bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันจันทร์ที่ ๒๐ ก.ย.๖๔ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๗

จีนศึกษา (วันจันทร์ที่ ๒๐ ก.ย.๖๔) ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง (国务院总理李克强) ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๗ (湄公河次区域经济合作第七次领导人会议) ณ มหาศาลาประชาชน (人民大会堂) ในกรุงปักกิ่ง ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ ๙ ก.ย.๖๔ และกล่าวสุนทรพจน์ (并发表讲话) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายหลี่ เค่อเฉียง ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีความผันผวนไปทั่วโลก ทำให้เกิดความไม่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมกันสร้างฉันทามติ เพิ่มความเข้าใจทางการเมือง ขยายขอบเขตและยกระดับความร่วมมือ รวมทั้งร่วมส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีข้อเสนอใน ๖ ประการ ได้แก่
๑.๑ ประการแรก ส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ เคารพสิทธิประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของทุกประเทศอย่างเต็มที่ในการพัฒนาและการใช้ทรัพยากรน้ำ โดยการปรึกษาหารือกันทุกฝ่าย
๑.๒ ประการที่สอง มุ่งเน้นการรักษาชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยดำเนินความร่วมมือในการป้องกันโรคระบาดตามหลักวิทยาศาสตร์และให้ความร่วมมือกันในงานด้านวัคซีน
๑.๓ ประการที่สาม ส่งเสริมการค้าการลงทุน เพื่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เร่งกระบวนการอนุมัติและดำเนินงานของข้อตกลง RCEPปฏิบัติตามพิธีสารว่าด้วยการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน
๑.๔ ประการที่สี่ ส่งเสริมการประสานเชื่อมโยงเพื่อบรรลุซึ่งการพัฒนาร่วมกัน ปฏิบัติตาม “ยุทธศาสตร์การคมนาคม ๒๐๓๐” (“2030交通战略”) เร่งการก่อสร้างโครงการสำคัญๆ เช่น รถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย และทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ รวมทั้งส่งเสริมการก่อสร้างศูนย์ประสานงานในภูมิภาคอย่างแข็งขัน
๑.๕ ประการที่ห้า ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและปรับปรุงการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และดำเนินการระยะที่สามของโครงการสิ่งแวดล้อมหลักในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สำรวจรูปแบบใหม่ของความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างแข็งขันภายใต้ภูมิหลังแห่งการป้องกันและควบคุมโรคระบาด
๑.๖ ประการที่หก ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางการเมือง ยึดมั่นในมิตรภาพของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เคารพและปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ยืนหยัดในพหุภาคีนิยมและแนวคิดที่เปิดกว้าง โดยใช้ความได้เปรียบของแต่ละฝ่ายผนึกกำลังกันในการพัฒนา ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ประสานกันกับกลไกแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ตลอดจนกลไกอื่น ๆ

๒. นายกรัฐมนตรีจีนเน้นว่า การพัฒนาเป็นพื้นฐานและกุญแจที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดในประเทศจีน โดยการนำแนวคิดการพัฒนาใหม่ไปใช้ เร่งสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งการปฏิรูปที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เน้นตลาด หลักนิติธรรม และส่งเสริมการเปิดกว้างสู่โลกภายนอกในระดับสูง ตลอดจนต้อนรับบริษัทจากทั่วโลกมาลงทุนในจีน โดยปฏิบัติต่อบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ส่งเสริมการแข่งขันที่ยุติธรรม และส่งเสริมความร่วมมือที่เปิดกว้างและครอบคลุมอย่างแข็งขัน ทั้งนี้ การพัฒนาของจีนจะนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาใหม่ๆ และสร้างผลตอบแทนจากการพัฒนาใหม่ๆ ให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

บทสรุป

ที่ประชุมฯ ได้ออกปฏิญญาการประชุมฯ ให้การรับรอง “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ๒๐๓๐” (“大湄公河次区域经济合作2030战略框架”) และ “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อตอบสนองต่อ แผนระบาดของโรคปอดบวมและฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับใหม่ (๒๐๒๑ - ๒๐๒๓)” หรือ “大湄公河次区域经济合作应对新冠肺炎疫情和经济复苏计划(2021—2023)” โดยในการประชุมครั้งนี้ มีนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชา เป็นประธานการประชุม นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมาร์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายมาซาสึกุ อาซากาวะ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบทางไกล

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

http://cpc.people.com.cn/n1/2021/0910/c64094-32223092.html