ตอนที่ ๕
ปัญหาการเริ่มรุกโต้ตอบ
ปัญหาการเริ่มรุกโต้ตอบก็คือปัญหาที่เรียกว่า “การรบครั้งแรก” หรือ “การรบที่เป็นฉากนำ”.
นักการทหารชนชั้นนายทุนจำนวนมากล้วนแต่ถือความคิดเห็นให้ใช้ความระมัดระวังในการรบครั้งแรก ไม่ว่าในการรับทางยุทธศาสตร์หรือในการรุกทางยุทธศาสตร์ล้วนเป็นเช่นนี้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะการรับยิ่งต้องเป็นเช่นนี้. แต่ก่อนพวกเราก็เคยเสนอปัญหานี้โดยถือเป็นเรื่องหนักหนามาแล้ว. การปฏิบัติการยุทธ์ต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๕ ของข้าศึกที่กังไสได้ให้ความจัดเจนอันอุดมสมบูรณ์แก่เรา การค้นคว้าความจัดเจนเหล่านี้ดูสักหน่อยหาใช่จะไร้ประโยชน์ไม่.
เมื่อครั้ง “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ข้าศึกใช้กำลังพลประมาณ ๑ แสน บ่ายหน้าจากเหนือลงใต้ ยกจากแนวจี๋อาน-เจี้ยนหนิง แยกเป็น ๘ ขบวนเข้าตีฐานที่มั่นกองทัพแดง. กองทัพแดงในขณะนั้นมีพลประมาณ ๔ หมื่น รวมพลอยู่ที่เขตหวงผีและเสี่ยวปู้อำเภอหนิงตูมณฑลกังไส.
สภาพการณ์ในเวลานั้นเป็นดังนี้ คือ (๑) กองทัพ “เข้าปราบ” มีจำนวนพลเพียงแสนเดียวเท่านั้น และก็มิใช่หน่วยในเครือของเจียงไคเช็ค สถานการณ์ทั่วไปยังไม่ร้ายแรงเท่าไรนัก. (๒) กองพลหลอหลินของข้าศึกที่ป้องกันจี๋อาน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำก้านเจียง. (๓) กองพลกุงปิ่งฝาน กองพลจางฮุยจ้านและกองพลถานเต้าหยวนของข้าศึกเข้ายึดแถบฟู่เถียน ตุงกู้ หลุงกัง หยวนโถวซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจี๋อานและทางตะวันตกเฉียงเหนือของหนิงตู. กำลังหลักของกองพลจางฮุยจ้านตั้งอยู่ที่หลุงกัง กำลังหลักของกองพลถานเต้าหยวนตั้งอยู่ที่หยวนโถว. ฟู่เถียนและตุงกู้สองแห่งนี้ เนื่องจากประชาชนถูกกลุ่ม เอ. บี. หลอกลวง ไม่เชื่อถือกองทัพแดงและเป็นปรปักษ์กับกองทัพแดงไปในชั่วขณะหนึ่ง จึงไม่เหมาะที่จะเลือกเป็นสนามรบ. (๔) กองพลหลิวเหอติ่งของข้าศึกตั้งอยู่ที่เจี้ยนหนิงในเขตขาวมณฑลฮกเกี้ยนซึ่งอยู่ไกล ไม่แน่ว่าจะข้ามเข้ามาในกังไส. (๕) กองพลเหมาปิ่งเหวินและกองพลสี่เค่อเสียงของข้าศึกเข้ามาถึงแถบโถวผี โล่โข่ว ตุงสาว ระหว่างกว่างชางกับหนิงตู. โถวผีเป็นเขตขาว โล่โข่วเป็นเขตจรยุทธ์ ที่ตุงสาวมีกลุ่ม เอ. บี. ข่าวรั่วไหลได้ง่าย. ยิ่งกว่านั้น, ถ้าตีเหมาปิ่งเหวินและสี่เค่อเสียงก่อนแล้วค่อยตีไปทางตะวันตก ก็เกรงว่ากองพลจางฮุยจ้าน กองพลถานเต้าหยวน กองพลกุงปิ่งฝานซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกจะชุมพลกันเข้า ยากที่จะเอาชนะ และแก้ปัญหาขั้นสุดท้ายไม่ได้. (๖) กองพลจางฮุยจ้านและกองพลถานเต้าหยวนเป็นกองกำลังหลักใน “การล้อมปราบ” เป็นกองทหารในเครือของหลู่ตี๋ผิงผู้บัญชาการใหญ่ของกองทัพ “เข้าปราบ” และประธานมณฑลกังไส และจางฮุยจ้านเองก็เป็นผู้บัญชาการประจำแนวหน้าด้วย. ถ้าทำลายกองพลทั้งสองนี้ลงได้ “การล้อมปราบ” ก็จะถูกทำลายไปโดยพื้นฐาน. สองกองพลนี้ต่างมีทหารประมาณ ๑ หมื่น ๔ พันคน กองพลจางฮุยจ้านยังแยกตั้งอยู่ ๒ แห่ง ถ้าเราตีทีละกองพลก็จะมีความเหนือกว่าอย่างสัมบูรณ์. (๗) แถบหลุงกัง-หยวนโถวที่กำลังหลักของกองพลจางฮุยจ้านและกองพลถานเต้าหยวนตั้งอยู่นั้นอยู่ใกล้ที่่ชุมพลของเรา ทั้งเงื่อนไขด้านประชาชนก็ดี อำพรางการเข้าประชิดได้. (๘) หลุงกังมีที่มั่นที่ดีเลิศ. หยวนโถวตียาก. ถ้าข้าศึกเข้าตีเสี่ยวปู้มาทางเรา, ก็เป็นที่มั่นที่ดีเช่นกัน. (๙) เราสามารถรวมศูนย์กำลังทหารได้มากที่สุดในทิศทางด้านหลุงกัง. ที่ซิงกว๋อซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของหลุงกังนับสิบ ๆ ลี้นั้น ยังมีกองพลอิสระซึ่งมีทหารพันเศษอยู่กองหนึ่ง ก็ไปเคลื่อนไหวในเขตหลังข้าศึกได้. (๑๐) ถ้ากองทัพฝ่ายเราเข้าทะลวงตรงกลาง ตัดแนวรบข้าศึกให้เป็นช่องสักแห่งแล้ว ขบวนตะวันออกกับขบวนตะวันตกของข้าศึกก็จะถูกแยกออกเป็นสองกลุ่มที่อยู่ไกลจากกัน. อาศัยเหตุผลข้างต้น การรบครั้งแรกของเราจึงเป็นอันตกลงจะตีและได้ตีกองพลน้อย ๒ กองซึ่งเป็นกำลังหลักของจางฮุยจ้านกับกองบัญชาการกองพลแตก ทหารข้าศึก ๙ พันคนรวมทั้งตัวผู้บัญชาการกองพลด้วยถูกจับเป็นเชลยทั้งหมด เล็ดลอดไปไม่ได้แม้แต่คนคนเดียวม้าตัวเดียว. การรบชนะครั้งนี้ครั้งเดียวทำให้กองพลถานเต้าหยวนเสียขวัญหนีเตลิดไปทางตุงสาว กองพลสี่เค่อเสียงขวัญหนีเตลิดไปทางโถวผี. ทหารของเราก็ตามตีกองพลถานเต้าหยวน ทำลายได้ครึ่งหนึ่ง. ภายใน ๕ วันรบ ๒ ครั้ง (ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๑๙๓๐ ถึงวันที่ ๑ มกราคม ๑๙๓๑) ดังนั้น ข้าศึกที่ฟู่เถียน ตุงกู้ โถวผีเลยกลัวจะถูกตี รีบถอยกันเป็นอุตลุด “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ก็เป็นอันยุติลง.
สภาพการณ์เมื่อครั้ง “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๒ เป็นดังนี้ คือ (๑) กองทัพ “เข้าปราบ” มี ๒ แสนคน เหอยิ่งชินเป็นผู้บัญชาการใหญ่ ตั้งอยู่ที่หนานชาง. (๒) กองทหารทั้งหมดมิใช่หน่วยในเครือของเจียงไคเช็ค เช่นเดียวกับ “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ . กองทัพลู่ที่ ๑๙ ของไฉ้ถิงข่าย กองทัพลู่ที่ ๒๖ ของซุนเหลียนจุ้ง และกองทัพลู่ที่ ๘ ของจูเซ่าเหลียงเป็นกองทัพที่แข็งที่สุดหรือค่อนข้างแข็. นอกนั้นล้วนแต่ค่อนข้างอ่อน. (๓) กลุ่มเอ. บี. ถูกกวาดล้างหมดสิ้นไปแล้ว ประชาชนทั้งหมดในฐานที่มั่นสนับสนุนกองทัพแดง. (๔) กองทัพลู่ที่ ๕ ของหวางจินอี้เพิ่งมาจากทางเหนือใหม่ ๆ แสดงอาการหวาดกลัว กองพลกวอหัวจุงและกองพลห่าวเมิ่งหลิงซึ่งเป็นปีกซ้ายของกองทัพนี้ โดยทั่วไปก็มีอาการอย่างเดียวกัน. (๕) ถ้ากองทัพของเราเริ่มตีจากฟู่เถียน กวาดไปทางตะวันออก ก็จะสามารถขยายฐานที่มั่นไปในเขตเจี้ยนหนิง หลีชวน ไท่หนิงที่ชายแดนฮกเกี้ยน-กังไสและรวบรวมวัตถุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อสะดวกแก่การทำลาย “การล้อมปราบ” ครั้งต่อไป. ถ้าตีจากตะวันออกไปตะวันตก ก็จะไปติดแม่น้ำก้านเจียง ซึ่งเมื่อสถานการณ์การรบยุติลงแล้วก็ไม่มีทางที่จะขยายออกไป. หรือถ้าตีเสร็จแล้วค่อยวกกลับมาทางตะวันออก ก็จะทำให้ทหารอิดโรยและเสียเวลา. (๖) แม้ว่าจำนวนพลของกองทัพเราเมื่อเทียบกับการยุทธ์ครั้งก่อนแล้วจะลดน้อยลงไปบ้าง (๓ หมื่นเศษ) แต่ก็มีเวลาสะสมกำลังบำรุงขวัญอยู่ ๔ เดือน. อาศัยเหตุผลข้างต้น จึงตกลงไปตีหวางจินอี้และกุงปิ่งฝาน (รวมทั้งสิ้น ๑๑ กรม) ที่เขตฟู่เถียนเป็นการรบครั้งแรก. เมื่อชนะแล้ว ก็ตีหน่วยกวอหัวจุง ตีหน่วยซุนเหลียนจุ้ง ตีหน่วยจูเซ่าเหลียง และตีหน่วยหลิวเหอติ่งในทันที. ในชั่วเวลา ๑๕ วัน (วันที่ ๑๖ ถึงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๑๙๓๑) เดินทัพ ๗๐๐ ลี้ รบ ๕ ครั้ง, ยึดปืนได้ ๒ หมื่นเศษ ทำลาย “การล้อมปราบ” ไปอย่างหนำใจ. เวลาที่เข้าตีหน่วยหวางจินอี้นั้น เราตกอยู่ในระหว่างกลางข้าศึกหน่วยไฉ้ถิงข่ายกับหน่วยกวอหัวจุง ห่างจากหน่วยกวอหัวจุง ๑๐ กว่าลี้ ห่างจากหน่วยไฉ้ถิงข่าย ๔๐ กว่าลี้ มีคนว่าเรา “มุดเข้าเขาควาย” แต่ในที่สุดก็มุดทะลุออกมาแล้ว. ที่สำคัญเพราะเงื่อนไขด้านฐานที่มั่น ประกอบกับความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกองทัพข้าศึกหน่วยต่าง ๆ. หลังจากที่กองพลกวอหัวจุงแตกพ่ายไปแล้ว กองพลห่าวเมิ่งหลิงก็รีบหนีกลับไปหยุ่งเฟิงกลางดึก จึงรอดพ้นความหายนะไปได้.
สภาพการณ์เมื่อครั้ง “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ เป็นดังนี้ คือ (๑) เจียงไคเช็คออกมาเป็นผู้บัญชาการใหญ่ด้วยตนเอง ถัดลงไปแบ่งเป็นผู้บัญชาการ ๓ สาย คือ สายซ้าย สายขวาและสายกลาง. สายกลางเห่อยิ่งชิน กองบัญชาการตั้งที่หนานชาง อยู่ด้วยกันกับเจียงไคเช็ค; สายขวางเฉินหมิงซู ตั้งอยู่ที่จี๋อาน; สายซ้ายจูเซ่าเหลียง ตั้งอยู่ที่หนานเฟิง. (๒) กองทัพ “เข้าปราบ” มีพล ๓ แสน. กองกำลังหลักคือกองพลเฉินเฉิง กองพลหลอจ๋ออิง กองพลจ้าวกวานเถา กองพลเว่ยลี่หวงและกองพลเจี่ยงติ่งเหวินในเครือเจียงไคเช็คทั้ง ๕ กองพล กองพลละ ๙ กรม รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑ แสนคน. รองลงมาก็คือกองพลเจี่ยงกว่างไน่ กองพลไฉ้ถิงข่ายและกองพลหนานเต๋อฉิน รวม ๔ หมื่นคน. รองลงมาอีกคือกองทัพซุนเหลียนจุ้ง ๒ หมื่นคน. นอกนั้นมิใช่อยู่ในเครือของเจียงไคเช็คทั้งสิ้น กำลังค่อนข้างอ่อน. (๓) ยุทธศาสตร์ “การเข้าปราบ” ครั้งนี้คือ “รุดตรงเข้าไป” ต่างกันมากกับ “การตั้งค่ายทุกก้าว” ใน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๒ ทั้งนี้มุ่งที่จะบีบกองทัพแดงให้ไปติดอยู่ที่แม่น้ำก้านเจียงแล้วทำลายเสีย. (๔) ตั้งแต่ “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๒ ยุติลงจนถึง “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ เริ่มขึ้น เป็นเวลาเพียงเดือนเดียว. กองทัพแดงซึ่งรบอย่างทรหดมาแล้วยังมิทันได้พักผ่อน และยังมิได้ซ่อมกำลัง (ประมาณ ๓ หมื่นคน) ก็ต้องเดินทางอ้อมพันลี้กลับไปชุมพลที่ซิงกว๋อซึ่งอยู่ตอนตะวันตกของฐานที่มั่นภาคใต้กังไสอีก ขณะนั้นข้าศึกได้แยกเป็นหลายสายประชิดเข้ามาแล้ว. ในสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ เข็มมุ่งอันแรกที่เรากำหนดขึ้นก็คือ จากซิงกว๋อผ่านว่านอานตีทะลวงฟู่เถียนแล้วตีกวาดจากทางตะวันตกสู่ตะวันออกไปยังเส้นทางติดต่อในแนวหลังข้าศึก ปล่อยให้กำลังหลักของข้าศึกถลำลึกเข้ามาในฐานที่มั่นภาคใต้กังไสและตกอยู่ในฐานะที่ทำอะไรไม่ได้ เรากำหนดเอาสิ่งนี้เป็นขั้นแรกของการปฏิบัติการรบ. เมื่อข้าศึกย้อนกลับขึ้นไปทางเหนือ ก็ย่อมจะอิดโรยอย่างยิ่ง, จึงฉวยโอกาสนี้ตีตรงที่พอจะตีได้ นี่เป็นขั้นที่ ๒. หัวใจของเข็มมุ่งนี้ก็คือ หลีกกำลังหลักของข้าศึก ตีส่วนอ่อนของมัน. แต่ระหว่างที่กองทัพของเรายกไปทางฟู่เถียนนั้น ข้าศึกก็รู้ตัว, กองพลเฉินเฉิงและกองพลหลอจ๋ออิงจึงตามรี่เข้ามา. เราจำต้องเปลี่ยนแผนใหม่กลับไปยังเกาซิงซีตอนตะวันตกของซิงกว๋อ ขณะนั้นเหลือแต่เพียงที่ติดตลาดนัดแห่งนี้กับเขตใกล้เคียงไม่กี่สิบตารางลี้เท่านั้นที่กองทัพของเราจะไปชุมพลได้. หลังจากชุมพลวันหนึ่งแล้ว ก็กำหนดแผนตีทะลวงไปทางตะวันออก พุ่งตรงไปยังเหลียนถางตอนตะวันออกของอำเภอซิงกว๋อ, เหลียงซุนตอนใต้ของอำเภอหยุ่งเฟิงและหวงผีตอนเหนือของอำเภอหนิงตู. วันแรกฉวยโอกาสเวลากลางคืนเดินทัพผ่านแถบช่องว่าง ๔๐ ลี้ระหว่างกองพลเจี่ยงติ่งเหวินกับกองพลเจี่ยงกว่างไน่ ไฉ้ถิงข่ายและหานเต๋อฉินแล้วเลี้ยวเข้าเหลียนถาง. วันรุ่งขึ้นได้ปะทะกับกองระวังหน้าของหน่วยซ่างกวานหยุนเซี่ยง (ซ่านกวานบัญชาการกองพลกองหนึ่งของตนและกองพลห่าวเมิ่งหลิง). วันที่สามตีกองพลซ่านกวางหยุนเซี่ยงเป็นการรบครั้งแรก วันที่สี่ตีกองพลห่าวเมิ่งหลิงเป็นการรบครั้้งที่สอง, หลังจากนั้นได้ใช้เวลา ๓ วันเดินทัพไปหวงผีตีกองพลเหมาปิ่งเหวินเป็นการรบครั้งที่สาม. การรบ ๓ ครั้งนี้ชนะทั้งหมด ยึดปืนได้กว่าหมื่น. ขณะนั้นบรรดากำลังหลักของข้าศึกที่มุ่งไปทางตะวันตกและทางใต้ต่างบ่ายธงกลับมาทางตะวันออก รวมสายตาเพ่งไปที่หวงผี โถมเข้ามาพร้อมกัน หมายจะทำการรบกับเราโดยใช้การล้อมขนาดใหญ่ที่ถี่ยิบเข้าประชิดกองทัพของเรา. กองทัพของเราก็ลอบข้ามภูเขาใหญ่ตรงช่องว่าง ๒๐ ลี้ระหว่างหน่วยเจี่ยงกวางไน่ ไฉ้ถิงข่าย หานเต๋อฉินกับหน่วยเฉินเฉิง หลอจ๋ออิง แล้วยกจากด้านตะวันออกกลับไปชุมพลในเขตซิงกว๋อซึ่งอยู่ด้านตะวันตก. กว่าข้าศึกจะรู้ตัวและยกเข้ามาทางตะวันตกอีก เราก็ได้พักผ่อนกันแล้วตั้งครึ่งเดือน, ส่วนข้าศึกหิวโหยโรยแรงทั้งขวัญก็เสื่อมทรุด หมดฤทธิ์ิสิ้นแรง, จึงตัดสินใจถอย. เราก็ฉวยโอกาสที่ข้าศึกถอยนั้นโจมตีหน่วยเจี่ยงกวางไน่ หน่วยไฉ้ถิงข่าย หน่วยเจี่ยงติ่งเหวินและหน่วยหานเต๋อฉิน ทำลายหน่วยเจี่ยงติ่งเหวินเสีย ๑ กองพลน้อยและหน่วยหานเต๋อฉินอีก ๑ กองพล. ส่วนกับกองพลเจี่ยงกวางไน่และกองพลไฉ้ถิงข่ายนั้น รบจนยันกัน แล้วปล่อยมันหนีไป.
สภาพการณ์เมื่อครั้ง “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๔ เป็นดังนี้ คือ ข้าศึกแยกเป็น ๓ สาย ยกเข้ามาทางกว่างชาง กำลังหลักอยู่ที่สายตะวันออก ๒ กองพลของสายตะวันตกได้เผยตัวที่เบื้องหน้าเรา ทั้งประชิดที่ชุมพลของเราด้วย. ดังนั้น เราจึงได้โอกาสตีข้าศึกสายตะวันตกที่เขตตอนใต้หยีหวง ทำลายกองพลหลี่หมิงและกองพลเฉินสือจี้เสียในรวดเดียว. ข้าศึกยกเข้ามาอีกโดยแยก ๒ กองพลจากสายซ้ายไปประสานกับสายกลาง เราก็ทำลายข้าศึกได้อีก ๑ กองพลที่เขตตอนใต้หยีหวง. การรบ ๒ ครั้งยึดปืนได้หมื่นเศษ “การล้อมปราบ” ครั้งนี้ก็เป็นอันถูกทำลายไปโดยพื้นฐาน.
ใน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ข้าศึกยกคืบหน้าเข้ามาโดยใช้ลัทธิป้อมค่ายซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ ก่อนอื่นได้เข้ายึดหลีชวน. แต่เรากลับไปตีเซียวสือซึ่งอยู่ทางเหนือของหลีชวนอันเป็นที่มั่นแข็งแกร่งของข้าศึกและทั้งเป็นเขตขาวด้วย โดยมุ่งที่จะกู้หลีชวนคืนและตั้งรับข้าศึกที่นอกเขตฐานที่มั่น. รบครั้งหนึ่งไม่ชนะ ก็ไปตีจือซีเฉียวทางตะวันออกเฉียงใต้ของเซียวสือซึ่งก็เป็นที่มั่นแข็งแกร่งของข้าศึกและเป็นเขตขาวด้วยอีก, ก็ไม่ชนะอีก. หลังจากนั้นก็วนเวียนไปมาหาข้าศึกรบอยู่ในระหว่างกำลังหลักกับป้อมค่ายของข้าศึก จนตกอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยสิ้นเชิง. ตลอดการยุทธ์ต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ซึ่งกินเวลานานถึง ๑ ปี ไม่มีทีท่าที่เป็นตัวของตัวเอง และคึกคักเลยแม้แต่น้อย. ในที่สุดก็จำต้องถอยออกจากฐานที่มั่นกังไส.
ความจัดเจนในการปฏิบัติการยุทธ์ของกองทัพฝ่ายเราเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ จนถึงครั้งที่ ๕ ดังกล่าวข้างต้นพิสูจน์ว่า กองทัพแดงที่อยู่ในฐานะเป็นฝ่ายรับเมื่อต้องการจะทำลายกองทัพ “เข้าปราบ” ที่เข้มแข็ง การรบครั้งแรกในการรุกโต้ตอบมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด. การแพ้ชนะในการรบครั้งแรกมีผลสะเทือนอันใหญ่หลวงต่อส่วนทั้งหมด, กระทั่งมีผลสะเทือนไปจนถึงการรบครั้งสุดท้าย. ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้:
ข้อ ๑. จะต้องรบชนะ. จะต้องให้เงื่อนไขทางสภาพข้าศึก, ภูมิประเทศและด้านประชาชนล้วนแต่เป็นผลดีแก่เรา ไม่เป็นผลดีแก่ข้าศึก มีความมั่นใจจริง ๆ แล้วจึงลงมือ. มิฉะนั้นก็ยอมถอยให้ดีกว่า และรอคอยโอกาสด้วยความหนักแน่น. โอกาสย่อมมีอยู่เสมอ อย่าได้เข้ารับศึกอย่างผลีผลาม. เมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ทีแรกคิดจะตีหน่วยถานเต้าหยวน เพียงแต่เพราะข้าศึกไม่ออกมาจากหยวนโถว ซึ่งเป็นที่มั่นทำเลสูงเท่านั้น กองทัพของเราเคลื่อนเข้าไปสองครั้ง, แต่แล้วก็อดใจถอนกลับทั้งสองครั้ง ต่อมาอีกไม่กี่วัน จึงได้พบหน่วยจางฮุยจ้านซึ่งตีได้ง่ายกว่า. เมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๒ กองทัพของเราเคลื่อนเข้าไปถึงตุงกู้ เพียงแต่เพราะจะคอยให้หวางจินอี้ออกมาจากที่มั่นแข็งแกร่งของเขาที่ฟู่เถียน เราจึงได้ปฏิเสธข้อเสนอทั้งปวงที่ใจร้อนจะให้เข้าตีเร็ว ๆ โดยยอมเสี่ยงภัยที่ข่าวอาจจะรั่วไหล เข้าตั้งประชิดข้าศึก รออยู่นานถึง ๒๕ วัน ในที่สุดก็ได้บรรลุความต้องการ, การต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ แม้จะอยู่ในสถานการณ์แห่งมรสุมร้ายแรงเช่นนั้น ต้องเดินทัพกลับเป็นระยะทางถึงพันลี้, ทั้งข้าศึกก็ล่วงรู้แผนของเราที่จะโอบปีกไปทางหลังด้านข้างของมันด้วย แต่เรายังคงอดใจยกกลับมา เปลี่ยนใช้วิธีตีทะลวงตรงกลาง ในที่สุดก็ได้ทำการรบอันงดงามเป็นครั้งแรกที่เหลียนถาง. เมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๔ ตีหนานเฟิงไม่แตก จึงใช้จังหวะก้าวที่เป็นการถอยอย่างไม่ลังเล ในที่สุดวกไปถึงปีกขวาของข้าศึก และชุมพลกันที่เขตตุงสาว ครั้นแล้วก็เปิดฉากการรบอย่างมีชัยครั้งใหญ่ขึ้นที่ตอนใต้หยีหวง. เฉพาะเมื่อครั้งต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ เท่านั้นที่ไม่รู้เลยว่าการรบครั้งแรกมีความสำคัญเพียงไร ตื่นตกใจที่เสียเมืองหลีชวนไปเมืองหนึ่ง จึงขึ้นเหนือไปหาข้าศึก โดยมุ่งหมายจะกู้คืน, เมื่อรบชนะ (ทำลายข้าศึก ๑ กองพล) ที่สินโข่วโดยไม่ได้คาดว่าจะรบปะทะที่นั่นแล้ว ไม่ถือว่าการรบนี้เป็นการรบครั้งแรก, ไม่ไปมองการเปลี่ยนแปลงที่การรบนี้จำจะต้องก่อให้เกิดขึ้น, กลับยกเข้าตีเซียวสืออย่างสุ่ม ๆ ทั้งที่ประกันไม่ได้ว่าจะชนะแน่. พอขยับขาเท่านั้นก็สูญเสียความเป็นฝ่ายกระทำไปเสียแล้ว, ช่างเป็นวิธีรบที่โง่ที่สุดและเลวที่สุดเสียจริง ๆ.
ข้อ ๒. แผนการรบครั้งแรกจะต้องเป็นฉากนำที่เป็นส่วนประกอบอันจะตัดขาดจากกันไม่ได้ของแผนการยุทธ์ทั้งกระบวน. หากไม่มีแผนการยุทธ์ทั้งกระบวนที่ดี ก็ย่อมจะมีการรบครั้งแรกที่ดีจริง ๆ ไม่ได้อย่างเด็ดขาด. กล่าวคือ ถึงหากการรบครั้งแรกจะได้ชัยชนะ แต่ถ้าการรบนี้ไม่เพียงแต่ไม่เป็นผลดีแก่การยุทธ์ทั้งกระบวน ซ้ำเป็นผลร้ายด้วยแล้ว แม้การรบครั้งนี้จะชนะก็ต้องนับว่าแพ้ (เช่นการรบที่สินโข่วเมื่อครั้ง “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕). ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะรบครั้งแรก, จะต้องคำนึงว่าการรบครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ จนกระทั่งครั้งสุดท้ายโดยทั่วไปจะรบอย่างไร ถ้าการรบครั้งต่อ ๆ ไปของเราชนะ สถานการณ์ส่วนทั้งหมดของข้าศึกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และถ้าแพ้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร. แม้ผลที่เกิดขึ้นไม่แน่ว่าจะตรงหรือกระทั่งไม่ตรงกับที่คาดหมายไว้เสียทั้งหมดก็ตาม แต่ก็ต้องขบคิดให้แจ่มแจ้งอย่างละเอียดและสอดคล้องกับความเป็นจริงโดยอาศัยสถานการณ์ส่วนทั้งหมดของทั้งสองฝ่าย. ถ้าไม่มีสถานการณ์ส่วนทั้งหมดอยู่ในใจแล้ว ก็ไม่อาจจะเดินหมากได้ดีสักตาหนึ่งจริง ๆ.
ข้อ ๓. ยังจะต้องคิดถึงสิ่งที่จะต้องทำในขั้นยุทธศาสตร์ขั้นต่อไปไว้ด้วย. ถ้ามัวแต่คำนึงถึงการรุกโต้ตอบถ่ายเดียว ไม่คำนึงว่าหลังจากการรุกโต้ตอบชนะแล้ว หรือเผื่อว่าการรุกโต้ตอบพ่ายแพ้แล้ว ขั้นต่อไปจะทำอย่างไร เช่นนี้ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้บำเพ็ญหน้าที่ของผู้ชี้นำทางยุทธศาสตร์แล้ว. เมื่ออยู่ในขั้นยุทธศาสตร์ขั้นหนึ่ง ผู้ชี้นำทางยุทธศาสตร์ควรจะคำนึงถึงขั้นต่อ ๆ ไปหลาย ๆ ขั้น อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะคำนึงถึงขั้นที่ถัดไป. แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงในกาลต่อไปยากที่จะคาดหมายได้ ยิ่งมองไกลก็ยิ่งลางเลือน แต่การคาดการณ์คร่าว ๆ นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และการคาดการณ์อนาคตก็เป็นสิ่งจำเป็น. แบบวิธีการชี้นำที่เดินก้าวหนึ่งมองก้าวหนึ่งนั้น ไม่เป็นผลดีแก่การเมืองและก็ไม่เป็นผลดีแก่สงครามด้วย. เมื่อเดินไปก้าวหนึ่งก็ควรจะมองดูการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมของก้าวนั้น แล้วอาศัยข้อนี้มาแก้ไขหรือพัฒนาแผนยุทธศาสตร์หรือแผนการยุทธ์ของตน มิฉะนั้น ก็จะทำให้เกิดความผิดพลาดที่บุกตะลุยอย่างเสี่ยงภัย. แต่ว่าเข็มมุ่งระยะยาวนานที่คลุมถึงขั้นยุทธศาสตร์ทั้งขั้นหรือกระทั่งขั้นยุทธศาสตร์หลายขั้นซึ่งได้คิดออกมาอย่างคร่าว ๆ นั้น เป็นสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้เป็นอันขาด. มิฉะนั้นก็จะทำให้เกิดความผิดพลาดที่ลังเลและเข้าตาจน ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วก็ไปสอดคล้องกับความต้องการทางยุทธศาสตร์ของข้าศึก ทำให้ตนตกอยู่ในฐานะที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ. ต้องรู้ไว้ว่า กองบัญชาการของข้าศึกนั้นมีสายตาทางยุทธศาสตร์บางอย่างอยู่. มีแต่ฝึกฝนตนเองจนเหนือกว่าเขาเท่านั้น จึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะเอาชนะทางยุทธศาสตร์. การที่การชี้นำทางยุทธศาสตร์ของแนวทางลัทธิฉวยโอกาสเอียง “ซ้าย” ในระยะ “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ของข้าศึกและแนวทางจางกว๋อเถาผิดพลาดนั้น ที่สำคัญก็เพราะไม่ได้ทำในข้อนี้. รวมความว่า เมื่ออยู่ในขั้นถอย ต้องคำนึงถึงขั้นรุกโต้ตอบ เมื่ออยู่ในขั้นรุกโต้ตอบ ต้องคำนึงถึงขั้นรุก และเมื่ออยู่ในขั้นรุก ก็ต้องคำนึงถึงขั้นถอย. ถ้าไม่มีการคำนึงเช่นนี้ ผูกมัดตนเองไว้กับผลได้ผลเสียเฉพาะหน้า นั่นคือวิถีแห่งความพ่ายแพ้.
จะต้องรบชนะ; จะต้องคำนึงถึงแผนการยุทธ์ทั้งกระบวน; จะต้องคำนึงถึงขั้นยุทธศาสตร์ขั้นถัดไป เหล่านี้คือหลักการ ๓ ข้อซึ่งจะลืมเสียมิได้ในขณะที่เริ่มรุกโต้ตอบ นัยหนึ่งในการรบครั้งแรก.