การจัดงานวันชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ปีที่ ๖๙ (สถาปนาประเทศเมื่อวันที่ ๑ ต.ค.๑๙๔๙ หรือ พ.ศ.๒๔๙๒) เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๔ ก.ย.๖๑ ณ โรงแรมแชงการีล่า กรุงเทพฯ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นาย หลี่ว์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวสุนทรพจน์สรุปถึงการเปลี่ยนผ่านยุคของสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ๖๙ ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายบรรลุภารกิจยิ่งใหญ่ในการสร้างประเทศให้เป็นสังคมนิยมแบบอัตลักษณ์จีน ปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน และยกระดับสถานภาพจีนบนเวทีโลก สำหรับความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้น ฝ่ายจีนพร้อมร่วมมือสร้างแรงกระตุ้นในการสร้าง “ไทยแลนด์ ๔.๐”
๒. ใจความสำคัญของสุนทรพจน์ดังกล่าว ประกอบด้วย
๒.๑ สาธารณรัฐประชาชนได้เปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่จากยุค “ยืนขึ้นได้” ของช่วงก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนใหม่สู่ยุค “มั่งคั่ง” หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศและกำลังผงาด “แข็งแกร่ง” ในยุคสังคมนิยมยุคใหม่นี้
๒.๒ ปีนี้ยังเป็นปีครบรอบ ๔๐ ปีของการปฏิรูปและเปิดประเทศจีน สถานภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนในปัจจุบันได้พิสูจน์แล้ว ว่าการปฏิรูปเปิดประเทศเป็นกุญแจสร้างอนาคต นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในจีน โดย ๔๐ ปีมานี้ GDP ของจีนได้เติบโตขึ้นในอัตรา ๙.๕% โดยเฉลี่ย และรายได้สุทธิส่วนบุคคลของจีนขยายตัวแล้ว ๒๓ เท่าตัว ประชากร ๗๐๐ ล้านคน ก้าวพ้นจากความยากจน จีนที่เคยยากจนล้าหลังกลับกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการค้าขายที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่มากที่สุดในโลก
๒.๓ ในขณะเดียวกัน การปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปสู่ทั้งโลกในฐานะผู้สนับสนุนและผู้เข้าร่วมกระแสโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ เป็นพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ต่อการเจริญเติบโตและเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจจีนมีคุณูปการต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นสัดส่วนมากกว่า ๓๐%
๒.๔ ในขณะที่สังคมนิยมอัตลักษณ์จีนได้ย่างเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การปฏิรูปและเปิดประเทศมีลักษณะเฉพาะตัวใหม่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งจะนำแรงผลักดันใหม่มาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจโลก ได้แก่
๒.๔.๑ จีนจะเปิดกว้างสู่ภายนอกมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อเดือน เม.ย.๖๑ ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศในที่ประชุมโป๋อ่าว ฟอรัม ว่าจีนจะเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุนให้ต่างประเทศเข้าถึงตลาดจีนมากขึ้น ปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ปกป้องสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา และขยายการนำเข้าอย่างแข็งขัน โดยขณะนี้จีนกำลังผลักดัน ๔ มาตรการสำคัญเพื่อขยายการเปิดกว้างดังกล่าว นอกจากนี้งานเอ็กซ์โปแสดงสินค้านำเข้านานาชาติครั้งแรกของจีนจะจัดขึ้นในเดือน พ.ย. ณ นครเซี่ยงไฮ้
๒.๔.๒ จีนมีแรงผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่เข้มแข็งมากขึ้น ในขณะที่มีการปฏิรูปโครงสร้างอุปทานและขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ความต้องการภายในประเทศนับวันกลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับรองรับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพของจีน จากผลการสำรวจปรากฏว่าระหว่างปี ค.ศ.๒๐๐๘ – ๒๐๑๗ ความต้องการภายในประเทศได้สร้างคุณูปการต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในสัดส่วน ๑๐๕.๗% ต่อปี ในไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้ การใช้จ่ายภายในได้สร้างคุณูปการต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในสัดส่วนสูงถึง ๗๗.๘% และต่อไปความต้องการภายในประเทศยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และนำพาจีนเปลี่ยนสถานะจากโรงงานโลกไปสู่ตลาดโลก
๒.๔.๓ จีนมีความร่วมมือกับต่างประเทศในระดับที่สูงขึ้น ความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่จีนเสนอนั้น ไม่เพียงเป็นแรงผลักดันการปฏิรูปและการเปิดประเทศ หากได้เสนอโมเดลจีนและภูมิปัญญาจีนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของระบบธรรมาภิบาลโลก ห้าปีมานี้ จีนมีการค้าขายกับประเทศตามเส้นทางความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มูลค่ากว่า ๕ ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ มีการลงทุนโดยตรงกว่า ๖ หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ และสร้างงานกว่า ๒ แสนตำแหน่ง “แนวคิดร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมแบ่งปัน” ได้รับการตอบสนองจากประเทศตามเส้นทางอย่างกว้างขวาง ความร่วมมือระหว่างจีนกับต่างประเทศพัฒนาไปในเชิงลึกมากขึ้น
๒.๔.๔ จีนสร้างคุณูปการและโอกาสแก่ทั่วโลกมากยิ่งขึ้น ถึงแม้สภาพแวดล้อมโลกมีปัจจัยไม่แน่นอนเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด ลัทธิกระทำการแต่ฝ่ายเดียว การปกป้องทางการค้า และกระแสที่สวนทางกับโลกาภิวัตน์มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่จีนยังคงมีความมั่นใจและความสามารถในการรักษาไว้ซึ่งการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และสร้างคุณูปการด้านการลงทุน การค้าและการบริโภคอุปโภคของของโลก
๒.๕ ช่วงครึ่งปีแรกนี้ เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้น ๖.๘% ซึ่งอยู่ในความเร็วปานกลางระหว่างอัตรา ๖.๗ – ๖.๙% เป็นเวลาติดต่อกัน ๑๒ ไตรมาส โดยจีนจะยืนหยัดในการปฏิรูปโครงสร้างอุปทาน ส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทคและการผลิตระดับแนวหน้า ปรับปรุงโฉมหน้า และรูปแบบอุตสาหกรรมบริการเพื่อยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ยังคงเป็นพลังสำคัญในการรักษาเสถียรภาพ และแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
๒.๖ ในด้านของความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีและเป็นหุ้นส่วนที่ดีของจีน ด้วยปัจจัยต่างๆ ประการแรก จากประวัติศาสตร์นับสองพันปีที่ประชาชนได้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันด้วยมิตรภาพ ประการที่สอง ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งจากความไว้วางใจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนร่วมกัน ประการที่สาม ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์แบบญาติมิตรในครอบครัว รวมทั้งเห็นพ้องกันในสันติภาพระหว่างประเทศและภูมิภาค ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และประการที่สี่ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนจะนำมาซึ่งอนาคตที่สดใสต่อการบรรลุเป้าหมายในยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาภายใต้เงื่อนไขของแต่ละประเทศ ซึ่งจีนพร้อมร่วมมือกับไทยด้านต่างๆ ได้แก่ การสร้างภาคเกษตรกรรมที่ทันสมัย ส่งเสริมภาคการผลิตไฮ-เอน สร้างภาคพลังงานแบบใหม่ ภาคอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม การศึกษา และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เป็นต้น
บทสรุป
สุนทรพจน์ของเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ในการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้กรอบแผนงาน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อสร้างแรงกระตุ้นสู่ความเจริญก้าวหน้าสำคัญ ได้แก่ ไทยแลนด์ ๔.๐, ดิจิทัล ไทยเลนด์, ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ต่อไป
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://mgronline.com/china/detail/9610000096083
http://thai.cri.cn/247/2018/09/25/225s271526.htm
รวมทั้งข้อมูลจากการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมของผู้เขียนที่ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงดังกล่าวด้วย