๕. ลักษณะอย่างเดียวกันกับลักษณะต่อสู้
ของด้านต่าง ๆ ของความขัดแย้ง
เมื่อเข้าใจปัญหาลักษณะทั่วไปกับลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งแล้ว เราจะต้องก้าวไปสู่การค้นคว้าปัญหาลักษณะอย่างเดียวกันกับลักษณะต่อสู้ของด้านต่าง ๆ ของความขัดแย้ง.
ลักษณะอย่างเดียวกัน ลักษณะเอกภาพ ลักษณะตรงกัน, การแทรกซึมกัน การบรรลุสู่กัน การพึ่งพาอาศัยกัน (หรือการดำรงอยู่โดยอาศัยกัน) การเกี่ยวพันกัน หรือการร่วมมือกัน, คำที่ต่างกันเหล่านี้มีความหมายอย่างเดียวกันทั้งสิ้น ซึ่งหมายถึงสภาพ ๒ อย่างดังต่อไปนี้ คือ ประการแรก ด้าน ๒ ด้านของความขัดแย้งแต่ละชนิดในกระบวนการแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง ต่างถือเอาด้านตรงกันข้ามกับตนเป็นเงื่อนไขเบื้องแรกในการดำรงอยู่ของตน และทั้งสองด้านต่างก็อยู่ร่วมกันในองค์เอกภาพอันเดียวกัน; ประการที่สอง ด้าน ๒ด้านที่ขัดแย้งกัน ต่างแปรเปลี่ยนไปสู่ด้านตรงกันข้ามกับตนโดยอาศัยเงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ. เหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่าลักษณะอย่างเดียวกัน.
เลนินกล่าวว่า:
“วิภาษวิธีคือคำสอนที่ค้นคว้าว่า ความเป็นปรปักษ์สามารถเป็นอย่างเดียวกันได้อย่างไร และกลายเป็นอย่างเดียวกัน
อย่างไร (เปลี่ยนเป็นอย่างเดียวกันอย่างไร)—มันแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกันและกลายเป็นอย่างเดียวกันภายใต้เงื่อนไข
อย่างไร—เหตุใดสมองของคนเราจึงไม่ควรถือว่าความเป็นปรปักษ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ตายตัวหรือแข็งตัว, หากควรถือว่าเป็นสิ่งที่มี
ชีวิตชีวา มีเงื่อนไข เปลี่ยนแปลงได้ และแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกัน.”๑๖
คำพูดของเลนินตอนนี้หมายความว่ากะไร?
ด้านต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันในกระบวนการทั้งปวงนั้น ที่จริงต่างผลักไสซึ่งกันและกัน ต่อสู้กัน และเป็นปรปักษ์กัน. ในกระบวนการของสิ่งทั้งปวงในโลกและในความคิดของคนเรา, ล้วนมีแต่ด้านที่มีลักษณะขัดแย้งเช่นนี้อยู่โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น. กระบวนการที่ง่าย ๆ มีความขัดแย้งเพียงคู่เดียว ส่วนกระบวนการที่สลับซับซ้อนนั้นมีความขัดแย้งมากกว่าหนึ่งคู่ขึ้นไป. ระหว่างความขัดแย้งแต่ละคู่ ก็ยังขัดแย้งกันอีก. เหล่านี้แหละที่ประกอบขึ้นเป็นสิ่งทั้งปวงในโลกภววิสัยและความคิดของคนเรา และผลักดันให้มันเกิดการเคลื่อนไหว.
เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็ไม่เป็นอย่างเดียวกันอย่างยิ่ง ไม่เป็นเอกภาพกันอย่างยิ่ง ไฉนจึงพูดว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือเป็นเอกภาพกันเล่า?
แท้ที่จริงด้านต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่นั้นจะดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้. ถ้าปราศจากด้านของความขัดแย้งที่เป็นคู่ของมันแล้ว ด้านของมันเองก็จะสูญเสียเงื่อนไขที่จะดำรงอยู่. ลองคิดดูว่า สิ่งที่ขัดแย้งกันทั้งปวงหรือจินตภาพที่ขัดแย้งกันในใจของคนเรานั้น ด้านใดก็ตามจะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเป็นอิสระหรือ? ไม่มีการเกิดก็ไม่มีการตาย ไม่มีการตายก็ไม่มีการเกิด. ไม่มีข้างบนก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าข้างล่าง ไม่มีข้างก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าข้างบน. ไม่มีความวิบัติก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความผาสุก ไม่มีความผาสุกก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความวิบัติ. ไม่มีความราบรื่นก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความยากลำบาก ไม่มีความยากลำบากก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความราบรื่น. ไม่มีเจ้าที่ดินก็ไม่มีลูกนา ไม่มีลูกนาก็ไม่มีเจ้าที่ดิน. ไม่มีชนชั้นนายทุนก็ไม่มีชนชั้นกรรมาชีพ ไม่มีชนชั้นกรรมาชีพก็ไม่มีชนชั้นนายทุน. ไม่มีการกดขี่ทางประชาชาติของจักรพรรดินิยมก็ไม่มีเมืองขึ้นและกึ่งเมืองขึ้น ไม่มีเมืองขึ้นและกึ่งเมืองขึ้นก็ไม่มีการกดขี่ทางประชาชาติของจักรพรรดินิยม. ส่วนที่ตรงกันข้ามทั้งปวงเป็นเช่นนี้ทั้งสิ้น เนื่องจากเงื่อนไขที่แน่นอน ด้านหนึ่งเป็นปรปักษ์กัน อีกด้านหนึ่งก็เกี่ยวพันกัน บรรลุสู่กัน แทรกซึมกันและพึ่งพาอาศัยกัน ลักษณะชนิดนี้เรียกว่าลักษณะอย่างเดียวกัน. ด้านที่ขัดแย้งกันทั้งปวงก็ล้วนแต่เพียบพร้อมด้วยลักษณะไม่เป็นอย่างเดียวกันเพราะเงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ, ดังนั้นจึงเรียกว่าความขัดแย้ง. แต่ก็เพียบพร้อมด้วยลักษณะอย่างเดียวกัน ดังนั้นจึงเกี่ยวพันกัน. ที่เลนินกล่าวว่าวิภาษวิธีค้นคว้า “ความเป็นปรปักษ์สามารถเป็นอย่างเดียวกันได้อย่างไร” นั้น ก็หมายถึงสภาพเช่นนี้นั่นเอง. จะเป็นได้อย่างไร? เป็นได้เพราะต่างเป็นเงื่อนไขในการดำรงอยู่ของกันและกัน. นี่คือความหมายประการแรกของลักษณะอย่างเดียวกัน.
แต่เพียงกล่าวว่าด้าน ๒ ด้านของความขัดแย้งเป็นเงื่อนไขในการดำรงอยู่ของกันและกัน ระหว่างด้านทั้งสองมีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงอยู่ร่วมกันได้ในองค์เอกภาพอันเดียวกันเช่นนี้ เป็นการเพียงพอแล้วหรือ? ยังไม่เพียงพอ. เรื่องมิใช่หมดกันเพียงแค่ว่าด้าน ๒ ด้านของความขัดแย้งดำรงอยู่โดยอาศัยกันเท่านั้น ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ยังอยู่ที่การแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกันของสรรพสิ่งซึ่งขัดแย้งกัน. หมายความว่า ด้าน ๒ ด้านที่ขัดแย้งกันของภายในของสรรพสิ่งต่างแปรเปลี่ยนไปสู่ด้านที่ตรงกันข้ามกับตน แปรเปลี่ยนไปสู่ฐานะที่ด้านตรงกันข้ามของมันครองอยู่เพราะเงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ นี่คือความหมายประการที่สองของลักษณะอย่างเดียวกันของความขัดแย้ง.
เหตุใดในที่นี้จึงมีลักษณะอย่างเดียวกันด้วยเล่า? ท่านทั้งหลายโปรดดูเถิด ชนชั้นกรรมาชีพซึ่งถูกปกครองแปรเปลี่ยนเป็นผู้ครองอำนาจโดยผ่านการปฏิวัติ ชนชั้นนายทุนซึ่งเดิมเป็นผู้ครองอำนาจกลับแปรเปลี่ยนเป็นผู้ถูกปกครอง แปรเปลี่ยนไปสู่ฐานะที่เดิมทีฝ่ายตรงกันข้ามครองอยู่. ในสหภาพโซเวียตได้ทำเช่นนี้แล้ว ทั่วโลกก็จะทำเช่นนี้เช่นเดียวกัน. ขอถามว่า ถ้าไม่มีความสัมพันธ์และลักษณะอย่างเดียวกันในระหว่างสิ่งเหล่านี้ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ แล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้อย่างไร?
พรรคก๊กมินตั๋งซึ่งเคยมีบทบาทเอาการเอางานบางอย่างในขั้นที่แน่นอนขั้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของจีนนั้น ได้แปรเปลี่ยนเป็นฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติภายหลังปี ๑๙๒๗ เพราะลักษระชนชั้นที่มีอยู่เดิมของมันและการล่อใจของจักรพรรดินิยม (เหล่านี้คือเงื่อนไข) และพรรคนี้ได้ถูกบังคับให้เห็นด้วยกับการต่อต้านญี่ปุ่นเพราะความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นแหลมคมขึ้นและเพราะนโยบายแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์ (เหล่านี้คือเงื่อนไข). การที่สิ่งที่ขัดแย้งกันเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งนั้น ก็ด้วยมีลักษณะอย่างเดียวกันที่แน่นอนอยู่ในนั้น.
การปฏิวัติที่ดินที่เราดำเนินมาแล้ว ได้เป็นและก็ยังจะเป็นกระบวนการดังนี้ คือ ชนชั้นเจ้าที่ดินซึ่งมีที่ดินแปรแปลี่ยนเป็นชนชั้นที่สูญเสียที่ดิน ส่วนชาวนาซึ่งเคยสูญเสียที่ดินกลับแปรเปลี่ยนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลขนาดย่อมที่ได้ที่ดิน. ระหว่างการมีกับการไม่มี การได้กับการเสีย มีความเกี่ยวพันกันเพราะเงื่อนไขที่แน่นอน ด้านทั้งสองจึงมีลักษณะอย่างเดียวกัน. ภายใต้เงื่อนไขสังคมนิยม ระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของชาวนาก็จะแปรเปลี่ยนเป็นระบอบกรรมสิทธิ์สาธารณะแห่งเกษตรกรรมสังคมนิยมอีก สหภาพโซเวียตได้ทำเช่นนี้แล้ว ทั่วโลกก็จะทำเช่นนี้ในอนาคตเช่นเดียวกัน. จากทรัพย์สินส่วนบุคคลมีสะพานทอดไปสู่ทรัพย์สินส่วนสาธารณะ ซึ่งในทางปรัชญาเรียกว่าลักษณะอย่างเดียวกัน หรือการแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกัน หรือการแทรกซึมกัน.
การเสริมความมั่นคงให้แก่เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพหรือเผด็จการประชาชนนั้น ก็เพื่อเตรียมเงื่อนไขที่จะยกเลิกเผด็จการชนิดนี้และก้าวไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นไปอีกซึ่งระบอบรัฐทุกระบอบถูกทำลายไปแล้ว. การก่อตั้งและการขยายพรรคคอมมิวนิสต์นั้น ก็เพื่อเตรียมเงื่อนไขที่จะทำลายพรรคคอมมิวนิสต์และระบอบพรรคการเมืองทั้งปวง. การสร้างกองทัพปฏิวัติที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์และดำเนินสงครามปฏิวัตินั้น ก็เพื่อเตรียมเงื่อนไขที่จะทำลายสงครามไปชั่วนิรันดร. สิ่งที่ตรงกันข้ามกันจำนวนมากเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ประกอบซึ่งกันและกันด้วย.
ทุกคนรู้แล้วว่า สงครามกับสันติภาพแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกัน. สงครามแปรเปลี่ยนเป็นสันติภาพ เช่น สงครามโลกครั้งที่ ๑ แปรเปลี่ยนเป็นสันติภาพหลังสงคราม สงครามกลางเมืองของจีนเวลานี้ก็ยุติลงแล้ว และได้ปรากฏสันติภาพขึ้นภายในประเทศ. สันติภาพแปรเปลี่ยนเป็นสงคราม เช่น การร่วมมือระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์แปรเปลี่ยนเป็นสงครามเมื่อปี ๑๙๒๗ และสถานการณ์สันติภาพของโลกปัจจุบันก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้. เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้? เพราะว่าในสังคมชนชั้น สงครามกับสันติภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันนี้ มีลักษณะอย่างเดียวกันภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ.
สิ่งที่ขัดแย้งกันทั้งปวงมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน มันไม่เพียงแต่อยู่ร่วมกันในองค์เอกภาพอันเดียวกันภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ เท่านั้น หากยังแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกันภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ ด้วย นี่คือความหมายทั้งหมดของลักษณะอย่างเดียวกันของความขัดแย้ง. ที่เลนินกล่าวว่า “กลายเป็นอย่างเดียวกันอย่างไร (เปลี่ยนเป็นอย่างเดียวกันอย่างไร)—มันแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกันและกลายเป็นอย่างเดียวกันภายใต้เงื่อนไขอย่างไร” นั้น ก็คือความหมายอันนี้นี่เอง.
“เหตุใดสมองของคนเราจึงไม่ควรถือว่าความเป็นปรปักษ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ตายตัวหรือแข็งตัว หากควรถือว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวา มีเงื่อนไข เปลี่ยนแปลงได้ และแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกัน”? เพราะว่าสรรพสิ่งทางภววิสัยนั้นที่จริงก็เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว. เอกภาพหรือลักษณะอย่างเดียวกันของด้านต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกันในสรรพสิ่งทางภววิสัยนั้น ที่จริงมิใช่สิ่งที่ตายตัวหรือแข็งตัว หากเป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวา มีเงื่อนไข เปลี่ยนแปลงได้, เป็นอยู่ชั่วคราวและสัมพัทธ์ ความขัดแย้งทั้งปวงล้วนแต่แปรเปลี่ยนไปสู่ด้านตรงกันข้ามของมันโดยเงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ. สภาพการณ์เช่นนี้ เมื่อสะท้อนเข้ามาในความคิดของคนเรา ก็กลายเป็นโลกทรรศน์วิภาษวิธีวัตถุนิยมแห่งลัทธิมาร์กซ. มีแต่ชนชั้นปกครองปฏิกิริยาในปัจจุบันและในประวัติศาสตร์ตลอดจนอภิปรัชญาซึ่งรับใช้ชนชั้นเหล่านี้เท่านั้นที่ไม่มองสรรพสิ่งตรงกันข้ามเป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวา มีเงื่อนไข, เปลี่ยนแปลงได้ และแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกัน หากมองเป็นสิ่งที่ตายตัวและแข็งตัว ทั้งนำเอาทรรศนะผิด ๆ ชนิดนี้ไปโฆษณาชวนเชื่อทั่วทุกหนทุกแห่ง หลอกมวลประชาชนให้หลงเชื่อ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในการให้มันได้ปกครองต่อไป. ภาระหน้าที่ของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ก็คือ เปิดโปงความคิดที่ผิดของพวกปฏิกิริยาและอภิปรัชญา โฆษณาวิภาษวิธีซึ่งมีอยู่ในสรรพสิ่งมาแต่เดิม ส่งเสริมการแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่ง, เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายแห่งการปฏิวัติ.
ที่เรียกว่าลักษณะอย่างเดียวกันของความขัดแย้งภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ นั้น หมายความว่า ความขัดแย้งที่เรากล่าวถึงนั้นเป็นความขัดแย้งที่เป็นจริง เป็นความขัดแย้งรูปธรรม และการแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกันของความขัดแย้งก็เป็นสิ่งที่เป็นจริงและเป็นรูปธรรมด้วย. การเปลี่ยนแปลงจำนวนมากในเทพนิยาย เช่น “ควาฟู่ไล่ตามดวงอาทิตย์” ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “ซานไห่จิง”๑๗ “ยี่ยิงดวงอาทิตย์ ๙ ดวง” ที่กล่าวไว้ในเรื่อง “หวายหนานจื่อ”๑๘ เห้งเจียแปลงกายได้ ๗๒ อย่างที่กล่าวไว้ในเรื่อง “ไซอิ๋ว”๑๙ และนิยายมากมายเกี่ยวกับภูตผีและปีศาจฮู่ลี้แปลงกายเป็นคนในเรื่อง “นิทานประหลาดจากเหลียวจาย”๒๐ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงไปสู่กันและกันของความขัดแย้งที่กล่าวไว้ในเทพนิยายเหล่านี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไร้เดียงสา ที่เกิดจากจินตนาการและที่นึกฝันเอาอย่างอัตวิสัยอันเป็นผลซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่กันและกันของความขัดแย้งที่เป็นจริงสลับซับซ้อนอันสุดจะคณนาได้ก่อให้เกิดขึ้นในใจของคนเรา หาใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่แสดงออกโดยความขัดแย้งรูปธรรมไม่. มาร์กซกล่าวว่า “เทพนิยายใด ๆ ก็ตามล้วนแต่พิชิตพลังธรรมชาติ, ครอบงำพลังธรรมชาติและทำให้พลังธรรมชาติเป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยจินตนาการและโดยอาศัยจินตนาการ; ดังนั้น เมื่อใดพลังธรรมชาติเหล่านี้ถูกครอบงำในทางเป็นจริง เมื่อนั้นเทพนิยายก็สูญสิ้นตามไปด้วย.”๒๑ แม้ว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงร้อยแปดพันอย่างในเทพนิยาย (และในนิทานสำหรับเด็กด้วย) เหล่านี้ สามารถจะดึงดูดความนิยมชมชอบของคนทั้งหลายเพราะมันได้สร้างจินตนาการที่มนุษย์พิชิตพลังธรรมชาติ ฯลฯ และทั้งเทพนิยายที่ยอดเยี่ยมก็มี “เสน่ห์ชั่วกาลปาวสาน” (มาร์กซ) ก็ตาม แต่เทพนิยายก็มิใช่ประกอบขึ้นโดยอาศัยเงื่อนไขที่แน่นอนของความขัดแย้งรูปธรรม ฉะนั้น มันจึงมิใช่เป็นการสะท้อนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของความเป็นจริง. ทั้งนี้หมายความว่า ด้านต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นจากความขัดแย้งในเทพนิยายหรือนิทานสำหรับเด็กนั้น มิใช่เป็นลักษณะอย่างเดียวกันที่เป็นรูปธรรม หากเป็นเพียงลักษณะอย่างเดียวกันที่เพ้อฝันเท่านั้น. สิ่งที่สะท้อนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในลักษณะอย่างเดียวกันของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงนั้น คือวิภาษวิธีแห่งลัทธิมาร์กซ.
เหตุใดไข่ไก่จึงแปรเปลี่ยนเป็นลูกไก่ได้ แต่ถ้าก้อนหินแปรเปลี่ยนเป็นลูกไก่ไม่ได้? เหตุใดสงครามกับสันติภาพจึงมีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่สงครามกับก้อนหินไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน? เหตุใดคนจึงออกลูกเป็นคน แต่ออกลูกเป็นสิ่งอื่นไม่ได้? มิใช่อะไรอื่น หากเป็นเพราะลักษณะอย่างเดียวกันของความขัดแย้งจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอันจำเป็นที่แน่นอนหนึ่ง ๆ. ถ้าขาดเงื่อนไขอันจำเป็นที่แน่นอนหนึ่ง ๆ แล้ว ก็จะไม่มีลักษณะอย่างเดียวกันใด ๆ เลย.
เหตุใดในรัสเซียการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนเดือนกุมภาพันธ์ปี ๑๙๑๗ จึงเชื่อมโยงโดยตรงกับการปฏิวัติสังคมนิยมชนชั้นกรรมาชีพเดือนตุลาคมปีเดียวกัน แต่การปฏิวัติชนชั้นนายทุนของฝรั่งเศสจึงมิได้เชื่อมโยงโดยตรงกับการปฏิวัติสังคมนิยม และคอมมูนปารีส4ปี ๑๘๗ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด? เหตุใดระบอบเร่ร่อนเลี้ยงปศุสัตว์ของมองโกเลียและเอเซียกลางจึงได้เชื่อมโยงโดยตรงกับสังคมนิยม? เหตุใดการปฏิวัติของจีนจึงหลีกเลี่ยงอนาคตที่เป็นทุนนิยมและเชื่อมโยงโดยตรงกับสังคมนิยมได้ โดยไม่ต้องเดินหนทางเก่าแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตกและไม่ต้องผ่านระยะเผด็จการชนชั้นนายทุนระยะหนึ่ง? มิใช่อะไรอื่น ล้วนแต่เนื่องจากเงื่อนไขรูปธรรมในเวลานั้น. เมื่อเงื่อนไขอันจำเป็นที่แน่นอนพรักพร้อมแล้ว กระบวนการแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่งก็เกิดความขัดแย้งที่แน่นอนหนึ่ง ๆ ขึ้น และความขัดแย้งชนิดนี้หรือเหล่านี้ก็ดำรงอยู่โดยอาศัยกัน ทั้งแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกันด้วย มิฉะนั้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปไม่ได้.
ปัญหาลักษณะอย่างเดียวกันเป็นเช่นนี้. ถ้าเช่นนั้น, ลักษณะต่อสู้คืออะไร? และความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะอย่างเดียวกันกับลักษณะต่อสู้เป็นอย่างไร?
เลนินกล่าวว่า:
“เอกภาพ (ความตรงกัน ความเป็นอย่างเดียวกัน การรวมกัน) ของด้านตรงกันข้ามนั้นเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไข, ชั่วขณะ เป็นไป
ชั่วคราวและสัมพัทธ์. การต่อสู้ของด้านตรงกันข้ามที่ผลักไสซึ่งกันและกันนั้นเป็นสิ่งสัมบูรณ์, เช่นเดียวกับที่การพัฒนาและการ
เคลื่อนไหวเป็นสิ่งสัมบูรณ์ฉะนั้น.”๒๒
คำพูดของเลนินตอนนี้หมายความว่ากะไร?
กระบวนการทั้งปวงล้วนแต่มีการเริ่มต้นและการสิ้นสุด, กระบวนการทั้งปวงล้วนแต่แปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับมัน. ลักษณะคงตัวของกระบวนการทั้งปวงเป็นสิ่งสัมพัทธ์, แต่ลักษณะแปรปรวนที่แปรเปลี่ยนจากกระบวนการหนึ่งเป็นอีกกระบวนการหนึ่งนั้นเป็นสิ่งสัมบูรณ์.
ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของสิ่งใด ล้วนแต่ดำเนินไปในภาวะ ๒ ชนิด คือ ภาวะที่หยุดนิ่งอย่างสัมพัทธ์กับภาวะที่ปรวนแปรอย่างเด่นชัด. การเคลื่อนไหวของภาวะทั้งสองชนิดนี้ล้วนแต่เกิดจากการต่อสู้กันของปัจจัยที่ขัดแย้งกัน ๒ อย่างซึ่งมีอยู่ภายในสรรพสิ่ง. ในเวลาที่การเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งอยู่ในภาวะชนิดที่หนึ่ง มันก็เปลี่ยนแปลงแต่ทางปริมาณ หาได้เปลี่ยนแปลงทางคุณภาพไม่ ฉะนั้น จึงปรากฏออกมาในรูปโฉมที่คล้ายกับหยุดนิ่ง. ในเวลาที่การเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งอยู่ในภาวะชนิดที่สอง มันก็ก้าวจากการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณในภาวะชนิดที่หนึ่งไปสู่จุดสุดยอดจุดใดจุดหนึ่ง ทำให้สิ่งเอกภาพแยกตัว เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ ฉะนั้น จึงปรากฏออกมาในรูปโฉมที่เปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด. สิ่งที่เราเห็นกันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น เอกภาพ ความสามัคคี การร่วมกัน การปรองดองกัน ความสมดุล การตรึงกัน การยันกัน การหยุดนิ่ง ความคงตัว ความสม่ำเสมอ การเกาะตัว ความดึงดูด ฯลฯ นั้น ล้วนแต่เป็นรูปโฉมที่ปรากฏให้เห็นของสรรพสิ่งที่อยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ. ส่วนการแยกตัวของสิ่งเอกภาพ, นัยหนึ่ง การที่ภาวะต่าง ๆ เช่น ความสามัคคี การร่วมกัน การปรองดองกัน ความสมดุล การตรึงกัน การยันกัน การหยุดนิ่ง ความคงตัว ความสม่ำเสมอ การเกาะตัว ความดึงดูด ฯลฯ ถูกทำลายไปและเปลี่ยนไปเป็นภาวะที่ตรงกันข้ามนั้น ล้วนแต่เป็นรูปโฉมที่ปรากฏให้เห็นของสรรพสิ่งที่อยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ ที่อยู่ในการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านจากกระบวนการหนึ่งไปสู่อีกกระบวนการหนึ่ง. สรรพสิ่งย่อมแปรเปลี่ยนจากภาวะชนิดที่หนึ่งไปสู่ภาวะชนิดที่สองอยู่เรื่อย ๆ อย่างไม่ขาดสาย แต่การต่อสู้ของความขัดแย้งนั้นมีอยู่ในภาวะทั้งสองและบรรลุการแก้ความขัดโดยผ่านภาวะชนิดที่สอง. ดังนั้นจึงกล่าวว่า เอกภาพของด้านตรงกันข้ามนั้นเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไข, เป็นไปชั่วคราวและสัมพัทธ์ ส่วนการต่อสู้ที่กีดกันซึ่งกันและกันของด้านตรงกันข้ามนั้นเป็นสิ่งสัมบูรณ์.
เราได้กล่าวในข้างต้นแล้วว่า ระหว่างสิ่งตรงกันข้าม ๒ สิ่งมีลักษณะอย่างเดียวกัน ดังนั้น สิ่งทั้งสองจึงอยู่ร่วมกันในองค์เอกภาพอันเดียวกันได้ และสามารถแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกันได้ ทั้งนี้หมายถึงลักษณะเงื่อนไข กล่าวคือ ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ สิ่งที่ขัดแย้งกันเป็นเอกภาพกันได้ และแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกันได้ด้วย; ถ้าปราศจากเงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ นี้แล้ว ก็ไม่อาจจะประกอบขึ้นเป็นความขัดแย้งได้ ไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้ และก็ไม่อาจจะแปรเปลี่ยนได้. เนื่องจากมีเงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ จึงประกอบขึ้นเป็นลักษณะอย่างเดียวกันของความขัดแย้งได้ ฉะนั้นจึงกล่าวว่า ลักษณะอย่างเดียวกันนั้นเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไขและสัมพัทธ์. ในที่นี้เราก็กล่าวอีกว่า การต่อสู้ของความขัดแย้งซึมซ่านอยู่ในกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ และทำให้กระบวนการหนึ่งแปรเปลี่ยนไปสู่อีกกระบวนการหนึ่ง การต่อสู้ของความขัดแย้งมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง, ฉะนั้นจึงกล่าวว่า ลักษณะต่อสู้ของความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่มีเงื่อนไขและสัมบูรณ์.
การประสานกันเข้าระหว่างลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งมีเงื่อนไขและสัมพัทธ์กับลักษณะต่อสู้ซึ่งไม่มีเงื่อนไขและสัมบูรณ์นั้น ประกอบขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันในสิ่งทั้งปวง.
ชาวจีนเรามักจะพูดกันเสมอว่า “ตรงกันข้ามและประกอบซึ่งกันและกัน.”๒๓ ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งที่ตรงกันข้ามกันมีลักษณะอย่างเดียวกัน. คำ ๆ นี้เป็นวิภาษวิธี และขัดกับอภิปรัชญา. “ตรงกันข้ามกัน” นั้นหมายความว่า ด้านที่ขัดแย้งกัน ๒ ด้านผลักไสซึ่งกันและกันหรือต่อสู้กัน. “ประกอบซึ่งกันและกัน” นั้นหมายความว่า ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ, ด้านที่ขัดแย้งกัน ๒ ด้านเกี่ยวพันกัน และได้มาซึ่งลักษณะอย่างเดียวกัน. และลักษณะต่อสู้ก็แฝงอยู่ในลักษณะอย่างเดียวกัน, ถ้าปราศจากลักษณะต่อสู้ ก็จะไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน.
ในลักษณะอย่างเดียวกันมีลักษณะต่อสู้ ในลักษณะเฉพาะมีลักษณะทั่วไป ในลักษณะจำเพาะมีลักษณะร่วม. กล่าวตามคำของเลนินก็คือ “ในสิ่งสัมพัทธ์มีสิ่งสัมบูรณ์”.๒๔