bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๑๕ เม.ย.๖๒ : สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของจีนได้เปิดสอนวิชาหุ่นยนต์ทางทะเลเป็นครั้งแรก

สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของจีนได้เปิดสอนวิชาหุ่นยนต์ทางทะเลเป็นครั้งแรก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๐ เม.ย.๖๒ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน ประกาศเปิดหลักสูตรวิชาหุ่นยนต์ทางทะเลเป็นครั้งแรกในสถาบันอุดมศึกษาของจีน ถือเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เน้นส่งเสริมการพัฒนาหุ่นยนต์ทางทะเลอย่างรวดเร็ว เป็นฐานอบรมบุคลากรด้านหุ่นยนต์ทางทะเลของจีน ตลอดจนเป็นหลักประกันด้านบุคลากรของยุทธศาสตร์เสริมสร้างประเทศที่เข้มแข็งทางทะเล

๒. ก่อนหน้านี้เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมาคือ เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ค.๖๐ จีนได้นำหุ่นยนต์สำรวจทางทะเลชื่อว่า “ทั่นซั่ว” (探索)ที่ผลิตและพัฒนาขึ้นเอง มีลักษณะเป็นหุ่นยนต์รูปปลา ขนาดกว้าง ๑.๕ เมตร ยาว ๓.๕ เมตร สามารถดำน้ำได้ลึก ๔,๕๐๐ เมตร ไปปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกในน่านน้ำทะเลจีนใต้ โดยใช้เรือ “เคอเสวีย”(科学)ที่เป็นเรือปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล ดำเนินการขนอุปกรณ์ปฏิบัติการสำรวจใต้ทะเลลึก ซึ่งนอกจากหุ่นยนต์สำรวจชื่อ “ทั่นซั่ว” แล้ว ยังมีเรือดำน้ำไร้คนขับชื่อ “ฟาเซี่ยน”(发现)พร้อมอุปกรณ์สำหรับเก็บตัวอย่างองค์ประกอบทางกายภาพและทางเคมี รวมทั้งการถ่ายภาพพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยตามพื้นทะเลอีกด้วย

บทสรุป

หุ่นยนต์ทางทะเลได้ถูกนำมาใช้งานอย่างกว้างขวางในด้านการตรวจสอบความปลอดภัยใต้น้ำ ด้านวิศวกรรมทางทะเล และการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการใช้หุ่นยนต์เพื่อปฏิบัติการใต้น้ำในทางการทหาร ทั้งนี้ เนื่องจากจีนมีความต้องการบุคลากรด้านนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อเสริมสร้างประเทศให้มีขีดความสามารถและความเข้มแข็งทางทะเล จึงมีความจำเป็นที่ต้องเปิดสอนวิชาหุ่นยนต์ทางทะเลขึ้น

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.hitrobotgroup.com/en/research 

http://thai.cri.cn/20190411/87533401-c161-5c09-654b-622eb69e4013.html

http://www.vijaichina.com/articles/701 

https://www.robonation.org/sites/default/files/HarbinEU_TDR_RS18.pdf