มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกต่างประเทศของจีนในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) โดยทำสถิติใหม่ทะลุ ๓๐ ล้านล้านหยวน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๑๔ ม.ค.๖๒ สำนักงานศุลกากรจีน ได้ประกาศว่า มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกต่างประเทศของจีนปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ทำสถิติสูงสุดในประวัติการณ์ ๓๐.๕๑ ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น ๙.๗% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้ การส่งออกมีมูลค่า ๑๖.๔๒ ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น ๗.๑% การนำเข้า ๑๔.๐๙ ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น ๑๒.๙% ขณะที่การเกินดุลการค้าลดลง ๑๘.๓%
๒. ข้อมูลดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นว่า ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ศักยภาพความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนกับประเทศตามรายทางโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกและนำเข้าขยายตัว ๑๓.๓% ในจำนวนนี้ มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกกับรัสเซีย ซาอุดิอารเบีย และกรีซ ล้วนขยายตัวมากกว่า ๒๐% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
๓. ข้อสังเกต ในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ยอดการนำเข้า-ส่งออกของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ยอดการนำเข้า-ส่งออก จนถึงกลางเดือน พ.ย.๖๑ มีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศมีจำนวนมากกว่าปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ทั้งปี (ข้อมูลสถิติจากสำนักงานใหญ่ศุลกากรจีนแสดงให้เห็นว่า ปี ๒๐๑๗ มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของจีนคิดเป็นเกือบ ๒๘ ล้านล้านหยวน โดยนับจนถึงกลางเดือน พ.ย.๖๑ มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของจีนสูงกว่าปี ๒๐๑๖ ทั้งปี ๑๕%) ในขณะที่นายเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน ได้กล่าวที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ ๖ ธ.ค.๖๑ เกี่ยวกับสถานการณ์การค้ากับต่างประเทศของจีนในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ว่า การพัฒนาการค้ากับต่างประเทศยังคงมีแรงขับคลื่อนที่ทรงพลัง รัฐบาลจีนจะใช้มาตรการมากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันการค้ากับต่างประเทศให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
บทสรุป
นักวิชาการได้วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่เป็นพลังขับเคลื่อนด้านการสร้างนวัตกรรมการค้ากับต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าเดิม จากความต้องการของตลาดโลกที่ฟื้นตัว และการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ยอดการนำเข้า-ส่งออกของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมศุลกากรที่ประกาศว่า ๓ ไตรมาสแรกของปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) การนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศของจีนกับสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน เพิ่มขึ้น ๗.๓% ๖.๕% และ ๑๒.๖% ตามลำดับ ส่วนประเทศตามรายทางของโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI เช่น รัสเซีย โปแลนด์ และคาซัคสถาน ฯลฯ อัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกกับจีน ล้วนสูงกว่าอัตราการเติบโตโดยรวม ด้วยมูลค่าเกิน ๖ ล้านล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า ๑๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐)
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.china.org.cn/china/2019-01/14/content_74371866.htm
http://thai.cri.cn/20190114/abdf8d4f-5db0-9234-7f4e-383b9f5d606a.html
http://thai.cri.cn/20181207/1fcab867-c532-7668-b2a7-d6877a1216c5.html
http://thai.cri.cn/20181026/2b0ba9d2-6906-6792-215e-7cfe2a3ec0b0.html