bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒ พ.ย.๖๓ : การจัดทำยุทธศาสตร์ของจีนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยการสร้างสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการต่อสู้สำหรับ ๑๐๐ ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ของจีนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยการสร้างสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้าน (全面建成小康社会) เพื่อบรรลุเป้าหมายในการต่อสู้สำหรับ ๑๐๐ ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๒๑ หรือ พ.ศ.๒๔๖๔)  อันเป็นเหตุการณ์แรกที่จะก้าวไปสู่การเริ่มต้นเส้นทางใหม่ที่ยาวไกลในการสร้างประเทศให้ทันสมัยแบบสังคมนิยมอย่างรอบด้าน เพื่อรุกต่อไปยังเป้าหมายในการต่อสู้สำหรับ ๑๐๐ ปีแห่งการสถาปนาประเทศจีน (สถาปนาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๑๙๔๙ หรือ พ.ศ.๒๔๙๒) อันเป็นเหตุการณ์ที่สอง ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมถึงเงื่อนไขการพัฒนาของประเทศจีนโดยสรุปแล้ว ช่วงเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) ถึงกลางคริสต์ศตวรรษนี้ (从二○二○年到本世纪中叶) ตามแนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สามารถแบ่งออกเป็นสองระยะ กล่าวคือ
 
๑. ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๒๐ – ๒๐๓๕ (พ.ศ.๒๕๖๓ - ๒๕๗๘) จากพื้นฐานในการสร้างสังคมอยู่ดีมีสุขทุกด้าน จะต้องต่อสู้อีก ๑๕ ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างประเทศโดยส่วนใหญ่ให้ทันสมัยแบบสังคมนิยม  เมื่อถึงครานั้น
     ๑.๑ กำลังทางเศรษฐกิจและกำลังทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศจีน จะยกระดับขึ้นมากแบบก้าวกระโดด รวมถึงจะสามารถขยับตนเข้าไปอยู่ในแถวหน้าของกลุ่มประเทศนวัตกรรม    
     ๑.๒ ประชาชนมีส่วนร่วมและมีสิทธิ์ในการพัฒนาอย่างเท่าเทียม โดยได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่  มีการใช้ระบบกฎหมายปกครองประเทศ ระบบทุกด้านสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น  ระบบการบริหารประเทศและความสามารถในการบริหารโดยส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย  
     ๑.๓ สังคมมีอารยธรรมสูงขึ้นถึงระดับใหม่  Soft Power ด้านวัฒนธรรมของประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  อิทธิพลของวัฒนธรรมจีนแผ่ขยายเข้าไปในวงกว้างขึ้น  
     ๑.๔ ประชาชนกินดีอยู่ดีมากขึ้น  อัตราส่วนของกลุ่มคนรายได้ปานกลางเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน  ความแตกต่างระหว่างการพัฒนาในเมืองกับชนบทและความแตกต่างระหว่างคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด  บรรลุเป้าหมายในการทำให้การบริการสาธารณะโดยส่วนใหญ่เท่าเทียมกัน  ประชาชนทั้งผองมีฐานะร่ำรวยร่วมกันและก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง  รูปแบบการบริหารสังคมสมัยใหม่โดยส่วนใหญ่ก่อตัวขึ้น  สังคมเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งชีวิตชีวา มีความสมานฉันท์ และมีระเบียบ  สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศดีขึ้นอย่างแท้จริง  ตลอดจนบรรลุเป้าหมายที่ทำให้ประเทศจีนสวยงาม
 
๒. ระยะที่สอง ตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๓๕ – กลางคริสต์ศตวรรษนี้ หรือ ๒๐๕๐ (พ.ศ.๒๕๗๘ - ๒๕๙๓) จากพื้นฐานในการสร้างประเทศจีนโดยส่วนใหญ่ให้ทันสมัย จะต้องต่อสู้อีก ๑๕ ปี เพื่อสร้างประเทศจีนให้เป็นประเทศที่เข้มแข็งและทันสมัยแบบสังคมนิยม ซึ่งมีความเข้มแข็งและมั่งคั่ง พรั่งพร้อมด้วยประชาธิปไตยและอารยธรรม ตลอดจนมีความสมานฉันท์และความสวยงาม  เมื่อถึงครานั้น
     ๒.๑ อารยธรรมของประเทศจีนในด้านต่างๆ จะยกระดับสูงขึ้นทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ การเมือง จิตวิญญาณ สังคม และระบบนิเวศ  
     ๒.๒ ระบบการบริหารประเทศและความสามารถในการบริหารโดยส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย จนกลายเป็นประเทศที่นำหน้าผู้อื่นในด้านศักยภาพรวมและบทบาทระหว่างประเทศ  
     ๒.๓ บรรลุเป้าหมายในการทำให้ประชาชนทั้งปวงมีฐานะร่ำรวยร่วมกัน  ประชาชนของประเทศจีนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายยิ่งขึ้น  รวมถึงชนชาติจีนจะยืนเด่นเป็นสง่าอย่างฮึกเหิมท่ามกลางหมู่มวลประชาชาติทั่วโลก
 
บทสรุป

จากการสร้างสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้านไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการสร้างประเทศให้ทันสมัย รวมถึงการนำไปสู่การสร้างประเทศให้เข้มแข็งและทันสมัยแบบสังคมนิยมอย่างรอบด้าน  สิ่งนี้คือการวางแผนทางยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาประเทศแบบสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนในยุคใหม่ (从全面建成小康社会到基本实现现代化,再到全面建成社会主义现代化强国,是新时代中国特色社会主义发展的战略安排。)  ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำว่า จะต้องยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ท้อถอย และต้องมีจิตใจอดทนไม่ย่อท้อ เพื่อร่วมจารึกประวัติศาสตร์แห่งเส้นทางใหม่อันยาวไกลในการสร้างประเทศให้ทันสมัยแบบสังคมนิยมอย่างสง่างาม
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

http://cpc.people.com.cn/n1/2017/1028/c64094-29613660.html