๗. ข้อสรุป
เมื่อกล่าวถึงตอนนี้ เราก็อาจจะกล่าวโดยสรุปด้วยคำพูดสั้น ๆ ได้. กฎแห่งความขัดแย้งในสรรพสิ่ง นัยหนึ่งกฎแห่งความเป็นเอกภาพของด้านตรงกันข้าม เป็นกฎมูลฐานของธรรมชาติและสังคม ดังนั้นจึงเป็นกฎมูลฐานของการคิดด้วย. มันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับโลกทรรศน์อภิปรัชญา. มันเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประวัติความรับรู้ของมนุษยชาติ. ตามทรรศนะของวัตถุนิยมวิภาษ ความขัดแย้งมีอยู่ในกระบวนการทั้งปวงของสรรพสิ่งทางภววิสัยและการคิดทางอัตวิสัย ความขัดแย้งซึมซ่านอยู่ในกระบวนการทั้งปวงตั้งแต่ต้นจนจบ นี่คือลักษณะทั่วไปและลักษณะสัมบูรณ์ของความขัดแย้ง. สิ่งที่ขัดแย้งกันและแต่ละด้านของมันต่างมีลักษณะพิเศษของมันเอง นี่คือลักษณะเฉพาะและลักษณะสัมพัทธ์ของความขัดแย้ง. สิ่งที่ขัดแย้งกันมีลักษณะอย่างเดียวกันโดยอาศัยเงื่อนไขที่แน่นอนหนึ่ง ๆ ฉะนั้นจึงอยู่ร่วมกันในองค์เอกภาพอันเดียวกันได้ และต่างแปรเปลี่ยนไปสู่ด้านตรงกันข้ามได้ นี่ก็เป็นลักษณะเฉพาะและลักษณะสัมพัทธ์ของความขัดแย้งอีกเช่นเดียวกัน. แต่การต่อสู้ของความขัดแย้งเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าในเวลาที่มันอยู่ร่วมกันหรือในเวลาที่มันแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกัน ล้วนแต่มีการต่อสู้ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่มันแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกันนั้น การแสดงออกของการต่อสู้ยิ่งเด่นชัด นี่ก็เป็นลักษณะทั่วไปและลักษณะสัมบูรณ์ของความขัดแย้งอีกเช่นเดียวกัน. ในเวลาที่ค้นคว้าลักษณะเฉพาะและลักษณะสัมพัทธ์ของความขัดแย้ง เราจะต้องสนใจความแตกต่างระหว่างความขัดแย้งหลักกับความขัดแย้งที่มิใช่เป็นหลักและระหว่างด้านหลักของความขัดแย้งกับด้านที่มิใช่เป็นหลักของความขัดแย้ง; ในเวลาที่ค้นคว้าลักษณะทั่วไปและลักษณะต่อสู้ของความขัดแย้ง เราจะต้องสนใจในความแตกต่างระหว่างรูปแบบการต่อสู้ที่ต่างกันนานาชนิดของความขัดแย้ง; มิฉะนั้นก็จะเกิดความผิดพลาดขึ้น. ถ้าเราได้เข้าใจจุดสำคัญดังกล่าวเหล่านี้อย่างแท้จริงโดยผ่านการค้นคว้าแล้ว, เราก็จะสามารถทำลายความคิดลัทธิคัมภีร์ซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ-เลนินและไม่เป็นผลดีแก่ภารกิจปฏิวัติของเรา; และก็จะสามารถทำให้สหายที่มีความจัดเจนสะสางความจัดเจนของตนให้มีลักษณะหลักการและหลีกเลี่ยงการทำความผิดพลาดในลัทธิจัดเจนซ้ำอีก. เหล่านี้คือข้อสรุปคร่าว ๆ บางประการของเราในการค้นคว้ากฎแห่งความขัดแย้ง.