ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ความร่วมมือในภาพรวม ทั้งไทยและจีนต่างเห็นพ้องกันที่จะใช้กลไกและเวทีความร่วมมือทวิภาคีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย - จีน การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน การประชุมคณะกรรมการนโยบายดำเนินงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหม - กระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย - จีน คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน และการประชุมระดับรัฐมนตรีไทย – จีน ด้านความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในเชิงลึกและเชิงกว้างมากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ให้มีผลที่จับต้องได้
๒. ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง
๒.๑ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเคารพแนวทางการพัฒนาประเทศของแต่ละฝ่าย แบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านการบริหารราชการ และให้ความเข้าใจและสนับสนุนอีกฝ่ายในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์หลักและข้อห่วงกังวลสำคัญ ฝ่ายไทยย้ำถึงการยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว การสนับสนุนให้ความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบมีการพัฒนาอย่างสันติ และการรวมชาติอย่างสันติของจีน ฝ่ายไทยเน้นย้ำถึงการสนับสนุนหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”
๒.๒ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรนิติบัญญัติ พรรคการเมือง กองทัพ และหน่วยงานท้องถิ่น และสนับสนุนให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างสองประเทศ
๒.๓ ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิดระหว่างกระทรวงกลาโหมและกองทัพของทั้งสองประเทศผ่านการร่วมซ้อมรบ การฝึกอบรมบุคลากร และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ รวมถึงการประสานงานด้านความมั่นคงในระดับพหุภาคี
๒.๔ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในเรื่องการขจัดการลักลอบขนยาเสพติด การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และการต่อต้านการก่อการร้าย การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย ตลอดจนการต่อต้านการฟอกเงินและการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง
บทสรุป
การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการยืนยันความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน และกำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์ในอนาคต ท่ามกลางพัฒนาการทางภูมิสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.mfa.go.th/main/th/news3/6887/111791
https://mgronline.com/politics/detail/9620000106135