๑. โลกทรรศน์ ๒ ชนิด
ในปัจจุบันความรับรู้ของมนุษยชาติ แต่ไหนแต่ไรมาก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎแห่งการพัฒนาของจักรวาลอยู่ ๒ ชนิด: ชนิดหนึ่งเป็นความเข้าใจแบบอภิปรัชญา อีกชนิดหนึ่ง เป็นความเข้าใจแบบวิภาษวิธี ความเข้าใจ ๒ ชนิดนี้ได้ก่อรูปขึ้นเป็นโลกทรรศน์ ๒ ชนิดที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน. เลนินกล่าวว่า:
“ทรรศนะพื้นฐาน ๒ ชนิด (หรือที่เป็นไปได้ ๒ ชนิด? หรือที่พบเห็นในประวัติศาสตร์บ่อย ๆ ๒ ชนิด?) ที่มีต่อการพัฒนา
(วิวัฒนาการ) นั้นได้แก่: (๑) เห็นว่าการพัฒนาคือการลดและการเพิ่ม คือการซ้ำซาก; (๒) องด้านตรงกันข้าม (สิ่งเอกภาพ
แบ่งออกเป็นด้านตรงกันข้าม ๒ ด้านที่ผลักไสซึ่งกันและกัน และก็เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกันด้วย)”๓
ที่เลนินกล่าวถึงนั้น ก็คือโลกทรรศน์ ๒ ชนิดที่ต่างกันนี้นั่นเอง.
อภิปรัชญา ในภาษาจีนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเสียนสวย. ไม่ว่าในประเทศจีนหรือในยุโรป ความคิดชนิดนี้จัดอยู่ในโลกทรรศน์จิตนิยมและมีฐานะครอบงำอยู่ในความคิดของคนเราในระยะประวัติศาสตร์อันยาวนานระยะหนึ่ง. ในยุโรป วัตถุนิยมในยุคต้นของชนชั้นนายทุนก็เป็นอภิปรัชญาเช่นเดียวกัน. เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสังคมของหลาย ๆ ประเทศในยุโรปได้ก้าวสู่ขั้นพัฒนาในระดับสูงของทุนนิยม พลังการผลิต การต่อสู้ทางชนชั้นและวิทยาศาสตร์ล้วนแต่ได้พัฒนาถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ชนชั้นกรรมาชีพอุตสาหกรรมได้กลายเป็นพลังดันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการพัฒนาของประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ จึงได้เกิดโลกทรรศน์วิภาษวิธีวัตถุนิยมแห่งลัทธิมาร์กซขึ้น. ดังนั้น ทางฝ่ายชนชั้นนายทุน นอกจากจิตนิยมที่เป็นปฏิกิริยาที่เปิดเผยและโจ่งแจ้งสุดขีดแล้ว ยังมีทฤษฎีวิวัฒนาการที่สามานย์ปรากฏออกมาต่อต้านวิภาษวิธีวัตถุนิยมอีกด้วย.
ที่เรียกว่าโลกทรรศน์อภิปรัชญาหรือโลกทรรศน์ทฤษฎีวิวัฒนการสามานย์นั้น ก็คือการมองโลกด้วยทรรศนะที่โดดเดี่ยว หยุดนิ่งและด้านเดียว. โลกทรรศน์ชนิดนี้เห็นว่า สิ่งทั้งปวง รูปการและชนิดของสิ่งทั้งปวงในโลกล้วนแต่เป็นสิ่งที่อยู่โดดเดี่ยวจากกันชั่วนิรันดรและไม่เปลี่ยนแปลงชั่วนิรันดร. ถ้าจะว่ามีการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเพียงการเพิ่มหรือลดปริมาณและการเปลี่ยนสถานที่เท่านั้น. ยิ่งกว่านั้น มูลเหตุแห่งการเพิ่มหรือลดและการเปลี่ยนที่ชนิดนี้ ก็มิใช่อยู่ที่ภายในของสรรพสิ่ง, หากอยู่ที่ภายนอกของสรรพสิ่ง ซึ่งก็คือ เนื่องมาจากการผลักดันของพลังภายนอก. นักอภิปรัชญาเห็นว่า สรรพสิ่งที่ต่างกันนานาชนิดและลักษณะพิเศษของสรรพสิ่งในโลกเป็นอยู่เช่นนี้มาตั้งแต่มันเริ่มดำเนินอยู่. การเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมาเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในทางปริมาณเท่านั้นเอง. พวกเขาเห็นว่า สิ่งชนิดหนึ่งจะให้กำเนิดได้ก็แต่สิ่งบชนิดเดียวกันอย่างซ้ำซากชั่วนิรันดร ไม่อาจเปลี่ยนเป็นสิ่งอีกชนิดหนึ่งที่ต่างกันได้. ในสายตาของนักอภิปรัชญาเห็นว่า การขูดรีดของทุนนิยม การแก่งแย่งแข่งขันของทุนนิยม ความคิดลัทธิเอกชนของสังคมทุนนิยม ฯลฯ นั้น แม้แต่ในสังคมทาสสมัยโบราณหรือกระทั่งในสังคมบุพกาลก็ค้นพบได้ ทั้งยังจะดำรงอยู่ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปชั่วนิรันดร. เมื่อพูดถึงมูลเหตุแห่งการพัฒนาของสังคม พวกเขาก็จะอธิบายด้วยเงื่อนไขทางภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ฯลฯ ซึ่งอยู่ภายนอกสังคม. พวกเขาค้นหามูลเหตุแห่งการพัฒนาจากภายนอกของสรรพสิ่งอย่างง่าย ๆ ปฏิเสธทฤษฎีวิภาษวิธีวัตถุนิยมซึ่งมีความคิดเห็นว่าสรรพสิ่งเกิดการพัฒนาเพราะความขัดแย้งภายใน. ด้วยเหตุนี้, พวกเขาจึงไม่สามารถจะอธิบายลักษณะหลายแบบหลายอย่างแห่งคุณภาพของสรรพสิ่งได้ ไม่สามารถจะอธิบายปรากฏการณ์ที่คุณภาพชนิดหนึ่งเปลี่ยนเป็นคุณภาพอีกชนิดหนึ่งได้. ในยุโรป ความคิดชนิดนี้ได้แก่วัตถุนิยมกลไกในศตวรรษที่ ๑๗ และศตวรรษที่ ๑๘ และได้แก่ทฤษฎีวิวัฒนาการสามานย์ในปลายศตวรรษที่ ๑๙ และต้นศตวรรษที่ ๒๐. ในประเทศจีนก็มีความคิดอภิปรัชญาที่ว่า “ฟ้าไม่เปลี่ยน มรรคก็ไม่เปลี่ยน”๔ ซึ่งเคยได้รับการสนับสนุนเป็นเวลาอันยาวนานจากชนชั้นปกครองศักดินาที่เน่าเฟะ. ส่วนวัตถุนิยมกลไกและทฤษฎีวิวัฒนาการสามานย์ของยุโรปซึ่งส่งเข้ามาเมื่อร้อยปีที่ล่วงมานี้, ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนายทุน.
ตรงกันข้ามกับโลกทรรศน์อภิปรัชญา โลกทรรศน์วิภาษวิธีวัตถุนิยมถือความคิดเห็นให้ค้นคว้าการพัฒนาของสรรพสิ่งจากภายในของสรรพสิ่งและจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่น กล่าวคือ ถือว่าการพัฒนาของสรรพสิ่งเป็นการเคลื่อนไหวโดยตัวมันเองของภายในของสรรพสิ่งที่จำต้องเป็นไป และการเคลื่อนไหวของแต่ละสิ่งล้วนแต่มีความสัมพันธ์และส่งผลสะเทือนซึ่งกันและกันกับสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวมัน. เหตุมูลฐานแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง มิใช่อยู่ที่ภายนอกของสรรพสิ่ง หากอยู่ที่ภายในของสรรพสิ่ง อยู่ที่ลักษณะขัดแย้งของภายในสรรพสิ่ง. ภายในของสิ่งใด ๆ ล้วนแต่มีลักษณะขัดแย้งชนิดนี้ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและการพัฒนาของสรรพสิ่ง. ลักษณะขัดแย้งของภายในของสรรพสิ่งชนิดนี้เป็นเหตุมูลฐานแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง ส่วนความสัมพันธ์และการส่งผลสะเทือนซึ่งกันและกันระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่น ๆ นั้น เป็นเหตุอันดับที่สองแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง. เช่นนี้แล้ว วิภาษวิธีวัตถุนิยมก็ได้คัดค้านทฤษฎีเหตุภายนอกหรือทฤษฎีถูกกระทำของวัตถุนิยมกลไกและทฤษฎีวิวัฒนาการสามานย์ซึ่งเป็นอภิปรัชญาอย่างมีพลัง. เป็นที่แจ่มชัดว่า เหตุภายนอกล้วน ๆ นั้นได้แต่ทำให้สรรพสิ่งเกิดการเคลื่อนไหวแบบกลไกเท่านั้น นั่นคือ ทำให้ขอบเขตใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงและปริมาณเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่านั้น หาอาจอธิบายได้ไม่ว่า เหตุใดสรรพสิ่งจึงแตกต่างกันร้อยแปดพันประการในทางลักษณะและเปลี่ยนแปลงไปสู่กันและกัน. โดยความจริงแล้ว ถึงการเคลื่อนไหวแบบกลไกที่เนื่องมาจากการผลักดันของพลังภายนอก ก็ต้องผ่านลักษณะขัดแย้งของภายในของสรรพสิ่ง. การเจริญเติบโตแบบง่าย ๆ และการขยายตัวทางปริมาณของพืชและสัตว์นั้น ที่สำคัญก็เนื่องมาจากความขัดแย้งภายใน. ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาของสังคม ที่สำคัญก็มิใช่เนื่องจากเหตุภายนอก หากเนื่องมาจากเหตุภายใน. ประเทศมากหลายที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขทางภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศที่แทบจะเหมือนกันหมด ก็มีความแตกต่างและมีความไม่สม่ำเสมอกันอย่างมากมายในการพัฒนา. แม้ในประเทศเดียวกัน, ในสภาพที่ภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศไม่มีการเปลี่ยนแปลง, สังคมก็กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวง. รัสเซียที่เป็นจักรพรรดินิยมกลายเป็นสหภาพโซเวียตที่เป็นสังคมนิยม ญี่ปุ่นที่เป็นศักดินาและปิดประตูต่อทั่วโลกกลายเป็นญี่ปุ่นที่เป็นจักรพรรดินิยม แต่ภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศของประเทศเหล่านี้ก็หาได้เปลี่ยนแปลงไม่. ประเทศจีนที่อยู่ภายใต้การปกครองของระบอบศักดินามาเป็นเวลาอันยาวนาน เมื่อร้อยปีมานี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง และในปัจจุบันก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางแห่งการเป็นประเทศจีนใหม่ที่ปลดแอกและมีเสรีภาพ แต่ภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศของประเทศจีนก็หาได้มีการเปลี่ยนแปลงไม่. ภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศของโลกทั้งโลกและส่วนต่าง ๆ ของโลกก็กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่ถ้านำเอาการเปลี่ยนแปลงของมันไปเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมแล้ว ก็จะปรากฏว่าน้อยกว่ากันมากทีเดียว สำหรับสิ่งแรกนั้นการเปลี่ยนแปลงแสดงออกมาให้เห็นโดยถือหลาย ๆ หมื่นปีเป็นหน่วยหนึ่ง ส่วนสิ่งหลังนั้นการเปลี่ยนแปลงแสดงออกมาให้เห็นภายในไม่กี่พันปี ไม่กี่ร้อยปี, ไม่กี่สิบปี หรือกระทั่งไม่กี่ปีหรือไม่กี่เดือน (ในสมัยการปฏิวัติ). ตามทรรศนะของวิภาษวิธีวัตถุนิยม การเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาตินั้น ที่สำคัญเนื่องมาจากการพัฒนาของความขัดแย้งภายในโลกธรรมชาติ. การเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้น ที่สำคัญเนื่องมาจาการพัฒนาของความขัดแย้งภายในสังคม, ซึ่งก็คือ ความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตกับความสัมพันธ์การผลิต ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น และความขัดแย้งระหว่างใหม่กับเก่า การพัฒนาของความขัดแย้งเหล่านี้ เป็นเหตุผลักดันให้สังคมก้าวหน้าไป ผลักดันให้สังคมใหม่เข้าแทนที่สังคมเก่า. วิภาษวิธีวัตถุนิยมปฏิเสธเหตุภายนอกหรือไม่? ไม่ปฏิเสธ. วิภาษวิธีวัตถุนิยมถือว่า เหตุภายนอกเป็นเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง เหตุภายในเป็นมูลฐานของการเปลี่ยนแปลง เหตุภายนอกเกิดบทบาทโดยผ่านเหตุภายใน. ไข่ไก่กลายเป็นลูกไก่เพราะได้รับอุณหภูมิที่พอเหมาะ แต่อุณหภูมิจะทำให้ก้อนหินกลายเป็นลูกไก่ไม่ได้ เพราะมูลฐานของ ๒ สิ่งนี้ต่างกัน. การส่งผลสะเทือนซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนประเทศต่าง ๆ นั้นมักจะมีอยู่เสมอ. ในยุคทุนนิยม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคจักรพรรดินิยมและการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ การส่งผลสะเทือนและการกระตุ้นซึ่งกันและกันทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ นั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก. การปฏิวัติสังคมนิยมเดือนตุลาคมไม่เพียงแต่ได้เปิดศักราชใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของรัสเซียเท่านั้น หากยังได้เปิดศักราชใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของโลก, ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของประเทศต่าง ๆ ในโลก และได้ส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของประเทศจีนในทำนองเดียวกันและอย่างลึกซึ้งเป็นพิเศษอีกด้วย, แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงชนิดนี้เกิดขึ้นโดยผ่านกฎภายในของประเทศต่าง ๆ และของประเทศจีนเอง. กองทหารสองฝ่ายรบกัน ฝ่ายหนึ่งแพ้ฝ่ายหนึ่งชนะ การแพ้ชนะนั้นล้วนแต่กำหนดโดยเหตุภายใน. ฝ่ายที่ชนะนั้น บ้างก็เพราะความเข้มแข็งของตน บ้างก็เพราะการบัญชาการไม่ผิดพลาด, ฝ่ายที่แพ้นั้น บ้างก็เพราะความอ่อนแอของตน บ้างก็เพราะการบัญชาการไม่เหมาะ เหตุภายนอกเกิดบทบาทขึ้นโดยผ่านเหตุภายใน. การที่ชนชั้นนายทุนใหญ่ของจีนเอาชนะชนชั้นกรรมาชีพได้เมื่อปี ๑๙๒๗ นั้น ก็เกิดบทบาทโดยผ่านลัทธิฉวยโอกาสภายในชนชั้นกรรมาชีพจีน (ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน). ครั้นเราได้ชำระสะสางลัทธิฉวยโอกาสนี้แล้ว, การปฏิวัติของจีนก็พัฒนากันใหม่. ต่อมาการปฏิวัติของจีนได้ถูกศัตรูโจมตีอย่างหนักหน่วงอีก ทั้งนี้ก็เพราะว่าภายในพรรคเราได้เกิดมีลัทธิเสี่ยงภัย. ครั้นเราได้ชำระสะสางลัทธิเสี่ยงภัยนี้แล้ว ภารกิจของเราก็พัฒนากันใหม่อีก. จากนี้จะเห็นได้ว่า, การที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งจะนำการปฏิวัติไปสู่ชัยชนะได้นั้น จะต้องอาศัยความถูกต้องแห่งแนวทางการเมืองและความมั่นคงทางการจัดตั้งของตน.
โลกทรรศน์วิภาษวิธีมีมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งในประเทศจีนและในยุโรป. แต่ว่าวิภาษวิธีในสมัยโบราณยังติดลักษณะที่เป็นไปเองและเรียบ ๆ โดยเงื่อนไขทางสังคมและทางประวัติศาสตร์ในเวลานั้น ยังไม่อาจมีทฤษฎีที่สมบูรณ์ได้, ดังนั้นจึงไม่อาจอธิบายโลกได้อย่างสมบูรณ์ และต่อมาก็ได้ถูกอภิปรัชญาเข้าแทนที่. เฮเกลสนักปรัชญาลือชื่อของเยอรมันซึ่งมีชีวิตอยู่ในปลายศตวรรษที่ ๑๘ และต้นศตวรรษที่ ๑๙ เคยสร้างคุณูปการที่สำคัญยิ่งให้แก่วิภาษวิธี แต่วิภาษวิธีของเขาเป็นวิภาษวิธีจิตนิยม. จนกระทั่งเมื่อมาร์กซและเองเกลส์นักเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่แห่งการเคลื่อนไหวชนชั้นกรรมาชีพได้ประมวลผลสำเร็จที่เป็นคุณในประวัติความรับรู้ของมนุษยชาติ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับเอาส่วนที่สมเหตุสมผลในวิภาษวิธีของเฮเกลมาอย่างมีการวิพากษ์ และได้สร้างวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์อันเป็นทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นแล้ว การปฏิวัติครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์จึงได้เกิดขึ้นในประวัติความารับรู้ของมนุษยชาติ. ต่อมาเลนินและสตาลินก็ได้พัฒนาทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่นี้ต่อไปอีก. พอทฤษฎีนี้แพร่เข้ามาในประเทศจีน, ก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงในวงการความคิดของจีน.
โลกทรรศน์วิภาษวิธีนี้ ที่สำคัญก็คือสอนให้คนเราสันทัดในการสังเกตและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของความขัดแย้งในสิ่งต่าง ๆ และอาศัยการวิเคราะห์อย่างนี้ ชี้ให้เห็นถึงวิธีการแก้ความขัดแย้ง. ฉะนั้น การเข้าใจกฎแห่งความขัดแย้งในสรรพสิ่งอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพวกเรา.