ความเคลื่อนไหวในการประชุมสองสภา (ตอนที่ ๙) ว่าด้วยกรณีที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เน้นย้ำถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียว ที่จะเป็นแนวทางใหม่ในการผลักดันการพัฒนาประเทศจีนได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้กล่าวต่อบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ชุดที่ ๑๓ ครั้งที่ ๒ ว่า
๑.๑ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีน รวมไปถึงประชากรทั่วประเทศ จำเป็นต้องมีพื้นที่ทำไร่ทำนาอย่างน้อย ๑๒๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๗๕๐ ไร่ โดย ๑ เฮกตาร์ เท่ากับ ๖.๒๕ ไร่) ซึ่งเป็นปริมาณที่ดินขั้นต่ำของการรักษาความปลอดภัยด้านธัญญาหารของจีน และได้เน้นย้ำอีกครั้งว่า ต้องคงไว้ซึ่งขีดแดงดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เพื่อประกันความต้องการทางการเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะธัญญาหาร
๑.๒ การอนุรักษ์ระบบนิเวศ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียวนั้น เป็นหนทางใหม่ในการผลักดันการพัฒนาจีนอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ต้องปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น เพื่อเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาแบบสีเขียว ซึ่งนับตั้งแต่ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) เป็นต้นมา จีนได้เริ่มดำเนินโครงการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมด้านที่พักอาศัยในชนบทเป็นเวลา ๓ ปี โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวเน้นย้ำว่า ต้องผลักดันงานนี้อย่างจริงจัง ตลอดจนเสริมการอนุรักษ์ระบบนิเวศและป้องกันมลภาวะในชนบท
๒. การที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญกับเรื่องการเกษตร ชนบท และเกษตรกรมาโดยตลอด เนื่องจากจีนต้องเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวทั้ง ๓ เรื่อง ซึ่งยังคงเป็นจุดอ่อนในการก้าวสู่สังคมที่มีกินมีใช้ทุกด้าน ดังจะเห็นได้จากการประกาศ “แนวทางหลายประการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีนว่าด้วยการยืนหยัดพัฒนาการเกษตรและชนบทสำคัญเป็นอันดับแรก และดำเนินงานการเกษตร ชนบท และเกษตรกรด้วยดี” เมื่อวันอังคารที่ ๑๙ ก.พ.๖๒ ซึ่งถือเป็นเอกสารนโยบายฉบับแรก หรือ เอกสารส่วนกลางหมายเลข ๑ ของปีนี้ ที่มุ่งเรื่องการเกษตร ชนบท และเกษตรกร โดยทั้ง ๓ เรื่องจะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลา ๑๖ ปี กล่าวคือ
๒.๑ ปัจจุบัน จีนมีพื้นที่สามารถทำการเพาะปลูกได้เพียง ๑๐% ของโลกเท่านั้น แต่ต้องเลี้ยงประชากรราว ๒๐% ของโลก ความมั่นคงด้านธัญญาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ด้วยเหตุนี้ “เอกสารส่วนกลางหมายเลข ๑” จึงเน้นย้ำว่า ควรเสริมความมั่นคงด้านอาหาร และลงลึกการปฏิรูปจากแง่อุปทานของภาคการเกษตร
๒.๒ การที่ชาวจีนมีความต้องการในผลิตผลการเกษตรที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น ปัญหาภาคการเกษตรของจีนจึงเปลี่ยนจากเรื่องมวลรวมผลผลิตไม่เพียงพอ กลายเป็นข้อขัดแย้งเชิงโครงสร้างในด้านอุปสงค์อุปทานที่ไม่สมดุล เมื่อเผชิญหน้ากับความต้องการทางอาหารที่นับวันเพิ่มมากขึ้นของประชากรจีนจำนวน ๑,๔๐๐ ล้านคน จึงทำให้จีนต้องขยายการนำเข้าผลิตผลการเกษตรที่ขาดแคลนในประเทศ ขยายช่องทางนำเข้าด้วยหลายรูปแบบ โดยเฉพาะผลิตผลการเกษตรที่ขาดแคลนและจำเป็นต่อความต้องการในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีน ทั้งนี้ คำว่า “หลายรูปแบบ” หมายถึงว่าการนำเข้าผลิตผลการเกษตรของจีนจากทั่วโลกนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับคุณภาพและราคาแล้ว ยังขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดจีนด้วย
บทสรุป
ภาวะความจำเป็นที่ประเทศจีนมีพื้นที่สามารถทำการเพาะปลูกได้เพียง ๑๐% ของโลก ในขณะที่ต้องเลี้ยงประชากรราว ๒๐% ของโลก จึงทำให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านธัญญาหารเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ด้วยการลงลึกในการปฏิรูปอุปทานของภาคการเกษตร เช่น การผลักดันการพัฒนาเกษตรกลวิธาน และอัพเกรดอุปกรณ์เครื่องจักรกลทางการเกษตรฯลฯ เพื่อป้องกันข้อขัดแย้งเชิงโครงสร้างในด้านอุปสงค์อุปทานที่ไม่สมดุล พร้อมๆ กับต้องเดินหน้าอย่างเต็มกำลังเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ชนบท และเกษตรกร อย่างเป็นระบบ เนื่องจากทั้ง ๓ เรื่องนั้นยังเป็นจุดอ่อนของจีนในการก้าวสู่สังคมที่มีกินมีใช้ทุกด้านภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) โดยเฉพาะการอนุรักษ์ระบบนิเวศ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียว ซึ่งจะเป็นแนวทางใหม่ในการผลักดันการพัฒนาประเทศจีนได้อย่างมีคุณภาพ ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญในพื้นที่ชนบท (the rural revitalization strategy)
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://thai.cri.cn/20190308/eec85a8a-e2b9-d545-ddee-19ab693038b7.html
http://thai.cri.cn/20190221/8bfba915-6246-5973-7981-73fcf9553718.html
http://thai.cri.cn/20181230/498483ed-6b05-2bc9-d5f0-454aa20b7e57.html
http://thai.cri.cn/20181220/3765c01c-f41c-8834-1cab-601777c6f02c.html