๒. ลักษณะทั่วไปของความขัดแย้ง
เพื่อสะดวกแก่การบรรยาย ในที่นี้ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งก่อน แล้วค่อยกล่าวถึงลักษณะของความขัดแย้งทีหลัง. ทั้งนี้ก็เพราะว่า มาร์กซ เองเกลส์ เลนินและสตาลินผู้สร้างและผู้สืบทอดที่ยิ่งใหญ่ของลัทธิมาร์กซได้ค้นพบโลกทรรศน์วิภาษวิธีวัถตุนิยม ทั้งได้รับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เหลือเกินในการใช้วิภาษวิธีวัตถุนิยมในหลาย ๆ ด้านของการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์มนุษยชาติและการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และในหลาย ๆ ด้านของการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงสังคมและการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ (ดังเช่นในสหภาพโซเวียต) แล้ว ลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งได้เป็นที่ยอมรับของคนจำนวนมากแล้ว ฉะนั้น เกี่ยวกับปัญหานี้เพียงแต่ใช้คำพูดสั้น ๆ ก็อธิบายให้แจ่มชัดได้; แต่เกี่ยวกับปัญหาลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งนั้น ยังมีสหายอีกมากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกลัทธิคัมภีร์ยังไม่กระจ่าง. พวกเขาไม่เข้าใจว่า ลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งนั้นแฝงอยู่ในลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งนั่นเอง. และพวกเขาก็ไม่เข้าใจว่า การค้นคว้าลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งในสรรพสิ่งที่เป็นรูปธรรมเฉพาะหน้านั้นมีความหมายสำคัญเพียงไรในการชี้นำการปฏิบัติทางการปฏิวัติให้พัฒนาไป. ฉะนั้น เกี่ยวกับปัญหาลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งจึงควรจะทำใการค้นคว้าอย่างเป็นจุดหนัก และอธิบายด้วยหน้ากระดาษอันเพียงพอ. ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในเวลาที่เราวิเคราะห์กฎแห่งความขัดแย้งในสรรพสิ่ง จึงควรจะวิเคราะห์ปัญหาลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งก่อน แล้วจึงค่อยวิเคราะห์ปัญหาลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งอย่างเป็นจุดหนัก และในที่สุดก็กลับไปสู่ปัญหาลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งอีก.
ปัญหาลักษณะทั่วไปหรือลักษณะสัมบูรณ์ของความขัดแย้งนั้นมีความหมายอยู่ ๒ ด้าน. ด้านหนึ่งคือ ความขัดแย้งดำรงอยู่ในกระบวนการแห่งการพัฒนาของสิ่งทั้งปวง; อีกด้านหนึ่งคือ ในกระบวนการแห่งการพัฒนาของแต่ละสิ่งมีการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันดำรงอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ.
เองเกลส์กล่าวว่า “ตัวการเคลื่อนไหวนั่นแหละคือความขัดแย้ง”๕ เลนินให้คำนิยามเกี่ยวกับกฎแห่งความเป็นเอกภาพของด้านตรงกันข้ามว่า ก็คือการ “ยอมรับ (ค้นพบ) ว่า, ปรากฏการณ์และกระบวนการทั้งปวงของโลกธรรมชาติ (รวมทั้งจิตและสังคม) ล้วนแต่มีแนวโน้มที่ขัดแย้งกัน ผลักไสกัน, และเป็นปรปักษ์ต่อกัน”๖ ความเห็นเหล่านี้ถูกต้องไหม? ถูกต้อง. การพึ่งพาอาศัยกันและการต่อสู้ของด้านที่ขัดแย้งกันซึ่งมีอยู่ในสิ่งทั้งปวงนั้นกำหนดชีวิตของสิ่งทั้งปวง และผลักดันให้สิ่งทั้งปวงพัฒนาไป. ไม่มีสิ่งใดที่ไม่มีความขัดแย้ง, ไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีโลก.
ความขัดแย้งเป็นรากฐานแห่งรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ง่าย ๆ (เช่น การเคลื่อนไหวที่มีลักษณะกลไก) และก็ยิ่งเป็นรากฐานแห่งรูปแบบการเคลื่อนไหวที่สลับซับซ้อน.
เองเกลส์เคยอธิบายลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งไว้ดังนี้:
“ถ้าว่าในตัวการเคลื่อนย้ายแบบกลไกอย่างง่าย ๆ มีความขัดแย้งแล้ว ในรูปแบบการเคลื่อนไหวที่สูงยิ่งขึ้นของวัตถุ โดย
เฉพาะอย่างยิ่งอินทรียชีวิตและการพัฒนาของมันก็ยิ่งมีความขัดแย้งอยู่. ...ชีวิตนั้นก่อนอื่นก็อยู่ที่: ในทุก ๆ ขณะสิ่งมีชีวิตเป็น
ตัวของมันเอง แต่ก็ยังเป็นอะไรอื่นอีก. ดังนั้น ชีวิตก็คือความขัดแย้งซึ่งดำรงอยู่ในตัวของสรรพสิ่งและกระบวนการเอง ซึ่งเกิด
ขึ้นเองและแก้ตกไปเองอย่างไม่ขาดสาย; ในทันทีที่ความขัดแย้งนี้สิ้นสุดลง, ชีวิตก็จะสิ้นสุดลงด้วย และความตายก็มาถึง.
ทำนองเดียวกัน เราก็ได้เห็นแล้วว่า ในปริมณฑลของการคิด, เราก็หลีกเลี่ยงความขัดแย้งไปไม่พ้น และเรายังได้เห็นอีกว่า
ตัวอย่างเช่นความขัดแย้งระหว่างความสามารถในการรับรู้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัดของภายในของมนุษย์กับการที่ความ
สามารถในการรับรู้ชนิดนี้ปรากฏเป็นจริงขึ้นอย่างแท้จริงเฉพาะในตัวบุคคลซึ่งถูกจำกัดโดยภายนอกและก็ถูกจำกัดในทางการ
รับรู้ด้วยนั้น ได้รับการแก้ไขให้ตกไปในระหว่างสืบต่อกันหลาย ๆ ชั่วคนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด—อย่างน้อยสำหรับเราโดยความจริง
แล้วเป็นเช่นนี้—และในการเคลื่อนไหวรุดหน้าอย่างไม่รู้จักจบสิ้น.”
“รากฐานที่สำคัญประการหนึ่งของคณิตศาสตร์ชั้นสูงก็คือความขัดแย้ง...”
“แม้กระทั่งคณิตศาสตร์ชั้นต้นก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง...”๗
เลนินก็เคยอธิบายลักษณะทั่วไปของความขัดแย้งไว้ดังนี้:
“ในคณิตศาสตร์: บวกกับลบ ดิฟเฟอเรนเซียลกับอินแตกรัล.
ในกลศาสตร์: กิริยากับปฏิกิริยา
ในวิชาฟิสิคส์: ไฟฟ้าบวกกับไฟฟ้าลบ.
ในวิชาเคมี: การรวมตัวกับการแยกตัวของปรมาณู.
ในวิทยาศาสตร์สังคม: การต่อสู้ทางชนชั้น”๘
การเข้าตีกับการตั้งรับ การรุกกับการถอย และการชนะกับการแพ้ในสงคราม เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ขัดแย้งกันทั้งสิ้น. ขาดไปด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็ดำรงอยู่ไม่ได้. ทั้งสองด้านต่อสู้กันและก็เกี่ยวพันกัน ประกอบขึ้นเป็นองค์รวมของสงคราม ผลักดันให้สงครามคลี่คลายขยายตัวไป และแก้ปัญหาสงครามตกไป.
ความแตกต่างแต่ละอย่างในจินตภาพของคนเรา ควรถือว่ามันเป็นการสะท้อนความขัดแย้งทางภววิสัยทั้งสิ้น. ความขัดแย้งทางภววิสัยสะท้อนเข้ามาในความคิดทางอัตวิสัย ประกอบขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันของจินตภาพ ผลักดันให้ความคิดพัฒนาไป และแก้ปัญหาความคิดของคนเราตกไปอย่างไม่ขาดสาย.
การเป็นปรปักษ์กันและการต่อสู้กันระหว่างความคิดที่ต่างกันภายในพรรคมักเกิดขึ้นเสมอ ทั้งนี้เป็นการสะท้อนเข้ามาในพรรคของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นในสังคมและความขัดแย้งระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่. ถ้าภายในพรรคไม่มีความขัดแย้งและการต่อสู้ทางความคิดที่แก้ความขัดแย้งแล้ว ชีวิตของพรรคก็จะสิ้นสุดลง.
จากนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าในรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ง่าย ๆ หรือในรูปแบบการเคลื่อนไหวที่สลับซับซ้อน ไม่ว่าในปรากฏการณ์ทางภววิสัยหรือในปรากฏการณ์ทางความคิด ความขัดแย้งล้วนแต่ดำรงอยู่ทั่ว ๆ ไป และดำรงอยู่ในกระบวนการทั้งปวง ข้อนี้ได้ทำความกระจ่างแล้ว. แต่ว่า ในขั้นเริ่มต้นของกระบวนการแต่ละกระบวนจะมีความขัดแย้งดำรงอยู่ด้วยไหม? ในกระบวนการแห่งการพัฒนาของแต่ละสิ่งจะมีการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันตั้งแต่ต้นจนจบไหม?
จากบทความที่วงการปรัชญาสหภาพโซเวียตวิพากษ์สำนักเดโบริน จะเห็นได้ว่า สำนักเดโบรินมีความเข้าใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ความขัดแย้งมิใช่ปรากฏขึ้นในกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที หากจะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อกระบวนการได้พัฒนาไปถึงขั้นที่แน่นอนขั้นหนึ่งแล้ว. ถ้าเช่นนี้ ก่อนหน้านั้น มูลเหตุแห่งการพัฒนาของกระบวนการก็มิใช่เนื่องมาจากเหตุภายใน, หากเนื่องมาจากเหตุภายนอก. เช่นนี้แล้ว เดโบรินก็กลับไปสู่ทฤษฎีเหตุภายนอกและทฤษฎีกลไกของอภิปรัชญา. เมื่อนำเอาทรรศนะอย่างนี้ไปวิเคราะห์ปัญหารูปธรรม พวกเขาก็จะเห็นว่า ภายใต้เงื่อนไขของสหภาพโซเวียต ระหว่างชาวนารวยกับชาวนาทั่วไปมีแต่ความแตกต่างกัน หามีความขัดแย้งกันไม่ ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับความเห็นของบุคฮาริน2ทุกประการ. เมื่อวิเคราะห์การปฏิวัติฝรั่งเศส พวกเขาก็จะเห็นว่า, ก่อนหน้าการปฏิวัติ ฐานันดรที่ ๓ ซึ่งประกอบขึ้นโดยกรรมกร, ชาวนาและชนชั้นนายทุนนั้น ก็มีความแตกต่างกัน หามีความขัดแย้งกันไม่. ความเข้าใจของสำนักเดโบรินทำนองนี้เป็นความเข้าใจที่ขัดกับลัทธิมาร์กซ. พวกเขาไม่เข้าใจว่า ในความแตกต่างแต่ละอย่างในโลกมีความขัดแย้งอยู่แล้วทั้งนั้น, ความแตกต่างก็คือความขัดแย้ง. ระหว่างกรรมกรกับนายทุน, นับตั้งแต่ชนชั้นทั้งสองนี้เกิดขึ้นเป็นต้นมา ก็มีความขัดแย้งกัน, เพียงแต่ยังไม่รุนแรงขึ้นเท่านั้นเอง. ระหว่างกรรมกรกับชาวนา, แม้กระทั่งภายใต้เงื่อนไขทางสังคมของสหภาพโซเวียต ก็มีความแตกต่างกัน และความแตกต่างระหว่างสองชนชั้นนี้ก็คือความขัดแย้ง เพียงแต่ว่าความขัดแย้งนี้ไม่รุนแรงจนกลายเป็นปฏิปักษ์กันและไม่ใช้รูปการต่อสู้ทางชนชั้นเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับความขัดแย้งระหว่างกรรมกรกับนายทุน; กรรมกรกับชาวนา ได้ก่อรูปขึ้นเป็นพันธมิตรที่มั่นคงในการสร้างสรรค์สังคมนิยม, และค่อย ๆ แก้ความขัดแย้งนี้ให้ตกไปในกระบวนการแห่งการพัฒนาจากสังคมนิยมไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์. นี่เป็นปัญหาลักษณะแตกต่างกันของความขัดแย้ง ไม่ใช่ปัญหามีหรือไม่มีความขัดแย้ง. ความขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งทั่วไปและสัมบูรณ์, ดำรงอยู่ในกระบวนการทั้งปวงแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง, และซึมซ่านอยู่ในกระบวนการทั้งปวงตั้งแต่ต้นจนจบ.
การเกิดขึ้นของกระบวนการใหม่คืออะไร? คือเอกภาพอันเก่าและส่วนตรงกันข้ามที่ประกอบขึ้นเป็นเอกภาพนี้สละตำแหน่งให้แก่เอกภาพอันใหม่และส่วนตรงกันข้ามที่ประกอบขึ้นเป็นเอกภาพนี้ ดังนั้น กระบวนการใหม่จึงเกิดขึ้นแทนที่กระบวนการเก่า. กระบวนการเก่าเป็นอันสิ้นสุดลง และกระบวนการใหม่เกิดขึ้น. กระบวนการใหม่ก็มีความขัดแย้งใหม่ และเริ่มประวัติการพัฒนาของความขัดแย้งของมันเองอีก.
เลนินได้ชี้ให้เห็นว่า มาร์กได้ทำการวิเคราะห์อย่างเป็นแบบอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันตั้งแต่ต้นจนจบ ในกระบวนการแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่งไว้ในหนังสือเรื่อง “ทุน”. นี่เป็นวิธีการที่จะต้องใช้ในการค้นคว้ากระบวนการแห่งการพัฒนาของทุก ๆ สิ่ง. เลนินเองก็ได้ใช้วิธีการนี้อย่างถูกต้องในนิพนธ์ทั้งหมดของท่านโดยตลอด.
“ในหนังสือเรื่อง ‘ทุน’ ก่อนอื่นมาร์กซได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่ง่ายที่สุด ธรรมดาที่สุด พื้นฐานที่สุด เห็นได้บ่อยที่สุดและ
สามัญที่สุด ซึ่งพบเห็นได้นับล้าน ๆ ครั้ง ในสังคมชนชั้นนายทุน (สังคมสินค้า) นั่นคือ การแลกเปลี่ยนสินค้า. การวิเคราะห์นี้ได้
เปิดโปงความขัดแย้งทั้งปวง (ตลอดจนหน่อของความขัดแย้งทั้งปวง) ของสังคมยุคปัจจุบันในปรากฏการณ์ที่ง่ายที่สุดนี้ (ใน
‘เซลล์’ ของสังคมชนชั้นนายทุนนี้). การบรรยายในตอนต่อไปก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนจบ (ทั้งการ
เพิ่มพูนและการเคลื่อนไหว) ของความขัดแย้งเหล่านี้และยอดรวมของส่วนต่าง ๆ ของสังคมนี้.”
หลังจากได้กล่าวถึงข้อความข้างต้นแล้ว เลนินก็กล่าวต่อไปว่า “นี่ควรจะเป็นวิธีการบรรยาย (และการค้นคว้า)...แบบวิภาษวิธีทั่วไป.”๙
ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องเรียนรู้วิธีการนี้ จึงจะสามารถวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และสภาพปัจจุบันแห่งการปฏิวัติของจีน และอนุมานอนาคตแห่งการปฏิวัติได้.