ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติ ครั้งที่ ๒ ของจีน มีผู้เข้าร่วมงานทั่วทุกมุมโลก (รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้มอบหมายให้กรมส่งแสริมการค้าระหว่างประเทศไปร่วมจัดงานแสดงสินค้า และมีบริษัทที่มีคุณภาพของไทย ๔๖ แห่งเข้าร่วมงานนี้ด้วย) โดยต่างมุ่งนำเสนอสินค้าใหม่ล่าสุด ดีที่สุด และมีศักยภาพในการแข่งขันมากที่สุดในงาน พร้อมกับใช้ความพยายามเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ ๔ ด้านของตลาดจีน ได้แก่
(๑) ด้านประชากร ๑,๔๐๐ ล้านคน นำมาซึ่งความต้องการบริโภคมหาศาล
(๒) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่สมบูรณ์และระบบโลจิสติกอันทรงประสิทธิภาพ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านฮาร์ดแวร์อันแข็งแกร่งของจีน
(๓) ด้านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้น
(๔) ด้านการพัฒนาอย่างมีคุณภาพโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อน
๒. งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติดังกล่าว ได้ต้อนรับแขกจากทั่วโลกที่ต้องการแสวงหาประโยชน์แก่ทั่วโลก สอดคล้องกับความต้องการในการอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกประเทศ และเป็นมาตรการสำคัญแห่งการขยายการเปิดประเทศของจีน ตามแผนการที่จีนกำหนดไว้ในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า ที่จะมียอดการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเกิน ๓๐ ล้านล้าน และ ๑๐ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ อาทิ
๒.๑ วงการอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ซึ่งเป็นเสาหลักการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเกษตรและอาหาร ได้มีผู้แทนจากวงการต่าง ๆ เช่น ธัญญาหาร ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ นม อาหารทะเล และการแปรรูปอาหารจากจีนและต่างประเทศ กว่า ๓๐๐ คน ได้เข้าร่วมการประชุมฟอรั่มครั้งนี้
๒.๒ การพัฒนาทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนอันดับแรกของการพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ โดยที่การปฏิวัติทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมรอบใหม่นั้น ต้องอาศัยการพิสูจน์จากตลาดทั่วโลก จึงจะเปลี่ยนเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สินค้าไฮเทคหลายรายการมุ่งทำตลาดอันกว้างใหญ่ของจีน ดังนั้น งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน หรือ CIIE จึงเป็นช่องทางสำคัญของสินค้า เทคโนโลยีและการบริการ
๓. การเข้าร่วมในงานมหกรรมสินค้าฯ ในครั้งนี้ของประเทศไทย เป็นผลสืบเนื่องมาจากความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทย-จีน ที่ระบุไว้ในเอกสารยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน (Comprehensive Framework on Enhancing Trade and Economic Partnership between the Thailand and China) โดยมุ่งขยายการค้าให้บรรลุเป้าหมาย ๑๔๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี พ.ศ.๒๕๖๔ ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตร การจัดประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน) และคณะทำงานสนับสนุนการค้าอย่างไร้อุปสรรคเป็นประจำ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานมหกรรมนำเข้านานาชาติจีน หรือ CIIE เป็นประจำทุกปี ซึ่งความร่วมมือด้านการค้าดังกล่าวนี้ เป็นเพียง ๑ ใน ๗ ด้านของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน โดยอีก ๖ ด้าน ได้แก่
๓.๑ ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร อาหารเพื่ออนาคต และการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น
๓.๒ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เสริมสร้างความร่วมมือผ่านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้เมืองนวัตกรรมอาหารของไทย (Food Innopolis) เป็นพื้นที่ในการทำวิจัยและพัฒนา เข้าร่วมโครงการสำรวจความร่วมมือด้านอวกาศของจีน ร่วมมือด้านการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์
๓.๓ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เทคโนโลยี 5G และการลงทุนในอุทยานดิจิทัลในไทย รวมถึงยกระดับความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเคเบิ้ลใต้น้ำ และโครงข่ายใยแก้วนำแสง
๓.๔ ด้านการเงิน ส่งเสริมการใช้เงินบาทและเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ขยายความร่วมมือและส่งเสริมบริการทางการเงินสมัยใหม่ (Fintech)
๓.๕ ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพรวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น การถ่ายทำภาพยนตร์ การบริการเรือข้ามฟาก และธุรกิจบริการน้ำพุร้อน เป็นต้น
๓.๖ ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน รวมทั้งส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านความร่วมมือภายใต้เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (PPRD) กรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (GBA) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) เป็นต้น
บทสรุป
ได้มีการประเมินกันว่า ในการจัดงานมหกรรมนำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ครั้งที่ ๒ นี้ มีบริษัทจากต่างประเทศที่ร่วมงาน มีทั้ง “หน้าใหม่” ที่มาแสวงหาโอกาสการทำธุรกิจเป็นครั้งแรก และ “หน้าเก่า” ที่มาจัดแสดงต่อเนื่องจากครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว โดยบริษัททั้ง “หน้าเก่า” และ “หน้าใหม่” เหล่านี้ ต่างสะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมต่อตลาดจีน จึงกล่าวได้ว่าการจัดงานของจีนในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ส่วนประเทศไทยก็ได้รับโอกาสดีในการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ รวมทั้งยังมีช่องทางอีกมากที่จะได้รับผลประโยชน์ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน ที่มุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือใน ๗ ด้าน ดังกล่าวในข้างต้น
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.intracen.org/ITC-supports-MSMEs-to-participate-in-the-2nd-China-International-Import-Expo-CIIE---Shanghai-5-10-November-2019/
http://thai.cri.cn/20191109/8ae471fa-413a-8cf7-f5c6-fe276fbfd844.html
https://www.ryt9.com/s/beco/2913077
http://thai.cri.cn/20191109/e33c9773-7931-bc85-fc08-4f2e933983a4.html