ตอนที่ ๘
การรบแตกหักรวดเร็ว
สงครามยืดเยื้อทางยุทธศาสตร์ กับการรบแตกหักรวดเร็วในทางการยุทธ์และในทางการรบ เป็นด้าน ๒ ด้านของเรื่องเดียวกัน เป็นหลักการที่มีน้ำหนักเท่ากันในเวลาเดียวกัน ๒ หลักการในสงครามภายในประเทศ และก็เหมาะที่จะใช้ในสงครามต่อต้านจักรพรรดินิยมได้ด้วย.
เนื่องจากอิทธิพลปฏิกิริยามากมายใหญ่โต ส่วนอิทธิพลปฏิวัตินั้นเติบโตขึ้นทีละน้อย ๆ ดังนั้น จึงได้กำหนดลักษณะยืดเยื้อของสงครามขึ้น. ความใจร้อนในเรื่องนี้ย่อมจะนำไปสู่ความเสียหาย การส่งเสริมการ “แตกหักรวดเร็ว” ในเรื่องนี้ย่อมไม่ถูกต้อง. การทำสงครามปฏิวัติมา ๑๐ ปี สำหรับประเทศอื่นอาจจะเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่ แต่สำหรับเรากลับเสมือนว่าบทประพันธ์แบบแปดส่วนเขียนไปได้เพียงแค่ไขหัวเรื่อง รับหัวเรื่องและเริ่มเดินเรื่อง๓๕ ส่วนท้องเรื่องอันสนุกสนานมากมายยังอยู่ข้างหลังทั้งนั้น. โดยผลสะเทือนของเงื่อนไขทั้งปวงทั้งภายในและภายนอก การขยายตัวต่อไปในวันหน้าย่อมจะมีความเป็นไปได้ที่จะทวีความเร็วให้สูงกว่าที่แล้วมามากมายอย่างไม่ต้องสงสัย. เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางสากลและภายในประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว, ทั้งยังจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มากยิ่งกว่านี้มาถึง จึงกล่าวได้ว่าเราได้หลุดพ้นจากสภาพที่ขยายตัวไปช้า ๆ และที่ทำการรบโดยกองเดียวโดด ๆ อย่างที่แล้วมานั้นไปแล้ว. แต่ก็ไม่ควรคิดว่าจะประสบผลสำเร็จได้ในวันพรุ่ง. จิตใจที่จะ “ทำลายข้าศึกก่อนค่อยกินข้าวเช้า” นั้นหาดีไม่. เพราะอิทธิพลปฏิกิริยาของจีนได้รับการสนับสนุนจากจักรพรรดินิยมหลายประเทศ ก่อนหน้าที่อิทธิพลปฏิวัติภายในประเทศจะสะสมกำลังจนมากพอที่จะทะลวงที่มั่นหลักของศัตรูทั้งภายในและภายนอกให้แตกไป และก่อนหน้าที่อิทธิพลปฏิวัติทางสากลจะทำลายหรือตรึงอิทธิพลปฏิกิริยาทางสากลส่วนใหญ่ไว้ได้นั้น, สงครามปฏิวัติของเราก็ยังคงเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ. การกำหนดเข็มมุ่งยุทธศาสตร์ของเราที่จะทำสงครามในระยะเวลาอันยาวนานโดยเริ่มต้นจากจุดนี้นั้น เป็นประการหนึ่งในเข็มมุ่งสำคัญของการชี้นำทางยุทธศาสตร์.
หลักการยุทธ์และการรบตรงกันข้ามกับข้อนี้ ไม่ใช่ยืดเยื้อหากเป็นแตกหักรวดเร็ว. การช่วงชิงให้แตกหักรวดเร็วในด้านการยุทธ์และในด้านการรบนัน ทั้งในสมัยโบราณและในปัจจุบัน, ทั้งในประเทศจีนและในต่างประเทศ ก็ล้วนเป็นอย่างเดียวกันทั้งนั้น. ในปัญหาสงคราม ทั้งในสมัยโบราณและในปัจจุบัน, ทั้งในประเทศจีนและในต่างประเทศ ก็ไม่มีเลยที่จะไม่ต้องการให้แตกหักรวดเร็ว และการทำให้ยืดเยื้อเสียเวลานั้นมักถือกันว่าไม่เป็นผลดี. เฉพาะสงครามของจีนเท่านั้นที่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อด้วยความอดทนอย่างมากที่สุด จำเป็นต้องปฏิบัติต่อด้วยสงครามยืดเยื้อ ในสมัยแนวทางหลี่ลี่ซาน มีคนหัวเราะเยาะการกระทำของเราว่าเป็น “ยุทธวิธีชกมวย” (หมายความว่ารบกันไปรบกันมาหลายตลบจึงจะสามารถยึดเมืองใหญ่ ๆ ได้), และหัวเราะเยาะว่าเราต้องรอให้ผมหงอกเสียก่อนจึงจะได้เห็นชัยชนะของการปฏิวัติ. อารมณ์ที่แสดงถึงโรคใจร้อนชนิดนี้, ได้พิสูจน์ให้เห็นมานานแล้วว่าไม่ถูก. แต่ถ้าความเห็นที่เป็นการวิจารณ์ของพวกเขามิใช่หมายถึงในปัญหายุทธศาสตร์ หากหมายถึงในปัญหาการยุทธ์และการรบแล้ว ก็จะถูกเอามากทีเดียว. มูลเหตุอยู่ที่ว่า : ประการที่ ๑ อาวุธของกองทัพแดงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระสุนวัตถุระเบิดไม่มีแหล่งที่มา; ประการที่ ๒ กองทัพขาวมีกองทหารมากมายหลายกอง กองทัพแดงมีกองทหารเพียงกองเดียว การทำลาย “การล้อมปราบ” ครั้งหนึ่ง ๆ จะต้องเตรียมปฏิบัติการรบที่ติด ๆ กันไปอย่างรวดเร็ว; ประการที่ ๓ แม้ว่ากองทหารขาวหน่วยต่าง ๆ จะแยกกันยกเข้ามา แต่โดยมากอยู่ค่อนข้างชิดกัน เมื่อตีกองหนึ่งในหมู่กองทหารข้าศึก ถ้าไม่สามารถทำให้การรบแตกหักโดยรวดเร็วแล้ว, กองอื่น ๆ ก็จะมากันทั้งหมด. ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการรบแตกหักรวดเร็ว. สำหรับพวกเราแล้ว การทำให้การรบแต่ละครั้งแตกหักภายในไม่กี่ชั่วโมง ภายในวันหนึ่งหรือภายใน ๒ วันนั้นมีอยู่เป็นประจำ. มีแต่ภายใต้เข็มมุ่งที่ให้ “ล้อมเมืองตีกำลังหนุน” ซึ่งจุดมุ่งหมายมิได้อยู่ที่ตีข้าศึกที่ถูกล้อมหากอยู่ที่ตีข้าศึกที่ยกมาหนุนช่วยเท่านั้น การรบกับข้าศึกที่ถูกล้อมอยู่จึงต้องเตรียมทำอย่างยืดเยื้อพอดู แต่กับข้าศึกที่ยกมาหนุนช่วยยังคงเป็นการแตกหักรวดเร็ว. ในการรักษาจุดที่มั่นในด้านตรึงกำลังอย่างเหนียวแน่นในเวลารับทางยุทธศาสตร์ ในการตีข้าศึกที่โดดเดี่ยวขาดการหนุนช่วยในเวลารุกทางยุทธศาสตร์ ในการทำลายจุดที่มั่นขาวในฐานที่มั่น, เหล่านี้ก็มักจะใช้เข็มมุ่งยืดเยื้อในการยุทธ์หรือการรบเสมอ. แต่การรบยืดเยื้อเหล่านี้เป็นการช่วย มิใช่เป็นการขัดขวางการรบแตกหักรวดเร็วของกองทัพแดงที่เป็นกำลังหลัก.
การรบแตกหักรวดเร็วนั้นมิใช่ว่าในใจอยากจะทำอย่างนั้นก็ทำได้สำเร็จ ยังต้องมีเงื่อนไขรูปธรรมมากมายบวกเข้าไปด้วย. เงื่อนไขที่เป็นหลักนั้นคือตระเตรียมอย่างพร้อมมูล ไม่พลาดโอกาส รวมศูนย์กำลังทหารที่เหนือกว่า ยุทธวิธีล้อมและโอบปีก ที่มั่นดี ตีข้าศึกที่กำลังเคลื่อนที่ หรือตีข้าศึกที่ตั้งอยู่แต่ที่มั่นยังไม่มั่นคง. ถ้าไม่แก้เงื่อนไขเหล่านี้ให้ตกไป แล้วจะให้แตกหักรวดเร็วในการยุทธ์หรือในการรบ ย่อมเป็นไปไม่ได้.
การทำลาย “การล้อมปราบ” ครั้งหนึ่งนับเป็นการยุทธ์ใหญ่ครั้งหนึ่ง จึงยังเหมาะที่จะใช้หลักการแตกหักรวดเร็ว มิใช่หลักการยืดเยื้อ. เพราะเงื่อนไขประการต่าง ๆ ของฐานทั่มั่น, เช่นกำลังคน กำลังทรัพย์ กำลังการทหาร เป็นต้น ล้วนแต่ไม่อำนวยให้ยืดเยื้อทั้งสิ้น.
แต่ว่าภายใต้หลักการแตกหักรวดเร็วโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การคัดค้านความหุนหันพลันแล่นมิควรนั้นเป็นสิ่งจำเป็น. การที่องค์การนำสูงสุดทางการทหารและการเมืองแห่งหนึ่ง ๆ ของฐานที่มั่นปฏิวัติคาดคะเนถึงเงื่อนไขเหล่านี้ของฐานที่มั่น คาดคะเนถึงสภาพของฝ่ายข้าศึก ไม่ถูกข่มขวัญลงไปเพราะความฮึกห้าวของข้าศึก ไม่ละห้อยละเหี่ยเพราะความยากลำบากที่ยังพอจะทนได้ ไม่ท้อแท้ใจเพราะความเพลี่ยงพล้ำบางอย่าง มีความอดทนและความทนทานอันจำเป็น เหล่านี้ย่อมเป็นการจำเป็นทีเดียว. การทำลาย “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๑ ที่กังไส, ตั้งแต่รบครั้งแรกจนยุติลงกินเวลาเพียงสัปดาห์เดียว การทำลาย “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๒ กินเวลาเพียงครึ่งเดือน การทำลาย “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๓ ทนอยู่ได้ ๓ เดือน; ครั้งที่ ๔ กินเวลา ๓ สัปดาห์ ครั้งที่ ๕ นั้นทนอยู่ได้ ๑ ปีเต็ม ๆ. แต่ในเวลาที่ถูกบังคับให้ต้องตีฝ่าวงล้อมออกมาภายหลังที่ทำลาย “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ไม่สำเร็จนั้น ยังได้แสดงออกถึงการปฏิบัติการอย่างฉุกละหุกที่ไม่บังควร. ตามสภาพการณ์แล้ว ยังพอจะทนไปได้อีกสักสองสามเดือน เพื่อจะได้พักผ่อนปรับปรุงกองทหาร ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ และถ้าฝ่ายนำฉลาดขึ้นสักนิดภายหลังที่ได้ตีฝ่าวงล้อมออกมาแล้ว สภาพก็จะแตกต่างออกไปมากมายทีเดียว.
ถึงกระนั้นก็ดี ก็ยังมิได้ทำลายหลักการที่พยายามจะย่นเวลาการยุทธ์ทั้งกระบวนให้สั้นลงดังที่เราได้กล่าวไว้นั้น. นอกจากแผนการยุทธ์และแผนการรบควรพยายามช่วงชิงเงื่อนไขที่จะรวมศูนย์กำลังทหารและทำการรบเคลื่อนที่ ฯลฯ เพื่อมุ่งจะทำลายกำลังที่มีชีวิตของข้าศึกที่แนวด้านใน (ในฐานที่มั่น) และจัดการกับ “การล้อมปราบ” ให้แตกหักโดยรวดเร็วให้ได้แล้ว, เมื่อ “การล้อมปราบ” ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีทางจะจัดการกับมันได้ที่แนวด้านใน ก็ควรจะใช้กำลังหลักของกองทัพแดงทะลวงแนวล้อมตีของข้าศึกให้แตก แล้วเปลี่ยนเข้าสู่แนวด้านนอกของเรา ซึ่งก็คือแนวด้านในของข้าศึก เพื่อแก้ปัญหานี้. ในปัจจุบันอันเป็นเวลาที่ลัทธิป้อมค่ายเฟื่องขึ้นนี้ วิธีการชนิดนี้ก็จะกลายเป็นวิธีปฏิบัติการรบที่ใช้เป็นประจำ. เมื่อเกิดกรณีฮกเกี้ยน3 ขึ้น ภายหลังที่การต้าน “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ดำเนินไปได้ ๒ เดือน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กำลังหลักของกองทัพแดงควรจะทะลวงเข้าไปในเขตเกียงซู-จิเกียง-อันฮุย-กังไส ซึ่งมีจิเกียงเป็นศูนย์กลาง ตีกวาดไปทั้งในด้านตรงและด้านขวางให้ทั่วบริเวณระหว่างหางโจว ซูโจว นานกิง หวูหู หนานชาง, ฝูโจว เปลี่ยนการรับทางยุทธศาสตร์ให้เป็นการรุกทางยุทธศาสตร์ คุกคามแหล่งหัวใจของข้าศึกและหาทางรบในย่านอันกว้างใหญ่ที่ไม่มีป้อมค่าย. ด้วยวิธีการชนิดนี้ ก็จะสามารถบีบบังคับให้ข้าศึกที่เข้าตีภาคใต้กังไสและภาคตะวันตกฮกเกี้ยนยกกลับไปช่วยแหล่งหัวใจของมัน แล้วบดขยี้การเข้าตีฐานที่มั่นกังไสของมัน และช่วยรัฐบาลประชาชนฮกเกี้ยน—วิธีการชนิดนี้ย่อมจะช่วยได้อย่างแน่นอน. เมื่อไม่ใช้กลยุทธ์นี้, “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ก็ไม่อาจจะทำลายได้ รัฐบาลประชาชนฮกเกี้ยนก็ได้แต่ล้มคว่ำไป. ครั้นรบไปได้นานถึงปีหนึ่ง, แม้จะไม่เป็นผลดีแก่การยกออกไปทางจิเกียงก็ตาม แต่ก็ยังสามารถเปลี่ยนไปใช้การรุกทางยุทธศาสตร์ในอีกทิศทางหนึ่งได้ ซึ่งก็คือ ให้กำลังหลักยกคืบหน้าไปทางหูหนาน มิใช่ผ่านหูหนานไปกุยจิ๋ว หากยกคืบหน้าไปทางภาคกลางหูหนาน ย้ายข้าศึกในกังไสไปที่หูหนานแล้วทำลายมันเสีย. เมื่อไม่ใช้กลยุทธ์นี้อีก ความหวังที่จะทำลาย “การล้อมปราบ” ครั้งที่ ๕ ก็เป็นอันขาดสะบั้นลงในที่สุด เหลือแต่การเดินทัพทางไกลทางเดียวเท่านั้นเอง.