กรณีที่สหประชาชาติให้การยอมรับนายหม่า หยุน หรือ แจ๊ค หม่า (Jack Ma) ประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบา โดยการแต่งตั้งให้เป็นประธานร่วมกับนางเมลินดา เกตซ์ (Melinda Gates) ผู้ก่อตั้งกองทุนบิลล์ ในคณะกรรมการระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือด้านดิจิทัล ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. คณะกรรมการระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือด้านดิจิทัล ที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค.๖๑ ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศ พัฒนาศักยภาพทางสังคมและเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากอนาคตแห่งโลกดิจิตอลที่มีความปลอดภัย โดยสมาชิกของคณะกรรมการดังกล่าวมี ๒๐ คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และผู้นำจาก ๑๗ ประเทศและเขตแคว้นทั่วโลก
๒. เมื่อสองปีที่แล้ว นายหม่า หยุน ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านการบุกเบิกธุรกิจของเยาวชนและธุรกิจขนาดเล็กในการประชุมการพัฒนาการค้าแห่งสหประชาชาติ และในรอบปีนี้ได้สร้างผลงานจำนวนมาก เช่น
๒.๑ การจัดตั้งสถาบันวิจัย "โถงอรหันต์" เมื่อวันที่ ๒๖ มิ.ย.๖๑ ที่เมืองหางโจว ตามข้อริเริ่มของกลุ่มบริษัทอาลีบาบา และนักวิชาการระดับสุดยอดของโลกด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และจิตวิทยา เป็นต้น เพื่อช่วยสังคมต้อนรับกับความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตลอดจนรับมือกับการท้าทายที่มีมาพร้อมกัน และรวบรวมผลสำเร็จด้านการวิจัย มาบริการและอำนวยประโยชน์สุขแก่สาธารณชนทั่วโลก ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญในการริเริ่มจัดตั้ง"โถงอรหันต์"
๒.๒ การกล่าวสุนทรพจน์ เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค.๖๑ ในฟอรั่มว่าด้วยการใช้อินเทอร์เน็ตและข้อมูล Big data แก้ไขปัญหาความยากจน ของงานมหกรรมอุตสาหกรรมการผลิตระบบข้อมูล Big data ระหว่างประเทศประจำปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ของจีน ที่จัดขึ้นที่เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว โดย นายหม่า หยุน เน้นว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน ต้องให้ความหวังแก่คนจน ไม่ใช่ให้แต่เงินทอง และอธิบายว่า การช่วยเหลือคนจน ขจัดความยากจน และความมั่งคั่งเป็น ๓ เรื่องที่ต่างกัน การช่วยเหลือคนจนคือการให้ตัวปลา การขจัดความยากจนคือการสอนวิธีการจับปลา ส่วนเรื่องความมั่งคั่งคือ การสร้างอ่างเลี้ยงปลา ทั้งนี้ นายหม่า หยุน เห็นว่า สาเหตุที่ก่อให้เกิดความยากจนไม่ใช่เป็นเพราะว่าไม่ได้ใช้ความพยายาม ความจริงคือ รูปแบบการพัฒนาไม่ถูกต้อง ความไม่สมดุลด้านการศึกษา และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เต็มที่ เป็นต้น ทุกวันนี้ ระบบข้อมูล Big data และอินเทอร์เน็ตจะแก้ไขปัญหาการจำหน่ายผลิตผล การเพิ่มมูลค่าของที่ดิน และการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม
๒.๓ การให้ข้อเสนอในที่ประชุมสุดยอดด้วยการสร้างสรรค์ประเทศจีนด้วยดิจิทัล ที่จัดขึ้นเมืองฝูโจว โดยนายหม่า หยุน เห็นว่า อี-คอมเมิร์ซเป็นเพียงการเปิดฉากเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น ต่อไปเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีอิทธิพลต่อทุกแง่มุมของวิถีชีวิตมนุษย์ จึงเสนอให้ยกระดับกฎหมายพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่ในการพิจารณาให้เป็นกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และผลลัพธ์จากการเชื่อมต่อกันของทุกอย่างก็คือ "การระเบิดข้อมูลดิจิทัล" ซึ่งจีนต้องการกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเร่งด่วน ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้เพื่อควบคุมตรวจสอบเท่านั้น หากต้องเป็นกฎหมายแห่งการพัฒนาที่มุ่งสู่อนาคตและมีวิสัยทัศน์ระดับโลก ดังนั้น จึงได้เสนอให้เลื่อนขั้นกฎหมายพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้วิธีการทางนิติบัญญัติกำหนดวัตถุประสงค์ ทิศทางและแนวทางการพัฒนาของวิสาหกิจอินเตอร์เน็ต เพราะนอกจากจะเป็นผลงานนวัตกรรมกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ยังจะสร้างคุณประโยชน์และความรับผิดชอบต่อทั่วโลกอีกด้วย
๒.๔ การเชิญบรรดาผู้มีชื่อเสียงกว่า ๘๐ คน ชุมนุมกัน เมื่อวันที่ ๒๑ ม.ค.๖๑ ณ เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) พื่อผลักดันโครงการโรงเรียนประจำในชนบทห่างไกล โดยการปรึกษาหารือกันเพื่อสร้างเงื่อนไขให้แก่เด็กในเขตชนบทที่ยากจนและด้อยพัฒนาได้มีโอกาสเรียนหนังสือแบบอยู่ประจำในโรงเรียนได้เลยด้วย
บทสรุป
นายหม่า หยุน หรือ แจ๊ค หม่า มีมุมองและโอกาสความสำเร็จทางธุรกิจว่า ต้องไม่กลัวความผิดพลาดเพราะความผิดพลาดเหล่านั้นจะกลายเป็นบทเรียนที่สำคัญในการใช้ชีวิต โดยได้แบ่งเป็นช่วงอายุต่างๆ คือ ช่วงก่อนอายุ ๒๐ ปี ควรทำตัวเป็นนักเรียนที่ดี ช่วงอายุ ๒๐ – ๓๐ ปี ควรเริ่มทำงานในบริษัทเล็กๆ เนื่องจากจะมีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ช่วงอายุ ๔๐ – ๕๐ ปี เป็นช่วงการทำงานที่ต้องชำนาญ และช่วง ๕๑ – ๖๐ ปี เป็นช่วงที่ทำงานเพื่อคนรุ่นหลัง เพราะเราต้องพึ่งพาเขาในอนาคต ร่วมทั้งช่วงหลัง ๖๐ ปี เป็นวัยที่ต้องวางมือจากทุกสิ่ง ปล่อยตัวตามธรรมชาติ นอกจากนี้ มีเพื่อนคนหนึ่งเคยบอกกับนายหม่า หยุน ว่า “ถ้าอยากทำก็ลองทำดู ถ้ามันไม่สำเร็จก็แค่กลับมาทำเหมือนอย่างที่เคยทำมาก่อน” ซึ่งคำพูดนี้ ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้นายหม่า หยุน ก้าวเข้ามาในธุรกิจ ที่ได้ทำให้วงการอีคอมเมิร์สต้องสั่นสะเทือน ภายใต้ชื่อว่า อาลีบาบา (Alibaba) และได้นำมาซึ่งการสร้างผลงานจนเป็นที่ยอมรับของสหประชาชาติดังกล่าว
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.alizila.com/jack-ma-to-co-chair-new-un-panel-on-digital-cooperation/
http://thai.cri.cn/247/2018/07/13/63s268925.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/06/27/232s268437.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/05/28/227s267518.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/04/23/62s266527.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/01/23/227s263329.htm
https://www.terrabkk.com/news/92089