ว่าด้วยการปฏิบัติ *
ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับ
การปฏิบัติ—ความสัมพันธ์ระหว่างรู้กับทำ
(กรกฎาคม ๑๙๓๗)
วัตถุนิยมก่อนมาร์กซนั้น พิจารณาปัญหาความรับรู้โดยแยกออกจากลักษณะสังคมของมนุษย์ แยกออกจากการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ฉะนั้น จึงไม่สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ที่ความรับรู้จะต้องอาศัยการปฏิบัติทางสังคม นัยหนึ่งความสัมพันธ์ที่ความรับรู้จะต้องอาศัยการผลิตและการต่อสู้ทางชนชั้น.
ก่อนอื่น ชาวลัทธิมาร์กซเห็นว่า การเคลื่อนไหวทาการผลิตของมนุษย์เป็นการเคลื่อนไหวทางการปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่สุด เป็นสิ่งกำหนดการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ทั้งปวง. ความรับรู้ของมนุษย์ ที่สำคัญนั้นอาศัยการเคลื่อนไหวในการผลิตทางวัตถุไปค่อย ๆ เข้าใจปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ลักษณะของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ; และเมื่อได้ผ่านการเคลื่อนไหวทางการผลิตแล้ว ก็ค่อย ๆ มีความรับรู้ในระดับที่ต่างกันในเรื่องความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันที่แน่นอนระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วย. ถ้าแยกออกจากการเคลื่อนไหวทางการผลิตแล้ว ความรู้ทั้งปวงเหล่านี้ก็ไม่อาจจะได้มา. ในสังคมที่ไม่มีชนชั้น คนทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ต่างก็ร่วมแรงกับสมาชิกคนอื่น ๆ ของสังคม ประกอบขึ้นเป็นความสัมพันธ์การผลิตที่แน่นอน และดำเนินการเคลื่อนไหวทางการผลิต เพื่อแก้ปัญหาชีวิตทางวัตถุของมนุษย์. ในสังคมที่มีชนชั้นชนิดต่าง ๆ สมาชิกสังคมในชนชั้นต่างๆ ก็ใช้แบบวิธีต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกันประกอบขึ้นเป็นความสัมพันธ์การผลิตที่แน่นอน และดำเนินการคลื่อนไหวทางการผลิต เพื่อแก้ปัญหาชีวิตทางวัตถุของมนุษย์. นี่คือที่มาขั้นพื้นฐานของการพัฒนาแห่งความรับรู้ของมนุษย์.
การปฏิบัติทางสังคมของมนุษย์มิได้จำกัดอยู่แค่การเคลื่อนไหวทางการผลิตแต่รูปแบบเดียว หากยังมีรูปแบบอื่น ๆ อีกมากอย่าง—การต่อสู้ทางชนชั้น ชีวิตทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางวิทยาศาสตร์และทางศิลปะ รวมความแล้ว ในปริมณฑลทั้งปวงของชีวิตที่เป็นจริงทางสังคมนั้น เป็นที่ที่มนุษย์ในสังคมเข้าร่วมทั้งสิ้น. ด้วยเหตุนี้ นอกจากผ่านชีวิตทางวัตถุแล้ว มนุษย์จึงยังรับรู้ความสัมพันธ์ชนิดต่าง ๆ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในระดับที่ต่างกันจากชีวิตทางการเมืองและชีวิตทางวัฒนธรรม (ซึ่งเกี่ยวพันกับชีวิตทางวัตถุอย่างแน่นแฟ้น) อีกด้วย. ในการปฏิบัติทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ทางชนชั้นในรูปแบบต่าง ๆ ได้ส่งผลสะเทือนต่อการพัฒนาแห่งความรับรู้ของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง. ในสังคมชนชั้น ทุก ๆ คนต่างดำรงชีวิตอยู่ในฐานะทางชนชั้นที่แน่นอนชนชั้นหนึ่ง ความคิดชนิดต่าง ๆ ไม่มีเลยที่ไม่ตีไว้ด้วยตราแห่งชนชั้น.
ชาวลัทธิมาร์กซเห็นว่า การเคลื่อนไหวทางการผลิตของสังคมมนุษยชาติพัฒนาจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูงทีละขั้น ๆ ดังนั้นความรับรู้ของคนเราไม่ว่าในด้านโลกธรรมชาติหรือในด้านสังคม จึงพัฒนาจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูงทีละขั้น ๆ ด้วย คือจากตื้นไปสู่ลึก จากด้านเดียวไปสู่หลายด้านยิ่งขึ้น. ในระยะประวัติศาสตร์ที่นานาก ความเข้าใจของคนเราที่มีต่อประวัติศาสตร์ของสังคมต้องถูกจำกัดอยู่แต่ในด้านเดียว ทั้งนี้ด้านหนึ่งเพราะอคติของชนชั้นขูดรีดบิดเบือนประวัติศาสตร์ของสังคมอยู่เสมอ, อีกด้านหนึ่งเพราะการผลิตมีขนาดเล็ก จึงได้จำกัดสายตาของคนเรา. ตราบจนเมื่อชนชั้นกรรมาชีพยุคใกล้ได้ปรากฏขึ้นควบคู่กันกับพลังการผลิตขนาดมหึมา ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว คนเราจึงสามารถเข้าใจการพัฒนาของประวัติศาสตร์ของสังคมได้อย่างรอบด้านและอย่างเป็นประวัติศาสตร์, และทำให้ความรับรู้ที่มีต่อสังคมกลายเป็นวิทยาศาสตร์ นั่นคือวิทยาศาสตร์แห่งลัทธิมาร์กซ.
ชาวลัทธิมาร์กซเห็นว่า มีแต่การปฏิบัติทางสังคมของคนเราเท่านั้นที่เป็นบรรทัดฐานแห่งสัจธรรมของความรับรู้ที่มีต่อโลกภายนอกของคนเรา. สภาพที่เป็นจริงนั้นเป็นดังนี้ คือต่อเมื่อคนเราได้บรรลุผลตามที่คาดคิดไว้ในความคิดของตนในกระบวนการแห่งการปฏิบัติทางสังคม (ในกระบวนการแห่งการผลิตทางวัตถุ ในกระบวนแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น และในกระบวนการแห่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์) แล้วเท่านั้น, ความรับรู้ของคนเราจึงจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง. ถ้าคนเราอยากจะได้รับความสำเร็จในการงาน นัยหนึ่ง ได้รับผลตามที่คาดคิดไว้ ก็ต้องทำให้ความคิดของตนสอดคล้องกับกฎของโลกภายนอกทางภววิสัยให้ได้ ถ้าไม่สอดคล้องแล้ว ก็จะประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติ. เมื่อได้ผ่านความล้มเหลวมาแล้ว คนเราก็รับเอาบทเรียนนจากความล้มเหลวนั้น ๆ มาแก้ไขความคิดของตนให้สอดคล้องกับกฎของโลกภายนอก, ดังนี้ คนเราก็จะสามารถเปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นความสำเร็จได้ คำว่า “ความล้มเหลวคือแม่แห่งความสำเร็จ” “พลาดไปครั้งฉลาดขึ้นหน่อย” นั้น ก็หมายถึงเหตุผลดังกล่าวนั่นเอง. ทฤษฎีความรับรู้แห่งวัตถุนิยมวิภาษได้ยกฐานะการปฏิบัติไว้ในอันดับแรก โดยเห็นว่าความรับรู้ของมนุษย์กแยกออกจากการปฏิบัติไม่ได้แม้แต่นิดเดียว และขจัดทฤษฎีที่ผิดทั้งปวงซึ่งปฏิเสธความสำคัญของการปฏิบัติและซึ่งทำให้ความรับรู้แยกออกจากการปฏิบัติ. เลนินเคยกล่าวไว้ว่า “การปฏิบัติสูงกว่าความรับรู้ (ทางทฤษฎี) เพราะว่าการปฏิบัติไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติในลักษณะทั่วไปเท่านั้น หากยังมีคุณสมบัติในลักษณะที่เป็นจริงโดยตรงอีกด้วย.”๑ วัตถุนิยมวิภาษแห่งปรัชญาลัทธิมาร์กซมีลักษณะพิเศษที่เด่นชัดที่สุดอยู่ ๒ ประการ: ประการหนึ่งคือลักษณะชนชันของมันซึ่งประกาศอย่างเปิดเผยว่า วัตถุนิยมวิภาษนั้นรับใช้ชนชั้นกรรมาชีพ; อีกประการหนึ่งคือลักษณะปฏิบัติของมันซึ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ที่ทฤษฎีต้องอาศัยการปฏิบัติ ทฤษฎีมีรากฐานอยู่ที่การปฏิบัติ และหวนกลับไปรับใช้การปฏิบัติ. การที่จะวินิจฉัยว่าความรับรู้หรือทฤษฎีหนึ่ง ๆ เป็นสัจธรรมหรือไม่นั้น มิใช่กำหนดโดยความรู้สึกทางอัตวิสัย หากกำหนดโดยผลของการปฏิบัติทางสังคมาทางภววิสัยว่าเป็นอย่างไร. การปฏิบัติทางสังคมอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นบรรทัดฐานของสัจธรรม. ทรรศนะการปฏิบัติเป็นทรรศนะอันดับแรกและเป็นทรรศนะพื้นฐานของทฤษฎีความรับรู้แห่งวัตถุนิยมวิภาษ.๒
แต่ว่าความรับรู้ของมนุษย์เกิดจากการปฏิบัติและกลับไปรับใช้การปฏิบัติอย่างไร? ข้อนี้เพียงแต่ดูกระบวนการแห่งการพัฒนาของความรับรู้สักหน่อย ก็จะเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง.
อันที่จริงในกระบวนการแห่งการปฏิบัตินั้น ทีแรกมนุษย์ก็เห็นแต่ด้านปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ในกระบวนการนั้น ๆ, เห็นแต่ด้านเดียวของสิ่งต่าง ๆ และเห็นแต่ความสัมพันธ์ภายนอกระหว่างสิ่งต่าง ๆ เท่านั้น. เช่นบุคคลภายนอกบางคนมาสังเกตการณ์ที่เยนอาน ในวันสองวันแรก พวกเขาได้เห็นลักษณะภูมิประเทศ ถนนหนทางและอาคารบ้านเรือน ได้พบปะวิสาสะกับผู้คนมากหน้าหลายตา ได้ไปร่วมงานเลี้ยง, งานราตรีสโมสรและการชุมนุมมวลชน ได้ยินได้ฟังการสนทนาปราศรัยต่าง ๆ และได้อ่านเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้คือปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ด้านเดียวของสิ่งต่าง ๆ และความสัมพันธ์ภายนอกของสิ่งเหล่านี้. นี่เรียกว่าขั้นรู้สึกของความรับรู้ ซึ่งก็คือชั้นของความรู้สึกและภาพประทับใจ. นัยหนึ่งสิ่งเฉพาะรายในเยนอานเหล่านี้ได้มีบทบาทต่ออวัยวะสัมผัสของท่านสุภาพชนทั้งหลายในคณะสังเกตการณ์ ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึก, เกิดภาพประทับใจมากมายตลอดจนความสัมพันธ์ภายนอกอย่างคร่าว ๆ ระหว่างภาพประทับใจเหล่านี้ขึ้นในสมองของพวกเขา นี่คือขั้นที่หนึ่งของความรับรู้. ในขั้นนี้ คนเรายังไม่สามารถสร้างจินตภาพอันลึกซึ้งและทำข้อสรุปที่สอดคล้องกับตรรก (คือสอดคล้องกับลอยิค) ขึ้นได้.
เมื่อการปฏิบัติทางสังคมสืบต่อไป สิ่งที่ทำให้คนเราเกิดความรู้สึกและภาพประทับใจขึ้นในระหว่างปฏิบัตินั้นปรากฏขั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง ครั้นแล้วในสมองของคนเราก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน (คือการก้าวกระโดด) ในกระบวนการแห่งการรับรู้ขึ้น เกิดเป็นจินตภาพขึ้น. จินตภาพนี้มิใช่ปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ มิใช่ด้านเดียวของสิ่งต่าง ๆ และก็มิใช่ความสัมพันธ์ภายนอกของสิ่งเหล่านั้นแล้ว หากได้กุมธาตุแท้ของสิ่ง ส่วนทั้งหมดของสิ่งและความสัมพันธ์ภายในของสิ่งไว้แล้ว. จินตภาพกับความรู้สึกไม่เพียงแต่แตกต่างกันในทางปริมาณเท่านั้น หากยังแตกต่างกันในทางคุณภาพด้วย. เมื่อดำเนินต่อไปอีก โดยใช้วิธีการวินิจฉัยและวิธีการอนุมาน ก็จะได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับตรรก. คำในเรื่อง “สามก๊ก” ที่ว่า “พอขมวดคิ้วเข้า อุบายก็ออกมา” และคำที่เราพูดกันอยู่ทั่ว ๆ ไปว่า “ขอคิดดูก่อน” นั้น ก็คือการที่มนุษย์ใช้จินตภาพมาเป็นเครื่องวินิจฉัยและอนุมานในสมองของเรานั่นเอง. นี่คือขั้นที่สองของความรับรู้. เมื่อบรรดาสุภาพชนในคณะสังเกตการณ์ที่มาจากภายนอกได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ, ประกอบกับได้ “คิดดู” แล้ว พวกเขาก็จะสามารถได้ข้อวินิจฉัยว่า “นโยบายแนวร่วมประชาชาติต่อต้านญี่ปุ่นของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นเป็นนโยบายที่ถึงที่สุด จริงใจและแท้จริง”. เมื่อได้ข้อวินิจฉัยนี้แล้ว ถ้าพวกเขาก็มีความจริงใจในการสามัคคีกู้ชาติด้วยแล้ว พวกเขาก็จะได้ข้อสรุปอีกขั้นหนึ่งว่า “แนวร่วมประชาชาติต่อต้านญี่ปุ่นนั้นสามารถบรรลุผลสำเร็จได้”. ขั้นจินตภาพ วินิจฉัยและอนุมานนี้เป็นขั้นที่สำคัญยิ่งขึ้นในกระบวนการแห่งการรับรู้ทั้งกระบวนของคนเราที่มีต่อสิ่งหนึ่ง ๆ, ซึ่งก็คือขั้นความรับรู้ทางเหตุผลนั่นเอง. ภาระหน้าที่อันแท้จริงของความรับรู้อยู่ที่ผ่านความรู้สึกไปสู่การคิด ไปสู่การเข้าใจความขัดแย้งภายในของสรรพสิ่งทางภววิสัยทีละก้าว ๆ, เข้าใจกฎของมัน และเข้าใจความสัมพันธ์ภายในระหว่างกระบวนการนี้กับกระบวนการนั้น กล่าวคือไปสู่ความรับรู้ทางตรรก. ขอกล่าวย้ำอีกว่า การที่ความรับรู้ทางตรรกต่างกับความรับรู้ทางรู้สึกนั้นก็เพราะว่า ความรับรู้ทางรู้สึกเป็นสิ่งที่เป็นด้านเดียว เป็นปรากฏการณ์และเป็นความสัมพันธ์ภายนอกของสรรพสิ่ง ส่วนความรับรู้ทางตรรกนั้นได้ก้าวไปอีกก้าวใหญ่ ไปสู่สิ่งที่เป็นส่วนทั้งหมด เป็นธาตุแท้และเป็นความสัมพันธ์ภายในของสรรพสิ่ง ไปสู่การเผยความขัดแย้งภายในของโลกรอบ ๆ ตัวเรา ดังนั้น เราจึงสามารถที่จะยึดกุมการพัฒนาของโลกรอบ ๆ ตัวเราได้ในองค์รวมของมันในความสัมพันธ์ภายในของทุก ๆ ด้านของมัน.
ทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการแห่งการพัฒนาของความรับรู้ที่เป็นวัตถุนิยมวิภาษซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานการปฏิบัติและจากตื้นไปสู่ลึกนี้ ก่อนลัทธิมาร์กซ หามีใครแก้กันเช่นนี้มาก่อนไม่. วัตถุนิยมแห่งลัทธิมาร์กซได้แก้ปัญหานี้ตกไปอย่างถูกต้องเป็นครั้งแรก ได้ชี้ให้เห็นอย่างเป็นวัตถุนิยมและอย่างเป็นวิภาษวิธีถึงการเคลื่อนไหวที่ลึกเข้าไปทุกทีของความรับรู้ ได้ชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวที่คืบหน้าจากความรับรู้ทางรู้สึกไปสู่ความรับรู้ทางตรรกของมนุษย์ในสังคมในระหว่างการปฏิบัติอันสลับซับซ้อนและซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เป็นประจำในทางการผลิตและในทางการต่อสู้ทางชนชั้นของพวกเขา. เลนินได้กล่าวไว้ว่า “การถอดวัตถุให้เป็นนามธรรม การถอดกฎธรรมชาติให้เป็นนามธรรม การถอดมูลค่าของสิ่งอื่น ๆ ให้เป็นนามธรรม, พูดสั้น ๆ ก็คือ การถอดให้เป็นนามธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งปวง (ที่ถูกต้อง เคร่งครัดและมิใช่พูดเหลวไหล) ล้วนแต่สะท้อนธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น.”๓ ลัทธิมาร์กซ-เลนินเห็นว่า ลักษณะเฉพาะของขั้นทั้งสองของกระบวนการแห่งการรับรู้ก็คือ ในขั้นต่ำความรับรู้แสดงออกเป็นความรู้สึก ในขั้นสูงความรับรู้แสดงออกเป็นตรรก แต่ไม่ว่าขั้นไหนก็เป็นขั้นของกระบวนการแห่งการรับรู้ที่เป็นเอกภาพกันทั้งนั้น. ความรู้สึกและความเป็นเหตุผลนี้มีลักษณะต่างกัน, แต่ก็มิได้แยกออกจากกัน หากเป็นเอกภาพกันบนรากฐานของการปฏิบัติ. การปฏิบัติของเราพิสูจน์ว่า สิ่งที่เรารู้สึกแล้วนั้น, เราไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ในทันที มีแต่สิ่งที่เข้าใจแล้วเท่านั้นจึงจะมีความรู้สึกที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น. ความรู้สึกแก้แต่เพียงปัญหาปรากฏการณ์ ทฤษฎีจึงจะแก้ปัญหาธาตุแท้. การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่อาจแยกออกจากการปฏิบัติได้แม้แต่น้อย. ผู้ใดก็ตามต้องการจะรับรู้สิ่งใด นอกจากสัมผัสกับสิ่งนั้น ซึ่งก็คือไปใช้ชีวิต (ปฏิบัติ) อยู่ในสภาพแวดล้อมของสิ่งนั้น ๆ แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะแก้ให้ตกไปได้. เมื่ออยู่ในสังคมศักดินา ก็ไม่สามารถที่จะรับรู้กฎของสังคมทุนนิยมได้ล่วงหน้า เพราะว่าทุนนิยมยังมิได้ปรากฏขึ้น ยังไม่มีการปฏิบัติชนิดนี้ ลัทธิมาร์กซเป็นได้ก็แต่ผลิตผลของสังคมทุนนิยมเท่านั้น. มาร์กซไม่สามารถที่จะรับรู้กฎพิเศษบางข้อของยุคจักรพรรดินิยมอย่างเป็นรูปธรรมล่วงหน้าได้ในยุคทุนนิยมเสรี เพราะว่าจักรพรรดินิยมอันเป็นขั้นสุดท้ายของทุนนิยมนี้ยังมิได้มาถึง ยังไม่มีการปฏิบัติเช่นนี้ มีแต่เลนินและสตาลินเท่านั้นที่สามารถแบกรับภาระหน้าที่นี้ได้. การที่มาร์กซ เองเกลส์ เลนินและสตาลินสามารถสร้างทฤษฎีของท่านขึ้นได้นั้น นอกจากความมีอัจฉริยะของท่านเป็นเงื่อนไขแล้ว ที่สำคัญก็เพราะท่านได้เข้าร่วมการปฏิบัติแห่งการต่อสู้ทางชนชั้นและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในเวลานั้นด้วยตนเอง ถ้าไม่มีเงื่อนไขประการหลังนี้แล้ว อัจฉริยภาพใด ๆ ก็ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้. คำที่ว่า “ ซิ่วฉ่าย1 ไม่ออกจากบ้านก็รู้เรื่องในโลกนี้ได้หมด” นั้น ในยุคโบราณที่เทคนิคยังไม่เจริญ ก็เป็นเพียงคำพูดลม ๆ แล้ง ๆ เท่านั้น ในยุคปัจจุบันที่เทคนิคเจริญแล้ว แม้ว่าคำนี้จะเป็นจริงขึ้นได้ก็ตาม แต่ผู้ที่รู้ด้วยตนเองจริง ๆ นั้นคือผู้ที่ปฏิบัติอยู่ในโลกนี้นี่เอง คนเหล่านั้นได้ “รู้” ในระหว่างการปฏิบัติของเขา, แล้วด้วยการถ่ายทอดโดยทางลายลักษณ์อักษรและเทคนิคไปยังมือของ “ซิ่วฉาย” ซิ่วฉายจึงสามารถ “รู้เรื่องในโลก” นี้ได้โดยทางอ้อม. ถ้าต้องการจะรับรู้สิ่งสิ่งหนึ่งหรือบางสิ่งโดยตรง ก็มีแต่เข้าร่วมการต่อสู้ทางปฏิบัติที่จะเปลี่ยนแปลงภาวะที่เป็นอยู่และเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้น ๆ หรือบางสิ่งนั้น ๆ ด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะสามารถสัมผัสกับปรากฏการณ์ของสิ่งนั้น ๆ หรือบางสิ่งนั้น ๆ ได้ และก็มีแต่เข้าร่วมการต่อสู้ทางการปฏิบัติที่จะเปลี่ยนแปลงภาวะที่เป็นอยู่ด้วยตนเอง จึงจะสามารถเปิดโปงธาตุแท้ของสิ่งนั้น ๆ หรือบางสิ่งนั้น ๆ และไปเข้าใจมันได้. นี่คือวิถีแห่งการรับรู้ซึ่งแท้ที่จริงทุก ๆ คนเดินอยู่แล้ว แต่ว่ามีคนบางคนจงใจพูดคัดค้านโดยบิดเบือนความจริงเสียเท่านั้นเอง. ในโลกนี้ผู้ที่น่าหัวเราะที่สุดคือพวก “ผู้รอบรู้” ซึ่งมีความรู้เพียงงู ๆ ปลา ๆ จากที่ได้ยินได้ฟังมาโน่นนิดนี่หน่อย ก็ยกตนเป็น “หนึ่งในโลก” ทั้งนี้รังแต่จะส่อให้เห็นความไม่รู้จักประมาณตนของพวกเขาเท่านั้นเอง. ปัญหาความรู้เป็นปัญหาวิทยาศาสตร์ปัญหาหนึ่ง จะใช้ท่าทีไม่ซื่อหรือทะนงตนแม้แต่นิดหาได้ไม่, สิ่งที่ต้องการอย่างเด็ดขาดนั้นกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม คือ ท่าทีที่ซื่อและถ่อมตัว. ถ้าท่านอยากจะมีความรู้ ท่านก็ต้องเข้าร่วมการปฏิบัติที่จะเปลี่ยนแปลงภาวะที่เป็นอยู่. ถ้าท่านอยากจะรู้รสชาติของลูกสาลี่ ท่านก็ต้องเปลี่ยนแปลงลูกสาลี่โดยกินดูเอง. ถ้าท่านอยากจะรู้ส่วนประกอบและคุณสมบัติของปรมาณู, ท่านก็ต้องดำเนินการทดลองทางฟิสิคส์และเคมีเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพของปรมาณู. ถ้าท่านอยากจะรู้ทฤษฎีและวิธีการของการปฏิวัติ ท่านก็ต้องเข้าร่วมการปฏิวัติ. ความรู้แท้ทั้งมวลล้วนแต่มีต้นกำเนิดมาจากความจัดเจนโดยตรงทั้งสิ้น. แต่คนคนหนึ่ง ไม่สามารถจะผ่านความจัดเจนโดยตรงได้ทุกเรื่อง, ในทางเป็นจริงนั้น ความรู้ส่วนมากเป็นสิ่งที่ได้จากความจัดเจนทางอ้อม ซึ่งก็คือความรู้ทั้งปวงในยุคโบราณและต่างแดน. ความรู้เหล่านี้สำหรับคนโบราณและสำหรับคนต่างแดนแล้วเป็นสิ่งที่ได้ผ่านความจัดเจนโดยตรง และถ้าในเวลาที่คนโบราณและคนต่างแดนได้ผ่านความจัดเจนโดยตรงนั้น สอดคล้องกับเงื่อนไขที่เลนินได้กล่าวไว้ คือ “การถอดให้เป็นนามธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์” และได้สะท้อนสิ่งภววิสัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ความรู้เหล่านี้ก็เชื่อถือได้ มิฉะนั้นก็เชื่อถือไม่ได้. ฉะนั้นความรู้ของคนคนหนึ่งจึงไม่พ้นไปจากสิ่งที่ได้ผ่านความจัดเจนโดยตรงและสิ่งที่ได้ผ่านความจัดเจนโดยทางอ้อมสองส่วนนี้. และสิ่งที่เป็นความจัดเจนโดยทางอ้อมสำหรับเรานั้น สำหรับผู้อื่นก็ยังคงเป็นความจัดเจนโดยตรงอยู่นั่นเอง. ดังนั้น กล่าวสำหรับความรู้โดยส่วนทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าความรู้ชนิดใดก็ไม่อาจแยกออกจากความจัดเจนโดยตรงได้ทั้งสิ้น. ที่มาของความรู้ใด ๆ ก็ดีอยู่ที่ความรู้สึกของอวัยวะสัมผัสในร่างกายของมนุษย์ต่อโลกภววิสัยภายนอก ผู้ใดปฏิเสธความรู้สึกนี้ ปฏิเสธการผ่านความจัดเจนโดยตรง และปฏิเสธการเข้าร่วมการปฏิบัติที่จะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงภาวะที่เป็นอยู่ด้วยตนเอง ผู้นั้นก็ไม่ใช่นักวัตถุนิยม. การที่ “ผู้รอบรู้” น่าหัวเราะนั้น มูลเหตุก็อยู่ที่ตรงนี้. คนจีนมีคำโบราณอยู่คำหนึ่งว่า ไม่เข้าถ้ำเสือไฉนจะได้ลูกเสือ”. คำนี้เป็นสัจธรรมสำหรับการปฏิบัติของคนเรา และก็เป็นสัจธรรมสำหรับทฤษฎีความรับรู้ด้วย. ความรับรู้ที่แยกออกจากการปฏิบัตินั้นเป็นไปไม่ได้.
เพื่อที่จะทำความเข้าใจในการเคลื่อนไหวของความรับรู้แห่งวัตถุนิยมวิภาษซึ่งเกิดขึ้นบนรากฐานของการปฏิบัติในการเปลี่ยนแปลงภาวะที่เป็นอยู่ ซึ่งก็คือการเคลื่อนไหวที่ความรับรู้ค่อย ๆ ลึกเข้าไป จะขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมบางเรื่องมาประกอบอีกดังต่อไปนี้.
ความรับรู้ของชนชั้นกรรมาชีพที่มีต่อสังคมทุนนิยมนั้น ในระยะแรกแห่งการปฏิบัติของตน คือระยะที่ทำลายเครื่องจักรและทำการต่อสู้อย่างเป็นไปเอง ชนชั้นกรรมาชีพยังเพียงแต่อยู่ในขั้นรับรู้ทางรู้สึก เพียงแต่รับรู้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของทุนนิยมแต่ด้านเดียวและรับรู้ความสัมพันธ์ภายนอกของปรากฏการณ์เหล่านี้เท่านั้น. ในเวลานั้น ชนชั้นกรรมาชีพยังเป็นชนชั้นที่เรียกกันว่า “ชนชั้นโดยตน” อยู่. แต่ว่าเมื่อถึงระยะที่สองแห่งการปฏิบัติของชนชั้นกรรมาชีพ คือระยะการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและการต่อสู้ทางการเมืองโดยจิตสำนึกและมีการจัดตั้ง เนื่องจากมีการปฏิบัติ เนื่องจากได้ผ่านความจัดเจนในการต่อสู้เป็นเวลายาวนาน และความจัดเจนต่าง ๆ นานาเหล่านี้ได้สรุปขึ้นโดยมาร์กซกับเองเกลส์ด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์, จึงเกิดเป็นทฤษฎีลัทธิมาร์กซซึ่งใช้ในการให้การศึกษาแก่ชนชั้นกรรมาชีพ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพได้เข้าใจธาตุแท้ของสังคมทุนนิยม ได้เข้าใจความสัมพันธ์ในทางขูดรีดของชนชั้นในสังคม และได้เข้าใจภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพ มาถึงตอนนี้ ชนชั้นกรรมาชีพก็ได้กลายเป็น “ชนชนเพื่อตน”.
ความรับรู้ของประชาชนจีนที่มีต่อจักรพรรดินิยมก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน. ขั้นแรกเป็นขั้นรับรู้ทางรู้สึกและผิวเผิน ซึ่งแสดงออกในการต่อสู้ที่เป็นลัทธิแอนตี้คนต่างชาติอย่างไม่มีการจำแนก เช่นในการเคลื่อนไหวไท่ผิงเทียนกว๋อและการเคลื่อนไหวอี้เหอถวน ฯลฯ. ขั้นที่สองจึงเข้าสู่ขั้นรับรู้ทางเหตุผล ซึ่งมองเห็นความขัดแย้งต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกของจักรพรรดินิยม และมองเห็นเนื้อแท้ที่จักรพรรดินิยมได้ร่วมกันกับชนชั้นนายหน้าและชนชั้นศักดินาจีนกดขี่บีบคั้นมวลประชาชนจีน. ความรับรู้ชนิดนี้เพิ่งจะเริ่มขึ้นในระยะก่อนหน้าและภายหลังการเคลื่อนไหว ๔ พฤษภาคม2 ในปี ๑๙๑๙.
ทีนี้เรามาพิจารณาปัญหาเรื่องสงคราม. ถ้าบรรดาผู้ทำหน้าที่นำในการสงครามเป็นคนที่ไม่มีความจัดเจนในสงคราม ในขั้นเริ่มต้นก็จะไม่เข้าใจกฎอันลึกซึ้งในการชี้นำสงครามที่เป็นรูปธรรม (เช่นสงครามปฏิวัติที่ดิน ๑๐ ปีที่แล้วมาของเรา). ในขั้นเริ่มต้น เขาเพียงแต่ผ่านความจัดเจนในการรบเป็นอันมากด้วยตนเองเท่านั้น ทั้งรบแพ้ก็มาก. แต่เนื่องจากความจัดเจนเหล่านี้ (ความจัดเจนในการรบชนะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความจัดเจนในการรบแพ้) จึงทำให้เขาสามารถเข้าใจสิ่งภายในที่เชื่อมร้อยสงครามทั้งสงครามอยู่ ซึ่งก็คือลักษณะกฎเกณฑ์ของสงครามที่เป็นรูปธรรมนั้น ๆ และทำให้เขาเข้าใจยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ดังนั้นจึงสามารถที่จะไปชี้นำสงครามได้ด้วยความมั่นใจ. เวลานั้น ถ้าเปลี่ยนให้คนที่ไม่มีความจัดเจนไปชี้นำ ก็จะต้องไปรบแพ้เสียบ้างก่อน (ให้มีความจัดเจนเสียก่อน) จึงจะสามารถเข้าใจกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องของสงครามได้.
มักจะได้ยินสหายบางคนพูดว่าไม่มีความมั่นใจ ในขณะที่เขาไม่สามารถรับมอบหน้าที่การงานอย่างกล้าหาญ. ทำไมจึงไม่มีความมั่นใจ? เพราะว่าเขาไม่มีความเข้าใจในเนื้อหาและสภาพแวดล้อมของงานนั้นอย่างมีลักษณะกฎเกณฑ์ ซึ่งถ้าไม่ใช่เพราะเขาไม่เคยแตะต้องงานประเภทนี้มาก่อน ก็เป็นเพราะแตะต้องมาไม่มาก ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะพูดถึงลักษณะกฎเกณฑ์ของงานประเภทนี้ได้. จนกว่าเมื่อได้วิเคราะห์สภาพการณ์และสภาพแวดล้อมของงานอย่างละเอียดแล้ว เขาจึงจะรู้สึกว่าค่อนข้างมีความมั่นใจขึ้น และยินดีที่จะทำงานนี้. ถ้าเขาผู้นี้ได้ดำเนินงานนี้ไปสักระยะหนึ่ง มีความจัดเจนในงานนี้แล้ว, ทั้งเขาก็เป็นคนที่ยอมน้อมใจพินิจพิเคราะห์สภาพการณ์ มิใช่คนที่มองปัญหาอย่างอัตวิสัย อย่างด้านเดียวและอย่างผิวเผินด้วยแล้ว เขาก็สามารถที่จะทำข้อสรุปได้เองว่าควรจะดำเนินงานอย่างไร ความกล้าที่จะทำงานของเขาก็จะทวีสูงขึ้นอย่างมากมายได้. มีแต่คนจำพวกที่มองปัญหาอย่างอัตวิสัย อย่างด้านเดียวและอย่างผิวเผินเท่านั้นที่เมื่อไปถึงที่ใดที่หนึ่งก็ออกคำสั่งบัญชาการไปด้วยสำคัญว่าตนถูกเสมอ โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ไม่พิจารณาส่วนทั้งหมดของเรื่องราว (คือประวัติและสภาพปัจจุบันทั้งหมดของเรื่องราว) และก็ไม่ไปกระทบธาตุแท้ของเรื่องราว (คือลักษณะของเรื่องราวและความสัมพันธ์ภายในระหว่างเรื่องนี้กับเรื่องอื่น ๆ) คนอย่างนี้ไม่มีเลยที่จะไม่หกคะเมน.
จากนี้จะเห็นได้ว่า กระบวนการแห่งการรับรู้นั้น ก้าวแรกเป็นการเริ่มไปสัมผัสเรื่องราวของโลกภายนอก เป็นขั้นรู้สึก. ก้าวที่สองเป็นการประมวลข้อมูลของความรู้สึกโดยเอามาจัดระเบียบและดัดแปลงเสียใหม่ เป็นขั้นจินตภาพ วินิจฉัยและอนุมาน. มีแต่เมื่อข้อมูลของความรู้สึกสมบูรณ์เต็มที่แล้ว (มิใช่กระท่อนกระแท่นไม่สมบูรณ์) และสอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว (มิใช่ความสำคัญผิด) เท่านั้น จึงจะสามารถสร้างจินตภาพและตรรกอันถูกต้องจากข้อมูลเช่นนี้ได้.
ในที่นี้มีข้อสำคัญอยู่สองข้อที่จะต้องชี้เน้นให้ชัด. ข้อที่หนึ่ง ข้อนี้ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว แต่ในที่นี้จะขอกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คือปัญหาที่ว่าความรับรู้ทางเหตุผลต้องอาศัยความรับรู้ทางรู้สึก. ถ้าผู้ใดเข้าใจไปว่าความรับรู้ทางเหตุผลไม่ต้องได้มาจากความรับรู้ทางรู้สึกก็ได้แล้ว ผู้นั้นก็จะเป็นนักจิตนิยมไป. ในประวัติปรัชญามีสำนักหนึ่งเรียกว่าสำนัก “เหตุผลนิยม” ซึ่งยอมรับแต่ความเป็นจริงของเหตุผล ไม่ยอมรับความเป็นจริงของความจัดเจน โดยเข้าใจว่ามีแต่เหตุผลเท่านั้นที่เชื่อถือได้ ส่วนความจัดเจนทางความรู้สึกนั้นเชื่อถือไม่ได้ ความผิดพลาดของสำนักนี้อยู่ที่กลับตาลปัตรข้อเท็จจริงไปเสีย. การที่เหตุผลเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้นั้นก็เพราะเหตุผลมาจากความรู้สึกนั่นเอง มิฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เป็นเหตุผลก็จะเป็นเสมือนน้ำที่ไม่มีต้นธารหรือต้นไม้ที่ไม่มีราก เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นเองจากอัตวิสัยและเชื่อถือไม่ได้. เมื่อกล่าวตามลำดับของกระบวนการแห่งการรับรู้แล้ว ความจัดเจนทางความรู้สึกก็อยู่ในอันดับที่หนึ่ง การที่เราเน้นความหมายของการปฏิบัติทางสังคมในกระบวนการแห่งการรับรู้นั้น ก็อยู่ที่ว่า มีแต่การปฏิบัติทางสังคมเท่านั้นที่สามารถทำให้ความรับรู้ของมนุษย์เริ่มเกิดขึ้นและเริ่มได้ความจัดเจนทางความรู้สึกจากโลกภายนอกอันเป็นภววิสัย. สำหรับคนที่ปิดหูปิดตาและตัดขาดจากโลกภายนอกอันเป็นภววิสัยโดยสิ้นเชิงแล้ว ย่อมจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความรับรู้เลย. ความรับรู้เริ่มต้นจากความจัดเจน—นี่แหละคือวัตถุนิยมแห่งทฤษฎีความรับรู้.
ข้อที่สองคือ ความรับรู้นั้นยังจะต้องให้ลึกเข้าไปอีก ขั้นรู้สึกของความรับรู้ยังจะต้องพัฒนาไปสู่ขั้นเหตุผล—นี่แหละคือวิภาษวิธีแห่งทฤษฎีความรับรู้.๔ ถ้าหากคิดว่าความรับรู้จะหยุดชะงักอยู่ในขั้นรู้สึกซึ่งเป็นขั้นต่ำได้ และคิดว่ามีแต่ความรับรู้ทางรู้สึกเท่านั้นที่เชื่อถือได้ ส่วนความรับรู้ทางเหตุผลเชื่อถือไม่ได้แล้ว ก็จะเป็นการผิดพลาดซ้ำรอย “ทฤษฎีความจัดเจน” ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์. ความผิดพลาดของทฤษฎีชนิดนี้อยู่ที่ไม่รู้ว่า ถึงแม้ข้อมูลความรู้สึกนั้นจะเป็นการสะท้อนความเป็นจริงบางอย่างของโลกภายนอกอันเป็นภววิสัยก็จริงอยู่ (ในที่นี้ข้าพเจ้าจะไม่พูดถึงทฤษฎีความจัดเจนที่เป็นจิตนิยมชนิดที่ถือว่าความจัดเจนเป็นเพียงสิ่งที่เรียกว่าความสำนึกแห่งจิต) แต่มันก็เป็นเพียงสิ่งที่เป็นด้านเดียวและผิวเผิน, การสะท้อนชนิดนี้ไม่สมบูรณ์ และก็มิได้สะท้อนธาตุแท้ของสรรพสิ่ง. ถ้าจะสะท้อนสิ่งทั้งสิ่ง สะท้อนธาตุแท้ของสิ่ง และสะท้อนกฎภายในของสิ่งอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็จะต้องผ่านบทบาทของการขบคิด เอาข้อมูลความรู้สึกอันอุดมสมบูรณ์มาทำการประดิษฐ์ดัดแปลงด้วยการทิ้งกากเอาแก่น ทิ้งปลอมเอาแท้ จากนี่สู่นั่น จากนอกสู่ใน แล้วสร้างระบบจินตภาพและระบบทฤษฎีขึ้น และก็จะต้องก้าวกระโดดจากความรับรู้ทางรู้สึกไปสู่ความรับรู้ทางเหตุผล. ความรับรู้ที่ได้ดัดแปลงมาแล้วนี้ ไม่ใช่ความรับรู้ที่ว่างเปล่ายิ่งขึ้น เชื่อถือไม่ได้ยิ่งขึ้น, ตรงกันข้าม ขอแต่ให้เป็นสิ่งที่ได้ดัดแปลงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์บนรากฐานของการปฏิบัติในกระบวนการแห่งการรับรู้มาแล้วเท่านั้น ก็จะเป็นสิ่งที่สะท้อนสิ่งภววิสัยได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น, ถูกต้องยิ่งขึ้นและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเหมือนดังที่เลนินได้กล่าวไว้. นักลัทธิธุรการสามานย์มิใช่เช่นนี้ พวกเขาเคารพความจัดเจนแต่ดูเบาทฤษฎี ดังนั้นจึงไม่สามารถมองเห็นกระบวนการภววิสัยทั้งกระบวนได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ขาดเข็มมุ่งที่แน่ชัดและไม่มีอนาคตอันยาวไกล อิ่มอกอิ่มใจอยู่กับผลสำเร็จชั่วครั้งชั่วคราวและกับความคิดเห็นอันแคบ ๆ. ถ้าคนชนิดนี้ไปชี้นำการปฏิวัติ ก็จะนำการปฏิวัติไปชนกำแพง.
ความรับรู้ทางเหตุผลอันอาศัยความรับรู้ทางรู้สึก และความรับรู้ทางรู้สึกก็ยังจะต้องพัฒนาไปสู่ความรับรู้ทางเหตุผล นี่แหละคือทฤษฎีความรับรู้แห่งวัตถุนิยมวิภาษ. ในทางปรัชญา, ทั้ง “ทฤษฎีเหตุผล” แล “ทฤษฎีความจัดเจน” ล้วนแต่ไม่เข้าใจลักษณะประวัติศาสตร์หรือลักษณะวิภาษของความรับรู้ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าต่างก็มีสัจจะด้านเดียวอยู่ (ในที่นี้พูดถึงทฤษฎีเหตุผลและทฤษฎีความจัดเจนแห่งวัตถุนิยม มิได้หมายถึงทฤษฎีเหตุผลและทฤษฎีความจัดเจนแห่งจิตนิยม) แต่ในส่วนทั้งหมดของทฤษฎีความรับรู้แล้วต่างก็ผิดทั้งนั้น. การเคลื่อนไหวของความรับรู้ทางวัตถุนิยมวิภาษนั้นจากความรู้สึกไปสู่เหตุผล ในกระบวนการแห่งการรับรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ (เช่นรับรู้สิ่งสิ่งหนึ่งหรือในการงานชิ้นหนึ่ง) เป็นเช่นนี้ ในกระบวนการแห่งการรับรู้ใหญ่ ๆ (เช่นรับรู้สังคมทั้งสังคมหรือการปฏิวัติทั้งกระบวน) ก็เป็นเช่นนี้.
แต่ว่าการเคลื่อนไหวของความรับรู้ยังมิได้สิ้นสุดที่ตรงนี้. ถ้าการเคลื่อนไหวของความรับรู้ทางวัตถุนิยมวิภาษยุติเพียงแค่ความรับรู้ทางเหตุผลแล้ว ก็จะเป็นการกล่วถึงปัญหาแต่เพียงครึ่งเดียว. ยิ่งกว่านั้น กล่าวสำหรับปรัชญาลัทธิมาร์กซแล้ว, ยังเป็นการกล่าวถึงแต่เพียงครึ่งที่มิใช่สำคัญที่สุดด้วย. ปรัชญาลัทธิมาร์กซถือว่าปัญหาที่สำคัญยิ่งนั้นมิใช่อยู่ที่ว่าเข้าใจลักษณะกฎเกณฑ์ของโลกภววิสัย แล้วสามารถอธิบายโลกได้ หากอยู่ที่ว่านำเอาความรับรู้ที่มีต่อกฎภววิสัยนี้ไปดัดแปลงโลกอย่างมีพลังวิริยภาพ. ในทรรศนะของลัทธิมาร์กซเห็นว่า ทฤษฎีเป็นสิ่งสำคัญ ความสำคัญของทฤษฎีแสดงออกอย่างเต็มที่ในคำที่เลนินเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าไม่มีทฤษฎีปฏิวัติ ก็ไม่อาจมีการเคลื่อนไหวปฏิวัติได้.”๕ แต่ลัทธิมาร์กซเน้นความสำคัญของทฤษฎีก็เพราะและก็เพียงเพราะข้อที่ว่า ทฤษฎีสามารถชี้นำการกระทำเท่านั้น. ถ้ามีทฤษฎีที่ถูกต้อง แล้วเพียงแต่เอามาคุยกันลอย ๆ พักหนึ่ง แล้วก็เก็บเข้าหิ้งเสียไม่นำไปปฏิบัติ เช่นนี้แล้ว ทฤษฎีนี้ถึงจะดีแสนดีก็ไม่มีความหมายอะไร. ความรับรู้เริ่มต้นจากการปฏิบัติ ผ่านการปฏิบัติได้มาซึ่งความรับรู้ทางทฤษฎี แล้วความรับรู้ทางทฤษฎียังจะต้องกลับไปสู่การปฏิบัติอีก. บทบาทที่มีพลังวิริยภาพของความรับรู้ไม่เพียงแต่แสดงออกโดยการก้าวกระโดดอย่างมีพลังวิริยภาพจากความรับรู้ทางรู้สึกไปสู่ความรับรู้ทางเหตุผลเท่านั้น ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ยังต้องแสดงออกโดยการก้าวกระโดดจากความรับรู้ทางเหตุผลไปสู่การปฏิบัติทางการปฏิวัติอีกด้วย. ความรับรู้ที่จับกฎของโลกไว้ได้แล้วนั้น ยังจะต้องกลับไปสู่การปฏิบัติในการดัดแปลงโลกอีก นำไปใช้ในการปฏิบัติทางการผลิต ในการปฏิบัติทางการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้ทางประชาชาติที่ปฏิวัติ ตลอดจนในการปฏิบัติทางการทดลองทางวิทยาศาสตร์อีก. นี่แหละคือกระบวนการแห่งการทดสอบทฤษฎีและทำให้ทฤษฎีพัฒนาไป อันเป็นการสืบเนื่องของกระบวนการแห่งการรับรู้ทั้งกระบวนการ. ในการเคลื่อนไหวของความรับรู้จากทางรู้สึกไปสู่เหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ปัญหาที่ว่าทฤษฎีจะสอดคล้องกับสัจจะทางภววิสัยหรือไม่นั้น ยังมิได้แก้ให้ตกไปทั้งหมด และก็ไม่สามารถที่จะแก้ให้ตกไปทั้งหมดได้ด้วย. จะแก้ปัญหานี้ให้ตกไปทั้งหมดได้ ก็ต่อเมื่อนำเอาความรับรู้ทางเหตุผลกลับไปสู่การปฏิบัติทางสังคมอีก นำเอาทฤษฎีไปใช้ในการปฏิบัติ และดูว่ามันสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายที่ได้คาดคิดไว้ก่อนหรือไม่เท่านั้น. การที่ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเป็นอันมากได้ชื่อว่าเป็นสัจธรรมนั้น ไม่เพียงแต่เพราะว่าในเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทั้งหลายสร้างทฤษฎีเหล่านี้ขึ้นนั้นได้พิสูจน์ว่ามันเป็นสัจธรรม หากยังเพราะว่าการปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ในภายหลังก็ได้พิสูจน์ว่ามันเป็นสัจธรรมด้วย. การที่ลัทธิมาร์กซ-เลนินได้ชื่อว่าเป็นสัจธรรมนั้น ก็ไม่เพียงแต่เพราะว่าในเวลาที่มาร์กซ เองเกลส์ เลนินและสตาลินวางทฤษฎีเหล่านี้ขึ้นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์นั้นได้พิสูจน์ว่ามันเป็นสัจธรรม, หากยังเพราะว่าในเวลาที่การปฏิบัติในการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้ทางประชาชาติที่ปฏิวัติในภายหลังก็ได้พิสูจน์ว่ามันเป็นสัจธรรมด้วย. การที่วัตถุนิยมวิภาษเป็นสัจธรรมทั่วไปนั้น ก็เพราะการปฏิบัติไม่ว่าของใครก็ไม่อาจรอดพ้นไปจากขอบเขตของวัตถุนิยมวิภาษได้ทั้งสิ้น. ประวัติความรับรู้ของมนุษยชาติบอกเราว่า ความเป็นสัจธรรมของทฤษฎีเป็นอันมากนั้นไม่สมบูรณ์ และความไม่สมบูรณ์นี้จะได้รับการแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นโดยผ่านการทดสอบจากการปฏิบัติ. มีทฤษฎีมากหลายเป็นทฤษฎีที่ผิด และความผิดนี้ก็ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องโดยผ่านการทดสอบจากการปฏิบัติ. ที่ว่าการปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานของสัจธรรม และที่ว่า “ทรรศนะแห่งชีวิตและทรรศนะแห่งการปฏิบัติ ควรจะเป็นทรรศนะอันดับแรกและเป็นทรรศนะพื้นฐานชองทฤษฎีความรับรู้”๖ นั้น เหตุผลก็อยู่ที่ตรงนี้. สตาลินพูดไว้ดีมากว่า “ทฤษฎีถ้าไม่ประสานเข้ากับการปฏิบัติทางการปฏิวัติ ก็จะกลายเป็นทฤษฎีที่ไร้เป้าหมาย, ในทำนองเดียวกัน การปฏิบัติถ้าไม่ถือทฤษฎีปฏิวัติเป็นเข็มทิศ, ก็จะกลายเป็นการปฏิบัติที่หลับหูหลับตา.”๗
เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ การเคลื่อนไหวของความรับรู้ก็นับว่าเสร็จสิ้นแล้วหรือ? คำตอบของเราคือ ทั้งเสร็จสิ้นและไม่เสร็จสิ้น. เมื่อคนในสังคมโถมตัวเข้าสู่การปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการภววิสัยกระบวนการหนึ่งในขั้นของการพัฒนาขั้นหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการธรรมชาติกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งหรือการปฏิบัติในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสังคมกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง) ด้วยการสะท้อนของกระบวนการภววิสัยและด้วยบทบาทแห่งพลังวิริยภาพทางอัตวิสัย ก็ได้ทำให้ความรับรู้ของคนเราคืบหน้าจากความรับรู้ทางรู้สึกไปสู่ความรับรู้ทางเหตุผล และได้สร้างความคิด ทฤษฎี โครงการหรือแผนงานที่โดยส่วนใหญ่แล้วสอดคล้องกับกฎของกระบวนการภววิสัยนั้นขึ้น ครั้นแล้วก็นำเอาความคิด ทฤษฎี โครงการหรือแผนงานนี้ไปใช้ในการปฏิบัติในกระบวนการภววิสัยเดียวกันนั้นอีก ถ้าสามารถทำให้จุดมุ่งหมายที่คาดคิดไว้ปรากฏเป็นจริงขึ้นได้ กล่าวคือทำให้ความคิด, ทฤษฎี โครงการและแผนงานที่ได้กำหนดขึ้นไว้ก่อนนั้นกลายเป็นความจริงขึ้นมา หรือกลายเป็นความจริงขึ้นมาโดยส่วนใหญ่ในการปฏิบัติของกระบวนการเดียวกัน เช่นนี้แล้ว การเคลื่อนไหวของความรับรู้ที่มีต่อกระบวนการเฉพาะนี้ก็นับว่าได้เสร็จสิ้นไปแล้ว. เป็นต้นว่า ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ เช่น การทำให้โครงการวิศวกรรมโครงการใดโครงการหนึ่งปรากฏเป็นจริงขึ้น ผลพิสูจน์ของสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ข้อใดข้อหนึ่ง การประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง และการเก็บเกี่ยวพืชผลเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่ง; หรือในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น การได้ชัยชนะในการนัดหยุดงานครั้งใดครั้งหนึ่ง การได้ชัยชนะในสงครามครั้งใดครั้งหนึ่ง และการทำให้โครงการการศึกษาโครงการใดโครงการหนึ่งปรากฏเป็นจริงขึ้น เหล่านี้ล้วนแต่นับว่าได้ทำให้จุดมุ่งหมายที่คาดคิดไว้ก่อนนั้นปรากฏเป็นจริงขึ้นแล้วทั้งสิ้น. แต่กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ไมว่าในการปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติหรือเปลี่ยนแปลงสังคม เรื่องที่ความคิด ทฤษฎี โครงการและแผนงานที่คนเรากำหนดไว้แต่เดิมจะปรากฏเป็นจริงขึ้นโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเลยแม้แต่น้อยนั้นมีน้อยมาก. ทั้งนี้เพราะคนเราซึ่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงภาวะที่เป็นอยู่นั้นมักจะถูกจำกัดหลายต่อหลายอย่าง ไม่เพียงแต่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางวิทยาศาสตร์และเงื่อนไขทางเทคนิคอยู่เสมอเท่านั้น หากยังถูกจำกัดด้วยการพัฒนาของกระบวนการภววิสัยนั้น ๆ และด้วยระดับที่กระบวนการภววิสัยนั้น ๆ แสดงออกอีกด้วย (ด้านต่าง ๆ และธาตุแท้ของกระบวนการภววิสัยยังมิได้เผยออกมาอย่างเต็มที่). ในสภาพเช่นนี้ เนื่องจากในระหว่างปฏิบัติได้พบสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ดังนั้นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงความคิด ทฤษฎี, โครงการและแผนงานบางส่วนนั้นจึงมักจะมีอยู่เสมอ และที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดก็มีอยู่เหมือนกัน. หมายความว่า, เรื่องที่ความคิด ทฤษฎี โครงการและแผนงานที่กำหนดไว้แต่เดิมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในบางส่วนหรือทั้งหมด ผิดไปบางส่วนหรือผิดไปทั้งหมดนั้นมีอยู่ทั้งนั้น. ในหลาย ๆ กรณีต้องล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง จึงจะสามารถแก้ความรับรู้ที่ผิดให้ถูกต้องได้ และจึงจะสามารถทำให้สอดคล้องกันกับกฎของกระบวนการภววิสัยได้ และด้วยประการฉะนี้จึงจะสามารถเปลี่ยนสิ่งอัตวิสัยให้เป็นสิ่งภววิสัย, คือได้รับผลตามที่คาดคิดไว้ในการปฏิบัติ. แต่อย่างไรก็ตาม, เมื่อมาถึงตอนนี้ การเคลื่อนไหวของความรับรู้ของคนเราที่มีต่อกระบวนการภววิสัยกระบวนการหนึ่งในขั้นพัฒนาขั้นหนึ่งก็นับว่าได้เสร็จสิ้นลงแล้ว.
แต่ว่าเมื่อกล่าวในแง่การคืบหน้าไปของกระบวนการแล้ว, การเคลื่อนไหวของความรับรู้ของคนเรานั้นก็ยังมิได้เสร็จสิ้น. กระบวนการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นของโลกธรรมชาติหรือของสังคมล้วนแต่คืบหน้าและพัฒนาไปเพราะมีความขัดแย้งภายในและการต่อสู้กันภายในทั้งสิ้น และการเคลื่อนไหวของความรับรู้ของคนเราก็ควรจะคืบหน้าและพัฒนาตามไปด้วย. กล่าวในด้านการเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้ชี้นำการปฏิวัติที่แท้จริงนั้น ไม่เพียงแต่อยู่ที่ว่าเมื่อความคิด ทฤษฎี โครงการและแผนงานของตนผิดพลาดแล้ว จะต้องสันทัดในการแก้ไขให้ถูกต้องดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเท่านั้น หากยังอยู่ที่ว่าในเวลาที่กระบวนการภววิสัยกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งคืบหน้าเปลี่ยนแปลงจากขั้นการพัฒนาขั้นหนึ่งไปสู่ขั้นการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งนั้น ก็ยังจะต้องสันทัดที่จะทำให้ตนเองและบรรดาผู้ที่ร่วมการปฏิวัติทั้งปวงคืบหน้าเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยในด้านความรับรู้ทางอัตวิสัย ซึ่งก็คือ จะต้องทำให้ภาระหน้าที่ใหม่ในการปฏิวัติและแผนงานใหม่ที่เสนอขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพการณ์ใหม่ด้วย. การเปลี่ยนแปลงของสภาพการณ์ในระยะปฏิวัตินั้นรวดเร็วมาก ถ้าความรับรู้ของชาวพรรคปฏิวัติไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตามไปอย่างรวดเร็วแล้ว ก็จะไม่สามารถนำการปฏิวัติให้ก้าวไปสู่ชัยชนะได้.
แต่ว่าเรื่องที่ความคิดล้าหลังกว่าความเป็นจริงนั้นมักมีอยู่เสมอ ทั้งนี้เป็นเพราะความรับรู้ของมนุษย์ได้ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางสังคมมากมายหลายอย่าง. เราคัดค้านพวกหัวรั้นในขบวนปฏิวัติ ความคิดของพวกเขาไม่สามารถก้าวหน้าไปตามสภาพการณ์ทางภววิสัยที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในประวัติศาสตร์ ความคิดของพวกเขาปรากฏเป็นลัทธิฉวยโอกาสเอียงขวา. คนเหล่านี้มองไม่เห็นว่าการต่อสู้ของความขัดแย้งได้ผลักดันกระบวนการภววิสัยให้คืบหน้าไปแล้ว ส่วนความรับรู้ของพวกเขายังคงหยุดอยู่ในขั้นเก่า. ความคิดของพวกหัวรั้นทั้งปวงมีสัญลักษณ์พิเศษเช่นนี้กันทั้งนั้น. ความคิดของพวกเขาแยกออกจากการปฏิบัติทางสังคม พวกเขาไม่สามารถรับหน้าที่เป็นผู้นำทางโดยยืนอยู่หน้ากงล้อสังคมได้ รู้แต่เดินตามหลังรถและโทษรถว่าวิ่งเร็วเกินไป และมุ่งจะลากหรือขับให้ถอยหลัง.
เราก็คัดค้านลัทธิดีแต่ปากฝ่าย “ซ้าย” ด้วยเหมือนกัน. ความคิดของพวกเขาล้ำหน้าขั้นพัฒนาที่แน่นอนของกระบวนการภววิสัย บางคนถือเอาความเพ้อฝันเป็นสัจจะ และบางคนก็ถือเอาอุดมคติที่มีความเป็นไปได้ในทางเป็นจริงก็แต่ในอนาคตเท่านั้นมาฝืนทำในเวลานี้ โดยแยกออกจากการปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ในเวลานั้น แยกออกจากสภาพความเป็นจริงในเวลานั้น และแสดงออกเป็นลัทธิเสี่ยงภัยในทางการกระทำ.
สัญญลักษณ์พิเศษของจิตนิยมและวัตถุนิยมกลไก สัญญลักษณ์พิเศษของลัทธิฉวยโอกาสและลัทธิเสี่ยงภัย ล้วนแต่อยู่ที่แยกอัตวิสัยกับภววิสัยออกจากกัน แยกความรับรู้กับการปฏิบัติออกจากกัน. ทฤษฎีความรับรู้ของลัทธิมาร์กซ-เลนินซึ่งถือการปฏิบัติทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นสัญลักษณ์พิเศษนั้น จำต้องคัดค้านความคิดที่ผิดเหล่านี้อย่างเด็ดเดี่ยว. นักลัทธิมาร์กซยอมรับว่า ในกระบวนการแห่งการพัฒนาที่สัมบูรณ์และทั่วไปของจักรวาลนั้น การพัฒนาของกระบวนการเฉพาะแต่ละกระบวนล้วนเป็นสิ่งสัมพัทธ์ทั้งสิ้น ฉะนั้น ในกระแสธารอันไหลไม่รู้จบแห่งสัจธรรมสัมบูรณ์ ความรับรู้ของคนเราที่มีต่อกระบวนการเฉพาะของขั้นพัฒนาที่แน่นอนแต่ละขั้นจึงเป็นเพียงสัจธรรมสัมพัทธ์เท่านั้น. ยอดรวมของสัจธรรมสัมพัทธ์อันนับไม่ถ้วนนั่นแหละคือสัจธรรมสัมบูรณ์.๘ การพัฒนาของกระบวนการภววิสัยเป็นการพัฒนาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการต่อสู้ การพัฒนาของการเคลื่อนไหวแห่งความรับรู้ของมนุษย์ก็เป็นการพัฒนาที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการต่อสู้ด้วยเช่นเดียวกัน. การเคลื่อนไหวแบบวิภาษวิธีแห่งโลกภววิสัยทั้งปวงสามารถสะท้อนเข้ามาสู่ความรับรู้ของมนุษย์เร็วบ้างช้าบ้างทั้งนั้น. กระบวนการแห่งการเกิด การพัฒนาและการดับสูญในการปฏิบัติทางสังคมนั้นไม่มีที่สิ้นสุด กระบวนการแห่งการเกิด การพัฒนา และการดับสูญแห่งความรับรู้ของมนุษย์ก็ไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกัน. ในเมื่อการปฏิบัติในการเปลี่ยนแปลงภาวะที่เป็นอยู่ทางภววิสัยตามความคิด ทฤษฎี โครงการและแผนงานหนึ่ง ๆ นั้นคืบหน้าไปครั้งแล้วครั้งเล่า ความรับรู้ของคนเราที่มีต่อภาวะที่เป็นอยู่ทางภววิสัยก็ลึกซึ้งยิ่งขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าด้วย. ในเมื่อการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งความเป็นจริงทางภววิสัยไม่มีวันสิ้นสุด การรับรู้สัจธรรมของคนเราในระหว่างการปฏิบัติก็ไม่มีวันสิ้นสุดเช่นเดียวกัน. ลัทธิมาร์กซ-เลนินมิได้ทำให้สัจธรรมสิ้นสุดลง หากเบิกทางให้แก่การรับรู้สัจธรรมสืบไปไม่ขาดสายในระหว่างการปฏิบัติ. ข้อสรุปของเราคือ เอกภาพที่เป็นรูปธรรมและที่เป็นประวัติศาสตร์ระหว่างอัตวิสัยกับภววิสัย ระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ, และระหว่างรู้กับทำ คัดค้านบรรดาความคิดที่ผิดทั้งปวงไม่ว่า “ซ้าย” หรือขวาที่แยกออกจากประวัติศาสตร์รูปธรรม.
เมื่อการพัฒนาของสังคมได้มาถึงยุคปัจจุบัน หน้าที่ในการรับรู้โลกอย่างถูกต้องและดัดแปลงโลกอย่างถูกต้องนั้นก็ได้ตกมาอยู่บนบ่าของชนชั้นกรรมาชีพและพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพโดยทางประวัติศาสตร์. กระบวนการแห่งการปฏิบัติในการดัดแปลงโลกที่ได้กำหนดตามความรับรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นในโลกหรือในประเทศจีนก็ล้วนแต่ได้ย่างเข้าสู่วาระทางประวัติศาสตร์อันเป็นวาระสำคัญยิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนนับแต่มีประวัติศาสตร์เป็นต้นมา นั่นคือการโค่นทำลาด้านที่มืดมนของโลกและของประเทศจีนทั้งหมด แล้วเปลี่ยนให้เป็นโลกอันสว่างรุ่งโรจน์ที่ไม่เคยมีมาก่อน. การต่อสู้ดัดแปลงของชนชั้นกรรมาชีพและของประชาชนที่ปฏิบัตินั้น กอปรด้วยการทำให้ภาระหน้าที่ต่อไปนี้ปรากฏเป็นจริงขึ้น, นั่นคือ ดัดแปลงโลกภววิสัย และก็ดัดแปลงโลกอัตวิสัยของตนเองด้วย—ดัดแปลงสมรรถภาพในการรับรู้ของตนและดัดแปลงความสัมพันธ์ระหว่างโลกอัตวิสัยกับโลกภววิสัย. ในส่วนหนึ่งของโลกนี้ได้ดำเนินการดัดแปลงเช่นนี้ไปแล้ว นั่นคือสหภาพโซเวียต. และพวกเขาก็ยังกำลังผลักดันกระบวนการแห่งการดัดแปลงนี้ให้คืบหน้าไปอีก. ประชาชนจีนและประชาชนทั่วโลกก็กำลังผ่านหรือจะผ่านกระบวนการแห่งการดัดแปลงเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน. ที่เรียกว่าโลกภววิสัยที่ถูกดัดแปลงนั้น รวมทั้งบรรดาผู้ที่คัดค้านการดัดแปลงด้วย การถูกดัดแปลงของคนเหล่านั้นจะต้องผ่านขั้นบังคับเสียก่อน แล้วจึงจะเข้าสู่ขั้นที่กระทำโดยความสำนึกได้. เมื่อใดที่โลกได้บรรลุสู่ยุคที่มวลมนุษยชาติดำเนินการดัดแปลงตนเองและดัดแปลงโลกด้วยความสำนึกแล้ว เมื่อนั้นก็เป็นยุคคอมมิวนิสต์ของโลก.
ค้นพบสัจธรรมโดยผ่านการปฏิบัติ แล้วก็พิสูจน์สัจธรรมและทำให้สัจธรรมพัฒนาไปโดยผ่านการปฏิบัติอีก. จากความรับรู้ทางรู้สึกพัฒนาไปสู่ความรับรู้ทางเหตุผลอย่างมีพลังวิริยภาพ แล้วก็จากความรับรู้ทางเหตุผลไปชี้นำการปฏิบัติทางการปฏิวัติ ไปดัดแปลงโลกอัตวิสัยและโลกภววิสัยอย่างมีพลังวิริยภาพ. ปฏิบัติ รับรู้ ปฏิบัติอีก รับรู้อีก รูปแบบเช่นนี้หมุนเวียนไปมาไม่มีที่สิ้นสุด แต่เนื้อหาของการปฏิบัติและของความรับรู้ที่เวียนไปแต่ละรอบนั้นก็ได้ขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง. นี่แหละคือทฤษฎีความรับรู้ทั้งหมดแห่งวัตถุนิยมวิภาษ นี่แหละคือทรรศนะเอกภาพระหว่างรู้กับทำแห่งวัตถุนิยมวิภาษ.