ปัญหาประชาธิปไตย
“การเน้นหนักในประชาธิปไตยนั้นผิด ควรจะเน้นหนักแต่การต่อต้านญี่ปุ่นเท่านั้น; ถ้าไม่มีการกระทำโดยตรงที่ต่อต้านญี่ปุ่น ก็ไม่อาจจะมีการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยได้; คนส่วนใหญ่ต้องการแต่ต่อต้านญี่ปุ่น ไม่ต้องการประชาธิปไตย ถ้าก่อ ‘การเคลื่อนไหว ๙ ธันวาคม’ อีกสักครั้งก็จะถูกต้องทีเดียว”.
ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอตั้งปัญหาสักสองสามข้อ: ในขั้นที่ผ่านมา (ตั้งแต่การเคลื่อนไหว ๙ ธันวาคม ปี ๑๙๓๕ ถึงการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคก๊กมินตั๋งสมัยที่ ๓ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๑๙๓๗) เรากล่าวได้ไหมว่า คนส่วนใหญ่ต้องการแต่ต่อต้านญี่ปุ่น ไม่ต้องการสันติภาพ? เมื่อก่อนเน้นหนักในสันติภาพนั้นผิดหรือ? ถ้าไม่มีการกระทำโดยตรงที่ต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว ก็ไม่อาจจะมีการเคลื่อนไหวสันติภาพหรือ? (กรณีซีอานและการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคก๊กมินตั๋งสมัยที่ ๓ เกิดขึ้นในขณะที่สงครามต่อต้านที่สุยหย่วนยุติลงแล้ว และปัจจุบันก็ยังไม่มีสงครามทำนองสงครามต่อต้านที่สุยหย่วนหรือ “การเคลื่อนไหว ๙ ธันวาคม”) ใครเล่าไม่รู้ว่า ถ้าจะต่อต้านญี่ปุ่นก็ต้องมีสันติภาพ ถ้าไม่มีสันติภาพก็ไม่อาจต่อต้านญี่ปุ่นได้ สันติภาพเป็นเงื่อนไขในการต่อต้านญี่ปุ่น. การกระทำทั้งปวงที่ต่อต้านญี่ปุ่นทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อมในขั้นก่อน (เริ่มตั้งแต่ “การเคลื่อนไหว ๙ ธันวาคม” จนถึงการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคก๊กมินตั๋งสมัยที่ ๓) นั้น ล้วนแต่ล้อมรอบการช่วงชิงสันติภาพทั้งสิ้น สันติภาพเป็นห่วงโซ่ใจกลางในขั้นก่อน เป็นธาตุแท้ที่สุดของการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นในขั้นก่อน.
สำหรับภาระหน้าที่ในการต่อต้านญี่ปุ่นนั้น ประชาธิปไตยก็เป็นธาตุแท้ที่สุดในขั้นใหม่ เพื่อประชาธิปไตยก็คือเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น. การต่อต้านญี่ปุ่นกับประชาธิปไตยต่างก็เป็นเงื่อนไขแก่กันและกัน เช่นเดียวกับการต่อต้านญี่ปุ่นกับสันติภาพ, ประชาธิปไตยกับสันติภาพ ซึ่งต่างก็เป็นเงื่อนไขแก่กันและกันฉะนั้น. ประชาธิปไตยเป็นหลักประกันของการต่อต้านญี่ปุ่น, และการต่อต้านญี่ปุ่นก็อำนวยเงื่อนไขที่เป็นผลดีแก่การขยายตัวของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยได้.
ในขั้นใหม่ เราหวังจะให้มีและก็จะมีการต่อสู้คัดค้านญี่ปุ่นโดยตรงและโดยทางอ้อมมากมาย การต่อสู้เหล่านี้จะผลักดันสงครามต่อต้านญี่ปุ่น และก็จะเป็นการช่วยการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยอย่างมากมายด้วย. แต่สิ่งที่เป็นใจกลางและเป็นธาตุแท้ของภาระหน้าที่ในการปฏิวัติซึ่งประวัติศาสตร์มอบให้แก่เรานั้น คือการช่วงชิงประชาธิปไตย. “ประชาธิปไตย” “ประชาธิปไตย” นั้นผิดหรือ? ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ผิด.
“ญี่ปุ่นถอนแล้ว อังกฤษกับญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ดุลยภาพ นานกิงโลเลยิ่งขึ้น” นี่เป็นความวิตกอันไม่เหมาะสมซึ่งเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจกฎแห่งการพัฒนาของประวัติศาสตร์. ถ้าญี่ปุ่นถอยในขั้นมูลฐานเพราะการปฏิวัติภายในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ก็จะเป็นการช่วยการปฏิวัติของจีน เป็นสิ่งที่เราปรารถนา และก็เป็นการเริ่มพังทลายของแนวรุกรานแห่งโลก ยังจะวิตกไปทำไม? แต่จะอย่างไรก็ตาม ความจริงก็ยังไม่เป็นเช่นนั้น; การทูตซาโตเป็นการตระเตรียมสงครามครั้งใหญ่ สงครามครั้งใหญ่กำลังเผชิญหน้าเราอยู่. ผลแห่งนโยบายโลเลของอังกฤษมีแต่จะล้มเหลวเท่านั้น ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ได้กำหนดขึ้นโดยผลได้ผลเสียที่ต่างกันระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น. ถ้านานกิงโลเลเป็นเวลายาวนาน มันก็จะกลายเป็นศัตรูของประชาชนทั่วประเทศ แต่โดยผลประโยชน์ของนานกิงเองก็ไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น. ปรากฏการณ์ที่ถอยหลังในชั่วขณะหนึ่งนั้น ไม่อาจแทนกฎทั่วไปแห่งประวัติศาสตร์ได้. ด้วยเหตุนี้ เราจึงปฏิเสธขั้นใหม่ไม่ได้ และปฏิเสธการเสนอภาระหน้าที่ในการช่วงชิงประชาธิปไตยไม่ได้. ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่าในสภาพการณ์ใด ๆ คำว่าประชาธิปไตยก็เป็นคำขวัญที่เหมาะสมทั้งนัน สำหรับประชาชนจีนแล้ว ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ขาดแคลน ไม่ใช่เหลือเฟือ เรื่องนี้เป็นที่รู้กันดีแล้วทุกคน. ถึงสภาพการณ์ที่เป็นจริงก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การชี้ให้เห็นขั้นใหม่และการเสนอภาระหน้าที่ในการช่วงชิงประชาธิปไตยนั้น เป็นการก้าวเข้าไปใกล้สงครามต่อต้านอีกก้าวหนึ่ง. สถานการณ์ได้ก้าวไปข้างหน้าแล้ว อย่าได้ดึงมันถอยหลังเลย.
“ทำไมจึงเน้นหนักในสมัชชาประชาราษฎร์เล่า?” เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่อาจพาดพิงถึงชีวิตทุกด้าน เพราะว่ามันเป็นสะพานที่จะทอดจากเผด็จการปฏิกิริยาไปสู่ประชาธิปไตย, เพราะว่ามันมีลักษณะป้องกันประเทศ และเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย. การกู้ภาคตะวันออกเหอเป่ยและภาคเหนือชาฮาร์คืนมา การคัดค้านการลักลอบสินค้า1 การคัดค้าน “การช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ”2 ฯลฯ ดังที่สหายทั้งหลายเสนอขึ้นนั้น ล้วนแต่ถูกต้องอย่างยิ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ขัดแย้งกับภาระหน้าที่ในการช่วงชิงประชาธิปไตยและสมัชชาประชาราษฎร์เลยแม้แต่นิดเดียว ซ้ำยังประกอบซึ่งกันและกันให้สมบูรณ์อีกด้วย แต่สิ่งที่เป็นใจกลางนั้นคือสมัชชาประชาราษฎร์และเสรีภาพของประชาชน
การต่อสู้คัดค้านญี่ปุ่นและการต่อสู้เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งทำกันอยู่ทุกวันนั้น จะต้องประสานกับการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยสิ้นเชิง, และก็ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น. แต่สิ่งที่เป็นใจกลางและเป็นธาตุแท้ในขั้นปัจจุบันนี้คือประชาธิปไตยและเสรีภาพ.