bg-head-3

ตอนที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2488 โดยญี่ปุ่นเป็นผู้แพ้สงคราม และฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และโซเวียตเป็นผู้ชนะ รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้มีการเจรจาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการ ทูตอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพราะไทยต้องการสมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งสาธรณรัฐจีนเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง และอาจใช้สิทธิยับยั้งการเข้าเป็นสมาชิกของไทยได้ รัฐบาลไทยและจีนได้ลงนามใน “สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีน” (Treaty of Amity between The Kingdom of Siam and The Republic of china)สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2489

หลังจากที่ประเทศทั้งสองได้ให้สัตยาบันต่อกันแล้ว สาธารณรัฐจีนได้แต่งตั้งให้นายหลี เทียะเจิง เป็นเอกอัครราชทูตจีนคนแรกประจำประเทศไทย แล้วรัฐบาลไทยได้ส่งนายสงวน ตุลารักษ์ เป็นเอกอัครราชทูตคนแรกประจำสาธารณรัฐจีน ต่อมาเมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐจีนต้องพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและต้องอพยพ รัฐบาลไปตั้งที่ไต้หวันใน พ.ศ. 2492 รัฐบาลไทยยังคงรับรองและมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลสาธารณรัฐจีนจนถึง พ.ศ. 2517

นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงได้ปกครองแผ่นดิน ใหญ่จีนและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ผู้นำของไทยในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทางทหาร รวมทั้งนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มองสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยความหวาดระแวง และหวั่นแกรงว่าจีนจะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์หรือขยายอิทธิพลมาในประเทศไทย อีกทั้งท่าทีและนโยบายของจีนต่อชาวจีนโพ้นทะเล ทำให้รัฐบาลไทยวิตกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะใช้คนจีนในไทยเป็นเครื่องมือ แทรกแซงกิจการภายใน เมื่อจีนยึดครองทิเบตและสนับสนุนเกาหลีเหนือทำสงครามในคาบสมุทรเกาหลีใน พ.ศ. 2493 ทำให้ไทยมองจีนว่าจีนต้องการขยายอิทธิพล ยิ่งเมื่อทราบว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนยอมให้อดีตผู้นำไทย นายปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยทางการเมืองในจีน และประกาศจัดตั้ง เขตปกครองตนเองไท (Tai Autonomous Area) ทางตอนใต้ของมณฑลหยุนหนานใน พ.ศ. 2496 ซึ่งเป็นนโยบายชนกลุ่มน้อยของจีน รัฐบาลไทยก็ยิ่งหวาดระแวงมากยิ่งขึ้นว่าจีนจะเข้ามาแทรกแซงและรุกรานไทย

ดังนั้น นโยบายหลักของรัฐบาลไทยในสมัยนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็คือ เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาและฝักใฝ่ค่ายโลกเสรี เพื่อต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ดังจะเห็นได้จากที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก “องค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ ส.ป.อ. (ซีโต้ – SEATO) ใน พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นองค์การป้องกันร่วมกันในระดับภูมิภาค (Regional Collective Defense) ที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสกัดกั้นและขัดขวางการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์จากสาธารณรัฐ ประชาชนจีน และเวียดนามเหนือ

ในขณะเดียวกันสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศหันไปพึ่งพิง สหภาพโซเวียต เนื่องจากมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เช่นกัน และหวังจะอาศัยความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์จากสหภาพโซเวียตในการ ต่อต้านการปิดล้อมของสหรัฐอเมริกา จีนไม่ต้องการให้มหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่งเข้ามาครอบงำเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของจีน และจีนก็ต้องการมีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาคนี้ด้วย จีนได้ให้การสนับสนุนแก่ขบวนการเวียดมินห์ ของโฮจิมินห์ ซึ่งกำลังต่อสู้กับผรั่งเศสเพื่อเอกราช และจีนได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้มีนโยบายเป็นกลางและไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อจีน แต่ก็ไม่เป็นผล

ต่อมาจีนได้เริ่มปรับนโยบายต่างประเทศต่อประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายใน เอเชีย และแอฟริกาเพื่อแหวกการปิดล้อมของสหรัฐอเมริกา และได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศเอเชีย และแอฟริกา ที่บันดุง อินโดนีเซีย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2498 ในการประชุมครั้งนี้ นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับกรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ รัฐมนตรี ต่างประเทศไทย ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุมที่บันดุง โจวเอินไหลได้แสดงท่าทีเป็นมิตร และได้เสนอหลักปัญจศีลหรือหลัก 5 ประการของการอยู่ร่วมกันโดยสันติ (Peaceful Coexistence) อีกทั้งได้ชี้แจงว่า จีนมิได้มีความประสงค์จะคุกคามไทย

กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ได้บันทึกว่า ได้เคยทำงานร่วมกับโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน 2 ครั้ง คือ ในการประชุมเรื่องเกาหลีที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ พ.ศ. 2497 และครั้งที่ 2 ในการประชุมเอเชีย – แอฟรกาบันดุง อินโดนีเชีย ในระหว่างวันที่ 18 – 24 เมษายน พ.ศ. 2498 “โจวเอินไหลแสดงอัธยาศัยอันดีแก่ข้าพเจ้า เชิญไปรับประทานอาหารค่ำ...รุ่งเช้า ส่งของขวัญมาให้ภริยาข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีหีบบุหรี่ถม จึงส่งไปให้ตอบแทน” ผู้นำของไทยและจีนต่างมีความประทับใจต่อกันและกัน

การพบปะกันระหว่างผู้นำของจีนและของไทยที่บันดุง อินโดนีเซีย ได้ช่วยคลี่คลายความหวาดระแวงระหว่างประเทศทั้งสอง นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มสนใจที่จะติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหาลู่ทางในการลดความขัดแย้งและปรับความสัมพันธ์ อีกทั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2498 สหรัฐอเมริกา ได้เปิดการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระดับเอกอัครราชทูตที่นครเจนีวา เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในเอเชียและการปล่อยเชลยศึกชาวอเมริกัน จากสงครามเกาหลี ทำให้คาดกันว่า การเจรจาอาจนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ผู้นำในวงการต่าง ๆ ของไทยเริ่มรู้สึกว่านโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์และต่อต้านจีนของรัฐบาลอาจไม่ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองระหว่างประเทศ

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสังข์ พัธโนทัย คนสนิท ดำเนินการจัดหาคนที่รู้ภาษาจีนและไว้ใจได้ เพื่อเดินทางไปติดต่อกับจีนอย่างลับ ๆ นายสังข์ได้ติดต่อขอให้ นายอารี ภิรมย์ เพื่อนเก่าซึ่งเคยทำงานฝ่ายหนังสือพิมพ์จีนที่กรมโฆษณาการ นำคณะทูตใต้ดินซึ่งประกอบด้วย นายกรุณา กุศลาสัย และ สมาชิกรัฐสภาอีก 2 คน ซึ่งเป็นคนของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลผิน ชุณหะวัณ ไปจีน โดยมีนายเลื่อน บัวสุวรรณ คนสนิทของพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2498 นายอารี ภิรมย์ และนายกรุณา กุศลาสัย ออกเดินทางไปฮ่องกง โดยมีจดหมายแนะนำตัวจากเพื่อนชาวจีนคนหนึ่งในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นได้เดินทางต่อไปยังมาเก๊า เพื่อหาทางเข้าสู่จีน ต่อมานายอารีได้เดินทางไปยังกวางเจาโดยลำพัง และได้มีโอกาสพบปะกับนายหวงเซิง นายกเทศมนตรีเมืองซัวเถา ซึ่งเคยอยู่เมืองไทยและคุ้นเคยกับนายอารี นายหวงเซิงจึงติดต่อแจ้งข่าวเดินทางของนายอารีต่อนายชิวจี้ ซึ่งเคยทำหนังสือพิมพ์จีนในเมืองไทย และกลับมาประเทศจีนจนได้เป็นอธิปดีกรมกิจการจีนต่างด้าว กระทรวงกิจการจีนโพ้นทะเล

ต่อมานายกรุณา กุศลาสัย ได้เดินทางจากมาเก๊ามาสมทบที่กวางเจา และนายอัมพร สุวรรณบลกับนายสะอิ้ง มารังกูร สมาชิก รัฐสภา ได้เดินทางมาสมทบที่กวางเจา ทางการจีนได้จัดให้ทั้ง 4 เดินทางไปกรุงปักกิ่งในวันที่ 7 ธันวาคม 2498 โดยเป็นแขกของสถาบันการต่างประเทศจีน นายอารี ภิรมย์ ได้เล่าในภายหลังว่า เขาได้ถูกนำตัวไปพบผู้นำจีนหลายคน เช่น เผิงเจิน นายกเทศมนตรีปักกิ่ง เฉียวกวานหวา อธิปดีของกระทรวงต่างประเทศจีน ที่สโมสรกระทรวงต่างประเทศจีน เพราะผู้นำจีนต้องการทราบจุดมุ่งหมายของคณะทูตใต้ดิน นายอารีได้ตอบว่า ผู้นำไทยต้องการติดต่อกับจีนเพื่อหาลู่ทางในการเปิดความสัมพันธ์ในอนาคต และได้รับมอบหมายให้มาแจ้งกับรัฐบาลจีนว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะนำคณะไปร่วมประชุมกึ่งพุทธกาลที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า กลางเดือนธันวาคม และมอบหมายให้นายสังข์และนายเลื่อนเป็นตัวแทนในการติดต่อเอกอัครราชทูตจีน ประจำพม่า เพื่อเจรจาเกี่ยวกับหลักการที่จะติดต่อสร้างสัมพันธไมตรีต่อไป และขอให้ฝ่ายจีนวางหลักการติดต่อและมอบอำนาจให้ทูตจีนประจำพม่าเป็นผู้เจรจา แทนรัฐบาลในครั้งนี้

นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล ได้จัดคณะทูตใต้ดินพบกับเหมาเจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ทำเนียบจงหนานไห่ เหมาเจ๋อตุงกล่าวว่า “ประเทศไทยกับประเทศจีนสามารถแลกเปลี่ยนการค้าและวัฒนธรรมได้ แม้ประเทศจีนจะไม่เจริญนัก แต่ประเทศจีนก็สามารถช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในอุตสาหรรมบางอย่างได้ หากประเทศไทยเห็นว่าเป็นประโยชน์ จีนก็ยินดีช่วย” และคืนวันที่ 21 ธันวาคม 2498 นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหลได้จัดงานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะทูตใต้ดิน และได้กล่าวกับนายอารีว่า “ประตูของประเทศจีนเปิดต้อนรับคนไทยเสมอ” อีกทั้งยังฝากความเคารพและระลึกถึงมาถวายกรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ โดยกล่าวว่า “เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นนักการทูตและรัฐบุรุษทรงพระปรีชาสามารถมาก” คณะทูตใต้ดินได้เดินทางออกจากปักกิ่งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2498

ส่วนการหารือที่พม่าระหว่างฝ่ายไทย ซึ่งประกอบด้วยนายสังข์ พัธโนทัย นายเลื่อน บัวสุวรรณ กับนายเหยาจงหมิง เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่า ได้มีขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง ระหว่างวันที่ 16 – 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 และมีการลงนามในแถลงการณ์ร่วม ซึ่งมิได้เปิดเผยเพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย สาระสำคัญของการแถลงการณ์นั้นมีว่า ประเทศทั้งสองยินดีจะใช้วิธีการและดูกาลเวลาที่เหมาะสมในการส่งเสริมการไปมา หาสู่ ขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมเพื่อนำไปสู่ความสันพันธ์ที่เป็นปรกติ ต่อกันในที่สุด และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรรักษาการติดต่อสัมพันธ์กันไว้อย่างสม่ำเสมอ

ในช่วง 2 ปีต่อมา ระหว่างมกราคม พ.ศ. 2499 ถึง พ.ศ. 2500 ได้มีคณะผู้แทนไทยหลายคณะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเปิดเผย เช่น คณะของนายเทพ โชตินุชิต หัวหน้าพรรคเศรษฐกร พร้อมด้วยผู้แทนราษฎร นักธุรกิจ และนักหนังสือพิมพ์ รวม 12 คนเดินทางไปเยือนจีนในฐานะแขกของสถาบันการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 16 มกราคม – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 คณะผู้แทนศิลปินไทย ซึ่งมีนายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นหัวหน้าคณะ และศิลปินนักแสดง 48 คน อาทิ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, สุพรรณ บูรณพิมพ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, บุญยง เกตุคง เป็นต้น เดินทางไปเปิดการแสดงเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในจีนระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม พ.ศ. 2500 และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวจีนและผู้นำจีนที่เข้ามาชมการแสดง รวมทั้งโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี ต่อมาในเดือนพฤษภาคม นักหนังสือพิมพ์ไทย 9 คน นำโดย นายอิสรา อมันตกุล แห่งหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ไปเยือนจีน และได้พบปะกับโจวเอินไหล กัลยาณมิตรของไทยที่เซี่ยงไฮ้ด้วย นายสังข์ พัธโนทัย ยังได้ส่งบุตรชายและบุตรสาว ด.ช. วรรณไว และด.ญ. นวลนภา พัธโนทัย ไปจีนเพื่อศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน

ในด้านการค้ากับจีน ก็มีการติดต่อกัน นายอารีเปิดเผยว่า ได้รับการขอร้องจาก นายสังข์         พัธโนทัย ให้เดินทางไปจีนอีก ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2499 พร้อมกับนายอุทัย ตุงผลิน ผู้เชี่ยวชาญใบยาสูบของโรงงานยาสูบ และนายประเสริฐ ศิริพิพัฒน์ ผู้แทนจากธนาคารกรุงเทพ เพื่อเจรจาขายใบยาสูบแก่จีน โดยฝ่ายจีนตกลงซื้อใบยาสูบจากไทยเป็นมูลค่า 150 ล้านบาท โดยจ่ายเงินผ่านธนาคารกรุงเทพ สาขาลอนดอน และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2500 รัฐบาลไทยได้ส่งพระยามไหสวรรย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการบริษัทพืชกสิกรรม ซึ่งเป็นบริษัทค้าข้าวที่รัฐบาลมีหุ้นส่วนอยู่ ให้เดินทางไปเจรจาขายข้าวกับจีนอย่างลับ ๆ แต่ตกลงการค้ากับกระทรวงการค้าต่างประเทศจีนไม่ได้ เมื่อนายกรัฐมนตรีโจวเอิไหลทราบ จึงได้สั่งให้รับซื้อเป็นกรณีพิเศษในราคาที่ฝ่ายไทยเสนอมา เพื่อเป็นการ “แสดงน้ำใจแห่งความเป็นมิตร” ซึ่งนับว่าโจวเอินไหลเป็น “กัลยาณมิตร” ของไทย

อย่างไรก็ดี มิตรภาพระหว่างไทยกับจีนก็เผชิญกับอุปสรรคอันหนักหน่วง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจใน พ.ศ. 2501 เพราะถูกยึดอำนาจโดยคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ตึงเครียดขึ้นอีกเพราะจอมพล สฤษดิ์ ดำเนินนโยบายต่อต้านและปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีนโยบายผูกพันกับสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นแฟ้น คนไทยหลายคนที่เคยเดินทางไปเยือนจีนถูกจับกุมในข้อหาฝักฝ่ายคอมมิวนิสต์ นายสังข์ พัธโนทัย ก็ได้ถูกจับกุมขังคุกเช่นเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 53 ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2502 ห้ามการค้าขายติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเด็ดขาด อีกทั้งยังมีประกาศห้ามคนไทยเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนหลัง พ.ศ. 2502 ได้ทวีความตึงเครียดมากขึ้น อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลทหารของไทยได้สนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการทำสงคราม ต่อต้านเวียดนามเหนือ ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนสนับสนุนเวียดนามเหนือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทวีความช่วยเหลือแก่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ซึ่งได้มีการจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2485) มากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้นายมงคล ณ นคร จัดตั้งขบวนการแนวร่วมที่เรียนว่า “ขบวนการไทยอิสระ” (Thai Independent Movement) ที่ปักกิ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 และต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2508 พ.อ. โพยม จุฬานนท์ ได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้ง “แนวร่วมรักชาติไทย” (Thai United Patriotic Front) ขึ้นที่กรุงปักกิ่งเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็มีรายงานข่าวว่า นายเฉินยี รัฐมนตรีต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้น ได้กล่าวแก่นักการทูตของยุโรปผู้หนึ่งว่า “เขาคาดว่าจะเกิดสงครามกองโจรขึ้นต่อต้านรัฐบาลไทยภายใน 1 ปี”

การปะทะกันด้วยกำลัง และอาวุธระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับฝ่ายรัฐบาลไทยหลัง พ.ศ. 2508 ทำให้ผู้นำไทยมองสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยความไม่เป็นมิตรยิ่งขึ้น จีนได้ให้ความช่วยเหลือแก่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยทั้งในด้านฝึกอบรม การโฆษณาชวนเชื่อ และการอบรมทางการเมือง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนทวีความตึงเครียด

อย่างไรก็ดี ท่าทีแข็งกร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อประเทศไทยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงหลัง จากที่จีนได้มีการปะทะทางทหารกับสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2512 ที่บริเวณพรมแดนแม่น้ำอุสซูรี (Ussuri River) และจีนได้เริ่มเจรจาปรับความเข้าใจกับสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2513 จีนต้องการแสวงหาแนวร่วมเพื่อต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียต จึนลดการวิจารณ์ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลง ท่าทีผ่อนปรนของจีนตลอดจนการย้ำถึงการอยู่ร่วมกันโดยสันติของจีนทำให้ไทย เริ่มคลายความหวาดระแวงจีนลง และนำไปสู่การเจรจาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศทั้งสองใน พ.ศ. 2518 ซึ่งจะกล่าวในบทต่อไป


สรุป
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยและประเทศจีนได้มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกันมาตั้งแต่ สมัยโบราณ คนไทยและคนจีนได้เดินทางไปมาหาสู่ ติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้า อีกทั้งผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมมาหลายร้อยปี ถ้านับรวมชุมชนโบราณในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลองก็อาจยาวนานกว่าพันปี สายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมนี้ ทำให้ความรู้สึกระหว่างคนไทยและคนจีนใกล้ชิดประดุจญาติพี่น้องอันสนิท แม้ว่าบางครั้งจะมีการกระทบกระทั่งไม่เข้าใจกันบ้างก็ตาม เมื่อจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ. 2492 รัฐบาลไทยไม่ยอมรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความหวาดระแวงในด้านอุดมการณ์ และหวั่นเกรงว่าจีนจะคุกคามไทย จนกระทั่งใน พ.ศ. 2518 ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน