ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของจีน จากการหารือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีน-รัสเซีย-อินเดีย และการบรรลุข้อตกลงร่วมระหว่างจีน-อินเดียในปัญหาชายแดน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๑๐ ก.ย.๖๓ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้พบปะกับ นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ในระหว่างการเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (上海合作组织成员国外长理事会会议) ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย โดยนายหวัง อี้ กล่าวว่า
๑.๑ จีน รัสเซีย และอินเดีย ต่างเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญของโลก ในขณะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยและสถานการณ์โรคระบาด ทั้ง ๓ ประเทศควรส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ร่วมมือกันขับเคลื่อนสันติภาพและเสถียรภาพของโลก
๑.๒ จีนยินดีร่วมมือกับรัสเซียและอินเดีย โดยยืนหยัดจิตวิญญาณของ ๓ ประเทศที่เปิดกว้าง สามัคคี เชื่อถือกัน และร่วมมือกัน รณรงค์ความเห็นร่วมกัน ขับเคลื่อนความร่วมมือ ส่งสัญญาณการพิทักษ์ลัทธิพหุภาคี และร่วมกันรับมือความท้าทายต่อโลก แม้โลกภายนอกมักเกิดความสงสัยต่ออนาคตความร่วมมือระหว่างจีน รัสเซียและอินเดียก็ตาม แต่ทั้ง ๓ ประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันและแนวคิดร่วมกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะใน ๗ ประเด็น ได้แก่ (๑) การสนับสนุนโลกให้พัฒนาไปสู่ความหลากหลาย ซึ่งเป็นกระแสแห่งการพัฒนาของสังคมมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (๒) การสนับสนุนลัทธิพหุภาคี ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาของอารยธรรมมนุษย์ (๓) การมีจุดยืนในการพิทักษ์กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ รวมถึงหลัก ๕ ประการแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (๔) การคัดค้านการแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศอื่น กิจการภายในของแต่ละประเทศต้องตัดสินใจเอง ขณะที่ประชาชนแต่ละประเทศล้วนมีสิทธิ์เลือกหนทางการพัฒนาของตนเอง (๕) การสนับสนุนการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ โดยควรพิทักษ์ความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานโลก (๖) การทุ่มเทการพัฒนาและฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ดังนั้น การพัฒนาของสามประเทศต่างเป็นโอกาสซึ่งกันและกัน จึงควรจับมือเดินบนหนทางการพัฒนาอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ และ (๗) การสนับสนุนการส่งเสริมการบริหารจัดการโลก ยกระดับความสามารถขององค์กรระหว่างประเทศในการรับมือความท้าทายใหม่ เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนต่อการส่งเสริมความสามารถในการบริหารจัดการโลกที่ทันสมัย
๒. ในวันเดียวกันนั้น (วันที่ ๑๐ ก.ย.๖๓) นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้พบปะหารือกับ นายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย โดยรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้บรรลุความเห็นร่วมกัน ๕ ประการ ภายหลังการเจรจาอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน ได้แก่ (๑) ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามความเห็นร่วมกันที่สำคัญของผู้นำทั้งสองประเทศ เกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อินเดีย รวมถึงไม่ให้ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น (๒) แม้ว่าสถานการณ์ชายแดนในขณะนี้ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย แต่กองกำลังป้องกันชายแดนควรดำเนินการเจรจาต่อไปและคงระยะห่างที่จำเป็น เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียด (๓) ทั้งสองฝ่ายควรปฏิบัติตามข้อตกลงและกฎระเบียบด้านกิจการชายแดนที่มีอยู่ในปัจจุบัน พิทักษ์สันติภาพและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น (๔) ยังคงกลไกการพบปะเจรจาระหว่างทูตพิเศษปัญหาพื้นที่ชายแดนจีน-อินเดีย พร้อมยังคงดำเนินการปรึกษาหารือด้านกิจการชายแดนจีน-อินเดีย รวมถึงปรึกษาหารือกลไกการประสานงาน และ (๕) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ในขณะที่สถานการณ์คลี่คลายลงนั้น ทั้งสองประเทศควรเร่งใช้มาตรการเสริมสร้างความเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมสันติภาพและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดน
๓. ข้อสังเกตต่อกรณีความเคลื่อนไหวของทั้ง ๓ ประเทศก่อนหน้านี้ โดยเมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย.๖๓ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้ประชุมหารือทางไกลกับนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย และดร. สุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย
๓.๑ นายหวัง อี้ ได้กล่าวว่า ควรมีการสร้างสรรค์โลกหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ให้มีสันติภาพ เสถียรภาพ เปิดกว้าง มีความหลากหลาย มีความร่วมมือกันและได้รับชัยชนะร่วมกันมากยิ่งขึ้นนั้น สอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาแห่งยุคสมัย และได้เสนอข้อเสนอ ๓ ประการ เพื่อความร่วมมือระหว่างจีน-รัสเซีย-อินเดีย ได้แก่ (๑) การยืนหยัดระบบพหุภาคี โดยปรับปรุงธรรมาภิบาลของโลกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (๒) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต้านโควิด-๑๙ โดยร่วมมือกันเพื่อได้รับชัยชนะของการต่อสู้กับโควิด-๑๙ และ (๓) การพัฒนากลไกความร่วมมือให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้มีพลังร่วมของทั้ง ๓ ประเทศ
๓.๒ ในขณะที่นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย และดร.สุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ต่างเห็นพ้องร่วมกันกับนายหวัง อี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า รัสเซีย จีน และอินเดีย ต้องสนับสนุนระบบพหุภาคีและความหลากขั้วอย่างแน่วแน่ โดยเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองโดยทั่วไป
บทสรุป
ความเคลื่อนไหวจากการหารือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีน-รัสเซีย-อินเดียเมื่อวันที่ ๑๐ ก.ย.๖๓ ดังกล่าว เป็นการยืนยันทิศทางความร่วมมือระหว่าง ๓ ประเทศ จากการที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้พบปะกับ นายวลาดีเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อวันที่ ๒๘ มิ.ย.๖๒ ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่าง ๓ ฝ่าย โดยผู้นำทั้ง ๓ ประเทศ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จะรักษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างจีน รัสเซียและอินเดีย ด้วยดีต่อไป เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการสร้างคุณูปการที่เพิ่มพูนมากขึ้น ในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ รวมทั้งความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและของโลก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.fmprc.gov.cn/web/wjbzhd/t1814003.shtml
https://www.fmprc.gov.cn/web/wjbzhd/t1814032.shtml
https://www.fmprc.gov.cn/web/wjbzhd/t1814009.shtml
https://www.zzwb.cn/news_207336
http://thai.cri.cn/20200911/a5ab8387-6937-58e9-e88e-9dbf93594a62.html
http://thai.cri.cn/20200911/cd58e011-fef4-eaf1-a8ca-3e25dfab35a9.html
http://thai.cri.cn/20200624/c006a845-d712-8340-9625-cfc8ea695cd4.html