bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๑๘ มิ.ย.๖๑ : จีนตีข่าวขบวนการข้ามชาติลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทิ้งในไทย

สื่อของจีนตีข่าวขบวนการข้ามชาติลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทิ้งในไทยทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะแห่งใหม่ หลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาตรการเด็ดขาดส่งผลให้ขยะค้างในยุโรป-เอเชียมหาศาล มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) เปิดเผยว่า ช่วง ๕ เดือนแรกของปีนี้ ประเทศจีนได้จัดการคดีการลักลอบนำเข้าขยะเข้าประเทศอย่างผิดกฏหมายแล้วกว่า ๒๔๘ คดี ปริมาณกว่า ๙๕๕,๘๐๐ ตัน โดยสำนักงานศุลกากรจีน เริ่มดำเนินการมาตรการขั้นเด็ดขาดจัดการการนำเข้าขยะดังกล่าว ทั้งนี้เฉพาะเดือน พ.ค.๖๑ สามารถสกัดขยะนำเข้าจากต่างชาติได้กว่า ๑๓๗,๐๐๐ ตัน

๒. เมื่อปลายเดือน พ.ค.๖๑ ที่ผ่านมา สำนักข่าว Chinadaily ของจีน ได้รายงานว่า
         ๒.๑ มีขบวนการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติกเข้าไทย โดยประเทศไทยกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากรอบโลกแห่งใหม่ และเป็นประเทศล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเข้มงวดของประเทศจีน
        ๒.๒ ในการบุกตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์ที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่แหลมฉบังของไทย พบตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุขยะกว่า ๒๒ ตัน ประกอบด้วยเครื่องเล่นวีดีโอเกม วงจรคอมพิวเตอร์ และถุงใส่เศษวัตถุดิบมากมาย โดยคาดว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มาจากฮ่องกง สิงคโปร์และญี่ปุ่น ซึ่งบางส่วนยังถูกนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากประเทศจีนได้ประกาศใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๐
        ๒.๓ รัฐบาลจีนได้รายงานกับองค์การค้าโลก (WTO) ว่า จะยกเลิกการนำเข้าขยะ ๒๔ ประเภทจากต่างประเทศ ทำให้จีนต้องออกกฎหมายใหม่ หรือบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมให้รัดกุมยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้เกิดความกังวลว่า ขยะเหล่านี้จะถูกส่งไปทิ้งยังประเทศข้างเคียงแทน สำหรับมาตรการนี้ได้สร้างผลกระทบต่อสายการผลิตทั่วโลก และก่อให้เกิดขยะตกค้างปริมาณมหาศาลทั้งในเอเชียและยุโรป เนื่องจากผู้ผลิตต้องหาผู้รับซื้อขยะรายใหม่ โดยอ้างอิงรายงานของรัฐบาลจีนว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกกว่า ๕๐๐ ล้านตัน ที่เคยถูกส่งไปทิ้งที่ประเทศจีน ได้ถูกเปลี่ยนไปทิ้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน

๓. ได้มีคำแถลงว่าด้วยรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย จากโฆษกสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยในคำแถลงระบุว่า
         ๓.๑ ด้วยรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยว่า เมื่อไม่นานมานี้สื่อมวลชนไทยหลายรายติดตามและรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย และแสดงความกังวลต่อปัญหาดังกล่าว สำนักข่าวบางแห่งรายงานว่า มีบริษัทที่มีคนจีนเข้าไปถือหุ้นมีส่วนร่วมในการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และการจ้างงานที่ผิดกฎหมาย ฯลฯ
         ๓ ๒ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้ติดตามและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างสูง ความจริงประเทศจีนเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เราเข้าใจความกังวลของพี่น้องชาวไทยที่มีต่อปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างมาก และไม่อยากเห็นประเทศไทยได้รับความเสียหายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเช่นกัน
         ๓.๓ รัฐบาลจีนยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม มีความสมดุล เป็นสีเขียว เน้นการเปิดกว้างและแบ่งปัน พยายามผลักดันการพัฒนาสีเขียวที่ปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลจีนกับรัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือที่ดีในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และจีนจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อเพิ่มมาตรการในการปราบปรามการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฎหมาย เราจะกำชับนักลงทุนจีนและวิสาหกิจจีนปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของไทยอย่างเคร่งครัด ดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือสีเขียวอย่างยื่งยืนระหว่างจีน-ไทย
         ๓ ๔ จีนยินดีที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ การควบคุมดูแลการนำเข้าขยะมูลฝอย และการปราบปรามการลักลอบนำเข้าขยะจากต่างประเทศโดยหนีภาษีศุลกากรกับประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ อย่างประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์โลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของพวกเราทุกคน

บทสรุป

ปัญหาปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไหลมาสู่ประเทศไทยยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีนโยบายห้ามนำเข้าขยะพิษเหล่านี้เหมือนกับประเทศจีน ซึ่งเคยตกเป็นพื้นที่แหล่งระบายขยะอิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่มาก่อน โดยเฉพาะที่เมืองกุ้ยหยู ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ที่เป็นพื้นที่การเกษตรเก่าแก่ของจีน ใกล้กับแม่น้ำเหลียนเจียง ห่างจากฮ่องกง ในระยะทางที่ขับรถประมาณ ๔ ชั่วโมง ทำให้คนงานในเมืองกุ้ยหยู ที่มีมากถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน และรับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย ในงานแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปหมุนเวียนใช้ใหม่ โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่า งานที่กำลังทำ มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงทำให้โฆษกของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย มีคำแถลงเกี่ยวกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.chinadailyhk.com/articles/175/168/60/1529120273011.html

https://www.isranews.org/isranews/66865-isranews_66865.html

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2225324907698870&id=1625187591045941

https://www.posttoday.com/world/554476

https://www.chinadailyhk.com/articles/107/110/233/1527675650226.html

http://www.xinhuanet.com/english/2018-06/12/c_137248870.htm