้นการรบแตกหักก็เป็นการต่อสู้ที่รุนแรงที่สุด สลับซับซ้อนที่สุด แปรเปลี่ยนมากที่สุด และก็ลำบากที่สุด ยากเข็ญที่สุดในตลอดสงครามหรือตลอดการยุทธ์ และกล่าวในด้านการบัญชาการแล้ว ก็เป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด.
ในขั้นการรุกโต้ตอบ มีปัญหาอยู่มากมาย ที่สำคัญ ๆ เช่น ปัญหาการเริ่มรุกโต้ตอบ ปัญหาการรวมศูนย์กำลังทหาร, ปัญหาการรบเคลื่อนที่ ปัญหาการรบแตกหักรวดเร็ว ปัญหาการรบทำลายล้าง เป็นต้น.
หลักการในปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะกล่าวในด้านการรุกโต้ตอบหรือกล่าวในด้านการรุก ไม่มีอะไรแตกต่างกันในทางลักษณะพื้นฐานของมัน. โดยความหมายนี้แล้ว กล่าวได้ว่าการรุกโต้ตอบก็คือการรุกนั่นเอง.
แต่การรุกโต้ตอบก็มิใช่การรุกเสียทั้งหมด. หลักการรุกโต้ตอบนั้นใช้ในเวลาที่ข้าศึกรุก. หลักการรุกใช้ในเวลาที่ข้าศึกรับ. โดยความหมายนี้แล้ว ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง.
เนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าว แม้ว่าในที่นี้จะเอาปัญหาหลายต่อหลายอย่างของการรบมากล่าวไว้หมดในภาคการรุกโต้ตอบของการรับทางยุทธศาสตร์ ส่วนในภาคการรุกทางยุทธศาสตร์จะกล่าวแต่เพียงปัญหาอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการกล่าวซ้ำ แต่เวลาที่เรานำไปใช้นั้น จะมองข้ามข้อที่เหมือนกันของมันไม่ได้, และก็จะมองข้ามข้อที่ต่างกันของมันไมได้เช่นเดียวกัน.