bg-head-3

บทความ

ตอนที่ 3 การปรับท่าทีของไทยและจีนต่อกันและกัน : การทูตปิงปอง





ประเทศไทยได้เริ่มปรับนโยบายต่างประเทศต่อจีนก่อนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติใน พ.ศ. 2514 โดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ได้พยายามติดต่อกับจีนในช่วง พ.ศ. 2513 - 2514 โดยผ่านประเทศที่สาม เช่น ยูโกสลาเวีย และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน เพื่อสานต่อสายสัมพันธ์ที่เคยมีมาตั้งแต่การประชุมที่บันดุง พ.ศ. 2498 เพราะสถานการณ์โลกที่ได้เปลี่ยนไป อีกทั้งจีนได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมากขึ้น ไทยต้องปรับท่าทีให้ยืดหยุ่น ดังจะเห็นได้จากที่ ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์แก่สถานีวิทยุ CBS (Columbia Broadcasting Corporation) ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2514 ว่าไทยต้องการอยู่ร่วมอย่างสันติกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2514 ดร.เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ได้เดินทางมาเอเชียอาคเนย์และประเทศไทยก่อนเดินทางต่อไปปากีสถาน สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้นัดเจ้าหน้าที่กระทรวงการ ต่างประเทศ 2 คน มาร่วมรับประทานอาหารเช้ากับ ดร.คิสซิงเจอร์ คือ           นายนิสสัย เวชชาชีวะ และนายเตช บุนนาค (ซึ่งในขณะนั้นทำงานในกองประมวลวิเคราะห์ข่าว กรมสารนิเทศ) และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ กับนายสุลักษณ์ ประเด็นที่พูดคุยกันในระหว่างรับประทานอาหารเช้า คือ สถานการณ์ในภูมิภาคและในเวียดนาม นายเตช บุนนาค ได้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า    "ดร.คิสซิงเจอร์ ได้ถามฝ่ายไทยว่า กุญแจที่จะนำไปสู่สันติภาพในสงครามเวียดนามคืออะไร "

คุณสุลักษณ์ตอบว่า จีน คิสซิงเจอร์นิ่งเงียบไป หลังจากนั้น คิสซิงเจอร์เดินทางต่อไปปากีสถานและเลยเข้าไปในจีนเพื่อเจรจากับผู้นำจีน ทั้งเหมาเจ๋อตุงและโจวเอินไหลอย่างลับ ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาปรับความสัมพันธ์สู่ปรกติระหว่างสหรัฐ อเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในการลงคะแนนเสียงรับสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ดร.ถนัด คอมันตร์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ขออนุมัติรัฐบาล ซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ให้คณะผู้แทนไทยออกเสียงข้างมากในสมัชชาสหประชาชาติ แต่รัฐบาลไม่อนุมัติ คณะผู้แทนไทยจึง "งดออกเสียง" อย่างไรก็ดี หลังจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าไปเป็นสมาชิกในสหประชาชาติแล้ว ดร.ถนัด คอมันตร์ ได้มีคำสั่งให้ นายอานันท์ ปันยารชุน ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ เริ่มการติดต่อกับผู้แทนถาวรจีนในด้านสังคมและในเรื่องของสหประชาชาติเพื่อ ปูทางไปสู่การเจรจาระหว่างกันในเวลาต่อมา

ประเทศไทยไม่ต้องการอยู่โดดเดี่ยวในฐานะศัตรูของสาธารณรัฐประชาชนจีนตาม ลำพัง จึงได้เริ่มทำการติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างไม่เป็นทางการผ่านหลาย ช่องทาง ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนก็สนใจประเทศไทยเพราะตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางใต้ ของจีน อีกทั้งต้องการขัดขวางอิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อรัฐบาลจีนตระหนักว่าไทยสนใจที่จะติดต่อกับจีน จึงตอบสนองโดยใช้กีฬาและการทูตระดับประชาชนเป็นสื่อกลาง โดยส่งคำเชิญให้รัฐบาลไทยส่งคณะปิงปองไทยไปแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งเอเชียที่ กรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดโดยสหภาพเทเบิลเทนนิสแห่งเอเชีย (ATTU) ระหว่างวันที่ 2 - 7 กันยายน พ.ศ. 2515 ไทยได้ตัดสินใจส่งคณะนักกีฬาปิงปองไทยจำนวน 20 คน โดยมี พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ เป็นหัวหน้าคณะ และนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจการคลังและอุตสาหกรรมของคณะปฏิวัติฯ เป็นที่ปรึกษา นายประสิทธิ์     กาญจนวัฒน์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้นำทางทหารของไทยให้ไปสังเกตการณ์และรับฟังความคิด เห็น ตลอดจนดูท่าทีของจีนที่มีต่อประเทศไทย ได้ถูกแยกไปพบกับผู้นำของจีน ซึ่งมีการประสานกันล่วงหน้า โดย นายวรรณไว พัธโนทัย บุตรชายนายสังข์ พัธโนทัย ซึ่งคุ้นเคยกับผู้นำจีน เพราะเคยอยู่ในประเทศจีนในฐานะบุตรบุญธรรมของโจวเอินไหล

นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ถูกนำไปพักที่โรงแรมปักกิ่ง โดยมี เฉิงรุ่ยเซิง ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน เป็นผู้ดูแล ในระหว่าง 2 สัปดาห์ที่พำนักในจีน นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้เข้าพบผู้นำจีนหลายคน เช่น เลี่ยวเฉิงจื้อ กรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศจีน หานเนียนหลง รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการต่างประเทศจีน และ หลี่เฉียง รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการค้าระหว่างประเทศจีน

ต่อมาในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2515 เวลา 23.40 น. นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ได้มีโอกาสเข้าพบ โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน การพบปะกับผู้นำจีนของนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ทำให้ฝ่ายไทยเข้าใจท่าทีของจีนเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เช่น การค้าขายระหว่างกัน ปัญหาคนจีนสองสัญชาติ ปัญหาที่จีนให้การสนับสนุนแก่ผู้ก่อการร้ายในไทย และปัญหาไต้หวันได้ดีขึ้น ผู้นำจีนทุกคนได้แสดงท่าทีว่าต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และยินดีค้าขายกับไทย ส่วนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนมีเงื่อนไขว่า ไทยต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

ฝ่ายพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงการต่างประเทศ มองเห็นความจำเป็นที่เร่งด่วนในการเปิดเจรจาและสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็น ทางการกับจีน แต่ข้าราชการและผู้นำทางด้านความมั่นคงและกองทัพไทยยังคงหวาดระแวงจีนที่ยัง ให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงรอดูท่าทีของจีนต่อไป แต่ก็ไม่ขัดขวางการติดต่อกันทางด้านสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้กล่าวว่า "สภาความมั่นคงซึ่งมี พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นเลขาธิการในขณะนั้น มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับจีน เพราะการปราบปรามคอมมิวนิสต์ไทยมีความสูญเสียมากทั้งชีวิตและงบประมาณ คอมมิวนิสต์ไทยได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน และเวียดนาม ดังนั้น เพื่อยุติบทบาทของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ไทย ต้องใช้แนวทางการเมืองภายในลดเงื่อนไข ส่วนการเมืองภายนอกต้องทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้รับการช่วยเหลือจากจีน น้อยที่สุด การปรับความสัมพันธ์กับจีนน่าจะช่วยให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยลดความเข้มแข็งลง ได้" ต่อมา น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และนายเตช บุนนาค จากกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานกันเพื่อสร้างความเข้าใจในหมู่ผู้ปฏิวัติงานด้านความมั่นคง ทั้งพลเรือนและทหาร (กอ.รมน.) ให้ยอมรับแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ไทยกับจีน