ว่าด้วยความขัดแย้ง *
(สิงหาคม ๑๙๓๗)
กฎแห่งความขัดแย้งในสรรพสิ่ง นัยหนึ่งกฎแห่งความเป็นเอกภาพของด้านตรงกันข้าม เป็นกฎที่เป็นมูลฐานที่สุดของวิภาษวิธีวัตถุนิยม. เลนินกล่าวว่า “โดยความหมายเดิมแล้ว, วิภาษวิธีก็คือการค้นคว้าความขัดแย้งในธาตุแท้ของเป้าหมายเอง.”๑ เลนินมักจะเรียกกฎข้อนี้ว่าธาตุแท้ของวิภาษวิธี และยังเรียกอีกว่าแกนของวิภาษวิธี.๒ ฉะนั้น ในขณะที่เราค้นคว้ากฎข้อนี้ จึงจำต้องพาดพิงถึงด้านต่าง ๆ อันกว้างขวาง จำต้องพาดพิงถึงด้านต่าง ๆ อันกว้างขวาง จำต้องพาดพิงถึงปัญหาทางปรัชญามากมาย. ถ้าเราได้ทำความกระจ่างในปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว เราก็จะเข้าใจวิภาษวิธีวัตถุนิยมในขั้นมูลฐาน. ปัญหาเหล่านี้ก็คือ โลกทรรศน์ ๒ ชนิด, ลักษณะทั่วไปของความขัดแย้ง ลักษณะเฉพาะของความขัดแย้ง ความขัดแย้งหลักและด้านหลักของความขัดแย้ง, ลักษณะอย่างเดียวกันและลักษณะต่อสู้ของด้านต่าง ๆ ของความขัดแย้ง ฐานะของความเป็นปฏิปักษ์ในความขัดแย้ง.
ในระยะไม่กี่ปีที่ล่วงมานี้ วงการปรัชญาของสหภาพโซเวียตได้วิพากษ์จิตนิยมของสำนักเดโบริน1 เรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดความสนใจเป็นอย่างมากในหมู่พวกเรา. จิตนิยมของเดโบรินได้เกิดผลสะเทือนที่เลวยิ่งในพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวไม่ได้ว่าความคิดของลัทธิคัมภีร์ในพรรคเราไม่มีความสัมพันธ์กับท่วงทำนองของสำนักนี้. ฉะนั้น งานค้นคว้าปรัชญาของเราในปัจจุบัน จึงควรถือเอการกวาดล้างความคิดลัทธิคัมภีร์เป็นจุดหมายหลัก.