มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๙ ส.ค.๖๒ ที่นครเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน มีการประชุมสุดยอดปัญญาประดิษฐ์จีนครั้งแรกและงานเปิดตัวผลงานการแข่งขันเทคโนโลยี โดยมีทีมผู้เข้าแข่งขันด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากทั่วประเทศจีน ได้รับหนังสือรับรองระดับ A จากการแข่งขันครั้งนี้ และมีบุคลากร ๙ คน ได้รับหนังสือรับรองประเภทบุคคล นอกจากนี้ ยังมีโครงการปัญญาประดิษฐ์อีก ๑๖ โครงการ ได้รับการจัดให้อยู่ในรายชื่อ “ดาวรุ่งแห่งนวัตกรรม” ซึ่งนายหนี กวางหนาน สมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์จีน กล่าวสรุปว่า การแข่งขันครั้งนี้ มีทีมผู้เข้าแข่งขัน ๓๖๒ ทีม สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ๙๙๕ รายการ ซึ่งครอบคลุมถึงเทคโนโลยี AI หลายด้าน ซึ่งมีโอกาสนำไปใช้ในชีวิตจริงได้เป็นอย่างมาก
๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๗ มิ.ย.๖๒ คณะกรรมาธิการเฉพาะกิจเพื่อบริหารปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่แห่งชาติจีน ได้ประกาศ “หลักการบริหารปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่” โดยเน้นสาระสำคัญ “ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรับผิดชอบ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ให้พัฒนาด้วยดี ส่งเสริมการศึกษาวิจัยทางกฎหมาย จริยธรรม และปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงผลักดันการบริหารปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลก ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หลักการฉบับดังกล่าวให้น้ำหนักการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นข้อริเริ่มและคำมั่นสัญญาของจีนที่มีต่อทั่วโลกในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI)
๓. ข้อสังเกต
๓.๑ ผลการสำรวจล่าสุดซึ่งจัดทำโดย IDC บริษัทวิจัยการตลาดและให้คำปรึกษาด้าน IT ชั้นนำของโลกในหัวข้อ IDC Asia/Pacific Enterprise Cognitive/AI survey เมื่อปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) พบว่า ประเทศไทยจัดเป็นอันดับ ๒ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการนำมาปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ถึง ๑๗.๑% แต่จำนวนผู้เชี่ยวชาญกลับมีไม่เพียงพอ ขณะที่อินโดนีเซียเป็นอันดับ ๑ ในการนำ AI เข้ามาใช้ถึง ๒๔.๖ % ส่วนสิงคโปร์เป็นอันดับ ๓ (๙.๙%) และมาเลเซียเนอันดับ ๔ (๘.๑%) ประเภทการใช้งานในระดับต้นๆ
๓.๒ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand) ได้ประชาสัมพันธ์ ขอเชิญร่วมงานพิธีเปิดและปฐมนิเทศ โครงการประกวดนวัตกรรมข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ Thailand Data Innovation Awards DIA by DGA ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๒ ในวันเสาร์ที่ ๑๗ ส.ค.๖๒ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๒.๓๐ น. ณ ห้อง พิมานสยาม ฮอลล์ ชั้นที่ ๒๙ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล
บทสรุป
ปัจจุบัน AI เป็นเทคโนโลยีที่นักพัฒนาทั้งโลกให้ความสนใจ เนื่องจากได้ทำให้โลกทั้งใบเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งศาสตราจารย์จอห์น แม็คคาร์ธี (John McCarthy) ได้ให้ความจำกัดความ AI ตั้งแต่เมื่อปี ๑๙๕๕ (พ.ศ.๒๔๙๘) ว่าหมายถึง “วิทยาศาสตร์และวิศวรรมการพัฒนาเครื่องจักรอัจฉริยะ” โดยเป็นเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีเทียบเท่า หรือดีกว่ามนุษย์ และมีความสามารถหลัก ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เรียนรู้สถานการณ์ที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว เพื่อที่จะได้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เดียวกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (๒) สามารถสรุปความหมาย (meaning) ของสถานการณ์ได้จากข้อมูลที่มีอยู่ และ (๓) วิเคราะห์สภาพแวดล้อมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสามารถตีความได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงได้ให้ความสำคัญกับ AI ด้วยการประกาศเป้าหมายการเป็นผู้นำโลกด้าน AI ภายใน ค.ศ.๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) และเห็นว่า AI จะเป็นกุญแจตัดสินอนาคตในทุกเรื่อง เช่น ในเรื่องเศรษฐกิจ AI จะสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจ ข้อมูลทางธุรกิจ และข้อมูลผู้บริโภคที่มีปริมาณมหาศาล จะช่วยให้รัฐบาลจีนสามารถกำหนดนโยบายเศรษฐกิจได้ตรงจุดและถูกต้องมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญต่อความมั่นคง ทั้งในส่วนเทคโนโลยีการทหารเพื่อเตรียมรับมือภัยคุกคามจากภายนอก และเทคโนโลยีเพื่อรักษาความมั่นคงภายใน เป็นต้น แต่ AI จะไร้ประโยชน์หากไม่มีการป้อนข้อมูลที่เหมาะสม จึงมีการนำบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการเก็บข้อมูล เนื่องจากจะไม่สามารถถูกลบและแก้ไขใดๆ ได้ อันทำให้มั่นใจได้ว่า AI จะมีการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำเสนอต่อในวันพรุ่งนี้
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
http://xiamen.chinadaily.com.cn/2019-08/07/c_394801.htm
http://thai.cri.cn/20190810/35b664bd-1a46-c6c4-dc87-3ee33f5a94a0.html
http://thai.cri.cn/20190618/9bda1ef9-bd87-d319-d781-4c3ca1a66aec.html
https://www.the101.world/ai-china/
https://mgronline.com/daily/detail/9610000126941
https://bitwiredblog.com/2018/08/05/blockchain-ai/
https://www.theeleader.com/ai/asean-countries-use-more-artificial-intelligence/