จีนศึกษา (วันจันทร์ที่ ๑๒ ธ.ค.๖๕) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมคลังสมองในกรอบการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 10 (The Tenth Meeting of the CICA Think Tank Forum) ในระหว่างวันที่ ๓๐ พ.ย. - ๑ ธ.ค.๖๕ โดยกระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นเจ้าภาพและจัดขึ้นโดยสถาบันการศึกษานานาชาติแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Institute of International Studies : SIIS) ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ ภายใต้หัวข้อ "ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันปั่นป่วนและความมั่นคงที่ยั่งยืนในเอเชีย: ความท้าทายและวิสัยทัศน์"
การประชุมดังกล่าวได้เชิญผู้เข้าร่วมมากกว่า ๕๐ คนจากประเทศอาเซอร์ไบจาน บังคลาเทศ อินเดีย คาซัคสถาน คูเวต ทาจิกิสถาน ตุรกี บาห์เรน อิสราเอล จอร์แดน คีร์กีซสถาน รัสเซีย ไทย และจีน รวมทั้งผู้แทนจากสถาบันด้านคลังสมองของ ๑๖ ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ด้วยการผสมผสานรูปแบบการประชุมทั้งวิธีการออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค รวมทั้งปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในเอเชีย โดยการแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ของกรอบการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย หรือ CICA (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia) ในการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการรักษาความมั่นคงในเอเชียท่ามกลางสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่ปั่นป่วนและเปลี่ยนแปลง ให้บรรลุเป้าหมายการรักษาความมั่นคงที่ยั่งยืนในเอเชียภายใต้ความไว้วางใจซึ่งกันและกันตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน
ทั้งนี้ ในพิธีเปิดการประชุมเมื่อบ่ายวันที่ ๓๐ พ.ย.๖๕ นายเฉิน ตงเซี่ยว ประธานสถาบันการศึกษานานาชาติแห่งเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า โลกทุกวันนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเข้าสู่วงจรแห่งความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลงรอบใหม่ โดยโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับอุปสรรค การเผชิญหน้าทางอุดมการณ์และการเมืองกำลังทวีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่ลัทธิพหุภาคีและกลไกพหุภาคีทั่วโลกอ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทางประวัติศาสตร์ของสันติภาพ การพัฒนา ความร่วมมือ และผลลัพธ์ที่ได้ทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นความตาดหวังของผู้คนและกระแสแห่งยุคสมัย ดังนั้น CICA ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคที่กว้างขวางและมีตัวแทนมากที่สุดในเอเชีย ทำให้ CICA ยังคงมีบทบาทเป็น "ผู้รักษาเสถียรภาพ" ต่อไปในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นกลไกด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคที่สำคัญยิ่งขึ้น อันจะมีมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสนับสนุนการส่งเสริมสันติภาพในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ การพัฒนา ความร่วมมือ ตลอดจนการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
โดยในระหว่างการประชุมจำนวน ๒ วัน ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมได้อภิปรายเชิงลึกในหลายด้านของการสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงอย่างยั่งยืนในเอเชีย วิเคราะห์ความท้าทายและมาตรการตอบโต้ของประเทศในเอเชียในด้านความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสีเขียว การเชื่อมต่อโครงข่าย และด้านอื่นๆ ทำให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกต่อความกังวลด้านความมั่นคงของประเทศในเอเชียในด้านต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาในอนาคตของ CICA และแนวทางสู่ความร่วมมือในระดับภูมิภาค
ในโอกาสที่ CICA ครบรอบ ๓๐ ปี และได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนเป็นองค์กรระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคอย่างเป็นทางการ การประชุมในครั้งนี้ได้มุ่งเน้นการหารือเกี่ยวกับการพัฒนากลไกของ CICA โดยนักวิชาการที่เข้าร่วมได้สรุปประสบการณ์และความสำเร็จที่สะสมในกระบวนการที่ก้าวหน้าในระยะเวลา ๓๐ ปีของ CICA รวมทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนแปลงของ CICA และร่วมกันเสนอข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนา CICA ในอนาคต
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://j.eastday.com/p/1669877629032865 )