bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๑๖ ก.ย.๖๒ ข้อมูลการวิเคราะห์ท่าทีของจีนต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ตอนที่ ๒) เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการและรูปแบบกิจกรรมสำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงของจีน ตามที่ระบุไว้ในเอกสารสมุดปกขาวเรื่อง “China’s Policies on Asia-Pacific Securi

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. แนวทางการดำเนินการของจีน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของจีนในกลไกหลักเพื่อความร่วมมือแบบพหุภาคีของภูมิภาค โดยอาจแบ่งออกตามกรอบความร่วมมือต่างๆ อันได้แก่
         ๑.๑ กรอบความร่วมมือจีน-อาเซียน ซึ่งจีนคำนึงถึงอาเซียนเป็นเพื่อนบ้านในลำดับแรก และสนับสนุนการรวมตัวกันของอาเซียนเป็นประชาคมเดียวกัน เพื่อเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในภูมิภาค ทั้งนี้ ด้วยหลักการพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาคกัน การเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และมีความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
         ๑.๒ กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (๑๐+๓) ซึ่งความร่วมมือ ๑๐+๓ เป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก ภายใต้แผนงานความร่วมมือปี ค.ศ.๒๐๑๓ – ๒๐๑๗ อันเป็นความก้าวหน้ามาจากความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) อันเป็นกระบวนการแบบพหุภาคีที่จะเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจีนมุ่งผลักดันการเจรจาต่อรองทางการค้า การลงทุนและการบริการ ให้ยกระดับไปสู่รูปแบบความร่วมมือในการขยายการค้าและการลงทุน ภายใต้กรอบความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (the Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) หรือ ๑๐+๖
        ๑.๓ กรอบความร่วมมือจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๑๕ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้จัดให้มีการประชุมความร่วมมือสามฝ่ายขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์สามฝ่าย และแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านต่างๆ ในอนาคต
        ๑.๔ กรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นการประชุมระดับผู้นำประเทศ เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือด้านความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งเป็น ๒ จักรกลที่มีแรงขับก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างประสานสอดคล้องกันของทุกฝ่าย
        ๑.๕ กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) เป็นเวทีปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ระดับพหุภาคีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และพัฒนาแนวทางการ ดำเนินการทางการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) ที่มุ่งป้องกันการเกิดและขยายตัวของความขัดแย้ง โดยใช้มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence Building Measures - CBMs) ระหว่างกัน โดยเฉพาะเพื่อความร่วมมือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security)
        ๑.๖ กรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus: ADMM-Plus) เป็นกลไกในระดับสูงที่จะสนับสนุนต่อความร่วมมือในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านกลาโหม
        ๑.๗ กรอบการประชุมกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Lancang-Mekong Cooperation: LMC) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทยที่ต้องการส่งเสริมให้อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยครอบคลุมความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน
        ๑.๘ กรอบองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO) เป็นองค์การที่ รวมตัวกันเพื่อความร่วมมือทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ประกอบด้วยสมาชิก ๘ ประเทศ คือ จีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน อินเดีย และปากีสถาน
        ๑.๙ กรอบการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence-Building Measures in Asia: CICA) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา ตลอดจนการรับมือกับภัยคุกคามและความท้าทายรูปแบบใหม่ของภูมิภาค

๒. รูปแบบกิจกรรมสำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงโดยเฉพาะความมั่นคงในรูปแบบใหม่ของภูมิภาค ซึ่งจีนได้เข้าไปมีส่วนร่วม เช่น
(๑) การบรรเทาภัยพิบัติ
(๒) ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย
(๓) ความร่วมมือในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ
(๔) ความมั่นคงทางไซเบอร์
(๕) ความร่วมมือเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล และ
(๖) ความร่วมมือในการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ เป็นต้น

บทสรุป
แนวโน้มของสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาค จะเป็นการต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหม่ในอาณาบริเวณยูเรเชีย จากโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Roads) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแถบเศรษฐกิจ (Economic Belt) หรือระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ที่จีนเสนอขึ้นมา และเป็นที่รู้จักเรียกขานกันในชื่อว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI โดยการบูรณาการเครื่องมือของอำนาจแห่งชาติ (ทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, การทูต, การเงิน, ทางปัญญา, และวัฒนธรรม) ของจีน มาจัดทำเป็นวาระทางภูมิรัฐศาสตร์/ภูมิเศรษฐกิจ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ขึ้น โดย BRI ถือเป็นแนวความคิดเพื่อการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของจีนในอนาคตช่วงต่อไปข้างหน้า และก็เป็นหัวใจของกรอบความคิดเกี่ยวกับ “การก้าวผงาดขึ้นมาอย่างสันติของจีน” (China's Peaceful Rise)

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก : The State Council Information Office of the People’s Republic of China. 2017 .China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation. Beijing : Foreign Languages Press Co.Ltd. และ ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พลตรี ดร. ๒๕๖๑. ยุทธศาสตร์จีนบนเวทีโลก เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์